Thursday, November 28, 2013

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประกาศ "ปฏิเสธไม่คืนพื้นที่" เพื่อใช้จัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ 5 ธันวา

- 0 comments
แกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล   ประกาศบนเวทีราชดำเนิน ปฏิเสธไม่คืนพื้นที่ให้กับกรุงเทพมหานคร เพื่อใช้จัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคมนี้ โดยแกนนำมีมติคงไว้ของเวทีการชุมนุมหลัก 3 เวที 
 
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประกาศบนเวทีราชดำเนิน ปฏิเสธไม่คืนพื้นที่ให้กับกรุงเทพมหานคร เพื่อใช้จัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคมนี้ โดยแกนนำมีมติคงไว้ของเวทีการชุมนุมหลัก 3 เวที ซึ่งเวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นเวทีหลักสนับสนุนอีก 2 เวที คือ เวทีศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ และ เวทีสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง
 
โดยผู้ชุมนุมพร้อมพูดคุยกับกรุงเทพมหานครเปิดเส้นทางและปรับเส้นทางให้เข้ามาตกแต่งจัดเตรียมสถานที่ราชดำเนินจัดงานเฉลิมพระเกียรติด้วยความจงรักภักดี ซึ่งการตัดสินใจแท้จริงต้องฟังเสียงประชาชนเป็นหลักไม่ใช่มติจากแกนนำผู้ชุมนุม พร้อมยอมรับว่า รัฐบาล ได้ติดต่อมายังแกนนำเปิดเวทีพูดคุยขอคืนพื้นที่จัดงานเฉลิมพระเกียรติ์ แต่แกนนำขอปฏิเสธพูดคุยจากท่าทีเดิมของรัฐบาลไม่ยอมรับเสียงประชาชน
ที่มา : voicetv
28 พฤศจิกายน 2556 เวลา 16:32 น.
[Continue reading...]

Tuesday, November 26, 2013

สุเทพ "ลั่น" ดีเดย์ บุกยึดให้หมดทุกกระทรวง 27 พ.ย.

- 0 comments
ข่าวการชุมนุมล่าสุด สุเทพ เทือกสุบรรณ ขึ้นเวทีปราศรัย กร้าว ต่อสู้จนถึงที่สุด ไม่ขอรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแน่นอน ลั่นนำมวลชนบุกยึดทุกกระทรวง พรุ่งนี้ (27 พฤศจิกายน 2556)

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกลุ่มเครือข่ายประชาชนต่อต้านระบอบทักษิณ เปิดใจขึ้นเวทีปราศรัยบนเวทีชุมนุมที่กระทรวงการคลัง เมื่อเวลาราว 20.30 น. วันนี้ (26 พฤศจิกายน 2556) ท่ามกลางมวลชนที่รอฟังจำนวนมาก โดยยืนยันหนักแน่นว่า แม้ว่าการต่อสู้ในครั้งนี้จะชนะแล้วก็ตาม แต่ตนเองจะไม่ขอรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างแน่นอน และยืนยันว่า การต่อสู้ครั้งนี้ไม่ได้เป็นการช่วยเหลือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี เช่นกัน ซึ่ง นายอภิสิทธิ์ ยืนยันกับตนว่า หากมีการจัดตั้งรัฐบาลสภาประชาชน จะไม่ขอรับตำแหน่งใด ๆ ทางการเมืองอย่างแน่นอน 

ทั้งนี้ นายสุเทพ ยืนยันว่า หากขจัดระบอบทักษิณจนหมดสิ้นแล้ว จะจัดตั้งสภาประชาชนขึ้นมาทันที โดยสภาประชาชน จะมาจากบุคคลทุกสาขาอาชีพ และให้สภาประชาชนเป็นคนคัดเลือกบุคคลเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี และสร้างคณะ ครม. ในฝัน มาเป็นรัฐบาลของประชาชน

นอกจากนี้ นายสุเทพ ยังได้นัดหมายมวลชนในกรุงเทพมหานคร ที่ต้องการต่อต้านระบอบทักษิณ ให้บุกไปยึดทุกกระทรวง ในวันพรุ่งนี้ (27 พฤศจิกายน 2556) ส่วนมวลชนต่างจังหวัด ให้รวมตัวกันนำดอกไม้ไปขอร้องข้าราชการที่ศาลากลาง และที่ว่าการอำเภอ ขอร้องไม่ให้เป็นทาสระบอบทักษิณอีกต่อไป โดยใช้แนวสันติวิธี

[Continue reading...]

เสียงสะท้อนจากสื่อนอก...เมื่อม็อบยึดกรุงเทพฯ

- 0 comments

 

การนำประชาชนบุกยึดสถานที่ราชการต่างๆในกรุงเทพฯของม็อบต้านรัฐบาล อยู่ในความสนใจของสื่อทั่วโลกอย่างใกล้ชิด โดยสื่อส่วนใหญ่มองว่าเหตุการณ์ที่กำลังยกระดับขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจนำไปสู่ความรุนแรงนองเลือด ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

 
 
หลังจากเมืองไทยปลอดจากการประท้วงใหญ่ๆมานานถึง 3 ปี กรุงเทพฯก็ได้กลายเป็นอัมพาตจากการบุกยึดของมวลมหาประชาชนอีกครั้ง และครั้งนี้นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีผู้สั่งการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตไปนับร้อยคน 
 
 
แน่นอนว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ตลอดระยะเวลา 2 วันที่ผ่านมา นับตั้งแต่คืนวันอาทิตย์ มาจนถึงตลอดวันจันทร์ ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนทั่วโลก โดยสำนักข่าวใหญ่ๆอย่างซีเอ็นเอ็น บีบีซี และอัลจาซีรา ต่างส่งผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การประท้วงอย่างใกล้ชิด ขณะที่สำนักข่าวอื่นๆ ก็อัพเดทสถานการณ์ในกรุงเทพฯกันแทบจะตลอดเวลาเช่นเดียวกัน ในฐานะที่นี่คือการประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นในยุคของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
 
 
สิ่งหนึ่งที่สื่อต่างประเทศรายงานหลากหลายกันไป ก็คือจุดประสงค์ของผู้ชุมนุมประท้วงครั้งนี้ ส่วนใหญ่สื่อต่างชาติจะใช้คำง่ายๆว่าการประท้วงเป็นไปเพื่อโค่นล้มรัฐบาล ขณะที่มีเพียงไม่กี่สำนักเท่านั้น ที่เจาะลึกเข้าใจสถานการณ์และข้อเรียกร้องของผู้ประท้วง โดยเลือกรายงานว่าสิ่งที่ผู้ชุมนุมต้องการ คือข้อเสนอที่มีความเป็นนามธรรมสูงและไม่ชัดเจนในแง่ของการปฏิบัติ นั่นก็คือ "โค่นล้มระบอบทักษิณ" รวมถึงข้อเสนอสุดโต่งอย่างการให้ตระกูลชินวัตรออกนอกประเทศไทย
 
 
นอกจากนี้ สื่อส่วนใหญ่ยังยอมรับว่าการยกระดับการประท้วงอาจนำไปสู่ความรุนแรง เนื่องจากแม้ว่านายสุเทพ แกนนำการประท้วง จะลั่นวาจาไว้ว่าจะไม่ใช้ความรุนแรง ทำเพียงการเป่านกหวีดและมอบดอกไม้ให้ข้าราชการ เชิญชวนให้ร่วมหยุดงานต้านระบอบทักษิณ แต่ตลอดวันจันทร์ที่ผ่านมา การบุกยึดกระทรวงการคลังและกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงบุกรุกสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ก็เป็นสัญญาณของความรุนแรงอย่างไม่สามารถปฏิเสธได้
 
 
ที่สำคัญ การที่ผู้ชุมนุมฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลเองก็รวมตัวกันอยู่ที่อีกฟากหนึ่งของเมือง ทำให้สถานการณ์สุ่มเสี่ยงอย่างมากต่อการนำม็อบออกมาปะทะม็อบ ซึ่งอาจนำไปสู่การนองเลือด อันเป็นเงื่อนไขของการรัฐประหาร โดยเฉพาะเมื่อมีผู้ชุมนุมจำนวนมากตะโกนขับไล่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พร้อมทั้งเชื้อเชิญให้ทหารเข้ามาแทรกแซงสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา
 
