Friday, July 5, 2013

เบื้องลึก "ตระกูลชินวัตร" ผู้สร้างนายกรัฐมนตรีไทยถึง 3 คน

- 0 comments
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 ของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก สร้างประวัติศาสตร์
การรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะยังมีความหมายต่อประวัติศาสตร์การเมืองไทยอีกด้วย เพราะจะทำให้ “ตระกูลชินวัตร” กลายเป็นตระกูลนักการเมืองชั้นนำของไทยในทันที ก้าวขึ้นมาเทียบชั้น “นักการเมืองสายราชครู” และ “ตระกูลเวชชาชีวะ” ในฐานะตระกูลนักการเมืองใหญ่ของประเทศ
และถ้าเทียบผลงานหมัดต่อหมัดแล้วอาจจะเหนือกว่าด้วยซ้ำ เพราะ “ตระกูลชินวัตร” สามารถสร้างประวัติศาสตร์สร้างนายกรัฐมนตรีไทยได้ถึง 3 คน คือ ตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร, สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในฐานะเป็นเขยของตระกูล และล่าสุดก็คือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวคนสุดท้อง
ถ้าเรามองเพียงผิวเผิน นายกรัฐมนตรีจาก “ตระกูลชินวัตร” โดยเฉพาะนายสมชายและ น.ส. ยิ่งลักษณ์ อาจได้ตำแหน่งมาเพราะ “บุญหล่นทับ” และก้าวขึ้นมาเป็นนายกในฐานะ “นอมินี” และ “โคลนนิ่ง” ของ พ.ต.ท.ทักษิณ เท่านั้น
แต่เมื่อย้อนประวัติของตระกูลชินวัตรให้ลึกกว่านั้น ก็จะพบว่าแท้จริงแล้ว ตระกูลชินวัตรไม่ได้มีเพียงแค่นายกรัฐมนตรีสายตรงของ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ยังมีบุคคลากรที่ประกอบอาชีพข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ระดับสูงอยู่ด้วยเช่นกัน มิหนำซ้ำ รากเหง้าของความเป็นนักการเมืองยังฝังตัวมายาวนาน ตั้งแต่รุ่นที่สามที่นำโดย “เลิศ ชินวัตร” บิดาของ พ.ต.ท.ทักษิณแล้ว
พ.ต.ท.ทักษิณ, นายสมชาย (ในฐานะเขยของตระกูล) และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถือว่าเป็นลูกหลานรุ่นที่สี่ของตระกูลชินวัตร ต้นตระกูล “ชินวัตร” ซึ่งเป็นตระกูลจีนโพ้นทะเลที่มาตั้งรกรากในประเทศไทย
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับเลิศ ผู้เป็นบิดา (ภาพจากหนังสือ "เผ่าพงศ์วงศาตระกูลชินวัตร")
หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้รวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลหลายแหล่ง แต่แหล่งข้อมูลสำคัญมากจากหนังสือ “เผ่าพงศ์วงศาตระกูลชินวัตร” เขียนโดย ธนวัฒน์ ทรัพย์ไพบูลย์ สำนักพิมพ์ Animate Group ISBN 978-616-243-022-0 ทาง SIU ขอแสดงขอบคุณสำหรับข้อมูล ณ ที่นี้

ต้นตระกูลชินวัตร: เส็ง แซ่คู

ต้นตระกูลชินวัตรคือ นายเส็ง แซ่คู (หรือ “คูชุนเส็ง”) เป็นคนจีนแคะ อาศัยอยู่ในมณฑลกวางตุ้ง เดินทางหนีความลำบากในประเทศจีนมายังประเทศไทยเช่นเดียวกับตระกูลคนจีนอื่นๆ ในไทย โดยคาดว่านายเส็งมาถึงเมืองไทยประมาณ พ.ศ. 2403 หรือสมัยรัชกาลที่ห้า
นายเส็งขึ้นฝั่งที่อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี และประกอบอาชีพรับจ้างใช้แรงงานทั่วไป จนสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวได้ เขายังมีอาชีพเป็น “นายอากรบ่อนเบี้ย” คอยเก็บภาษีบ่อนพนันและภาษีสุราส่งให้ทางการ เขาแต่งงานกับหญิงไทยชื่อ “ทองดี” และมีบุตรรวมทั้งหมด 9 คน บุตรคนโตมีชื่อว่า “นายเชียง ชินวัตร” เกิดเมื่อ พ.ศ. 2434
นายเส็งย้ายจาก จ.จันทบุรีมาประกอบอาชีพค้าขายอยู่ที่ตลาดน้อย เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ. 2447 อยู่พักหนึ่ง ก่อนจะตัดสินใจย้ายถิ่นฐานไปที่ จ.เชียงใหม่  และลงหลักปักฐานที่ อ. สันกำแพง จ. เชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2453

ชินวัตรรุ่นที่สอง: เชียง ชินวัตร

นายเชียง แซ่คู หรือ เชียง ชินวัตร บุตรชายคนโตของนายเส็ง ถือเป็นแกนหลักที่ช่วยให้ตระกูลชินวัตรตั้งหลักปักฐานได้ที่ จ. เชียงใหม่ เมื่ออายุได้ 20 ปี เขาช่วยบิดาคือนายเชียง ประกอบอาชีพ “นายฮ้อย” หรือการค้าฝูงสัตว์ระหว่างไทยกับพม่า ระหว่างการเดินทางค้าสัตว์ พ่อลูกชินวัตรได้ซื้อผ้าไหมจากพม่ากลับมาขายที่สันกำแพงด้วย ซึ่งภายหลัง “การค้าไหม” กลายเป็นกิจการหลักของตระกูลชินวัตรนั่นเอง
เชียง ชินวัตร
เชียง ชินวัตร และภรรยาแสง ชินวัตร (นั่งกลาง)
ตระกูลชินวัตรค่อยๆ เปลี่ยนจากการค้าสัตว์มาเป็นค้าไหม และขยายกิจการมาทำเกี่ยวกับผ้าไหมแบบครบวงจร ใน พ.ศ. 2481 นายเชียงเปลี่ยนนามสกุลใหม่ จากเดิม “แซ่คู” มาเป็น “ชินวัตร” โดยว่ากันว่าบุตรชายคนโตของนายเชียงคือ “พันเอกพิเศษศักดิ์ ชินวัตร” (บิดาของพลเอกชัยสิทธิ์ ชินวัตร) เป็นผู้นำการเปลี่ยนนามสกุล เนื่องจากรับราชการทหาร และต้องการเปลี่ยนแซ่แบบจีนมาเป็นนามสกุลแบบไทย เพื่อลดแรงต้านคนจีนในขณะนั้น
นายเชียงสมรสกับนางแสง สมณะ มีบุตรรวมทั้งสิ้น 12 คน
  1. นางเข็มทอง ชินวัตร (โอสถาพันธุ์)
  2. พ.อ.(พิเศษ) ศักดิ์ ชินวัตร (บิดาของ พล.อ. ชัยสิทธิ์)
  3. นายบุญสม ชินวัตร
  4. นายเลิศ ชินวัตร (บิดาของ พ.ต.ท. ทักษิณ)
  5. นายสุเจตน์ ชินวัตร
  6. นางสาวจันทร์สม ชินวัตร
  7. นางสมจิตร ชินวัตร (หิรัญพฤกษ์)
  8. นางเถาวัลย์ ชินวัตร (หอมขจร)
  9. นายสุรพันธ์ ชินวัตร
  10. นายบุญรอด ชินวัตร
  11. นางวิไล ชินวัตร (คงประยูร)
  12. นางทองสุข ชินวัตร (โครชาติเย่ร์)
ตระกูลชินวัตรในรุ่นที่สอง เน้นการปักหลักใน จ.เชียงใหม่ และการบุกเบิกกิจการผ้าไหมอย่างจริงจังในเขตภาคเหนือ จากเดิมที่กิจการผ้าไหมเป็นเพียงหัตถรรมพื้นบ้าน ก็ได้ “ชินวัตรไหมไทย” มาแปรรูปให้เป็นอุตสาหกรรมท้องถิ่น

