Saturday, August 10, 2013

ขุนค้อนนัดลงมติงบ 57 วันที่ 14-15 ส.ค.

- 0 comments
ขุนค้อนนัดลงมติงบ57 วันที่ 14-15 ส.ค. ด้านกมธ.เสนอทบทวน สสส.-ไทยพีบีเอส เหตุเป็นหน่วยงานใช้เงินนอกระบบ ขัดวินัยการเงินการคลัง

นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ออกจดหมายเรียกประชุมสภาฯ  นัดพิเศษ วันที่ 14 – 15 ส.ค. 2556 เวลา 09.30 น. เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 ในวาระที่ 2 และ 3 หลังจากที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นประธานได้พิจารณาแล้วเสร็จแล้ว

ทั้งนี้ คณะกมธ.วิสามัญฯได้จัดทำรายงานผลการพิจารณาทั้งหมด พร้อมข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณของรัฐบาลในภาพรวมโดยมีทั้งหมด 15 ข้อ ดังนี้

1. การวางแผนใช้จ่ายเงินของแผ่นดิน ควรคำนึงถึงวินัยการเงินการคลังและสถานะทางการเงิน ตลอดจนความสามารถในการบริหารจัดการการเงินการคลังของประเทศเป็นสำคัญ

2. หน่วยงานหลักของประเทศควรมีแนวทางในการกำหนดตัวชี้วัดระดับความสำเร็จในการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐในภาพรวมให้มีความชัดเจน เป็นรูปธรรม โดยมีการประเมินอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อที่ครอบคลุมผลจากการใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตของประเทศพ.ศ. 2555 และร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... ที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการที่เป็นจริง ตลอดจนผลของการปรับโครงสร้างภาษีในแต่ละประเภท

3. การประเมินตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ควรพิจารณาให้ครอบคลุมถึงสัดส่วนรายได้ รายจ่าย และภาระหนี้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ เพื่อให้การประมาณการรายได้และรายจ่ายในภาพรวมของประเทศเป็นไปอย่างถูกต้อง มีความครอบคลุม และเหมาะสม

4. แผนงาน/โครงการ ของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ของภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ในส่วนของรายจ่ายประจำควรแสดงถึงการมีส่วนเพิ่มผลิตภาพหรือประสิทธิภาพของระบบราชการ และในส่วนของรายจ่ายลงทุนควรแสดงถึงผลต่อการกระตุ้นการลงทุนของภาครัฐ ภาคเอกชน และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

5.ควรมีการบูรณาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดให้มีหน่วยงานเจ้าภาพในการดำเนินการจัดทำภาพรวมงบประมาณในขั้นตอนก่อนเสนอคำขอตั้งงบประมาณ

6. การจัดหาวัสดุครุภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของหน่วยงาน ควรคำนึงถึงประโยชน์และความคุ้มค่าในการใช้งาน ในกรณีการเช่าควรนำเงื่อนไขเกี่ยวกับระยะเวลาการเช่า อัตรค่าเช่า การบำรุงรักษา เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน

7. การขอรับการจัดสรรงบลงทุนของหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมทางหลวงชนบท กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน เป็นต้น ต้องคำนึงถึงหลักการกระจายงบประมาณ ไม่ควรกระจุกตัวเฉพาะพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนอย่างทั่วถึง

8.เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการใช้จ่ายงบประมาณ พ.ศ. 2557 ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณและเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่าย ควรเร่งรัดให้หน่วยงานดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามแผนงาน/โครงการของปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ได้ทันที

9. การเช่า – การซื้อรถประจำตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หน่วยงานควรคำนึงถึงความจำเป็น และความประสงค์ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

10. ควรบูรณาการแผนหรือหลักสูตรการฝึกอบรมระหว่างหน่วยงานภายในกระทรวง โดยเฉพาะแผนการอบรมเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กำหนดหลักสูตรที่มีความสอดคล้องและกลุ่มเป้าหมายเดียวกันเพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ และเร่งเสริมสร้างความรู้ เผยแพร่ข้อมูล และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นให้ประชาชนรับทราบในแง่มุมที่หลากหลาย

