Saturday, January 25, 2014

มติ กกต.จำต้องลุยเลือกตั้งล่วงหน้า 26ม.ค. 57 อ้างไม่มี "กฏหมาย" ให้อำนาจเลื่อนได้

- 0 comments
เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 25 ม.ค. ที่ตึกโดมบริหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)ศูนย์รังสิต นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการการเลือกตั้ง ( กกต.) แถลงภายหลังการประชุม กกต.นาน 3 ชม. ว่า ในวันนี้ กกต.ได้ประชุมปรึกษาหารือกันเรื่องแนวทางการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ สิ่งสำคัญคือ กกต.ได้มีมติเชิญนายกฯ มาปรึกษาหารือในวันที่ 28 ม.ค.เวลา 14.00 น. เพื่อที่จะพิจารณาการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ส่วนสถานที่ให้นายกฯ และครม.กำหนดได้เพื่อความสะดวกของทั้ง 2 ฝ่าย ส่วนการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่จะเป็นระยะเวลาเท่าไหร่นั้น  ในส่วนนี้จะมีการปรึกษาหารือกับนายกฯ ก่อน 
เลขาธิการ กกต. กล่าวต่อว่า ในวันที่ 26 ม.ค.ยังคงมีการเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตและในเขตจังหวัดต่อไป ขณะนี้มีการรายงานปัญหาเข้ามามากพอสมควร โดยเฉพาะ 15 จังหวัดภาคใต้ คงจะไม่สามรถเปิดให้มีการลงคะแนนได้ อย่างไรก็ตามได้มีการเตรียมพร้อมอุปกรณ์ไว้หมดแล้ว  ดังนั้นหากมีการปิดถนน ขัดขวางการเลือกตั้ง ก็ให้เจ้าหน้าที่ใช้มาตรา 78 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. คือ ถ้ามีเหตุสุดวิสัยเกิดขึ้น กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ในที่เลือกตั้งกลางนอกเขตจะดูแลสถานการณ์โดยสามารถงดการลงคะแนนและรายงานต่อคณะกรรมการประจำเขตเลือกตั้ง และคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด เพื่องดการลงคะแนนออกไป 7 วัน รวมทั้งรายงานมายัง กกต.โดยด่วน ซึ่ง กกต.จะพิจารณาว่ามีเหตุผลเพียงพอหรือไม่ หากเห็นว่าสถานการณ์รุนแรงอยู่สามารถขยายวันลงคะแนนใหม่ได้อีก โดยกฎหมายไม่ได้กำหนดว่ากี่วัน
ด้านนายธีรวัฒน์  ธีรโรจน์วิทย์ กกต.ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ กล่าวว่า  สำหรับวันเลือกตั้งใหม่นั้นยังไม่ได้กำหนด เพราะต้องปรึกษากับนายกฯ ก่อน แต่สิ่งสำคัญที่ กกต.ตั้งข้อสังเกต คือ ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำพิพากษาคำร้องที่ กกต.ยื่นไป สรุปข้อหนึ่งคือ การเลือกตั้งที่เลื่อนไปเกิดจากสถานการณ์ความไม่สงบ เกิดจากการแตกแยกทางความคิด  กกต. พิจารณาว่าประเด็นไม่ได้อยู่ที่ต้องมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ ปัญหาคือระหว่างทางที่จะเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจะทำให้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมยุติลงได้อย่างไร ซึ่งกระบวนการตรงนี้ กกต.ได้ดำริในเบื้องต้นว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเชิญทุกฝ่ายที่เป็นข้อขัดแย้งมาพูดคุยถอยกันคนละก้าว  ให้ทุกฝ่ายของสังคม ผู้นำทางความคิด ผู้ที่มีบทบาทต่าง ๆได้เข้ามาช่วยกัน ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องมีทางออกร่วมกัน เป็นทางออกในทางสงบ สันติ มีผลยั่งยืนและการเลือกตั้งใหม่ที่จะมีขึ้นต้องตอบสนองระบอบประชาธิปไตยได้  ตรงนี้ต้องทำก่อนการจัดการเลือกตั้งครั้งต่อไป
