ถามกันตรงๆ...พุ่งเป้าไปที่ประเด็น ผลการตรวจ
วิเคราะห์ข้าวสารบรรจุถุงและข้าวสารบรรจุกระสอบกับเจ้ากระทรวงกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ ได้รับคำตอบว่า ผลการตรวจวิเคราะห์ข้าวสารบรรจุถุง และข้าวสารบรรจุกระสอบแล้วชั่งแบ่งขาย ที่กระทรวงสุ่มเก็บตัวอย่างฯ จากร้านค้าปลีกและซุปเปอร์มาร์เกต ในเขต กทม. และปริมณฑล ตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2556 ได้ผลการตรวจวิเคราะห์ 164 ตัวอย่าง ยังไม่พบสารที่ทำให้เกิดมะเร็ง ความชื้น หรือเชื้อราต่างๆ
มีตัวอย่างเดียว ที่ตรวจพบว่า...มีสารโบรไมด์อิออน ซึ่งมาจากการสลายตัวของสารเมทิลโบรไมด์...ตกค้างสูงเกินมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศหรือโคเด็กซ์ ซึ่งอยู่ที่ 94.2 พีพีเอ็ม ส่วนข้าวที่เหลืออีก 25 ตัวอย่างยังอยู่ระหว่างการรอผล ผู้บริโภคตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์
www.fda.moph.go.th
การตรวจข้าวบรรจุถุงข้าวขาวพิมพา ตรา โคโค่ ในรุ่น “วันที่ผลิต 11/04/56” ที่มีการตรวจพบสารโบรไมด์อิออน 94.2 พีพีเอ็ม ซึ่งถือว่าเกินมาตรฐาน จะดำเนินการต่ออย่างไรบ้าง เพื่อความมั่นใจผู้บริโภค?
กรณีข้าวสารที่มูลนิธิชีววิถีเพื่อผู้บริโภคและศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ตรวจพบว่ามีสารเมทิลโบรไมด์ ตกค้างสูงเกินมาตรฐานของโคเด็กซ์ ตอนนี้กระทรวงฯได้สั่ง อย.ให้ระงับการจำหน่ายข้าวสารบรรจุถุงที่ตรวจพบสารโบรไมด์อิออนตกค้างเกินค่ามาตรฐานอาหารระหว่างประเทศชั่วคราว
“การดำเนินงานจะให้บริษัทเก็บคืนข้าวจากท้องตลาด พร้อมเก็บตัวอย่างตรวจยืนยันซ้ำอีกครั้ง เพื่อความปลอดภัยและให้ความมั่นใจแก่ผู้บริโภค”
นอกจากนี้ ยังขอความร่วมมือภาคประชาชน แจ้งกระทรวงสาธารณสุข หากพบข้าวสารที่สงสัยว่าไม่ปลอดภัย เพื่อร่วมกันเก็บตัวอย่างตรวจตามขั้นตอนมาตรฐาน ให้ผลตรวจเป็นที่ยอมรับ ลดความสับสนแก่ประชาชน และไม่มีการปิดบังข้อมูลผลการตรวจ
นพ. ประดิษฐ
นายแพทย์ประดิษฐ ย้ำว่า มาตรการระยะสั้นในช่วงนี้ จะสุ่มตรวจตัวอย่างทั้งแหล่งผลิต แหล่งที่เก็บ โกดัง สถานที่จำหน่ายต่างๆที่กระจายทั่วประเทศ ภูมิภาค นำมาตรวจคุณภาพ เพื่อให้ประชาชนมีความอุ่นใจ เพื่อความโปร่งใส ความสบายใจของทุกคนที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้
ใครที่ยังมีข้อสงสัยว่า “ข้าวสาร” อาจไม่ปลอดภัย ขอให้แจ้งกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเข้าไปตรวจสอบเก็บตัวอย่างข้าวพร้อมกัน และส่งตรวจโดยภาคราชการ เพื่อความน่าเชื่อถือ
สิ่งที่ต้องเน้นย้ำ...นโยบายรัฐบาลชัดเจนว่ายึดสุขภาพประชาชนเป็นหลัก จะไม่มีการปิดบังข้อมูลใดๆ ซึ่งการตรวจสารบางชนิด เช่น เมทิลโบรไมด์ หรือฟอสฟีน มีอยู่ที่เดียวคือห้องปฏิบัติการมาตรฐานของเอกชน
อีกประเด็นสำคัญ มาตรการทางกฎหมาย...กระทรวงสาธารณสุขจะเร่งดำเนินการให้สำเร็จภายในปีนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น โดยบังคับใช้กฎหมายเร่งให้ผู้ประกอบการข้าวสารบรรจุถุงทุกราย ปรับกระบวนการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานจีเอ็มพีภายในปีนี้ ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจากผู้ประกอบการ
คาดว่า 1 มกราคม 2557 จะดำเนินการได้ทั้งหมด
หลักใหญ่ๆในการกำกับดูแลสถานที่ผลิต กำหนดให้สถานที่ผลิตข้าวสารที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่ายต้องมี อย. ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย. 2555 สำหรับผู้ประกอบการรายเก่ามีผลบังคับใช้ 7 พ.ย. 2558
มาตรการทั้งหมดเหล่านี้ก็เพื่อยกระดับข้าวสารบรรจุถุงสำเร็จที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาด ให้เป็นสินค้าที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ กรณีพบการฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ตามมาตรา 26 (1) ผู้ฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับสถานที่ผลิตข้าวบรรจุถุงดังกล่าวจะถูกสั่งให้งดผลิต และผลิตภัณฑ์จะเรียกคืนเพื่ออายัดไว้พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายหรือดำเนินการทำลายต่อไป
นพ. บุญชัย
นายแพทย์บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เสริมว่า ที่ผ่านมาข่าวเรื่องข้าวสร้างความเสียหายมาก...จากการส่งต่อข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดีย และจากทางสื่อหนังสือพิมพ์
ตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่ารัฐบาลปล่อยข้าวในโครงการรับจำนำข้าว โดยอัดฉีดยากันรากันมอด ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ แล้วขายให้ผู้ค้าข้าวรายใหญ่ของประเทศหลายแห่ง เพื่อนำมาทำข้าวบรรจุถุงขาย สารเคมีที่ใช้ในการรักษาข้าวสารที่อยู่ในโกดังเก็บข้าวเป็นสารฆ่าแมลงชนิดรม (Fumigant) มี 2 ชนิด คือ Methyl Bromide และ Phosphine (Hydrogen phosphide)
ข้อควรรู้เกี่ยวกับการใช้สารรม เป็นวิธีการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูผลิตผลเกษตรที่มีประสิทธิภาพและนิยมมากวิธีหนึ่ง สามารถป้องกันกำจัดแมลงศัตรูได้ทุกชนิด และทุกระยะการเจริญเติบโต นับรวมไปถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่เป็นศัตรู ได้แก่ นก หนู ไร เชื้อรา โดยไม่มีพิษตกค้างเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้สารฆ่าแมลง
ประเทศไทยมีการใช้สารรมนานกว่า 40 ปี สารรมที่นำมาใช้มีอยู่หลายชนิด แต่ชนิดที่นิยมอย่างกว้างขวาง คือ สารรมเมทิลโบรไมด์ (methyl bromide) และฟอสฟีน (phosphine)
การรมผลิตผลเกษตร เช่น ข้าว ผู้รมต้องผ่านการอบรมเพื่อให้ปฏิบัติได้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการรม ได้แก่ คุณสมบัติของสารที่ใช้รม ชนิดของผลิตผลเกษตร ชนิดของแมลงศัตรู ระยะเวลาในการสลายตัว สถานที่ซึ่งจะดำเนินการรม ตลอดจนสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้แก่ อุณหภูมิ ความชื้น
ข้อกังวลเรื่องสารเมทิลโบรไมด์ที่ใช้รมข้าวก่อนบรรจุถุง ซึ่งใช้ฆ่าแมลงและมอดมานานกว่า 40 ปีแล้ว จะมีการยกเลิกใช้ในปี 2558 ซึ่งสาเหตุที่ยกเลิกมาจากสารนี้ไปทำลายบรรยากาศชั้นโอโซน ไม่ได้เกิดจากปัญหาสุขภาพ แต่คนที่ทำงานจะมีความเสี่ยง...หากเข้าไปในห้องระหว่างกำลังรมข้าว
“ดังนั้น ผู้ที่จะรมข้าวต้องผ่านการอบรม แต่ที่ผ่านมายังไม่มีรายงานว่า ผู้บริโภคได้รับอันตรายมีพิษระยะเฉียบพลัน หรือมีพิษระยะยาวที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง จากข้าวสารที่มีสารรมตกค้าง”
คำถามมีว่า วันนี้เมื่อมีปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นแล้ว...สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยามีมาตรการเพิ่มเติมในการควบคุมการใช้หรือปริมาณสารตกค้างของสารฆ่าแมลงชนิดรมในข้าวอย่างไร?
ประเด็นแรก...การกำกับดูแลสถานที่ผลิต ประเด็นที่สอง...การกำกับดูแลข้าวบรรจุถุง
ประเด็นที่สาม...การทบทวนปรับปรุงประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้าง โดยในการประชุมคณะกรรมการอาหาร ครั้งล่าสุด ได้พิจารณาเห็นชอบร่างประกาศเพื่อกำหนดค่าปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดที่ยอมให้พบได้ของสารรมในข้าวสารที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่าย ดังนี้ Methyl Bromide ในรูป Methyl Bromide...ไม่เกิน 0.01 มิลลิกรัม/กิโลกรัม, Bromide Ion ในรูป Bromide Ion...ไม่เกิน 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม, Phosphine ในรูป Hydrogen Phosphide...ไม่เกิน 0.1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
อีกประเด็นที่ถามกันเข้ามามาก “ข้าว...ต้องขอ อย.หรือเปล่า?” คุณหมอบุญชัย บอกว่า สถานที่ผลิตต้องได้รับอนุญาตจาก อย. เมื่อได้แล้ว ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอเลขสารบบอาหารได้
เพื่อลดความวิตกกังวลแนะนำให้ซื้อข้าวที่มีฉลาก อย. และก่อนที่จะนำไปหุงให้นำข้าวมาซาวน้ำ 1-2 ครั้ง เมื่อหุงต้มความร้อนจะทำให้สารตกค้างระเหยออกไปตามธรรมชาติ สารรมจะระเหยไปไม่ต่ำกว่า 80%
ทั้งหมดนี้น่าจะทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าข้าวสารไทย บริโภคได้...ปลอดภัยแน่นอน
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์