11.การจัดหลักสูตรการฝึกอบรม สัมมนาในแต่ละจังหวัด หน่วยงานควรประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อบูรณาการการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปอย่างประหยัด และเกิดประโยชน์สูงสุดตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้

12.การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ หน่วยงานควรพิจารณาคัดเลือกประเภทสื่อประชาสัมพันธ์รูปแบบ เนื้อหา และช่วงระยะเวลาในการเผยแพร่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง รวมทั้งคำนึงถึงการเข้าถึงสื่อได้ง่ายของกลุ่มเป้าหมาย โดยการประชาสัมพันธ์ควรกระจายไปในสื่อต่าง ๆ ที่น่าสนใจและทันสมัย  อาทิ การพัฒนาปรับปรุง website ของหน่วยงาน และการสื่อสารทางสังคมออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ

13. หน่วยงานควรมอบหมายและพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้สามารถดำเนินการได้เองแทนการจ้าง ที่ปรึกษา เนื่องจากบุคลากรภายในหน่วยงานจำนวนมากเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ และความเชี่ยวชาญในภารกิจของหน่วยงานมากกว่าที่ปรึกษาที่จ้างมาดำเนินงาน รวมทั้งยังเป็นโอกาสในการพัฒนาและสร้างองค์ความรู้ให้กับบุคลากรของหน่วยงาน

14. การจัดงบประมาณของทุกหน่วยงาน ควรคำนึงถึงยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมของประเทศในอนาคต ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสวัสดิการสังคม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมผู้สูงอายุ และผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพเศรษฐกิจในภูมิภาค

15. ควรมีการทบทวนการจัดตั้งหน่วยงานในลักษณะที่ได้รับการจัดสรรรายได้จากภาษีโดยไม่ผ่านกระบวนการงบประมาณ เพื่อเป็นการรักษาวินัยทางการคลัง ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส ที่ได้รับการจัดสรรรายได้จากภาษีสรรพสามิตโดยตรง ทั้งนี้ ภาครัฐควรกำหนดมาตรการการควบคุมไม่ให้เกิดหน่วยงานในลักษณะดังกล่าว และมีการกำกับ ตรวจสอบการดำเนินงานและการใช้จำยเงินของหน่วยงานลักษณะดังกล่าว ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเจตนารมย์ของกฎหมาย โดยควรมีการจัดทำและวิเคราะห์งบดุล ตลอดจนแผนการใช้จ่ายอย่างชัดเจนในแต่ละรอบปีงบประมาณ

ที่มา: โพสทูเดย์
[Continue reading...]

เอกซเรย์กมธ.แปรญัตติ "นิรโทษ" แพ้ไม่ได้

- 0 comments
สำรวจรายชื่อคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน จำนวน 35 คน ที่ปรากฏออกมาเป็นรายบุคคล สรุปภาพโดยรวมได้ว่า เป็นปฏิบัติการตอกย้ำ "ยุทธศาสตร์" ของรัฐบาลอย่างชัดเจน...เป็นยุทธศาสตร์ที่ว่า

"เรื่องการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นเรื่องของรัฐสภา รัฐบาลไม่เกี่ยว" เป็นไปตามคำยืนยันที่มีเสมอมาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนักการเมืองฟากฝั่งรัฐบาล

 เริ่มตั้งแต่การเสนอร่าง พ.ร.บ.นี้ต่อสภา ก็ไม่ได้โฉ่งฉ่าง เสนอเข้ามาในนาม "คณะรัฐมนตรี" หากแต่ดำเนินไปภายใต้ลีลาซิกแซก ใช้ช่องทางเสนอโดย ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย จำนวน 40 คน นำโดยนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ

มาถึงขั้นการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการ คณะรัฐมนตรีก็เลือกที่จะไม่เสนอ "รัฐมนตรี" เข้ามาเป็นคณะกรรมาธิการ ทั้งๆ ที่มีรัฐมนตรีอย่างน้อย 2 คนที่น่าจะเข้ามาเป็นกรรมาธิการด้วยเพราะมีความเชี่ยวชาญทางกฎหมายและกลเกมในระดับกรรมาธิการอย่าง "พงศ์เทพ เทพกาญจนา" รองนายกฯ และ "วราเทพ รัตนากร" รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ที่ตอนนี้ได้รับมอบหมายให้เดินสายเชิญฝ่ายต่างๆ เข้าร่วมวงพูดคุยเพื่อไปสู่การปฏิรูปประเทศตามแนวคิดนายกฯ ยิ่งลักษณ์ โดยก่อนหน้านี้ทั้งสองคนนี้ก็จะได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องที่เกี่ยวกับการสร้างความปรองดองมาโดยตลอด