“ระหว่างนี้จนถึงวันที่ 2 ก.พ. การเลือกตั้งคงเดินไปไม่ได้ เพราะมีสถานการณ์บ่งชี้อย่างที่ทราบกัน ส่วนจะเลื่อนไปเป็นวันใดนั้น ตามกฎหมายนายกฯ และประธาน กกต.ต้องหารือกัน ซึ่งเส้นทางระหว่างนี้ต้องแก้ไขปัญหาพื้นฐานคือความคิดแตกแยกในสังคม ดังนั้นอาจจะต้องมีกระบวนการจัดการตรงนี้ก่อน ส่วนจะจัดการอย่างไร เราจะนัดผู้รู้ ผู้นำทางความคิดว่าทางออกจะเป็นอย่างไร”นายธีรวัฒน์ กล่าว
นายธีรวัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับวันเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 26 ม.ค. กกต.ไม่อาจขัดขืนต่อระบบกฎหมาย ดังนั้นการเลือกตั้งที่กำหนดไว้ ผลบังคับทางกฎหมายยังมีอยู่ ก็ต้องเดินหน้าต่อไป กกต.ก็เสียใจ เพราะจะยุติโดยคำสั่ง กกต.ก็ยังหาทางตรงนั้นไม่เจอ ดังนั้นคงต้องปล่อยให้การเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 26 ม.ค. ดำเนินการต่อไป  เพราะในทางกฎหมายกระบวนการเลือกตั้ง พ.ร.ฎ.มีผลบังคับใช้อยู่ในทางปฏิบัติ กกต.ไม่สามารถยุติลงได้โดยทันที เว้นแต่จะมี พ.ร.ฎ.ออกมาใช้บังคับใหม่ กกต.ก็หนักใจ เพราะว่าผลทางกฎหมายเป็นอย่างนั้น
นายธีรวัฒน์ กล่าวด้วยว่า ข้อวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญชัดเจนว่าให้เลื่อนการเลือกตั้งได้ ถ้าไม่ลำเอียงจะมองเห็นภาพชัดเจนว่า การเลือกตั้งดำเนินต่อไปไม่ได้ ถามว่าหลังการเลือกตั้งใหม่ กระบวนการเลือกตั้งจะมาแก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้หรือไม่ ขอเรียนว่า กกต.มีจุดยืนว่าการเลือกตั้งเป็นกระบวนการประชาธิปไตยที่จะนำไปสู่การยุติปัญหาในหลาย ๆเรื่อง เป็นกระบวนการที่จะเปิดโอกาสให้คนไทยมาใช้เหตุใช้ผล ถ้าเลือกตั้งเดินแล้วทำให้เสียเลือดเสียเนื้อ ทำให้คนบาดเจ็บล้มตาย กกต.ยอมรับไม่ได้ ดังนั้นอยากให้คนในสังคมช่วยกันคิดว่าระหว่างเดินไปสู่การเลือกตั้งใหม่จะทำอย่างไรให้คู่กรณี คู่ขัดแย้งได้พูดคุย เรียนรู้ซึ่งกันและกัน เมื่อถามว่าหากคุยกับนายกฯให้เลื่อนการเลือกตั้ง แต่ กปปส.อาจจะไม่เห็นด้วย  นายธีรวัฒน์ กล่าวอีกว่า  ตนเชื่อว่าคนไทยรักบ้านเมือง ดังนั้นต้องเปิดโอกาสมาพูดคุยกัน  ฝ่ายที่ไม่ยอมพูดคุย ไม่ยอมเริ่มต้นประชาชนจะตัดสินเอง  เมื่อกำหนดวันเลือกตั้งใหม่สถานการณ์ต้องสงบก่อน  ถ้าแต่ละฝ่ายรู้จักถอย ทุกอย่างต้องเดินหน้าได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า การเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.จะยังเกิดขึ้นหรือไม่ นายธีรวัฒน์ กล่าวว่า ตนไม่เชื่อว่าจะมีขึ้นได้ เพราะสถานการณ์ขณะนี้การเลือกตั้งล่วงหน้าก็มีปัญหา การหากรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.)  ก็ยาก  เชื่อว่านายกฯคงเข้าใจปัญหา เราจะมาคุยกันว่านอกจากการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ระหว่างทางจะคุยกันอย่างไรดีเมื่อถามอีกว่า ในการเลือกตั้งครั้งใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ควรร่วมลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยใช่หรือไม่ นายธีรวัฒน์ กล่าวว่า กกต.ยังหวังผลว่าอยากให้คู่แข่งทางการเมืองทุกฝ่ายเข้ามาลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งก่อนจะถึงวันเลือกตั้งใหม่ ต้องมีกระบวนการทำความเข้าใจ และทำให้ความขัดแย้งลดน้อยลง และทำให้ 2ฝ่ายถอยคนละก้าว.
[Continue reading...]
 
Copyright © . Yak Ratchaprasong - Posts · Comments
Theme Template by BTDesigner · Powered by Blogger