 
นอกจากนี้ อีกมิติหนึ่งที่สื่อต่างประเทศให้ความสนใจ ก็คือเรื่องของเศรษฐกิจ Wall Street Journal ของสหรัฐฯมองว่าการชะงักงันของระบบราชการและความวุ่นวายในกรุงเทพฯ จะอยู่ภายใต้การจับตามองของนักลงทุนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากในขณะนี้ หุ้นไทยตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 ขณะที่เงินบาทก็อ่อนค่าลงมากที่สุดในรอบ 2 เดือน ส่วนอัตราการเติบโตของจีดีพีไตรมาสที่ผ่านมาก็เติบโตน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ 
 
 
โดยสิ่งที่นักลงทุนสนใจมากที่สุดตอนนี้ก็คือท่าทีของรัฐบาล ว่าจะจัดการกับกลุ่มผู้ประท้วงอย่างไร ในช่วงเวลาที่นักวิเคราะห์จากทั่วโลกมองตรงกันว่าทางเลือกของรัฐบาลไทยนั้นจำกัดอย่างยิ่ง
ที่มา :VOICEtv
26 พฤศจิกายน 2556 เวลา 06:29 น.
[Continue reading...]

ศาล "อนุมัติ" ออกมายจับ สุเทพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 , 365

- 0 comments
ศาลอนุมัติหมายจับ "สุเทพ" ผิดป.อาญาม.365,215 นำมวลชนยึดกระทรวงการคลัง
วันที่ 26 พ.ย. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รอง ผบช.น. ในฐานะโฆษก บช.น. แถลงข่าวสถานการณ์การชุมนุมในส่วนของการดำเนินคดีกับแกนนำและกลุ่มผู้ชุมนุมที่กระทำผิดกฎหมายว่า สถานการณ์ในวันที่ 25 พ.ย. 56 จนถึงเวลานี้ เหตุการณ์ไม่สงบเกิดขึ้นมากมายในหลายพื้นที่ อีกทั้งมีแกนนำและผู้ชุมนุม ทำการละเมิดข้อกฎหมายหลายจุด เริ่มจากเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 56 เวลา 11.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมพรรคประชาธิปัตย์ นำโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้นำมวลชนไปชุมนุมที่บริเวณหน้าสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง แล้วเข้าไปบุกยึดภายในกระทรวงการคลัง และในเวลาประมาณ 13.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนก็ได้แยกตัวไปบุกยึดกรมประชาสัมพันธ์อีกแห่งหนึ่ง โดยกลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าวได้อยู่ภายในกระทรวงการคลังและกรมประชาสัมพันธ์มาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ กรณีการบุกยึดกระทรวงการคลังนั้น ทาง สน.บางซื่อ ได้รับคำร้องทุกข์ไว้ตามคดีอาญาที่ 2496/2556 ลงวันที่ 25 พ.ย. 56 ในข้อหา "กระทำด้วยวิธีอื่นใด เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน เพื่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป โดยกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215, ผู้ที่กระทำการมั่วสุม ตามมาตรา 215 เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216 และร่วมกันบุกรุก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 ประกอบมาตรา 362"

โดยขณะนี้ ทาง พล.ต.ต.ขจรศักดิ์ ปานสาคร รอง ผบช.น. ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องดังกล่าว อยู่ระหว่างดำเนินการ เร่งให้พนักงานสอบสวน สน.บางซื่อ ยื่นขออนุมัติหมายจับต่อศาลอาญา ซึ่งเมื่อเวลา 15.00 น. วันเดียวกัน ศาลอาญาได้อนุมัติ ออกหมายจับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แล้ว 2 ข้อหา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 , 365 จากกรณีร่วมกับบุคคลอื่นตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป บุกกระทรวงการคลัง ส่วนการชุมนุมที่ราชดำเนินยังไม่ออกหมายจับ

ที่มา :ข่าวสด

[Continue reading...]

Monday, November 25, 2013

“อภิสิทธิ์” ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง 7 เมษายน 2553 เพียงเพราะมีเสื้อแดงบุกเข้าในสภา (แต่ไม่ได้ยึด)

- 0 comments
นายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แถลงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินพื้นที่ กทม.-ปริมณฑล หลังม็อบแดงเหิมเกริม บุกรุกรัฐสภา (ดูรายละเอียดการบุกเข้าในสภา เพราะ มี ส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่คุ้มกันนายสุเทพ ถือปืนอูซี่พร้อมยิง)  เคลื่อนไหวผิดกฎหมายมากขึ้น จน พ.ร.บ.มั่นคง เอาไม่อยู่ เพื่อความสงบสุขแก่ประเทศ
วันนี้ (7 เม.ย.) เมื่อเวลา 18.05 น.ที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้แถลงทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยให้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง เป็นผู้กำกับดูแลและผู้อำนวยการศูนย์แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน

นายอภิสิทธิ์ ระบุว่า “ตั้งแต่มีการชุมนุมเมื่อวันที่ 12 มี.ค.เป็นต้นมา รัฐบาลพยายามใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงในการดูแลการชุมนุม แต่ยังไม่สามารถระงับยั้บยั้งการชุมนุมได้ จนพัฒนาเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย ขัดต่อรัฐธรรมนูญ กระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน เศรษฐกิจ และภาพลักษณ์ของประเทศในสายตาประชาคมโลก แม้รัฐบาลได้บังคับใช้กฎหมายอย่างถึงที่สุดแต่ยังมีการขัดขืน และเคลื่อนไหวผิดกฎหมายมากขึ้น โดยเฉพาะ 2 วันที่ผ่านมา และวันนี้ยังได้บุกรุกสถานที่สำคัญ คือ รัฐสภา จึงได้เชิญ ครม.มาประชุมกรณีพิเศษวันนี้ และมีมติให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงขึ้น โดยหวังใช้เป็นเครื่องมือแก้ไขสถานการณ์ เพื่อคืนความเป็นปกติสุขในกรุงเทพมหานคร ยับยั้งข้อมูลการสร้างความแตกแยก และยุยงให้มีการทำผิดกฎหมาย เพื่อใช้ในการดำเนินคดีแกนนำผู้ชุมนุมตามกระบวนการยุติธรรม และระงับเหตุวินาศกรรมหรือเหตุวุ่นวายให้มีประสิทธิภาพ

ตนหวังว่าจะให้ พ.ร.ก.ดังกล่าวเป็นเครื่องมือให้รัฐบาลทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ยืนยันว่า รัฐไม่ได้ปราบปรามผู้ชุมนุม แต่ต้องการคืนความเป็นปกติสุข และทำให้กฏหมายศักดิ์สิทธิ์ รัฐใช้ทุกวิธีทางตามกฎหมาย เพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่คนกลุ่มหนึ่งได้กระทำผิดกฎหมาย ส่งผลกระทบต่อความสงบสุข สร้างความเดือดร้อน ดังนั้น จึงขอประชาชนละเว้นการร่วมชุมนุม และหวังให้ทุกภาคส่วนในสังคมให้ความร่วมมือระงับใช้กฎหมาย โดยตนจะรายงานเป็นระยะ และยืนยันว่า ประชาชนทุกคนเป็นเพื่อนร่วมชาติ ทั้งนี้ จะใช้กฎหมายเพื่อความสงบของประเทศอย่างรวดเร็ว เพื่อความปกติสุขต่อไป”

รายละเอียดคำแถลงของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

“พี่น้องประชาชนที่เคารพรักทุกท่านครับ ตามที่ได้มีการเคลื่อนไหวชุมนุมของประชาชนกลุ่มหนึ่งนับตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม เป็นต้นมา รัฐบาลได้พยายามบริหารสถานการณ์ภายใต้การประกาศใช้กฎหมายความมั่นคง ซึ่งมุ่งในการที่จะป้องกันเหตุร้ายและระงับยับยั้งเหตุร้ายที่จะมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศมาโดยตลอด กลับปรากฏว่า การดำเนินการดังกล่าวของรัฐบาลนั้นไม่สามารถที่จะดำเนินการระงับยับยั้งเหตุต่างๆ ได้ ในทางตรงกันข้าม การชุมนุมเคลื่อนไหวของประชาชนกลุ่มนี้ได้พัฒนาไปสู่การกระทำที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เป็นการชุมนุมที่เกินเลยขอบเขตของรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้ส่งผลกระทบให้เกิดความเดือดร้อนกับพี่น้องประชาชนเป็นจำนวนมาก มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม อย่างกว้างขวาง รวมถึงกระทบกระเทือนถึงภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของประเทศในสายตาของประชาคมโลกด้วย

แม้ว่ารัฐบาลจะได้มีการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างดีที่สุด แต่กลับปรากฏว่ามีการขัดขืน และยิ่งไปกว่านี้ มีการพัฒนาการเคลื่อนไหวเป็นไปในลักษณะที่ผิดกฎหมายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ที่ได้มีการขัดขืนการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย และวันนี้ยังได้มีการบุกรุกเข้าไปในสถานที่ราชการที่สำคัญ คือกรณีของการบุกรุกรัฐสภา ผมจึงได้มีการเชิญคณะรัฐมนตรีให้ประชุมเป็นกรณีพิเศษบ่ายวันนี้ และที่ประชุมได้มีมติให้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 รวมทั้งได้มีการเห็นชอบในการออกข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ฉุกเฉิน และได้มีมติในการจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยได้มีการแต่งตั้งให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นผู้กำกับการปฏิบัติงาน เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบ และเป็นผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน
ผมขอกราบเรียนพี่น้องประชาชนครับว่า การประกาศภาวะฉุกเฉินร้ายแรงในครั้งนี้ รัฐบาลมีความมุ่งหวังในการที่จะใช้เครื่องมือตามกรอบของกฎหมายในการแก้ไขสถานการณ์ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 4 ประการครับ
ประการแรก เราต้องการที่จะคืนความเป็นปกติสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ต่างๆ ให้กับพี่น้องชาวกรุงเทพมหานคร
ประการที่สอง เราจะต้องระงับ ยับยั้ง การเผยแพร่และการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารในลักษณะที่ทำให้เกิดความแตกแยก และยุยงส่งเสริมให้มีการกระทำการที่ผิดกฎหมายอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น
ประการที่สาม การประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ ก็เพื่อที่จะสามารถดำเนินคดีได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแกนนำของการชุมนุม ซึ่งจะต้องมีการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป
และประการสุดท้าย เพื่อที่จะไม่ให้มาตรการในการระงับเหตุ เช่น การก่อวินาศกรรมและเหตุอื่นๆ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ผมขอย้ำกับพี่น้องประชาชนครับว่า กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือให้รัฐบาลนั้นสามารถบรรลุภารกิจเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่า กฎหมายฉบับนี้มีความมุ่งหมายในเรื่องของการจะเข้าไปปราบปราม หรือทำร้ายประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนผู้บริสุทธิ์ เป้าหมายของรัฐบาลนั้นคือ การคืนภาวะของการเป็นปกติ และทำให้กฎหมายนั้นมีความศักดิ์สิทธิ์ในบ้านเมืองของเรา ทั้งนี้ทั้งนั้น การที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวนั้น รัฐบาลก็ยังดำเนินการทุกวิถีทางที่เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย และเป็นไปตามหลักสากล
ผมจึงอยากจะขอกราบเรียนไปยังพี่น้องประชาชนทุกท่านว่า ในขณะนี้เหตุการณ์บ้านเมืองของเรา ความสงบสุขของพี่น้องประชาชน และผลประโยชน์ของชาติ ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการปฏิบัติการของคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งจำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไข ผมอยากจะให้พี่น้องประชาชนนั้นมีความเข้าใจครับว่า การกระทำใดๆ ที่ผิดกฎหมาย การกระทำใดๆ ที่กระทบต่อความสงบสุขของประชาชน และส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมนั้น ในที่สุดจะเป็นการสร้างความเดือดร้อนและความเสียหายให้กับพี่น้องประชาชนทุกคน รวมทั้งบุคคลที่กระทำผิกฎหมายด้วย
อยากจะขอให้พี่น้องประชาชนได้เข้าใจ และละเว้นจากการเข้ามาร่วมชุมนุมในลักษณะที่ผิดกฎหมาย รวมทั้งบรรดาพี่น้องประชาชนที่ทราบว่ามีญาติ มีเพื่อน หรือมีใครก็ตามที่ท่านรู้จักเข้าร่วมชุมนุมนั้น ได้โปรดชี้แจงความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญด้วย
ผมหวังจะได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม ในการที่รัฐบาลจะได้บังคับใช้กฎหมายเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ ขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนอีกครั้งหนึ่ง จากนี้ก็จะมีการอ่านประกาศและรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับข้อกำหนดต่างๆ และผมจะทำหน้าที่ในการรายงานการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นระยะๆ
ขอให้ความมั่นใจอีกครั้งหนึ่งครับว่า รัฐบาลถือว่าพี่น้องประชาชนทุกคนเป็นเพื่อนร่วมชาติ แต่วันนี้รัฐบาลจะต้องรักษากฎหมายให้มีความศักดิ์สิทธิ์ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนทั้งประเทศ และจะดำเนินการทุกวิถีทางอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว เพื่อนำความปกติสุขกลับคืนมาให้พี่น้องประชาชน ผมขอขอบคุณพี่น้องประชาชนอีกครั้งหนึ่งครับ”
ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์ 7 เมษายน 2553 18:12 น.
[Continue reading...]

อภิสิทธิ์ "เผย" สุเทพเดินเลยธงต้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม "ปัด" ไม่ได้ปรึกษาพรรค

- 0 comments
"อภิสิทธิ์"ส่งข้อความห้าม ส.ส.ปชป.ทุกคนทำผิดกฎหมาย เผย"สุเทพ"เดินเลยธงต้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม
แหล่งข่าวจาก ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา(25พ.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ส่งข้อความถึงส.ส.ของพรรคทุกคน โดยแจ้งว่าห้ามส.ส.ทุกคนทำผิดกฎหมาย
แหล่งข่าว ยังกล่าวถึงแนวทางการเคลื่อนไหวของนายสุเทพ เทือกสุบรรณด้วยว่า นายสุเทพไม่ได้ปรึกษาหารือแกนนำในพรรค โดยระยะหลังมานี้ นายสุเทพไม่ได้เรียกประชุมคณะทำงานเวทีแล้ว แต่ได้คุยกับแกนนำม็อบเวทีอื่นๆ เป็นหลัก โดยเมื่อคืนวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา นายสุเทพก็หารือกับนายสมศักดิ์ โกศัยสุข อดีตแกนนำพันธมิตรฯ เป็นเวลานาน
ทั้งนี้ ยอมรับว่าเวลานี้กระแสในพรรคไม่สบายใจต่อแนวทางดังกล่าว เพราะนายสุเทพเดินเลยธงต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ไปไกลมาก แต่หัวหน้าและผู้ใหญ่ในพรรคยังไม่ได้เรียกประชุมเพื่อกำหนดท่าทีของพรรคที่มีส.ส.ของพรรคไปร่วมเคลื่อนไหว
 
[Continue reading...]

Thursday, November 21, 2013

"เพื่อไทย" แถลง 9 ข้อ ไม่รับอำนาจศาลรธน.วินิจฉัย กรณีที่มาของส.ว.เตรียมฟ้อง 5 ตุลาการเสียงข้างมาก

- 0 comments
พรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์ เหตุผล 9 ข้อ ที่ไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาของส.ว. และเตรียมจะยื่นฟ้องร้องดำเนินคดีกับ 5 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก
เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 21 พฤศจิกายน ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) สมาชิกพท. จำนวน 24 คน นำโดยนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพท. นายโภคิน พลกุล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นายชูศักดิ์ ศิรินิล ทีมกฎหมายพท. นายสามารถ แก้มมีชัย ส.ส.เชียงราย พท. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาส.ว. นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพท.