ตระกูลรุ่นที่สาม: เริ่มเข้าสู่การเมือง

ตระกูลชินวัตรรุ่นที่สาม สายของนายเชียง ชินวัตร ได้ขยายกิจการผ้าไหมออกไป โดยภายหลังพี่น้องแต่ละคนได้แบ่งกิจการผ้าไหมแบรนด์ “ชินวัตร” ออกเป็นแบรนด์ย่อยๆ และดำเนินกิจการกันเอง เช่น นางเข็มทอง ชินวัตร บุตรคนโต ได้เปิด “ท.ชินวัตรไหมไทย” ที่กรุงเทพ ส่วนนางสมจิตร บุตรคนที่เจ็ด เปิด “ส.ชินวัตรไหมไทย” ที่เชียงใหม่ เป็นต้น
ตระกูลชินวัตรรุ่นที่สามไม่มีแกนกลางแบบนายเชียงในรุ่นที่สอง พี่น้องแต่ละคนมีกิจการของตัวเอง ทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวกับผ้าไหม
สิ่งที่น่าสนใจคือ “ชินวัตรรุ่นที่สาม” เริ่มเข้าสู่การเมืองทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติหลายคน โดยเริ่มจากนายเลิศ ชินวัตร (ชื่อเดิม “บุญเลิศ”) บิดาของ พ.ต.ท. ทักษิณ นั่นเอง
เลิศ ชินวัตร
เลิศ ชินวัตร กับ พ.ต.ท. ทักษิณ (ภาพจากหนังสือ "เผ่าพงศ์วงศาตระกูลชินวัตร")
เลิศ ชินวัตร
นายเลิศเป็นบุตรคนที่สี่ของนายเชียง เกิดเมื่อ พ.ศ. 2462 ศึกษาชั้นประถมและมัธยมที่ จ. เชียงใหม่ และเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่ธรรมศาสตร์ แต่เรียนไม่จบเพราะต้องกลับมาสืบทอดกิจการของครอบครัว เขาเปลี่ยนไปดูแลกิจการรับเหมาก่อสร้างร่วมกับนายสุเจตน์ ชินวัตร (บุตรคนที่ห้า) ช่วงหนึ่ง
พอปี 2495 แยกตัวจากกงสีของตระกูล เปลี่ยนมาขายกาแฟที่ตลาดสันกำแพง โดยนายเลิศเป็นคนโม่กาแฟด้วยตัวเอง นายเลิศได้บุกเบิกรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ หลายอย่าง เช่น ซื้อเครื่องโม่กาแฟจากสหรัฐอเมริกา ซื้อเครื่องปั่นมะพร้าวจากกรุงเทพมาทำมะพร้าวบดขายที่สันกำแพง นำเครื่องแช่เย็นมาแช่หวานเย็นขาย
พ.ศ. 2498 นายเลิศหันมาบุกเบิกการทำสวนส้มในอำเภอสันกำแพงเป็นคนแรก ส่วนร้านกาแฟนั้นภรรยารับหน้าที่ดูแลต่อ และเลิกทำไปในภายหลัง จากนั้นนายเลิศไปทำงานเป็นหัวหน้าแผนกสินเชื่อ ของธนาคารนครหลวงไทย สาขาเชียงใหม่ จากคำชักชวนของนายสุเจตน์ที่ตอนนั้นเป็นผู้จัดการธนาคารสาขาเชียงใหม่ โดยทำกิจการด้านเกษตรควบคู่ไปด้วย
ต่อมานายเลิศหันไปทำกิจการโรงภาพยนตร์ “ศรีวิศาล” ซื้อกิจการเดินรถเมล์เหลือง จากนั้นขยายตัว ซื้อกิจการตัวแทนจำหน่ายรถไดฮัทสุ ฮอนด้า บีเอ็มดับเบิลยู และปั๊มน้ำมัน
พ.ศ. 2510 เมื่อนายเลิศอายุ 48 ปี ก็เริ่มเข้าสู่การเมืองท้องถิ่น โดยเป็นสมาชิกสภาจังหวัดเชียงใหม่ เขตสันกำแพง ร่วมกับเจ้าชัยสุริยวงศ์ ณ เชียงใหม่ และนายไกรสีห์ นิมมานเหมินทร์ (บิดาของนายธารินทร์ นิมมานเหมินทร์) ตั้งกลุ่ม “เชียงใหม่ก้าวหน้า” โดยนายเลิศได้เป็นประธานสภาจังหวัดเชียงใหม่อีกตำแหน่งด้วย
นายเลิศก้าวสู่การเมืองระดับชาติในการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อ พ.ศ. 2512 ได้เป็น ส.ส. หน้าใหม่รุ่นเดียวกับนายชวน หลีกภัย และนายอุทัย พิมพ์ใจชน เขาร่วมก่อตั้ง “พรรคอิสระ” โดยมีตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค
นายเลิศรับเลือกตั้ง ส.ส. อีกครั้งในปี 2518 แต่หลังรัฐบาลคึกฤทธิ์ ปราโมช ยุบสภาในปี 2519 เขาก็เลิกเล่นการเมือง และสนับสนุนน้องชายคือนายสุรพันธ์ ชินวัตร (บุตรคนที่เก้า) เป็น ส.ส. แทน ซึ่งเติบโตได้เป็นถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ
ผลงานเด่นของนายเลิศสมัยเป็น ส.ส. คือร่วมร่างกฎหมายตั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหง เหมืองฝายแม่ออน และคัดค้านการขึ้นภาษีน้ำมันในสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม
นอกจากนายเลิศ และนายสุรพันธ์ ที่เข้าสู่วงการการเมืองระดับชาติจนได้เป็น ส.ส. แล้ว นายสุเจตน์ บุตรคนที่ห้า ภายหลังยังได้เป็นเทศมนตรีนครเชียงใหม่ด้วยอีกคนหนึ่ง เท่ากับว่าตระกูลชินวัตรรุ่นที่สาม มีคนที่เข้าสู่วงการการเมืองถึงสามคน

ตระกูลรุ่นที่สี่: สู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ตระกูลชินวัตรรุ่นที่สี่ที่น่าสนใจมี 2 สาย คือ สายของ พ.อ.(พิเศษ) ศักดิ์ ชินวัตร (บุตรคนที่สอง) และสายของนายเลิศ ชินวัตร (บุตรคนที่สี่)
ชัยสิทธิ์ ชินวัตร
พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร (ภาพจาก Wikipedia)
สายของ พ.อ.(พิเศษ) ศักดิ์
พ.อ.(พิเศษ) ศักดิ์ ชินวัตร มีบุตรทั้งหมด 4 คน โดยคนที่น่าสนใจที่สุดคือ พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร (เกิดเมื่อ พ.ศ. 2488) ซึ่งไต่เต้าขึ้นมาถึงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ตอนนี้ พล.อ.ชัยสิทธิ์ ยังมีบทบาทในพรรคเพื่อไทย ถึงแม้จะพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง ส.ส. ราชบุรี เขต 1 ในการเลือกตั้งรอบล่าสุดให้กับผู้สมัครจากพรรคภูมิใจไทย
ครอบครัวสายของ พ.อ.(พิเศษ) ศักดิ์ ล้วนแต่รับราชการทหาร โดยเฉพาะบุตรคนที่สองคือ พล.อ.อุทัย ชินวัตร ก็ขึ้นไปได้จนถึงปลัดกระทรวงกลาโหม
เลิศ ชินวัตร กับบุตรสาว
เลิศ ชินวัตร (ซ้ายสุด) กับบุตรสาว โดยมียิ่งลักษณ์ยืนอยู่ตรงกลาง (ภาพจากหนังสือ "เผ่าพงศ์วงศาตระกูลชินวัตร")
สายของนายเลิศ
นายเลิศสมรสกับนางสาวยินดี ระมิงค์วงศ์ มีบุตรรวม 10 คน ซึ่ง พ.ต.ท. ทักษิณ เป็นบุตรคนที่สองและบุตรชายคนโต ส่วน น.ส. ยิ่งลักษณ์ เป็นบุตรคนสุดท้อง
  1. นางเยาวลักษณ์ ชินวัตร (คล่องคำนวณการ)
  2. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
  3. นางเยาวเรศ ชินวัตร (วงศ์นภาจันทร์)
  4. นางปิยนุช ชินวัตร (ลิ้มพัฒนาชาติ)
  5. นายอุดร ชินวัตร (เสียชีวิตแล้ว)
  6. นางเยาวภา ชินวัตร (วงศ์สวัสดิ์)
  7. นายพายัพ ชินวัตร
  8. นางมณฑาทิพย์ (ชื่อเดิม “เยาวมาลย์”) ชินวัตร (โกวิทเจริญกุล)
  9. นางสาวทัศนีย์ ชินวัตร (เสียชีวิตแล้ว)
  10. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
เราคงไม่ต้องพูดถึงเส้นทางชีวิตของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่โดดเด่นทั้งในด้านธุรกิจและการเมือง จนได้เป็น “นายกรัฐมนตรี” คนแรกของตระกูลชินวัตร แต่บุตรคนอื่นๆ ของนายเลิศก็มีความสามารถไม่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะในด้านการเมืองที่ “รุ่นที่สี่” สายของนายเลิศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหลายคน
นางเยาวลักษณ์ ชินวัตร บุตรคนโต เคยเป็นถึงนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ และเป็นสตรีคนแรกที่ได้ตำแหน่งนี้ เสียชีวิตแล้วเมื่อ พ.ศ. 2552
เยาวเรศ ชินวัตร
เยาวเรศ ชินวัตร (ภาพจาก MCOT)
นางเยาวเรศ ชินวัตร บุตรคนที่สาม ประกอบกิจการผ้าไหมที่ จ.ภูเก็ต “ชินวัตรภูเก็ต” และพัทยา “ชินวัตรพัทยา” ภายหลังขายกิจการไปและมาทำธุรกิจนำเข้าโทรศัพท์มือถือ ต่อมาขยายไปทำกิจการอสังหาริมทรัพย์และรับเหมาก่อสร้าง มีตำแหน่ง “ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์” ปัจจุบันดูแลพื้นที่ภาคใต้ของพรรคเพื่อไทย
เยาวภา วงศ์สวัสดิ์
เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ (ภาพจาก Wikipedia)
นางเยาวภา ชินวัตร บุตรคนที่หก ซึ่งคนส่วนใหญ่รู้จักเธอในนาม “เจ๊แดง” แห่ง “กลุ่มวังบัวบาน” จบการศึกษาด้านพยาบาล ทำงานที่สำนักงานสาธารณสุขเชียงใหม่ สมรสกับผู้พิพากษา “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” ภายหลังหันมาทำการค้า โดยก่อตั้งบริษัท “เอ็มลิ้งค์ เอเชีย” ทำหน้าที่นำเข้าโทรศัพท์มือถือให้กับกลุ่มชินคอร์ป
สมชาย วงศํสวัสดิ์
สมชาย วงศํสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 26
นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ สามีของเธอรับราชการมาหลายกระทรวง ขึ้นถึงตำแหน่ง “ปลัดกระทรวงยุติธรรม” และ “ปลัดกระทรวงแรงงาน” ก่อนจะบุญหล่นทับเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 26 ของประเทศไทย ถึงแม้จะทำหน้าที่เป็นช่วงเวลาสั้นๆ และไม่ได้เข้าทำงานในทำเนียบรัฐบาลเลยก็ตาม
ทั้งนายสมชายและนางเยาวภา ถูกตัดสิทธิ์การเมือง 5 ปีจากคดียุบพรรคพลังประชาชน อย่างไรก็ตาม นางเยาวภายังมีบทบาทดูแลพรรคเพื่อไทย โดยคุมพื้นที่ภาคเหนือ บุตรสาวคนหนึ่งของทั้งคู่คือ ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ ปัจจุบันเป็น ส.ส. เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ถือเป็นการเริ่มต้นทางการเมืองของ “รุ่นที่ห้า”
พายัพ ชินวัตร
พายัพ ชินวัตร (ภาพจาก Wikipedia)
นายพายัพ ชินวัตร บุตรคนที่เจ็ด ทำงานในบริษัทชินวัตรไหมไทย แต่ไม่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจ ภายหลังผันตัวมาเป็นนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และถูกโจมตีว่า “ปั่นหุ้น” เข้าสู่การเมืองโดยเป็น ส.ส. เชียงใหม่ พรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้ง 2548 ปัจจุบันมีตำแหน่งคุมทัพภาคอีสานของพรรคเพื่อไทย มีบุตรชาย 4 คน
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บุตรคนที่สิบ ทำงานในเครือชินคอร์ป และเอสซีแอสเสท ก่อนจะเข้าสู่การเมืองและเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย

ตระกูลดามาพงศ์: สายสัมพันธ์ที่ไม่อาจมองข้าม

ตระกูลชินวัตรนั้น “เกี่ยวดอง” กับตระกูลดามาพงศ์ ผ่านการสมรสของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ (ปัจจุบันใช้นามสกุล ณ ป้อมเพชร ของมารดา)
ครอบครัว “ดามาพงศ์” ของคุณหญิงพจมาน เป็นครอบครัวตำรวจ โดยบิดาคือ พล.ต.ท.เสมอ ดามาพงศ์ (อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ) และมารดา นางพจนีย์ ณ ป้อมเพชร
ครอบครัวของ พล.ต.ท. เสมอ มีบุตรทั้งหมด 5 คน โดยบุตรแท้ๆ 4 คน และบุตรบุญธรรมหนึ่งคน
  1. นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ (บุตรบุญธรรม)
  2. นายพงศ์เพชร ดามาพงศ์
  3. พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์
  4. พล.ต.ต.นพ.พีระพงศ์ ดามาพงศ์
  5. คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร
ห้าพี่น้องตระกูลดามาพงศ์ ไม่เลือกรับราชการตำรวจ ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองและธุรกิจกลุ่มชิน ที่มาจากการสมรสของคุณหญิงพจมาน
บรรณพจน์ ดามาพงศ์ (ภาพจาก Wikipedia)
บุษบา ดามาพงศ์
บุษบา ดามาพงศ์ (ภาพจาก SCAsset)
นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ บุตรบุญธรรมคนโต เป็นคนใกล้ชิดของคุณหญิงพจมาน มีเอี่ยวในคดีซุกหุ้นชินคอร์ปช่วงก่อน พ.ต.ท.ทักษิณ ชนะเลือกตั้ง ภรรยาของนายบรรณพจน์คือ “บุษบา ดามาพงศ์” เป็นคนสนิทของคุณหญิง และเคยบริหารบริษัทเอสซีแอสเสท ธุรกิจของครอบครัวมาช่วงเวลาหนึ่ง ล่าสุดบุษบากลับมาเป็นซีอีโอของเอสซีแอสเสทอีกครั้ง แทน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ลาออกไปเล่นการเมือง
นายพงศ์เพชร ดามาพงศ์ เคยยุ่งเกี่ยวกับการเมืองระดับชาติ โดยเป็นอดีตผู้อำนวยการการเลือกตั้งพรรคไทยรักไทย จังหวัดเชียงราย
เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์
เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ (ภาพจาก Wikipedia)
พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ถ้าไม่นับคุณหญิงพจมานที่โดดเด่นในฐานะคู่สมรสของนายกรัฐมนตรี และ “ผู้มีบารมีตัวจริง” ของพรรคไทยรักไทย ผู้ที่โดดเด่นที่สุดในกลุ่มพี่น้องตระกูลดามาพงศ์ก็คือ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์  รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ก็เคยถูกวิจารณ์ว่าได้เลื่อนขั้นอย่างรวดเร็วในสมัยรัฐบาลทักษิณ ด้วยเหตุผลว่าเป็นเครือญาติด้านภรรยา
เพ็ญโสม ดามาพงศ์
เพ็ญโสม ดามาพงศ์ (ภาพจาก SCAsset)
เครือญาติของ พล.ต.เพรียวพันธ์ คือนางเพ็ญโสม ดามาพงศ์ (ภรรยาของพล.ต.ต.นพ.พีระพงศ์ ดามาพงศ์) ยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของบริษัทเอสซีแอสเสทด้วย
พล.ต.ต.นพ.พีระพงศ์ ดามาพงศ์ อดีตผู้บัญชาการสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจ

สรุปบทเรียน “ตระกูลชินวัตร” กับการสร้างนายกรัฐมนตรี 3 คน

หลังจากย้อนรอยสายตระกูลชินวัตรแล้ว เราสามารถสรุปบทเรียนเบื้องหลัง “ความยิ่งใหญ่” ของตระกูลชินวัตรได้หลายประเด็น ดังนี้
  1. มีบุตรหลานและผู้สืบทอดเป็นจำนวนมาก จากต้นตระกูลคือนายเส็ง แซ่คู ที่มายังประเทศไทยเพียงลำพังคนเดียว จนถึงชินวัตรรุ่นที่ห้า ที่แยกสาแหรกไปมากมายนับเป็นหลักร้อยคน รุ่นที่หนึ่งนายเส็งเองมีบุตร 9 คน รุ่นที่สองนายเชียงมีบุตร 12 คน และรุ่นที่สามนายเลิศมีบุตร 10 คน การมีบุตรมากๆ ช่วยสร้างทรัพยากรบุคคลให้กับตระกูลในช่วงสร้างตัว ดังที่ตระกูลจีนอื่นๆ ในไทยได้ประสบความสำเร็จมาแล้ว เช่น ตระกูลจิราธิวัฒน์ หรือตระกูลเจียรวนนท์
  2. มีกิจการที่สร้างความมั่งคั่งให้กับตระกูล ในที่นี้คือ “ธุรกิจผ้าไหม” ที่สร้างความมั่งคั่งสะสมให้กับตระกูลชินวัตรตั้งแต่รุ่นที่สอง เฉกเช่นเดียวกับตระกูลจีนอื่นๆ ในไทยที่สะสมความมั่งคั่งในรุ่นแรกๆ จากการค้า (จิราธิวัฒน์ เจียรวนนท์) การเงิน (ล่ำซำ โสภณพนิช หวั่งหลี) จนมีอิทธิพลและเข้าสู่วงการการเมืองได้ในรุ่นถัดๆ มา
  3. มีสายงานอาชีพที่หลากหลาย ถึงแม้ตระกูลชินวัตรจะมีรากเหง้ามาจากการค้าไหม แต่ลูกหลานของตระกูล (รวมถึงตระกูลที่ดองกันจากการสมรส) ก็หันไปประกอบวิชาชีพอื่นๆ และได้ดิบได้ดีในสายอาชีพนั้นๆ ทำให้ยุคที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ขึ้นมาครองอำนาจ มีคนตระกูลชินวัตรทำงานในตำแหน่งระดับสูงมากมาย สามารถขับเคลื่อนและผลักดันวาระของตระกูลได้ง่ายขึ้น เช่น พล.อ.ชัยสิทธิ์ (สายทหาร) นายสมชาย (สายงานยุติธรรม) พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ (ตำรวจ)
  4. การส่งมอบประสบการณ์ทางการเมือง ตระกูลชินวัตรนั้นเป็นเฉกเช่นเดียวกับตระกูลการเมืองอื่นๆ ของโลก นั่นคือ รุ่นแรกที่เข้าสู่การเมืองยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก แต่มีกระบวนการสรุปบทเรียนและถ่ายทอดประสบการณ์ทางการเมืองไปยังรุ่นถัดๆ ไป เพื่อลดขั้นตอนในการเรียนรู้และก้าวสู่ตำแหน่งสำคัญ จะเห็นว่านายเลิศ ชินวัตร ถ่ายทอดประสบการณ์ให้น้องชายจนได้ขึ้นถึงตำแหน่ง รมช. และสมัยที่นายเลิศเป็น ส.ส. ก็ดึงตัว พ.ต.ท.ทักษิณ และบุตรคนอื่นๆ ไปช่วยงานหลายอย่าง จนเป็นประสบการด้านการเมืองให้กับลูกหลานรุ่นถัดมา
ตระกูลทางการเมืองตระกูลสำคัญของโลก เช่น ตระกูลเคเนดี้ของสหรัฐ หรือตระกูลเนห์รู-คานธีของอินเดีย ต่างก็มีประวัติศาสตร์ใกล้เคียงกัน นั่นคือ ต้นตระกูลรุ่นแรกๆ ผู้มี “ความทะเยอทะยานทางการเมือง” จะยังไม่ประสบความสำเร็จในถนนการเมือง แต่คนรุ่นถัดมาจะก้าวบนเส้นทางนั้นและผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ ก่อนจะสร้างฐานอำนาจและส่งต่อให้คนรุ่นถัดไป ตัวอย่างคือ ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคเนดี้ ถูกผลักดันให้เล่นการเมืองโดยบิดาผู้เป็นนักธุรกิจ และนายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย ชวาหระลาล เนห์รู ก็เป็นบุตรของนักการเมืองคนสำคัญที่สร้างพรรคคองเกรสของอินเดีย
เส้นทางของตระกูลชินวัตรในตอนนี้ต้องบอกว่า “ย้อนกลับไปไม่ได้แล้ว” หลังส่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของตระกูล ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ก็พยายามสร้างฐานอำนาจทางการเมืองของตัวเองในระยะยาว ถึงแม้จะเผชิญกับการต่อต้านอย่างหนัก แต่ก็ยังสามารถส่ง “น้องเขย” สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และ “น้องสาว” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีก 2 ครั้ง
น่าจับตามองว่า ในระยะยาวอีก 20-30 ปีข้างหน้า ตระกูลชินวัตรจะส่งต่ออำนาจทางการเมืองได้นานแค่ไหน และในเวลานั้นเราจะได้เห็น “ชินวัตรรุ่นที่ห้า” ขึ้นมารับบทบาทในการเมืองระดับชาติ อย่างที่ “ชวาหระลาล-อินทิรา-ราจิฟ” สร้างประวัติศาสตร์เป็นนายกอินเดีย 3 รุ่นตั้งแต่ตายันหลาน ได้หรือไม่