ยุทธศาสตร์กันเอารัฐบาลออกห่าง ไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการร่าง พ.ร.บ.นี้ ถือเป็นการสร้างเกราะกำบังกายขึ้นในตัว ในกรณีเกิดความผิดพลาดขึ้นมา รัฐบาลยังสามารถตีกรรเชียง โชว์ภาพว่ามุ่งไปในเรื่องความปรองดอง นั่นก็คือ การตั้งเวทีให้ทุกฝ่ายมาพูดคุยกัน

 สำหรับกรรมาธิการจำนวน 3 ที่นั่งตามโควตาของคณะรัฐมนตรี รัฐบาลกลับเสนอบุคคลที่อยู่นอกวงโคจร ครม. เข้ามาเป็นตัวแทนร่วมแปรญัตติ ได้แก่ นายนิพนธ์ ฮะกีมี รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ อธิบดีกรมบังคับคดี และ "บิ๊กบัง" พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจจากรัฐบาล "ทักษิณ ชินวัตร" เมื่อ 19 กันยายน 2549

สำหรับ 2 คนแรกชัดเจนว่า รัฐบาลส่งเข้ามาเพื่อเป็นมือไม้เพราะต้องอาศัยความเป็นผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย หากแต่สำหรับ "บิ๊กบัง" แล้ว ย่อมมองเป็นอื่นไปเสียมิได้ นอกจากเป้าหมายที่แฝงฝังในฐานะต้นตำรับ "กฎหมายปรองดอง" ซึ่งก็จะทำให้ "บิ๊กบัง" เป็นตัวช่วยสร้างภาพ "ความปรองดองแห่งชาติ"

เพราะก่อนหน้านี้สภาผู้แทนราษฎร ที่มีพรรคเพื่อไทยยึดครองเสียงข้างมาก เคยเสนอให้ "หัวหน้าคณะรัฐประหาร" ผู้นี้รับบท "ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ" บทบาทครั้งนั้น บิ๊กบังได้เชิญหน่วยงานต่างๆ มาให้ความเห็น ตามด้วยการขอแรงจากสถาบันพระปกเกล้าให้ไปศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก่อนจะเกิดปัญหาขัดแย้งกับทั้งสถาบันพระปกเกล้าและกรรมาธิการในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ นั่นจึงกลายเป็นความขัดแย้งยกแรกของกระบวนการสร้างความปรองดองของรัฐบาล ที่อีกฝ่ายหนึ่งมองว่าเป็นความพยายามอันจะนำไปสู่การออกกฎหมายนิรโทษกรรม

 หลังภารกิจ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ที่จบลงแบบไม่สวยนัก "บิ๊กบัง" ได้สร้างเซอร์ไพรส์อีกครั้งด้วยการเสนอร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ เข้าสู่สภา โดยมีเนื้อหาสำคัญเพื่อนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ต้องคดีทั้งหมดที่เกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง และบรรดาคดีที่นักการเมืองโดนกล่าวหาหลังการปฏิวัติ ซึ่งแน่นอนว่า ในเข่งที่เหมารวมกันมานี้ย่อมจะมีคนชื่อ "ทักษิณ ชินวัตร" รวมอยู่ด้วย

กระนั้นก็ตาม แม้โดยพลันทันทีที่ชื่อ "พล.อ.สนธิ" ถูกขานเป็นหนึ่งใน 35 อรหันต์แปรญัตติ สปอตไลท์ทุกดวงจับจ้องไปที่เขาในฐานะ "ประธาน" คณะกรรมาธิการฯ แต่เมื่อตรวจสอบ "สเปก" กันอย่างละเอียดพบว่า พล.อ.สนธิ "ไม่คล่อง" และ "ไม่เขี้ยว" มากพอ ที่จะรับมือและคุมเกมในห้องประชุมเอาไว้ได้ หนำซ้ำยังไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอีกต่างหาก จึงเชื่อกันว่าตำแหน่งประธาน ไม่น่าจะผิดไปจาก "สามารถ แก้วมีชัย" ส.ส.พรรคเพื่อไทย มือกฎหมาย และอดีตรองประธานสภาผู้แทนฯ