โดยนายนายจารุพงศ์ กล่าวคำแถลงของพท. ว่า ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย กรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้ยกเลิกสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และให้มีวุฒิสภาจำนวน 200 คน ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 นั้น
 
 
พรรคเพื่อไทย  ขอเรียนพี่น้องประชาชนทุกท่าน ดังนี้
 
 
คำแถลงของพรรคเพื่อไทย
 
ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย กรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้ยกเลิกสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และให้มีวุฒิสภาจำนวน 200 คน ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 นั้น
 
พรรคเพื่อไทยขอเรียนพี่น้องประชาชนทุกท่าน ดังนี้
 
1. การที่สมาชิกรัฐสภาประกอบด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 312 คน ร่วมเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องดังกล่าว ก็เพื่อให้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย ที่ถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ดังนั้น สมาชิกรัฐสภาทั้งหมดย่อมต้องมาจากการเลือกตั้งของปวงชน ดังที่ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยทั้งหลายปฏิบัติกัน และสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งถือเป็นฉบับประชาชน
 
2. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า เป็นอำนาจของรัฐสภา โดยมีข้อห้ามแก้ไขอยู่ 2 ข้อ เท่านั้น  คือ การเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ ซึ่งการแก้ไขเพิ่มเติมที่มาของสมาชิกวุฒิสภาดังกล่าว ไม่เกี่ยวข้องกับข้อห้ามทั้ง 2 ข้อ แต่อย่างใด ทั้งศาลรัฐธรรมนูญเองก็เคยวินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัย ที่ 18-22/2555 ว่า “รัฐสภาจะใช้อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราก็เป็นความเหมาะสม และเป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะดำเนินการดังกล่าวนี้ได้ ซึ่งจะเป็นการสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 291”
 
3. การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องในเรื่องดังกล่าว โดยอาศัยรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เป็นการกระทำที่ถือได้ว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งอยู่ในข่ายที่จะถูกร้องขอให้ถอดถอนหรือถูกดำเนินคดีอาญาได้ เพราะมาตรา 68 เป็นกรณีเกี่ยวกับการที่บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้มิได้ แต่การตรากฎหมาย ซึ่งกรณีนี้ถือเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการที่รัฐสภากระทำไปตามอำนาจหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 บัญญัติ โดยศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยรับรองไว้เองอีกโสตหนึ่งดังที่กล่าวมาข้างต้น จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้ได้
 
4. ศาลรัฐธรรมนูญอ้างหลักนิติธรรมในคำวินิจฉัยในลักษณะที่ต้องการตีความขยายความเพิ่มอำนาจให้ตนเองมากกว่าที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ เช่นที่ได้เคยทำมาแล้วในคำวินิจฉัย ที่ 18-22/2555 ด้วยการอ้างว่า  “ความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ ... ถือเป็นเจตนารมณ์หลักของรัฐธรรมนูญว่าจะต้องยึดถือไว้เป็นสำคัญยิ่งกว่าเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ” คำวินิจฉัยทั้ง 2 ครั้งในปี 2555 และ 2556 แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ตัวแทนของปวงชนที่รับมอบอำนาจมาจากปวงชนเพื่อมาแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีที่มาที่ชอบธรรม เป็นประชาธิปไตย และเป็นธรรม ไม่ว่าจะแก้ทั้งฉบับหรือรายมาตราไม่อาจกระทำได้เลย เพราะถูกขัดขวางโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่กล่าวมา ด้วยการตีความรัฐธรรมนูญขยายอำนาจของตนเอง ไม่ยอมผูกพันตามตัวอักษร และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
 
5. การอ้างหลักนิติธรรม เป็นการกล่าวอ้างอย่างลอย ๆ มิได้ระบุให้ชัดเจนว่าตามหลักสากลเขาเป็นเช่นไร การขัดกันแห่งผลประโยชน์ รัฐธรรมนูญ มาตรา 265 ถึง 269 บัญญัติไว้ชัดเจนแล้วว่ามีความหมายอย่างไร แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็เพิ่มเติมขึ้นใหม่ โดยไม่ได้ดูที่องค์กรของตนเองเลยว่า ได้กระทำการขัดต่อหลักที่ตนอ้างหรือไม่ เช่น ได้ตัดสินด้วยความเป็นอิสระ และเป็นกลาง เป็นไปโดยยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ และก่อให้เกิดความสงบสุขแห่งราชอาณาจักร ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 197 และ มาตรา 201 บัญญัติหรือไม่ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ตุลาการ 3 คน เคยเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาก่อน และ 1 ใน 3 คน เคยถูกคัดค้านประเด็นนี้ จนต้องถอนตัวในการพิจารณาคดีในคำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 มาแล้ว แต่คราวนี้ไม่ถอนตัว และอีก 1 คน เคยแสดงความเห็นไว้ชัดเจนว่า การลงโทษบุคคลย้อนหลังกระทำได้ถ้าไม่ใช่การลงโทษทางอาญา อันเป็นเหตุให้มีการยุบพรรคไทยรักไทย และลงโทษตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคทั้งหมดเป็นเวลา 5 ปี โดยผู้ถูกตัดสิทธิไม่ได้มีโอกาสรับทราบข้อหาและต่อสู้ชี้แจงแต่อย่างใด ดังนั้น หากตุลาการทั้ง 3หรือ 4 คนดังกล่าวต้องถอนตัว ผลของคำวินิจฉัยจะกลับเป็นตรงกันข้าม
 
6. การที่ศาลรัฐธรรมนูญอ้างว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว ขัดต่อมาตราต่าง ๆในรัฐธรรมนูญ นั้น นับว่าเป็นอันตรายที่สุด เพราะเป็นการใช้อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง และถ้าอ้างเช่นนี้ การที่มาตรา 309 ขัดต่อมาตรา 3 และมาตรา 6 จะอธิบายกันต่อไปอย่างไร เนื่องจาก มาตรา 3 กำหนดหลักนิติธรรม  มาตรา 6  กำหนดหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐ
ธรรมนูญ ในขณะที่ ประกาศ คำสั่งของคณะรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับประกาศ คำสั่งดังกล่าว ให้ถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญทั้งหมด แต่กฎหมายที่ออกโดยสภา และพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย อาจถูกโต้แย้งว่าขัดรัฐธรรมนูญได้หมด เช่นนี้เป็นเรื่องที่ขัดต่อหลักนิติธรรมอย่างชัดแจ้งที่สุด
 
7. การก้าวล่วงเข้าไปวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า มีการกระทำที่ผิดข้อบังคับการประชุมรัฐสภาหรือไม่ เป็นการกระทำที่แทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติโดยชัดแจ้ง ขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจในมาตรา 3 และมาตรา 89 ที่บัญญัติให้ “ประธานรัฐสภา ....ดำเนินกิจการของรัฐสภาในกรณีประชุมร่วมกันให้เป็นตามข้อบังคับ”  ซึ่งข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 117 บัญญัติว่า  “ถ้ามีปัญหาที่จะต้องตีความข้อบังคับนี้ ให้เป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะวินิจฉัย ... ให้ถือว่าคำวินิจฉัยนั้นเด็ดขาด”  กับข้อ 45 ที่ให้ถือว่าคำวินิจฉัยของประธานถือเป็นเด็ดขาด ถ้ามีการประท้วงว่ามีการฝ่าฝืนข้อบังคับ ยิ่งไปกว่านั้น ข้อ 116 ยังให้อำนาจที่ประชุมรัฐสภามีมติให้งดใช้ข้อบังคับข้อใดข้อหนึ่งก็ได้ หากศาลรัฐธรรมนูญก้าวล่วงเช่นนี้ได้ ก็อาจมีการร้องกันว่าการฝ่าฝืนข้อบังคับทั้งหลายเป็นการกระทำผิดรัฐธรรมนูญ สภาก็คงปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้เลย
 