สายตระกูลชินวัตรที่เกี่ยวข้องกับการเมือง

สายตระกูลชินวัตร
สายตระกูลชินวัตร สีส้มคือเกี่ยวข้องกับการเมือง สีแดงคือนายกรัฐมนตรี (คลิกเพื่อดูภาพขนาดเต็ม)

ภาพประวัติศาสตร์ตระกูลชินวัตร

งานแต่งงานยิ่งลักษณ์
ภาพประวัติศาสตร์ของตระกูลชินวัตร ในงานแต่งงานของยิ่งลักษณ์-อนุสรณ์ อมรฉัตร (ภาพจากหนังสือ “เผ่าพงศ์วงศาตระกูลชินวัตร”) โดยรวบรวมสมาชิกคนสำคัญของตระกูลสายนายเลิศ ชินวัตร ไว้หลายคน
  1. เลิศ ชินวัตร
  2. ทักษิณ ชินวัตร
  3. พจมาน ชินวัตร
  4. เยาวเรศ ชินวัตร
  5. เยาวภา (ชินวัตร) วงศ์สวัสดิ์
  6. สมชาย วงศ์สวัสดิ์
  7. พายัพ ชินวัตร
  8. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
  9. อนุสรณ์ อมรฉัตร
  10. พานทองแท้ ชินวัตร
  11. พิณทองธา ชินวัตร
  12. (คาดว่า) แพทองธาร ชินวัตร
ที่มา : Logo
[Continue reading...]

เจาะใจ...เสนาบดี ศึกษาธการ จาตุรนต์ ฉายแสง "ผมไม่ใช่อัศวินม้าขาว"

- 0 comments
โดย สุพัด ทีปะลา teepala@hotmail.com 
คอลัมน์ สัมภาษณ์พิเศษ(มติชนรายวัน 5 ก.ค.2556)

กลับมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) อีกครั้ง สำหรับนายจาตุรนต์ ฉายแสง หลังจากถูกเว้นวรรคทางการเมืองไป 5 ปี ในตำแหน่งสุดท้ายคือรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ในปี 2549 แต่หลังจากพ้นโทษทางการเมือง ก็กลับมารับตำแหน่ง "รัฐมนตรีว่าการ ศธ." อีก เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ หรือ "ครม.ปู 5" ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ที่ผ่านมา

ด้วยความที่เป็นคนที่ได้รับการยอมรับจากคนในแวดวงการศึกษาไทย ทำให้เสียงตอบรับดังกระหึ่ม เพราะ "คาดหวัง" ให้นายจาตุรนต์เข้ามาสานต่องานต่างๆ ของ ศธ.ไม่ว่าจะเป็น "การปฏิรูปหลักสูตร" ที่กำลังดำเนินการอยู่ การสะสางปัญหาการทุจริตใน ศธ.โดยเฉพาะ "การทุจริตสอบครูผู้ช่วย กรณีมีความจำเป็น หรือเหตุพิเศษ ว12" ที่ส่งผลสะเทือนไปทั่ววงการ "แม่พิมพ์ไทย" เพื่อกอบกู้ภาพลักษณ์ของครู รวมถึง ปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย

แต่ด้วยความที่นายจาตุรนต์ถูกมองว่าเป็นคนทำงานเชื่องช้า ไม่กล้าตัดสินใจ และไม่เด็ดขาด ทำให้การขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาไปไม่ถึงไหน

"มติชน" จึงถือโอกาสนี้ สัมภาษณ์พิเศษเกี่ยวกับแนวนโยบาย และทิศทางงานด้านการศึกษา รวมถึง รูปแบบการทำงานในการหวนคืนตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ในครั้งนี้

@ หายจากวงการศึกษา 7 ปี กลับมาคราวนี้ต้องทำการบ้านอะไรบ้าง?
"การบ้านคงต้องทำ เพราะผมว่างเว้นจากการเป็นรัฐมนตรีมานาน และไปทำงานอื่น ทั้งการเมือง การผลักดันให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย ช่วยงานพรรคการเมืองด้วย ในช่วงหลังไม่ได้คิดเตรียมตัวเตรียมใจจะมาเป็นรัฐมนตรี เพราะคิดว่าหลังการเลือกตั้งทั่วไปอีก 2 ปี ค่อยไปว่ากันว่าจะได้เป็นรัฐมนตรี หรือไม่ได้เป็น แต่ได้มาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.คราวนี้ก็ปุบปับมาก รู้ล่วงหน้า 2 วันตอนที่นายกรัฐมนตรีแจ้ง หลังจากนั้น 3-4 วันทรงโปรดเกล้าฯ และวันรุ่งขึ้น (1 กรกฎาคม) ก็เข้ามาทำงานที่ ศธ.เลย 

ถึงแม้ว่าจะมีทุนเดิมคือเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.มาก่อน หรือสนใจงานการศึกษาอยู่บ้าง แต่ก็ยังต้องทำความเข้าใจสภาพปัจจุบันอยู่มากพอสมควร เพราะมิฉะนั้นจะกลายเป็นเอาแต่ความคิดตัวเองที่คิดได้ เข้ามาบอกให้ทุกคนทำตาม ก็คงไม่ถูก โชคดีที่ได้มีโอกาสร่วมร่างนโยบายด้านการศึกษาของพรรคเพื่อไทย นโยบายของรัฐบาล จึงเข้าใจสาระของนโยบาย แต่เมื่อนำมาใช้แล้ว เรื่องต่างๆ อยู่ในสภาพอย่างไร คืบหน้าถึงไหน มีปัญหาอุปสรรคอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ และยังต้องคิดค้นว่าเรื่องสำคัญๆ ที่ควรจะเน้น ควรจะทำก่อนคือเรื่องอะไร เพื่อกำหนดเป็นนโยบายจากนี้ไป ให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และมีลักษณะสานต่อเรื่องเดิม และทำในเรื่องที่ยังขาด หรือเรื่องสำคัญๆ ที่ควรจะเน้นเป็นพิเศษคืออะไร ตอนนี้อยู่ระหว่างความพยายามสังเคราะห์โดยเริ่มจากการรับฟังมากๆ ก่อน"

