Thursday, February 20, 2014

ย้อนดู ...คำพิพากษาศาลแพ่งที่ยกฟ้องคดีเพื่อไทยขอให้ยกเลิกคำสั่งตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปี 53

- 0 comments
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สืบเนื่องจากกรณีศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) ได้ยื่นแถลงปิดคดีเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก่อนที่ศาลแพ่งจะนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 19 กุมภาพันธ์นี้ ในกรณีนายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส. ฟ้องคดีต่อศาลแพ่งขอให้สั่งเพิกถอนการประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยที่ประชุม ศรส.ได้ตรวจพบว่าเมื่อครั้งประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่กรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียง สมัยรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อปี 2553 นั้น นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่งขอให้สั่งว่าการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในขณะนั้นเป็นไปโดยมิชอบ ขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอน โดยศาลแพ่งพิพากษาให้ยกฟ้อง
 
ทั้งนี้ นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย เคยได้ยื่นร้องต่อศาลแพ่ง เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 ยื่นฟ้อง คณะรัฐมนตรี, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นจำเลยที่ 1-3 ฐานละเมิด ขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงของนายอภิสิทธิ์  และขอให้ศาลยกเลิกคำสั่งของนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ที่สั่งยุติการแพร่ภาพออกอากาศสถานีโทรทัศน์พีเพิลชาแนล โดยให้นายอภิสทธิ์ และนายสุเทพ สั่งห้ามหน่วยงานของรัฐ กระทำการที่จะเป็นอุปสรรคต่อการออกอากาศ สถานีโทรทัศน์พีเพิลชาแนล รวมทั้งให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวได้ให้ นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ สั่งระงับ หรือตัดสัญญาณ ออกอากาศสถานีโทรทัศน์พีเพิลชาแนล โดยมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสอง และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องสั่งเชื่อมต่อสัญญาณแพร่ภาพ นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาเป็นอย่างอื่น ซึ่งศาลรับคำฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำที่ 1389/2553 เพื่อมีคำสั่งต่อไป
ต่อมาเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2553 ศาลแพ่งได้นัดฟังคำพิพากษา โดยระบุว่า ศาลแพ่งมีคำสั่งยกฟ้องของนายพร้อมพงศ์ หลังพิเคราะห์แล้วเห็นว่าตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มีเจตนารมณ์ที่จะให้อำนาจนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อบังคับใช้ทั่วราชอาณาจักร หรือในบางเขตท้องที่ได้ตามความจำเป็นในสถานการณ์

ซึ่งตามมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว ให้ความหมายของ "สถานการณ์ฉุกเฉิน" ว่า สถานการณ์อันกระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรืออาจทำให้ประเทศหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขัน หรือมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญาการรบหรือการสงคราม จำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เอกราชและบูรณภาพแห่งอาณาเขต ผลประโยชน์ของชาติ การปฏิบัติตามกฎหมาย ความปลอดภัยของประชาชน การดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชนการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ความสงบเรียบร้อยและประโยชน์ส่วนรวม หรือการป้องปัดหรือแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะ อันมีมาอย่างฉุกเฉินและร้ายแรง

ดังนั้น การที่คณะรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 ให้การเห็นชอบแก่นายอภิสิทธิ์ จำเลยที่ 2 ในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 ย่อมเป็นการใช้อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย อยู่ในอำนาจหน้าที่และดุลพินิจของฝ่ายบริหารโดยเฉพาะ ศาลมิอาจก้าวล่วงไปพิจารณา หรือทบทวนการใช้ดุลพินิจของฝ่ายบริหารเช่นว่านั้นได้ และการที่นายอภิสิทธิ์ จำเลยที่ 2 มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ พิเศษ 1/2553 ให้นายสุเทพ จำเลยที่ 3 เป็น ผอ.ศอฉ. โดยอาศัยอำนาจตาม ม.7 วรรคสาม วรรคห้า และวรรคหก ม.8-9 ,11 และ 15 แห่ง พ.ร.ก.ดังกล่าว
นอกจากนี้นายอภิสิทธิ์ จำเลยที่ 2 ยังมีคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่พิเศษ 2/2553 ให้นายสุเทพ จำเลยที่ 3 เป็นผู้กำกับการปฏิบัติงานในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ย่อมมีอำนาจตามความใน ม.9 (2) และ (3) แห่ง พ.ร.ก.ดังกล่าว ที่จะใช้มาตรการอันจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้ตามรัฐธรรมนูญ 2550 ม.45 วรรคสี่ ที่ว่าการห้ามหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่น เสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นทั้งหมดหรือบางส่วน หรือการแทรกแซงด้วยวิธีการใดๆ เพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ
และตามที่โจทก์ขอให้ศาลมีคำพิพากษา หรือคำสั่งยกเลิกคำสั่งของนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ที่สั่งให้ยุติการแพร่ภาพและเสียงของสถานีโทรทัศน์พีเพิลชาแนล และมีคำสั่งให้นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ สั่งห้ามหน่วยงานของรัฐเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่จะได้รับข่าวสารที่ถูกต้องและเพียงพอ เกี่ยวกับสินค้าหรือบริโภคตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มิใช่เป็นการรับทราบข้อมูลข่าวสารทั่วๆ ไป โจทก์ย่อมมิใช่ผู้เสียหาย หรือเป็นผู้ถูกโต้แย้งสิทธิการกระทำของนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง

ที่มา :  มติชนออนไลน์


[Continue reading...]
 
Copyright © . Yak Ratchaprasong - Posts · Comments
Theme Template by BTDesigner · Powered by Blogger