8. เมื่อรัฐสภาได้ลงมติในวาระที่ 3 และนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ว่าจะทรงเห็นชอบด้วยหรือไม่ จนกว่าจะพ้นเก้าสิบวัน และมิได้พระราชทานคืนมา การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องและวินิจฉัยเรื่องดังกล่าวโดยไม่มีอำนาจ ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ย่อมเป็นการกระทบกระเทือนต่อการใช้พระราชอำนาจ และการกระทำในพระปรมาภิไธย ทั้งนี้ เพราะประการแรก ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเองหรือไม่ ประการที่สองเมื่อเปรียบเทียบกับกรณีการตรวจสอบว่า ร่างพระราชบัญญัติใดมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่แล้วนั้น รัฐธรรมนูญ มาตรา 154 ให้ตรวจสอบได้ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ หากมีการทูลเกล้าฯแล้วย่อมจะอยู่ในพระบรมราชวินิจฉัย ไม่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
 

9. การทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ถ้ารัฐธรรมนูญบัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบได้ก็ย่อมเป็นไปตามนั้น แต่หากไม่ได้บัญญัติไว้ ย่อมเป็นเรื่องเกี่ยวกับวงงานหรืออำนาจหน้าที่ของรัฐสภา และเป็นอำนาจของรัฐสภาโดยแท้ ดังเช่นที่รัฐธรรมนูญในอดีตทุกฉบับก่อนปี 2540
 

วางหลักไว้ การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวจะดีหรือไม่ ถูกใจหรือไม่  เหมาะสมหรือไม่   ย่อมจะถูกตัดสินโดยประชาชนในการเลือกตั้ง และนี่ถือเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชน ศาลจะก้าวล่วงเข้าไปใช้อำนาจนี้แทนไม่ได้ มิเช่นนั้นก็จะเป็นการยึดอำนาจของประชาชนไปใช้เช่นเดียวกับการรัฐประหาร                  
 
 
อย่างไรก็ตาม  นายจารุพงศ์ ได้กล่าวถึงกรณีกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เสนอให้ลงมติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 291 ในวาระ 3 ว่า ต้องเป็นเรื่องที่พิจารณาต่อไป    
 
 
เตรียมยื่นฟ้อง 5 ตุลาการศาลรธน.เสียงข้างมาก

ขณะที่ นายชูศักดิ์ ศิรินิล คณะกรรมการยุทธศาสตร์พท. กล่าวภายหลังพท.ออกแถลงการณ์โต้การวินิจฉัยคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา สว.ของศาลรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้ทางพท.จะเตรียมหารือกับ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และส.ว.ในฐานะผู้เสียหายจากการวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อเตรียมฟ้องร้องดำเนินคดีต่อ 5 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากที่วินิจฉัยว่า เนื้อหาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68
 
นายชูศักดิ์ กล่าวว่า โดยเบื้องต้นหารือว่าจะฟ้องข้อหาการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และฟ้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพราะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีก้าวล่วงการใช้พระราชอำนาจ และการกระทำในพระปรมาภิไธย เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว นายกรัฐมนตรีได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อพระมหากษัตริย์แล้ว

โต้ปชป. ยันไม่มีกม.รับรอง ถวายคืนร่างแก้ รธน.
 
 นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า กรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีขอทูลเกล้าฯ ถวายคืนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญลงมานั้น ขอยืนยันว่าไม่มีกฎหมายข้อใดรองรับไว้ และขณะนี้ขึ้นอยู่กับพระบรมราชวินิจฉัยในการลงพระปรมาภิไธยต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว อย่างไรก็ตามตามขั้นตอนรัฐธรรมนูญ หลังจากมีการทูลเกล้าฯ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นไป หากพ้น 90 วันไม่ได้พระราชทานคืนมา ซึ่งตามรัฐธรรมนูญรัฐสภาจะมีมติยืนยันร่างเดิมหรือไม่นั้น มองว่าที่ผ่านมาไม่เคยเกิดเหตุการณ์ที่รัฐสภาลงมติยืนยันแต่อย่างใด
 
อย่างไรก็ตามนายชูศักดิ์ ย้ำว่า ขณะนี้ต้องรอพิจารณาคำวินิจฉัยกลาง และคำวินิจฉัยส่วนตนอย่างละเอียด และรอหารือให้ครบทั้ง ส.ส.และ ส.ว.เพื่อประกอบการพิจารณาในการฟ้องร้องคดีตุลาการ รวมถึงการยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามช่องทางที่รัฐธรรมนูญบัญญัติด้วย เนื่องจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องในเรื่องดังกล่าว โดยอาศัยรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เป็นการกระทำที่ถือได้ว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งอยู่ในข่ายที่จะถูกร้องขอให้ถอดถอนและถูกดำเนินคดีอาญาได้
 
ที่มา :นสพ.มติชน

[Continue reading...]

Friday, November 15, 2013

ม็อบพรรคประชาธิปัตย์ อยู่บนความ "ชอบธรรม" หรือ ?

- 0 comments
ถามว่าเหตุใดการชุมนุมของแนวร่วมคนไทยรักชาติ รักษาแผ่นดิน อันนำโดย นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ที่ท้องสนามหลวง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจึงไม่ประสบความสำเร็จ
ตอบว่า อยู่ที่ "ความชอบธรรม"

แม้จะมีองค์การพิทักษ์สยามอันนำโดย พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ กับ พล.ร.อ.ชัย สุวรรณภาพ เข้ามาเสริม ก็ไม่สามารถระดมคนเข้าร่วมได้อย่างอุ่นหนาฝาคั่ง

ยังดำรงสถานภาพม็อบ "เรือนร้อย"

ถามว่าเหตุใดการยกระดับการชุมนุมของ "สนามหลวง" ประสานกับการเคลื่อนไหวของ "หน้ากากขาว" ถึงกับประกาศจัดตั้ง "กองทัพประชาชน โค่นระบอบทักษิณ" โดยปักหลักชุมนุมที่สวนลุมพินีตั้งแต่เดือนสิงหาคม จึงไม่ประสบผลสำเร็จ

ตอบว่า อยู่ที่ "ความชอบธรรม"

แม้จะมีกองทัพธรรมอันมีสันติอโศกเป็นแบ๊ก แม้จะมีมือจากพรรคประชาธิปัตย์เข้าไปแตะสัมผัส แม้จะพยายามขับเคลื่อนจากสวนลุมพินีไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาลและแยกสายไปอุรุพงษ์

ก็ยังดำรงสถานภาพม็อบ"เรือนร้อย"อยู่ไม่แปรเปลี่ยน

ปัญหา"ความชอบธรรม" จึงสำคัญเป็นอย่างมากในการชุมนุม ในการเคลื่อนไหวและก่อกระแสทางการเมือง

ต้องยอมรับว่าการจัดม็อบของพรรคประชาธิปัตย์โดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไม่ว่าจะเป็นที่สามเสน ไม่ว่าจะเป็นบนถนนราชดำเนิน

ต่างจาก "สนามหลวง" เมื่อเดือนพฤษภาคม

ต่างจาก "สวนลุมพินี" เมื่อเดือนสิงหาคม

ต่างจาก "แยกอุรุพงษ์" เมื่อเดือนตุลาคม

นั่นก็คือ ม็อบของพรรคประชาธิปัตย์ไม่เพียงแต่จะมี "มวลชน" ของตนเองในพื้นที่ กทม.อยู่แล้วโดยพื้นฐาน

หากยังอาศัยร่าง พ.ร.บ. "นิรโทษกรรม" มาจุดให้กลายเป็น "กระแส"

จะเห็นได้จากการเข้าร่วมของกลุ่ม "นักธุรกิจ" ในภาคเอกชน จะเห็นได้จากการเข้าร่วมของปัญญาชน นักวิชาการ แสดงออกผ่านบุคคลระดับ "อธิการบดี" จะเห็นได้จากการเข้าร่วมของบุคคลในแวดวงองค์กรอิสระและตุลาการ