@ มองบริบทของการศึกษาเมื่อ 6-7 ปีก่อน กับปัจจุบันอย่างไร?
"หลายเรื่องเป็นเรื่องต่อเนื่อง สำคัญว่าพัฒนาการเป็นไปอย่างไร มากน้อยแค่ไหน ถูกทิศทางหรือไม่ แล้วก็สภาพการณ์ของประเทศ หรือสภาพการณ์ของโลกภายนอกก็เปลี่ยนไปมาก การศึกษาได้พัฒนา หรือมีแนวโน้มจะพัฒนาที่จะเอื้ออำนวย หรือรองรับการที่ประเทศจะต้องพัฒนาให้สามารถจะอยู่ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะต้องมีทั้งความร่วมมือ และแข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้หรือไม่ นี่เป็นโจทย์ข้อใหญ่ ซึ่งนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาล ได้คิดเรื่องเหล่านี้มาแล้ว แต่ตอนนำมาประยุกต์ให้เข้ากับการทำงานใน ศธ.หรือการทำงานด้านการศึกษา ได้ประยุกต์กันไปมากน้อยแค่ไหน นำไปใช้แค่ไหน และใช้ได้ผลมากน้อยแค่ไหน กับอีกอย่างคือความเชื่อมโยงระหว่างเรื่องต่างๆ มิติต่างๆ ของการศึกษาในส่วนนี้ จะไม่อยู่ในนโยบาย เป็นเรื่องกระบวนการบริหารจัดการที่ต้องมาคิด 

แล้วก็มีเรื่องสำคัญๆ ที่ต้องคิด และยกเครื่อง ที่ผมใช้คำว่ายกเครื่อง ไม่ได้หมายความว่าที่ทำมาแล้วไม่ดี อย่างนโบายล่าสุดของนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรัฐมนตรีว่าการ สธ.ได้กำหนดนโยบายที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลหลายเรื่อง ก็ควรจะต้องส่งเสริมผลักดันต่อไป แต่ขณะเดียวกันผมคิดว่ามีจุดสำคัญๆ ที่ต้องมาเน้น มาเพิ่ม แล้วมาจัดลำดับความสำคัญ เลือกเรื่องที่ทำแล้วจะส่งผลกระทบต่อเรื่องอื่นมากๆ เพื่อให้ทั้งระบบขับเคลื่อนได้เร็ว คือประเทศเรากำลังต้องการการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพัฒนาในเรื่องการศึกษา และการพัฒนาคนค่อนข้างมากเพื่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และรองรับการที่เอเชียกำลังเป็นทวีปที่มีศักยภาพของโลก"

@ นโยบายเร่งด่วนคือปฏิรูปการเรียนรู้?
"ปฏิรูปการเรียนรู้ บางทีผมก็ชอบใช้คำว่าปฏิรูปการเรียนการสอน ความหมายเดียวกัน บางทีต้องพูดครอบคลุม เพราะเกี่ยวกับการสอน หรือบทบาทของครูอยู่ด้วย ถึงได้มีคำว่าการสอน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เคยทำ และขาดช่วงไป แต่ไม่เชิงที่จะเอาของเก่ามาเล่าใหม่ เพราะบริบทเปลี่ยนไป เวลานี้ ศธ.ประกาศไปแล้วว่าจะปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และจะมีผลใน 1-3 ปี ผมคิดว่าอาจจะต้องขอปรับกระบวนการด้วยการปฏิรูประบบการเรียนรู้ และการเรียนการสอนเสียเลย เตรียมการ และลงทำเพื่อให้ไปรับกับหลักสูตรใหม่ พอหลักสูตรใหม่ออกมา ก็จะมีพื้นที่ที่จะปรับการเรียนการสอนมากขึ้นไปอีก ซึ่งการปฏิรูปการเรียนรู้ และการเรียนการสอน จะเน้นเรื่องการคิดวิเคราะห์ ความเข้าใจ การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การสร้างคุณลักษณะของเด็ก หรือผู้เรียนที่พึงประสงค์ 

ทั้งนี้ ในยุคปัจจุบัน การเรียนรู้ และการเรียนการสอนในโลกยุคอินเตอร์เน็ตแพร่หลาย มีการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ง่ายขึ้น มีความรู้อยู่ในระบบอินเตอร์เน็ตมากมายมหาศาล ฉะนั้น จะต้องกำหนดหลักสูตรว่าจะให้เด็กระดับไหนเรียนอะไร ควรเรียนอะไร เรียนอย่างไร สอนอย่างไร และในยุคที่มีเด็กเข้าสู่อินเตอร์เน็ตได้ จะเรียนอย่างไร สอนอย่างไร จะแนะนำผู้เรียนอย่างไร มันเป็นโจทย์ข้อใหญ่มาก เพราะจะพบปัญหาว่า ครูให้การบ้าน เด็กก็เข้าไปค้นหาในกูเกิล หรือยาฮู เสร็จแล้วก็ตัดแปะส่งอาจาจารย์ได้เลย ซึ่งก็มีเสียงบ่นว่าถ้าเป็นอย่างนี้ จะได้ผลอะไร โดยสิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าวิธีให้การบ้าน วิธีสอน บทบาทของครูในห้องเรียนต้องเปลี่ยน แทนที่จะถามนักเรียนว่าคำนี้คืออะไร ก็ไปค้นมา แต่ต้องเปลี่ยนเป็นหลังจากค้นหาคำนี้แล้ว ต้องให้เด็กตั้งคำถาม ให้เปรียบเทียบกับคำอื่นเพื่อให้โยงไปเรื่องอื่น ให้แสดงความเข้าใจ ให้รู้จักคิดในความรู้ที่เยอะแยะไปหมด ซึ่งครูต้องช่วยแนะนำเด็กว่าจะเรียนอะไร หาความรู้อะไร เพื่อโยงกับหลักสูตร นี่คือเรื่องใหม่ และต้องทำการปฏิรูปการเรียนรู้ และการเรียนการสอนด่วน"

@ มีแนวทางการพัฒนา และอบรมครูอย่างไร?
"การเรียนการสอนสำหรับหลักสูตรปัจจุบัน ในยุคการเรียนรู้สมัยใหม่นี้ บทบาทของครูต้องเปลี่ยนไป การอบรมพัฒนาครูต้องเกิดขึ้น เพื่อให้มีการเปลี่ยน ต้องมีกระบวนการใหม่ จะทำอย่างไรเพื่อทำให้ครูเรียนรู้ได้เร็ว และจะต้องเชื่อมโยงไปกับคอมพิวเตอร์แบบพกพา หรือแท็บเล็ตที่นำมาใช้ในการเรียนด้วย ซึ่งแท็บเล็ตเป็นเรื่องใหญ่ที่สำคัญเรื่องหนึ่ง จะต้องทำเนื้อหาที่ให้ได้มาตรฐาน และยังต้องมีวิธีเรียน วิธีสอนอยู่ในนั้น มีแบบฝึกหัด การทดสอบด้วย ทั้งนี้ ในส่วนของครูนั้น จะต้องหาวิธีจูงใจด้วยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกับการประเมินวิทยฐานะให้มากขึ้น ไม่ใช่ประเมินวิทยฐานะจากการพิจารณาเอกสารมากเกินไป ใครสอนดีก็ควรได้รับการเลื่อนวิทยฐานะง่ายขึ้น"

@ งานด้านอาชีวศึกษาเน้นนโยบายใดเป็นพิเศษ?
"ผมคิดว่ามีความพยายามทำในหลายเรื่องอยู่แล้ว และทิศทางก็น่าจะดี อย่างการเรียนแบบทวิภาคี การยกระดับพัฒนาคุณภาพ การแก้ปัญหาเรื่องผู้สอน การแก้ปัญหาคนนิยมเรียนอาชีวะน้อยลง ซึ่งเป็นทิศทางที่ถูก แต่ต้องมาประเมินว่า ระดับคุณภาพของเด็ก ความสอดคล้องกับตลาด ความต้องการของประเทศเป็นอย่างไร และกระบวนการที่จะผลิตคนให้ตรงกับความต้องการของประเทศอยู่ในระดับไหน และน่าพอใจแค่ไหน รองรับการพัฒนาประเทศได้จริงหรือไม่ จะต้องหาวิธีประเมินทั้งในแง่หลักสูตรการเรียนการสอน ผลสัมฤทธิ์ของเด็ก ทั้งนี้ มีกลไกอันหนึ่งที่สร้างขึ้นแล้วยังไม่ได้ใช้ คือระบบคุณวุฒิวิชาชีพ ที่ต้องการให้สร้างคุณสมบัติ คุณลักษณะของเด็กที่จะผลิตเพื่อไปตอบสนองความต้องการของตลาด หรือสังคม และให้เชื่อมโยงกับเงินเดือน หรือค่าตอบแทน หรือรายได้ ทำให้ผลิตเด็กได้ตรงความต้องการ และมีรายได้ที่ดี โดยไม่จำเป็นต้องจบปริญญา แต่ขณะนี้กลไกระบบคุณวุฒิวิชาชีพไม่ค่อยได้ใช้แล้ว แต่มีการพูดถึงการสอนระดับปริญญาตรีแทน ต่อไปจะกลายเป็นพยายามให้ได้ปริญญาตรี และจะได้เงินเดือนสูงขึ้น ซึ่งเป็นคนละแนวคิดกับกับคุณวุฒิวิชาชีพ ส่วนความร่วมมือกับเอกชน จะเปลี่ยนแปลงเรื่องคุณภาพได้มากกว่านี้หรือไม่ รวมทั้ง การเพิ่มความร่วมมือให้มากขึ้น 

ส่วนการตั้งเป้าหมายให้เด็กเรียนอาชีวะมากขึ้นในสัดส่วน 50 : 50 เมื่อเทียบกับสายสามัญนั้น เห็นว่าจะมีวิธีช่วยค่าใช้จ่าย ซึ่งนั่นเป็นส่วนหนึ่ง แต่ที่สำคัญคือต้องทำให้อาชีวะมีคุณภาพขึ้นมากๆ ตรงกับความต้องการของตลาด เรียนแล้วมีอาชีพ และมีรายได้ที่ดี ต่อไปจะมีคนมาเรียนกันเยอะ อีกสิ่งหนึ่งที่ควรต้องทำคือการ Re-branding กันใหม่ ทำให้ภาพพจน์ให้คนมองมาที่อาชีวะ แล้วเห็นว่าเป็นการที่จะก้าวไปสู่การมีอาชีพที่ดี มีรายได้ดี มีเกียรติ ในหลายประเทศคนจบสายอาชีวะ จบสายเทคนิค แต่ไม่ได้จบปริญญา มีรายได้ที่สูงกว่าปริญญาเยอะ นี่คือสิ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้น เพราะถ้าทำไม่ได้ ก็จะขัดแย้งกับการพัฒนาที่เราตั้งใจทำหลายๆ อย่าง

สำหรับด้านหลักสูตรก็ต้องปรับเพิ่ม ต้องร่วมมือกับทวิภาคี ต้องดูว่าได้คุณภาพพอหรือยัง ตรงกับความต้องการพอหรือยัง เข้มข้นพอหรือยัง และถ้าจะให้ดีต้องไปเทียบเคียงกับต่างประเทศ หรือจะทำมาตรฐานอะไรขึ้นมา โดยอาศัยผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้มีความรู้ความสามารถเชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาช่วยวิเคราะห์ หรือช่วยออกแบบระบบ ซึ่งผมคิดว่าจะต้องมีการยกเครื่องอาชีวศึกษากันใหม่"

@ ด้านอุดมศึกษาเน้นนโยบายใดบ้าง?
"ในส่วนของอุดมศึกษานั้น ได้ประชุมกันไปแล้ว และมีหลายเรื่องที่ต้องตัดสินใจว่า ทำอย่างไรจะส่งเสริมให้การอุดมศึกษาของประเทศยกระดับคุณภาพ ไต่อันดับในเวทีโลกได้ดีขึ้น และจะทำอย่างไรให้รู้ว่ามหาวิทยาลัยไหนอยู่ในอันดับที่เท่าใด ในกรณีที่ไม่ติดอันดับโลกเลย ระบบจัดอันดับของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร โดยรัฐบาล หรือสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จะช่วยผลักดันอะไรได้มากกว่านี้หรือไม่ ในส่วนของงบประมาณ การตั้งเป้าหมาย นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการพัฒนาคุณภาพที่เป็นงานค้างเดิม จะต้องคุย และลงรายละเอียดกันต่อ 

ส่วนที่มหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรต่างๆ มากขึ้นเพื่อเลี้ยงตัวเอง และอาจจะกระทบถึงคุณภาพ จะต้องดูว่าทางรัฐบาล และ สกอ.จะมีบทบาทช่วยทำให้มีคุณภาพได้อย่างไร โดยผ่านระบบประเมิน ระบบการจัดอันดับ ระบบงบประมาณ รวมทั้ง ต้องใช้ความเรียกร้องต้องการของภาคสังคมที่จะเสนอต่อมหาวิทยาลัยด้วย ส่วนระบบกลางการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา สิ่งนี้เป็นเรื่องใหญ่ หากจะต้องทบทวน ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าระบบที่ทำกันอยู่มีปัญหาต่อการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานมาก ทั้งความเท่าเทียม และมีผลต่อการที่จะปฏิรูปการศึกษาให้ได้ผลด้วย เพราะระบบดังกล่าวดึงความสนใจของนักเรียนไปหาข้อสอบของมหาวิทยาลัยเสียหมด จึงต้องสำรวจปัญหา และนำมาหารือกัน ถ้ามหาวิทยาลัยเห็นว่าหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานยังไม่ดีพอ และยังไม่ได้เด็กตรงความต้องการ ก็ต้องช่วยกันปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อให้ตัวป้อนดีขึ้น แต่ถ้าออกข้อสอบโดยเน้นให้ได้ตัวป้อนที่ดี เพื่อคัดเด็กเก่งๆ ก็จะทำให้เด็กทั้งระบบไม่สนใจการเรียนในโรงเรียน ไม่สนใจการสอบของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) จะส่งผลให้การปฏิรูปการศึกษาไม่อาจเกิดขึ้นได้ ฉะนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องในลำดับถัดๆ ไปที่ต้องคิด"

@ จุดยืนในการแก้ปัญหาทุจริต โดยเฉพาะการทุจริตสอบครูผู้ช่วย?
"ผมคิดว่าต้องสะสางอย่างเอาจริงเอาจังกับปัญหาการทุจริตที่ผ่านมา และต้องหาผู้ทำผิดมาลงโทษไปตามเนื้อผ้าอย่างเคร่งครัดจริงจัง รวมทั้ง ต้องป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตใหม่ๆ เพราะถ้าปล่อยให้ทุจริตกันมากๆ การพัฒนาการศึกษาไม่มีทางได้ผล จะสูญเปล่า และจะหวังไปพัฒนาคุณภาพการศึกษาไม่ได้ ซึ่งเรื่องการทุจริตครูผู้ช่วย ก็มีหลายมิติ จะต้องดูว่าจุดที่เป็นปัญหาอยู่ที่ไหน แล้วจะให้ความเป็นธรรมกับผู้เข้าสอบได้อย่างไร รวมทั้ง จะสร้างระบบไม่ให้มีทุจริตได้อย่างไร โดยเรื่องนี้มีการจัดการกับปัญหามาในขั้นตอนต่างๆ แล้ว บางเรื่องจะไปรื้อไปแก้ก็ไม่ใช่ง่าย แต่ที่สำคัญในเวลาคือ ถ้าพบว่ามีการทุจริตที่ไหน มีใครเกี่ยวข้อง ต้องว่าไปตามเนื้อผ้า ไม่มีมวยล้ม"

@ กระแสตอบรับค่อนข้างดี รู้สึกกดดันกับความคาดหวังหรือไม่?
"จะว่าเป็นกำลังใจก็เป็นกำลังใจ หรือคิดว่ากดดันก็กดดัน ความคาดหวัง และความยินดีที่ผมมาเป็นรัฐมนตรี ก็ไม่แน่ใจว่าเป็นความดีใจที่ผมได้เป็นรัฐมนตรี หรือเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.อาจจะปนๆ กันอยู่ แต่ต้องพูดตามตรงว่าผมไม่ได้ทำงานด้านการศึกษามานาน เพราะไปเน้นเรื่องการทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยเกือบ 7 ปี และไม่ได้คิดว่าจะเป็นรัฐมนตรีด้วย ดังนั้น อาจไม่ได้ทำอะไรได้เหมือนอย่างที่คาดหวังกันไปเสียหมด 

อีกอย่างงานด้านการศึกษา งานของ ศธ.จะไม่มีอัศวินม้าขาว จะอาศัยอัศวินม้าขาวไม่ได้ แล้วผมก็ไม่ใช่อัศวินม้าขาวเลย ที่สำคัญ ต้องอาศัยคนทั้งองคาพยพ ทั้ง ศธ.และสำคัญกว่านั้นต้องอาศัยสังคม ต้องให้เป็นประเด็นทางสังคม และบางเรื่องต้องให้เป็นวาระแห่งชาติให้ได้ จึงจะแก้ได้ ถ้าผมจะมีส่วนช่วย คือใช้ความรู้ประสบการณ์ที่มีอยู่ มาทำความเข้าในเรื่อง และเสนอเรื่องให้เห็นว่าถ้าจะขับเคลื่อนการศึกษากันจริงๆ ยกเครื่องกันจริงๆ จะต้องทำอะไร เสร็จแล้วก็ต้องทำให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายเข้าใจ และเห็นร่วมกัน ซึ่งต้องมีกระบวนการทำงานร่วมกันเสียก่อนตั้งแต่ต้น และยังต้องไปเสนอเรื่องเหล่านี้ให้สังคมเข้าใจ เห็นโจทย์ทางออก และเห็นวิธีการร่วมกัน ช่วยกันผลักดัน ถ้าไม่มีกระบวนการนี้ ใครมาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ก็ยังทำอะไรมากไม่ได้ เพราะเรื่องของ ศธ.เป็นเรื่องซับซ้อน หลายเรื่องสะสมมานาน แล้วหลายส่วนก็มีลักษณะเป็นอิสระจากกัน โครงสร้างที่ทำมาต่อเนื่องช่วง 10 ปีมานี้ เป็นโครงสร้างที่ทำให้การบริหารจัดการไม่ง่าย"