ไม่ว่าจะมาโดยพลังจาก "มือที่มองไม่เห็น" ไม่ว่าจะมาเพราะการบิดเบือนและเน้นย้ำในเรื่องล้างผิด"คนโกง" โดยมองข้ามบทบาทของคนออกคำสั่งฆ่า 99 ศพ บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน แต่ก็ทำให้บนถนนราชดำเนินคึกคักเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในห้วงก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

"ความชอบธรรม" จึงเป็น" อาวุธ" อันทรงพลัง

กระนั้น ความชอบธรรมในสถานการณ์ 1 ก็หมดความหมายหากสถานการณ์เริ่มคลี่คลายและมีการนำข้อเสนอใหม่เข้ามาอย่างไม่สอดรับกับสภาพความเป็นจริง

"ความชอบธรรม"ที่เคยมีก็จะค่อยๆหมด"บทบาท"

เช่นเดียวกับ เมื่อพรรคเพื่อไทย พรรคร่วมรัฐบาล และรัฐบาลเริ่มถอยด้วยการถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมทุกฉบับที่มีออกมาหมด
ตัดเงื่อนไขนี้ทิ้งอย่างสิ้นเชิง

การชุมนุมของพรรคประชาธิปัตย์บนถนนราชดำเนินหากยังดึงดันเดินหน้าต่อไปก็จะขาดความชอบธรรมที่เคยมี

"มวลชน"ที่เคยให้การสนับสนุนก็จะถอยหนีวางมือไม่เข้าร่วม

ยิ่งหากพรรคประชาธิปัตย์เสนอเงื่อนไขใหม่ถึงขั้นให้หยุดงาน หยุดเรียน ชะลอการเสียภาษีเข้ามาอีก ยิ่งก่อให้เกิดความตื่นตระหนก ยิ่งก่อให้เกิดความคลางแคลงใจในเจตนา กระทั่งในที่สุดก็ปฏิเสธ

เพราะขาด "ความชอบธรรม" เพราะไม่อยากอยู่ใต้ "อาณัติ" พรรคประชาธิปัตย์

ที่เคยมีคนเข้าร่วม "เรือนหมื่น" ก็จะเหลือคนเข้าร่วมเพียง "เรือนพัน" และก็จำเป็นต้องอำลาจากท้องถนนไปในที่สุด

"อนิจจัง" ไม่เที่ยง ไม่แท้ ไม่ "แน่นอน"
ที่มา : ประชาไท
[Continue reading...]

Thursday, November 14, 2013

ทูตวีรชัยวอนเคารพการทำงานของ "ทีม" เจรจา การชี้ ไปก่อนว่าไทยเสียพื้นที่เท่าไหร่ เท่ากับยิ่งเพิ่มปัญหา

- 0 comments

วีรชัย พลาศรัย  เอกอัครราชทูตประจำกรุงเฮกประเทศเนเธอแลนด์ ร่วมเสวนา “เบื้องหลังคดีตีความปราสาทพระวิหาร“ ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมือเช้าวันที่ 15 พ.ย. 2556
วีรชัย พลาดิศรัย  เอกอัครราชทูตประจำกรุงเฮกประเทศเนเธอแลนด์ 
 
15 พ.ย. นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอแลนด์ ร่วมเสวนา “เบื้องหลังคดีตีความปราสาทพระวิหาร“ ที่คณะนิติศาสตร์จุฬาฯ อธิบายเพิ่ม ไทยได้อะไรบ้าง-เสียอะไรบ้าง
โดยทูตวีรชัยระบุไทยได้สามอย่างหลักๆเป็นสิ่งที่ได้และไม่ต้องเจรจากันอีก ทางการต่างประเทศจบแล้ว
ไทยได้อะไร
หนึ่ง ภูมะเขือไม่ได้รวมอยู่ในคำว่าบริเวณใกล้เคียงตามคำพิพากษา 2505 ซึ่งกัมพูชาเคลม แต่ศาลไม่ได้ตัดวินให้เป็นของไทยเท่าที่ทราบไม่มีประเทศไหนในโลกที่อ้างสิทธิในภูมะเขือ แต่ผมคิดว่าไม่มีในทางปฏิบัติก็คือ น่าจะเป็นของเรา ไม่รู้ว่ากัมพูชาจะว่าอย่างไรแต่ถ้าเรานั่นโต๊ะเจรจาเราก็ต้องบอกว่าเป็นของเรา
สอง เส้นบนแผนที่หนึ่งต่อสองแสนที่กัมพูชาใช้เป็นหลักฐานและถ่ายทอดเส้นเขตแดนออกมาเส้นนี้ศาลไม่รับ ตกไป 4.6ตารางกิโลเมตรไม่มีอีกต่อไป ไม่ต้องมาเจรจา
สาม เส้นบนแผนที่หนึ่งต่อสองแสนที่เขาห้ามมาตลอดว่าผูกพันไทยโดยผลคำพิพากษา 2505 เราบอกไม่ใช่ และคำพิพากษานี้ที่มัดคอ เป็นหนามยอกอก ถอนออกหมดแล้วศาลบอกว่าคำพิพากษา 2505 กำหนดแคบลง ซึ่งไม่รู้เท่าไหร่ ต้องเจรจานอกนั้นไม่สามารถบอกว่าผูกพันไทยได้อีกแล้ว
เขาย้ำว่าทั้งสามประการนี้ได้มาโดยไม่ต้องมีการเจรจาอีกต่อไป
ไทยเสียอะไร
เสียหลักฐานเส้นเขตแดนบนแผนที่ตามมติครม. ที่ไทยอ้างศาลให้เส้นนี้ตกไปด้วยเหตุผลว่าศาลได้ค้นพบหลักฐานสองชิ้นในคดีเก่า
จากนั้นหัวหน้าทีมทนายสู้คดีพิพาทเส้นเขตแดนเขาพระวิหารกล่าวถึงคำตัดสินย่อหน้า 98 ซึ่งศาลบรรยายว่า promontory เป็นอย่างไร ก็มีปัญหาว่าจะเอาเส้นนี้ไปใส่ในแผนที่อย่างไรเพราเส้นนี้ทำขึ้นในปี ค.ศ. 1904-1907เมื่อร้อยกว่าปีแล้ว ซึ่งทางไทยได้พยายามต่อสู้และศาลรับฟัง ดังที่ปรากฏต่อมาใน ย่อหน้า  99 ของคำพิพากษา ว่าศาลรับทราบความยากในการถ่ายทอดเส้นบนแผนที่อันหนึ่งลงไปในแผนที่อีกอันหนึ่งซึ่งมาตราส่วนต่างการสัณฐานโลกต่างกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยโดย ทนายเอลินา มิรองได้พยายามนำเสนอในศาล ทูตวีรชัยกล่าวว่าข้อต่อสู้นี้ ทีมทนายฝ่ายไทยทำให้ศาลรับฟังได้ ดยต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อและน้ำตาของคณะทำงาน และศาลให้เจรจาซึ่งไม่ได้กำหนดเวลาว่าจะต้องเจรจาให้เสร็จสิ้นเมื่อไหร่โดยตัวเขาเองเชื่อว่าคนรุ่นนี้อาจจะเจรจาไม่เสร็จแต่คนรุ่นหน้าอาจจะเจรจาได้สำเร็จ
“เรามีเวลา ค่อยๆ คิดค่อยๆ ทำเคารพกระบวนการเจรจาภายใน เคารพการเจรจาภายนอกถ้าไปบอกว่าเราเสียกี่ไร่ๆ จะไม่มีประโยชน์ ต่อการเจรจาโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนทีประเมินเป็นภาครัฐไม่ว่าฝ่ายบริหารนิติบัญญัติ ตุลาการ มันมีผลผูกพันได้......ใครเป็นนักเจรจาจะทราบวามันเหนื่อยขนาดไหนแล้วยิ่งเอาหินผูกหลังเรา เราไปเจรจาให้คนที่เอาหินมาผูกหลังเรานั่นแหละ”
ทั้งนี้เขาชี้แจงว่าผลผูกพันหลักจากศาลโลกก็คือต้องไปเจรจากับทางกัมพูชา
“สำหรับคำพิพากษาว่าเสียดินแดนไหม ผมตอบไม่ได้ผมไม่ได้เล่นลิ้น ผมตอบได้อย่างเดียวผลคำพิพากษานี้เราต้องไปเจรจากับกัมพูชาแล้วเรามีโอกาสเสียดินแดนไหม ผมไม่ตอบเพราะผมมาจากหน่วยงานที่ผมต้องไปเจรจาแน่ๆผมตอบไม่ได้ ผมปิดบังข้อมูลประชาชนหรือเปล่า ท่านตัดสินเอาเอง ถ้าด่าผมที่จุดนี้แต่ประโยชน์ตกแก้ประเทศชาติ เชิญ” เอกอัครราชทูตประจำกรุงเฮกกล่าว  พร้อมย้ำว่า ไม่มีใครมาเอาแผ่นดินนี้ไปได้ตราบที่การเจรจายังไม่จบ
สำหรับคำถามที่หลายคนสงสัยว่าไทยไม่ยอมรับคำตัดสินศาลโลกได้หรือไม่ เพราะมีกรณีที่สหรัฐไม่รับคำตัดสินศาลโลกเหมือนกัน นายวีรชัยกล่าวว่า ตอนนี้ไม่ได้บอกว่ารัฐบาลไทยรับหรือไม่รับคำตัดสินศาลโลก แต่เราบอกว่าเราจะต้องมาคุยกับกัมพูชาก่อน สำหรับการอ้างเรื่องข้อพิพาทระหว่างนิคารากัวกับสหรัฐ โดยที่สหรัฐไม่ยอมรับคำตัดสินศาลโลกนั้น เขาชี้แจงว่า สหรัฐใช้การวีโต้แล้วเจรจา แล้วจากนั้นนิคารากัวก็ถอนคดีออก เมื่อถอนคดีก็ทำให้เสมือนว่าคดีไม่เคยมีอยู่ คำตัดสินศาลโลกก็เสมือนไม่มีอยู่ แต่จะบอกว่าสหรัฐเขี้ยวไปเจรจาบอกให้เขาถอน ก็เป็นสิทธิของเขา
แต่คดีระหว่างนิคารากัวกับสหรัฐอเมริกานั้น ในทางกฎหมาย จริงๆ แล้วไม่ใช่การไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลโลก แต่มันคือไม่มีอะไรให้ปฏิบัติตามเพราะนิคารากัวถอนข้อพิพาทออกไป