@ ภายใน 2 ปีนี้ จะเห็นการเปลี่ยนแปลงหรือไม่? 
"ผมจะอยู่ถึง 2 ปีหรือไม่ ก็ยังไม่ทราบ แต่ต้องรีบคิดแบบ 3 เดือน 6 เดือน ก่อนจะคิดช่วยวางแผนไว้ให้เป็นเรื่อง 2 ปี และ 4 ปี แต่จะพยายามช่วยวางแผน และระบบที่จะมีผลต่อไปข้างหน้าให้ยาวหน่อย และหวังว่าจะทำให้เกิดความเข้าใจยุทธศาสตร์ และมียุทธศาสตร์ร่วมกัน เข้าใจเรื่องใหญ่ๆ ร่วมกัน แล้วก็วางแผน วางระบบ วางกระบวนการที่จะบรรลุยุทธศาสตร์นั้น เริ่มต้นให้ได้ในเรื่องสำคัญๆ แล้วก็คงต้องอาศัยการทำงานต่อเนื่องไป ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับผู้ที่จะรับผิดชอบต่อๆ ไป จะเป็นผม หรือเป็นใครก็ตามที่จะทำจาก 6 เดือนนี้ แล้วทำต่อๆ ไป หรือแม้แต่จะทำในรัฐบาลหน้าก็ตาม แต่ว่าหากต้องการที่จะแก้ปัญหาการศึกษา ต้องมีความต่อเนื่อง ความต่อเนื่องนี้ไม่ใช่ในความหมายว่าต้องให้ผมเป็นรัฐมนตรีนานๆ แต่ต้องสื่อสารกับรัฐบาล และทั้งสังคมให้เห็นภาพร่วมกัน เข้าใจร่วมกัน และช่วยกันทำให้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะความต่อเนื่องการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ และนโยบายด้านการศึกษาที่ตรงจุด และสอดคล้องกับความต่อการของประเทศ"

@ เป็นคนรับฟังมาก ทำให้ขับเคลื่อนงานช้า จะปรับการทำงานให้รวดเร็วขึ้นหรือไม่?
"เร็ว หรือช้า เป็นเรื่องที่มองได้ต่างกัน บางเรื่องรับฟังความคิดเห็น เพื่อช่วยกันคิดวิเคราะห์ เพราะคนยังมีความรู้สึกช้า แต่พอได้ข้อสรุปแล้ว บางเรื่องก็เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้น ถ้าไม่คิดเรื่องนั้นก็ไม่เกิดเลย บางเรื่องคิดขึ้นมาแล้ว ต่อมาพบว่าผ่านมาอีกตั้งนาน คนถึงจะบอกว่าใช่แล้วต้องทำ ก็แสดงว่าเรื่องที่ช่วยกันคิดอยู่ที่เหมือนดูว่าช้านั้น จริงๆ แล้วมันก้าวหน้า และล้ำสมัยกว่า เร็วกว่าบางเรื่อง ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่เร็ว หรือช้าเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่จะคิดได้หรือไม่ แล้วจะทำกันหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ผมเข้าใจความต้องการที่คนต้องการเห็นอะไรเร็วๆ ต้องการการคิด การตัดสินใจเร็ว ซึ่งคิดว่าจากความรู้ ความเข้าใจ ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา น่าจะช่วยทำให้ความร่วมมือที่ดีของคนในวงการการศึกษา น่าจะทำให้ขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ ได้เร็ว เท่าที่ดูก็ไม่ค่อยมีปัญหาที่เกี่ยวกับว่าจะตัดสินใจยาก"
[Continue reading...]

"อภิสิทธิ์” จ่อควง ชวน จัดทอล์กโชว์ร่ายยาววิกฤติ ศก.

- 0 comments

"มาร์ค"ควง"ชวน"จัดทอล์กโชว์ ร่ายยาว วิกฤติ ศก.พรุ่งนี้ ชี้ ไม่ระวังมีรอบ 3 แน่ โดยเฉพาะเรื่องการมีธรรมาภิบาล ปัญหาการเมือง การใช้จ่ายภาครัฐที่บางโครงการไม่ยั่งยืน...

วันที่ 5 ก.ค. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดงานทอล์กโชว์การกุศล
จากต้มยำกุ้ง แฮมเบอร์เกอร์ ถึงกรรเชียงปู และเงินกู้ผลาญแผ่นดินวันที่ 6 ก.ค.นี้ ที่โรงหนังสกาล่าว่า การทอล์กโชว์ดังกล่าว ตนและนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค จะพูดคุยเรื่องที่เป็นวิกฤติ และไม่วิกฤติ ในหัวข้อเศรษฐกิจที่พวกเราผ่านมา 2 รอบ รวมทั้งการที่คนที่กำลังหวั่นวิตกว่าจะเจออีกรอบ โดยหากไม่ระมัดระวังนั้น ครั้งที่ 3 ก็จะเกิดขึ้นได้

ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนต้องตระหนก เพราะถ้าสามารถช่วยกันทำให้สังคมมีความเข้าใจว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตและที่อาจจะเกิดขึ้นสามารถป้องกันได้ โดยอยู่ที่วิธีคิด และวิธีที่สังคมกำหนดแนวทาง อย่างไรก็ตาม ปัญหาหลักที่ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ คือ ปัญหาธรรมาภิบาล การบริหารจัดการ รวมทั้งปัญหาการเมือง เช่น วิกฤติเศรษฐกิจที่เรื้อรัง ไม่ว่าจะเป็นในยุโรป และที่ปัจจุบันก็มาจากการวิเคราะห์อาการของปัญหา ทั้งเรื่องของการใช้จ่ายภาครัฐ ที่บางโครงการไม่ทำให้เกิดความยั่งยืนได้

ที่มา :ไทยรัฐออนไลน์
[Continue reading...]

ตระกูล "เวชชาชีวะ" เป็นมีดที่แหลมคม หรือ หอกที่คอยทิ่มแทง ?

- 0 comments

ย้อนรอยตระกูลเวชชาชีวะ


การทำความเข้าใจความสัมพันธ์ของทั้งสามคน ย่อมต้องย้อนกลับไปดูสายสัมพันธ์ทางเครือญาติเสียก่อน  ตระกูลเวชชาชีวะเองก็เป็นตระกูลเก่าแก่ตระกูลหนึ่ง โดยมีบรรพบุรุษ เป็นชาวเวียดนาม โดยสารเรือมาขึ้นฝั่งที่ จ.จันทบุรี สำหรับรุ่นของ นายอภิสิทธิ์-สุรนันทน์ ถือว่าเป็นรุ่นที่หก และปัจจุบันรุ่นลูกของอภิสิทธิ์-สุรนันทน์ถือเป็นรุ่นที่เจ็ดแล้ว

บุคคลสำคัญของตระกูลเวชชาชีวะคือ นายหลง (รุ่นที่สี่) ซึ่งศึกษาด้านการแพทย์และเข้ารับราชการในกระทรวงสาธารณสุข จนได้บรรดาศักดิ์เป็น “พระบำราศนราดูร” และนามสกุลพระราชทาน “เวชชาชีวะ” ทำให้บิดาและพี่น้องทุกคนได้ใช้นามสกุลเวชชาชีวะตามไปด้วย พระบำราศนราดูรเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และเป็นผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลบำราศนราดูร จ.นนทบุรี

น้องชายคนถัดมาของพระบำราศนราดูรคือ นายโฆษิต เวชชาชีวะ ซึ่งเป็นปู่ของนายอภิสิทธิ์-สุรนันทน์ ส่วนน้องชายของนายโฆษิตคือ ขุนประวิตรเวชชาชีพ (ประวิตร เวชชาชีวะ) เป็นบิดาของนายประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ นั่นเอง
นายโฆษิตมีบุตรจำนวน 10 คน โดย นายนิสสัย เวชชาชีวะ บิดาของนายสุรนันทน์เป็นบุตรคนที่ 5 (นายนิสสัยเคยเป็นเอกอัครราชทูตหลายประเทศ และเคยเป็อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ) กับ นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ บิดาของนายอภิสิทธิ์ เป็นบุตรคนที่ 7 (นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เป็นอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน) แผนผังตระกูลเวชชาชีวะ (เฉพาะบางส่วน)

ดังนั้นโดยสรุปแล้ว นายประพันธ์พงศ์ จึงมีศักดิ์เป็นอา (คนละปู่) ของนายอภิสิทธิ์-สุรนันทน์นั่นเอง

ที่มา : Logo
[Continue reading...]

"ประภัสร์" แจง กมธ.คมนาคม วุฒิฯ กรณี 2 ล้านล้าน ลั่น 'คนรถไฟ' พร้อมทำเพื่อชาติ

- 0 comments
2 ก.ค. 56 - ที่ห้อง 311 อาคารรัฐสภา 2 ในการประชุมคณะกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภา ได้มีการพิจารณาภาพรวมร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... (คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ) โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภาได้มอบหมายให้คณะกรรมาธิการการเงินการคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน และคณะกรรมาธิการการคมนาคมเป็นผู้พิจารณาศึกษาตามข้อบังคับการประชุมฯ ข้อ 136 โดยวันนี้ (2 ก.ค. 56) คณะกรรมาธิการการคมนาคมได้เรียกนายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย มาร่วมประชุม
 
นายประภัสร์ จงสงวน ได้กล่าวกับคณะกรรมาธิการฯ ว่าจากการที่ได้ทำงานที่การรถไฟมากว่า 7 เดือน มีความเชื่อว่าศักยภาพของบุคคลากรของการรถไฟแห่งประเทศไทยสามารถปฎิบัติหน้าที่ในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศทั้งการขนส่งรางคู่และรถไฟฟ้าความเร็วสูงได้ โดยตนได้คุยกับทั้งผู้บริหารและสหภาพแรงงานการรถไฟแห่งประเทศไทยทุกคนก็พร้อมให้ความร่วมมือ
 