นายณัฐวุฒิ โพธิสาโร รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางหลังจากนี้มี 3 ประการคือ

หนึ่ง ต้องเจรจาด้วยสันติวิธี
สอง ต้องมีท่าทีในการรักษาอธิปไตยรักษาประโยชน์ชาติ แต่ต้องมีท่าทีที่ดีกับกัมพูชาซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านและจะเป็นประชาคมร่วมกันในสองปีข้างหน้า
และประการสุดท้าย ท่าทีของเราต้องไม่กระทบต่อเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีของเราต่อประชาคมโลก

ที่มา : ประชาไท 15 11 56
[Continue reading...]

Wednesday, November 13, 2013

ไม่รู้จักกาละเทศะ "สภาไม่ใช่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย" ปชป.เป่านกหวีดกลางที่ประชุม

- 0 comments

รัฐสภาป่วนเหตุ'ปชป.'เป่านกหวีดกลางที่ประชุม พร้อมถามหา'นายกฯ-คำแปลคำพิพากษาศาลโลก'จี้ให้เลื่อนพิจารณาหากไม่พร้อม ด้าน'สุรพงษ์'พร้อมประชุมเปิดเผยให้ประชาชนรับรู้


13 พ.ย.56 เมื่อเวลา 13.00 น. ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ได้มีการพิจารณา เรื่องด่วนที่คณะรัฐมนตรีเสนอให้เปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมรัฐสภา โดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 179 เพื่อรับฟังความเห็นของสมาชิกรัฐสภาต่อคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีปราสาทพระวิหาร เมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเรื่องดังกล่าวสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน โดยก่อนเข้าสู่วาระพิจารณา นางนฤมล ศิริวัฒน์ ส.ว.อุตรดิตถ์ เสนอให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาเรื่องดังกล่าวในการประชุมลับ เพื่อประโยชน์ต่อการเสนอแนะแนวทาง เพื่อไปดำเนินการเจรจากับประเทศกัมพูชา ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ทักท้วงว่า ไม่ควรเป็นการประชุมลับ เพราะไม่ใช่เป็นการกำหนดท่าทีหรือกรอบเจรจา ขอเรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมาร่วมประชุม
 
ขณะที่ ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ระบุว่า สำหรับการเสนอให้เป็นการประชุมลับนั้น ขอให้นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงและกรณีที่เรียกร้องให้นายกฯ ร่วมประชุมนั้น ตนมองว่า แม้นายกฯ ไม่ได้มาร่วมแต่ได้ส่งรองนายกฯ, รัฐมนตรี รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของกระทรวงการต่างประเทศที่รับผิดชอบเรื่องดังกล่าวมารับฟังและให้ข้อมูล ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น อย่าตีกิน ทำให้นายอภิสิทธิ์ลุกประท้วงและให้ถอนคำพูดว่า ตีกิน จนเกิดการตอบโต้ไปมา และระหว่างนั้นมี ส.ส.ปชป.ในห้องประชุมได้เป่านกหวีดขึ้นมากลางห้องประชุม จนทำให้เกิดการประท้วงและขอให้นายนิคมใช้อำนาจสั่ง ส.ส.ที่เป่านกหวีดหยุดการกระทำดังกล่าว
ที่มา : คมชัดลึก
[Continue reading...]

Tuesday, November 12, 2013

“สดศรี” เผยต้องเสียค่าใช้จ่ายเลือกตั้งซ่อม ใช้งบไม่ต่ำกว่า 80 ล้านบาท เงินภาษีของใคร ?

- 0 comments
กรรมการการเลือกตั้งเตรียมประชุมกำหนดวันเลือกตั้งซ่อม หลัง ส.ส.ปชป.ลาออก    คาดใช้งบฯ80ล้านเลือกซ่อมส.ส.8เขต เล็งชงกม.ให้ส.ส.ลาออกไม่มีเหตุผลชดใช้เลือกตั้ง
 
นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ เปิดเผยถึงกรณีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ พร้อมด้วย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์อีก 8 คน ได้ขอลาออกจากการเป็น ส.ส. ว่าภายในวันที่ 13 พฤศจิกายนนี้ กกต.จะมีการประชุมเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว เพื่อจะได้กำหนดวันเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง เมื่อสามารถกำหนดวันเลือกตั้งได้ กกต.จะส่งเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรีให้มีการประกาศราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างต่อไป โดยการเลือกตั้งซ่อมนี้ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด
          
นางสดศรีกล่าวว่า กกต.ไม่ได้คาดการณ์ล่วงหน้าว่าจะมีการลาออกของ ส.ส. ดังนั้น ในการเลือกตั้งครั้งนี้จึงต้องใช้งบประมาณส่วนกลางของ กกต.ไปก่อนแล้วค่อยไปเบิกค่าใช้จ่ายกับรัฐบาลภายหลัง อีกทั้งยังคาดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ น่าจะใช้งบประมาณในการเลือกตั้งไม่ต่ำกว่า 80 ล้านบาท เนื่องจาก ส.ส.ที่ลาออกเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขตถึง 8 คน และในการเลือกตั้งแต่ละพื้นที่น่าจะใช้งบประมาณกว่า 10 ล้านบาท
 
ส่วนการตรวจสอบเรื่องความเหมาะสมในการลาออกจาก ส.ส.นั้น ตามกฎหมายก็ไม่ได้ระบุไว้ว่าให้มีการตรวจสอบหรือระบุให้ ส.ส.ที่ลาออกจากตำแหน่งนั้นต้องชดใช้เงินคืน เพราะหาก ส.ส.มีความสมัครใจที่จะลาออก กกต.ก็ต้องดำเนินการจัดเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง

ที่มา :Voicetv

 


[Continue reading...]

Monday, November 11, 2013

เมื่อ "สุเทพ" ลาออกจาก ส.ส.ถึงเวลาที่ "ขบวนการยุติธรรม" บังคับใช้กฏหมายอย่างเท่าเทียมกันตามรัฐธรรมนูญ ม. 30

- 0 comments
เมื่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศลาออกจาก ส.ส. ต่อสาธารณะชน ถือว่า สมชิกภาพสิ้นสุดลง แล้ว ดังนั้นสิ่งที่นายสุเทพ จะต้องเจอคือการสั่งฟ้องในคดี สั่งฆ่า ประชาชน ในปี 53 ของ อัยการสูงสุด

สิ่งที่จะเรียกร้องถึง ขบวนการยุติธรรมคือใช้มาตรฐานเดียวกันกับ การสั่งฟ้องในคดี ของแกนนำคนเสื้อแดง

เช่น ไม่ให้ประกันตัว หรือใช้เงินในการประกันตัวที่มากกว่า บุคคลทั่วไป (แกนนำ แดง ใช้ประกันตัวคนละหลายล้านบาท) เพราะเป็นคดี สะเทือนขวัญ และร้ายแรง ถึงขั้นประหารชีวิต

นี่คือสิ่งที่ต้องการเรียกร้องความเสมอภาคในการบังคับใช้กฏหมายอย่างเท่าเทียมกันตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 30

เพราะ ไม่ว่าจะมีตำปหน่งหน้าที่ ยากจน เศรษฐี ก็จะได้รับสิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 30  เหมือนกัน
สิ่งที่ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม คือความยุติธรรมในการบังคับใช้กฏหมาย

ยกตัวอย่าง คดีของคนเสื้อแดง (คดีก่อการร้าย) ไม่ให้ประกันตัว โดยศาลให้เหตุผลว่า เป็นคดีร้ายแรงโทษถึงประหารชีวิต แกรงว่าจะหลบหนี หรือ ถ้าให้ประกันตัว ก็ใช้วงเงินที่สูง

ในขณะที่คดีของ ฝ่าย พันธมิตรฯ (คดีก่อการร้ายเช่นกัน) ได้รับการประกันตัวทุกคน แถม มีการเจรจา ขอประกันตัวล่วงหน้า และวงเงินที่ให้ประกันตัว ก็เพียงหลัก แสนบาท และจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีใคร ติดคุกแม้แต่วันเดียว

ดังนั้น ขบวนการยุติธรรมควรบังคับใช้กฏหมายอย่างเท่าเทียมกันในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง โดยไม่เลือกปฏิบัติ เพราะทุกคนล้วนได้รับการคุ้มครองโดยกฏหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 30 คลิกดูรายละเอียด
[Continue reading...]

"สุเทพ เทือกสุบรรณ" ประกาศ ลาออก ส.ส.แล้ว เปิดศาลประชาชน พาม็อบ "สู้ต่อไป"

- 0 comments

วันที่ 11 พ.ย.  ผู้สื่อข่าว "ข่าวสด" รายงานว่า หลังการประชุมแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ในช่วงบ่ายวันนี้ เพื่อหารือถึงการยกระดับเคลื่อนไหวต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และการขับไล่รัฐบาล มีข้อสรุปว่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์จะลาออกจากตำแหน่ง ออกมาต่อสู้นอกสภาฯ เพื่อไม่ให้กระทบต่อพรรค ที่กำลังถูกฝ่ายรัฐบาลยื่นยุบพรรค โดยเบื้องต้น จะมี ส.ส.ของพรรค 6 คนประกาศลาออกบนเวทีชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเป็นการยกระดับการเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาล ประกอบด้วย 1.นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี 2.นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา 3.นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง 4.นายวิทยา แก้วภารดัย ส.ส.นครศรีธรรมราช 5. นายชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร  และ6.นายอิสสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ 
คลิกดูรายชื่อ ส.ส.ที่ลาออก อีก 8 คน


รายงานข่าวระบุว่า ในการหารือดังกล่าว นายสุเทพจะขอลาออกคนเดียว แต่ที่ประชุมเห็นว่าไม่ควรให้สถานการณ์ถูกตีความว่าเป็นการโดดเดี่ยวนายสุเทพ จึงเห็นว่า ควรไฟเขียวให้ ส.ส.ของพรรคลาออกได้ตามความสมัครใจ แต่เมื่อประเมินผลดี ผลเสียแล้ว หากมีการลาออกจำนวนมาก จะทำให้ต้องพะวักพะวงกับการเลือกตั้งซ่อมภายใน 45 วัน แทนที่จะเป็นการช่วยทางเวทีได้  ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติว่า ไม่ควรลาออกกันมาก โดยเฉพาะ ส.ส.กทม. ตอนนี้ห้ามลาออก แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง ก็ต้องประเมินสถานการณ์เฉพาะหน้า จึงค่อยตัดสินใจ  

อย่างไรก็ตาม จุดยืนของ ส.ส.ที่ออกมาเคลื่อนไหว จะเป็นการกดดันให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบ ในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตามกระแสที่ประชาชนและหลายฝ่ายในบ้านเมืองเรียกร้อง ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์จะปฎิเสธ แล้วเมินเสียงเรียกร้องของประชาชนไม่ได้ หากถึงจุดหนึ่งแล้ว รัฐบาลยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง จะมี ส.ส.ของพรรคลาออกอีกจำนวนมาก เพื่อมาสู้ร่วมกับประชาชนนอกสภาฯ

เวลา 18.27 น.  นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ แกนนำผู้ชุมนุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ขึ้นเวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แถลงตั้งศาลประชาชนขอเสียงประชาชนในที่ชุมนุมว่าโดยมีสองทางเลือกคือ

ทางเลือกที่หนึ่ง ยินดีกับชัยชนะขั้นต้นที่รัฐบาลยิ่งลกษณ์และสภาทาสได้ชะลอกฎหมายไว้และยอมรับว่าอย่างดีที่สุดค่ำคืนนี้วุฒิสภาจะลงมติไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.นี้หรือคว่ำร่างพ.ร.บ.ฉบับบนี้และมีผลให้ต้องรอลุ้นอีก 180 วัน

ทางเลือกที่สอง เราจะสู้ต่อไปด้วยพลังมหาชน ดำเนินการจนกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับชั่วร้ายนี้ตายไปจากโลกและไม่มีวันผุดวันเกิดอีก 

"พี่น้องประชาชนทุกเสียงมีความหมาย พี่น้องท่านใดเห็นว่าเราควรจะพอกันแค่นี้ ยินดีกับชัยชนะเท่านี้ให้ส่งเสียงขึ้น ถ้าพี่น้องประชาชนเห็นว่าเราจะต้องต่อสู้ต่อไปโดยพลังประชาชนจงส่งเสียง"นายสุเทพกล่าว

โดยนายสุเทพได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมใช้เสียงโห่ร้องเป็นการตัดสิน หากเลือกข้อที่หนึ่งให้ส่งเสียง ซึ่งผู้ชุมนุมได้เงียบและไม่ได้ออกเสียง แต่ได้ออกเสียงโห่ร้องในทางเลือกที่สอง

"บัดนี้ ผมขอประกาศว่า มติมหาชนของประชาชนชาวไทย ผู้รักชาติ รักแผ่นดิน มีความเห็นเด็ดขาดเป็นเอกฉันท์ให้สู้ต่อไป ...เพื่อให้การต่อสู้ครั้งนี้่เป็นการต่อสู้ของมวลมหาประชาชนโดยบริสุทธ์โดยแท้จริง ไม่มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ผมขอประกาศลาออกจาก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่วันนี้...ผมตัดสินใจออกเพราะรักประชาชนมากกว่า"นายสุเทพกล่าว
 
ที่มา :ข่าวสด

[Continue reading...]
 
Copyright © . Yak Ratchaprasong - Posts · Comments
Theme Template by BTDesigner · Powered by Blogger