"เราก็ยอมรับว่าเหมือนทุกองค์กรที่มีทั้งดีและไม่ดี แต่คนที่ดีมีมากกว่าคนไม่ดีเยอะ ผมยืนยันตรงนี้ และก็มีคนรุ่นใหม่ๆ ต้องการที่จะทำงานและต้องการที่จะทำให้รถไฟกลับมาเป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทยผมยืนยัน ถ้าไม่อย่างนั้นเมื่อผมเข้ามาแล้วผมเห็นว่าไปไม่ไหว ผมก็คงต้องบอกตั้งแต่แรกว่าไม่ไหวเหมือนกัน" นายประภัสร์กล่าว
 
นายประภัสร์ได้ให้ข้อมูลกับความคืบหน้าในโครงการรถไฟรางคู่ว่า ในความจริงแล้วมีทั้งที่เป็นส่วนเดิมและส่วนต่อขยายใหม่ โดยของเดิมนั้นมีอยู่ 5 เส้นทางซึ่งได้ศึกษาเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว แต่ยังอยู่ในขั้นรอการอนุมัติว่าผ่านหรือไม่ 
 
ส่วนเรื่องรถไฟความเร็วสูงนั้นทาง สนข. ได้ระบุแล้วว่าจะแบ่งส่วนของการก่อสร้างหรืองานประกวดราคาออกเป็นสองส่วน คือในส่วนของตัวโครงสร้างและส่วนของตัวระบบ ซึ่งในกระบวนการก็จะเป็นไปตามขั้นตอนวิธีปกติ เพียงแต่พระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... นี้ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินได้มากกว่าปกติเท่านั้นเอง ส่วนขั้นตอนการขออนุมัติโครงการก็ใช้วิธีการปกติตามกฎหมายเช่นโครงการอื่นๆ ส่วนในเรื่องเส้นทางนั้น โดยเฉพาะสายเหนือนายประภัสร์ ระบุว่าขณะนี้กำลังมีการเลือกหาเส้นทางอยู่ 5 เส้นทาง เพราะเส้นทางเดิมของการรถไฟนั้นใช้ไม่ได้
 
ในประเด็นรถไฟความเร็วสูงกับการเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนนั้น นายประภัสร์ระบุว่าในแผนใหญ่จะมีการเชื่อมหมด ในส่วนของหนองคายก็จะเชื่อมกับลาว ทางเชียงใหม่ก็สามารถไปต่อที่เชียงรายแล้วไปเชื่อมกับแม่สายหรือเส้นทางใหม่ที่เป็นถนนของพม่า และทางใต้ก็สามารถไปเชื่อมกับมาเลเซีย ซึ่งล่าสุดตนได้ไปประชุมกับประเทศมาเลเซียและทางมาเลเซียได้ถามว่าไทยจะทำจริงไหม ซึ่งถ้าหากทำมาเลียเซียและสิงคโปร์ก็จะทำด้วย ซึ่งตอนนี้เขารอดูเราว่าเราจะทำจริงหรือไม่ ในส่วนของประเทศลาวนั้น คาดว่าจะทำอย่างแน่นอน เพียงแต่ในวันนี้ลาวต้องการจะต่อรองให้ได้มากที่สุด เพราะประเทศที่ได้ประโยชน์มากที่สุดคือจีนและลาวกำลังต่อรองกับจีนอยู่
 
ทั้งนี้มูลค่าการลงทุนเฉพาะโครงการที่การรถไฟแห่งประเทศไทยรับผิดชอบมีถึง 1.3 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็น 63% ของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ
 
 
ที่มา: กองบรรณาธิการเว็บไซต์ข่าวรัฐสภาถึงประชาชน
[Continue reading...]

ถ้า นาข้าวขาดแคลน

- 0 comments

แต่ความเจริญหรือการเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีขอบเขต

ก็เป็นการสร้างความหายนะได้เช่นกัน หายนะทั้งธรรมชาติ

สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต และรากเหง้าของเราเอง

เราจะต้องสูญเสียพื้นที่ในการทำนาไปเรื่อยๆ เช่นกัน

เมื่อวันนั้นมาถึง นอกจากจะผลิตข้าวได้ไม่พอจะส่งขายแล้ว

ประเทศไทยก็อาจจะผลิตข้าวได้ไม่พอให้คนไทยกินด้วย

เมื่อถึงวันนั้น คนไทยอาจจะต้องซื้อข้าวลาวกินก็ได้ครับ
ทำเป็นเล่นไปเถอะ
 
ประภัสสร เสวิกุล  คมชัดลึกออนไลน์

 เวลาเดินทางไปต่างจังหวัด สิ่งหนึ่งที่ผมชอบมองหาก็คือ ท้องทุ่งท้องนาและพื้นที่เพาะปลูก และรู้สึกใจหายทุกครั้งที่เห็นภาพของทุ่งนาเขียวชอุ่มริมถนนหลวงกลายเป็นตึกแถว หมู่บ้านจัดสรร โรงงาน หรือศูนย์การค้า

               ย้อนเวลากลับไปเมื่อ 50-60 ปีก่อน รอบๆ กรุงเทพฯ ของเรายังเต็มไปด้วยทุ่งนา ไม่ว่าจะเป็นบางนา บางกะปิ พระโขนง บางบัวทอง ลาดพร้าว บางเขน เรื่อยไปจนถึงทุ่งรังสิต ที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงพัฒนาระบบส่งน้ำและชลประทานเพื่อให้เป็นแหล่งปลูกข้าวขนาดใหญ่ของประเทศ แต่ทุกวันนี้สถานที่ต่างๆ ที่ผมพูดถึง มองหาภาพในอดีตไม่พบเสียแล้วครับ พูดด้วยสำนวนนักเขียนก็ต้องว่า ความเจริญวิ่งมาชน

               ผมไม่ใช่คนที่ปฏิเสธความเปลี่ยนแปลงหรอกครับ แต่ความเจริญหรือการเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีขอบเขต ก็เป็นการสร้างความหายนะได้เช่นกัน

               หายนะทั้งธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต และรากเหง้าของเราเอง

               ทุกชุมชน ทุกท้องถิ่น และทุกสถานที่จะต้องมีเรื่องราวและความเป็นมาที่น่าสนใจ แต่น่าเสียดายที่คนไทยยุคนี้ไม่ค่อยจะสนใจกับสิ่งเหล่านี้เท่าไหร่ และนิยมสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาแทนที่ โดยขาดการศึกษา ความเข้าใจ และคำนึงถึงผลกระทบที่จะติดตามมา ลองคิดดูเล่นๆ ว่า เมื่อเราเอาพื้นที่ที่ดีที่สุด สมบูรณ์ที่สุด และมีน้ำท่าบริบูรณ์ที่สุด ซึ่งควรจะพัฒนาให้เป็นแหล่งผลิตข้าวที่ดีที่สุด อย่างทุ่งรังสิต ไปสร้างหมู่บ้านจัดสรร สถานที่ราชการ หรือบริษัทห้างร้านของเอกชน เราก็จะต้องไปทำนาในพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องดินและน้ำ แล้วก็ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลในการปรับปรุงคุณภาพของดินและสร้างระบบส่งน้ำ ระบบคมนาคม ฯลฯ

               หากเหตุการณ์ยังคงดำเนินไปเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ก็แน่นอนว่า เราจะต้องสูญเสียพื้นที่ในการทำนาไปเรื่อยๆ เช่นกัน

               เราทำโครงการอนุรักษ์ผืนป่ากันมานานแล้ว น่าจะมาคิดทำโครงการอนุรักษ์ผืนนาดูบ้าง ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกข้าวรายสำคัญของโลก และผลพลอยได้จากการอนุรักษ์นาก็คือวิถีชีวิตแบบไทย ที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบ่งปันกัน รวมไปถึงสัตว์ต่างๆ ที่มีวงจรชีวิตเกี่ยวข้องหรือพึ่งพาอาศัยท้องนา เช่น วัว ควาย กบ นก ปู ปลา ฯ

               โครงการอนุรักษ์นานี่ไม่ใช่เรื่องที่พูดเล่นนะครับ เพราะเวลานี้ข้าวไทยก็มีคู่แข่งมากขึ้นในตลาดโลก พูดเฉพาะกลุ่มอาเซียน ถ้าไม่นับข้าวเวียดนามที่ไล่เรามาแบบหายใจรดต้นคอแล้ว ข้าวกัมพูชาก็เริ่มเบียดแทรกเข้ามาบ้างแล้ว อินโดนีเซียก็ลดการนำเข้าข้าวลงและอาจจะพัฒนาศักยภาพเป็นประเทศผู้ส่งออกได้ ไม่ต้องกล่าวถึงพม่าที่ถ้าตั้งตัวติดเมื่อไหร่ ก็คงจะทวงความเป็นแชมป์เก่าคืนโดยไม่ยาก

               ครับ เมื่อวันนั้นมาถึง นอกจากจะผลิตข้าวได้ไม่พอจะส่งขายแล้ว ประเทศไทยก็อาจจะผลิตข้าวได้ไม่พอให้คนไทยกินด้วย เมื่อถึงวันนั้น คนไทยอาจจะต้องซื้อข้าวลาวกินก็ได้ครับ

               ทำเป็นเล่นไปเถอะ
[Continue reading...]
 
Copyright © . Yak Ratchaprasong - Posts · Comments
Theme Template by BTDesigner · Powered by Blogger