สำหรับรายชื่อกรรมาธิการในสัดส่วนพรรคเพื่อไทยทั้งหมด 17 คนนั้น เป็นที่น่าสังเกตว่ามีเพียงคนเดียวที่ไม่ได้เป็นคนของพรรคเพื่อไทย คือ "พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์" ซึ่งปัจจุบันมีตำแหน่งเป็น "อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ" เป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงยุติธรรม

พลิกดูประวัติ "ณรัชต์" พบว่าเขาเป็นอดีตรองอธิบดีดีเอสไอ ที่เคยรับผิดชอบคดีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองช่วงเมษายน-พฤษภาคม 2553 ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ไปเป็น "ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม" แล้วก้าวขึ้นเป็น "อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ"  เป็นหนึ่งในข้าราชการที่ถูกมองว่าได้รับการ "ปูนบำเหน็จ" จากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ภารกิจสำคัญอย่างหนึ่งของ "ณรัชต์" ในตอนนี้คือดูแลเรื่องการจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง

สำรวจฟากฝั่งของฝ่ายค้าน เกมชิงไหวชิงพริบระดับนี้ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" หัวหน้าพรรคย่อมต้องนำทัพ เข้าไปสัประยุทธ์ในคณะกรรมาธิการด้วยตนเอง นั่นย่อมเป็นเครื่องยืนยันเป็นอย่างดีว่าเกมในสภาเที่ยวนี้ พรรคประชาธิปัตย์ "เอาจริง" ดังที่ได้วางเดิมพันเอาไว้ก่อนหน้า

นอกจากอภิสิทธิ์ แล้ว พรรคประชาธิปัตย์ ยังหนีบเอาศัตรูหมายเลข 1 ของระบอบทักษิณอย่าง "แก้วสรร อติโพธิ" อดีตกรรมการในคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) นักกฎหมายที่ใกล้ชิดกับพรรคประชาธิปัตย์มาร่วมเดินหมากในคณะกรรมาธิการด้วย

ประชุมนัดแรก วันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคมนี้ จะต่อสู้กันดุเดือดเลือดพล่านขนาดไหน อย่ากะพริบตา !!!
.........................
 ที่มา: สำนักข่าวเนชั่น โดยสมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์
[Continue reading...]

"นิพิฏฐ์" อัดรัฐตั้งโจทย์ผิด เอาคนนอกคุย "ปรองดอง"

- 0 comments
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ชี้รัฐตั้งโจทย์ผิด เอาคนนอกคุยปรองดอง ชี้ "ยูเอ็น" เตือนนิรโทษฯ เกิดปัญหาแน่ แต่ไม่เชื่อ รับรอง ปชป.ถกนิรโทษฯ ชั้น กมธ. ไม่รุนแรง ว่ากันตามเนื้อหา...

วันที่ 10 ส.ค. 56 นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ระบุจะเชิญ นายโทนี แบลร์ อดีตนายกฯ อังกฤษ และนายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ มาชี้แนะแนวทางปฏิรูปประเทศไทย ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ คิดเอาโลกมาล้อมคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ทั้งที่ความจริงเรื่องนี้เป็นข้อเสนอที่อยู่ในรายงานของสถาบันพระปกเกล้านานแล้ว ที่เสนอให้นำอดีตนายกรัฐมนตรี อดีตประธานรัฐสภามานั่งคุยกันเรื่องการปรองดอง แต่ข้อเสนอนี้ตกไปแล้วในชั้นพิจารณาว่าไม่สามารถบรรลุผลได้ แต่ประชาชนลืมไป

ดังนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงอาศัยจังหวะที่ประชาชนลืม ไปหยิบข้อเสนอเก่ามาเริ่มต้นทำใหม่ พอคนเห็นชื่อ นายโทนี แบลร์ กับนายโคฟี อันนัน ก็ตื่นเต้นว่าเขาเอาจริง ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ได้ผล เพราะคนเหล่านี้ไม่ได้เป็นทั้งคู่กรณี หรือคู่ขัดแย้งกับเราเลย เมื่อจะคุยเรื่องปรองดอง ต้องนำคู่ขัดแย้งมาคุยกัน รัฐบาลตั้งโจทย์ผิด ไปเอาคนที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือคู่กรณีมา
นายนิพิฏฐ์ กล่าวต่อว่า อยากถามว่า เชิญบุคคลเหล่านี้มาเขาจะพูดอะไร เราก็รู้ ทำไมต้องนำสมองของฝรั่ง มาบอกว่าคนไทยต้องทำแบบนั้นแบบนี้ คนไทยต้องคุยกันเอง แล้วทำไมองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ซึ่งเป็นองค์กรใหญ่ระดับโลก แสดงความเห็นมา ในนามองค์กร ระบุว่าการนิรโทษกรรมของไทยครั้งนี้จะมีปัญหา รัฐบาลกลับไม่ฟัง เพราะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ถ้าเราไปฟังอดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ โดยที่ไม่ฟังสหประชาชาติ มันก็แปลกๆ

นอกจากนี้ นายนิพิฏฐ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตสมาชิกวุฒิสภา เข้ามาเป็นหนึ่งในกรรมาธิการโควตาพรรคประชาธิปัตย์ ว่า นายแก้วสรรมีความคิดตรงกับพรรคประชาธิปตย์ใน 3-4 ประเด็น ว่าไม่สมควรที่จะได้รับการนิรโทษกรรม และยังมีคดีการเมืองในช่วงเป็นคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) จึงมีข้อมูลมากกว่าคนอื่น
ฉะนั้น นายแก้วสรรจึงควรมีโอกาสได้ชี้แจงต่อที่ประชุมกรรมาธิการฯ และรับรองว่าการทำงานในชั้นกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนี้ไม่ดุเดือด ไม่เถียงรุนแรง เราว่ากันตามเนื้อหา ตนเป็นกรรมาธิการมา 20 ปี พรรคไม่เคยใช้กิริยาที่ไม่สุภาพ.

ที่มา: ไทยรัฐ
[Continue reading...]

ออกโรงต้านสภาปฏิรูปฯ "องอาจ" จวกแค่ปาหี่ เท่านั้น

- 0 comments
ท่องคาถาค้านนิรโทษ "ปชป." ไม่หวั่นรัฐเดินเกมหาแนวร่วม ซัดแค่ปาหี่ ไร้ความจริงใจ จวกจ้องถลุงงบเชิญ “โคฟี่ อันนัน-ประธานาธิบดีฟินแลนด์” ร่วมเวทีปฏิรูป พร้อมเมิน "บิีกตู่" ออกโรงหนุนนิรโทษ แจงประชาธิปัตย์ไม่ได้สร้างเงื่อนไข แบบที่ "พิชัย" วิจารณ์

เมื่อเวลา 10.30 น. วันนี้ ( 10 ส.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่  น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเชิญนายโทนี แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร นายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ และนายมาร์ติ อาห์ติชาร์ ประธานาธิบดีฟินแลนด์  เข้าร่วมเวทีปฏิรูปประเทศไทยว่า รัฐบาลพยายามสร้างความชอบธรรมในการปฏิรูปการเมือง แต่กระทำแบบไม่จริงใจ สร้างข่าวเป็นปาหี่ทางการเมือง เพราะรัฐบาลไม่จำเป็นต้องเสียงบประมาณในการเชิญนายโคฟี อันนัน และนายมาร์ติ อาห์ติชาร์ มาประเทศไทยก็ได้ เนื่องจากเมื่อปีที่ผ่านมา บุคคลทั้งสองเคยเดินทางมาประเทศไทย และได้ร่วมหารือกับผู้เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในประเทศไทยด้วย
นายองอาจ กล่าวว่า   รัฐบาลและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ สามารถไปเปิดฟังคำพูดเดิมของบุคคลทั้งสองว่าเคยพูดอะไรไปแล้วบ้างจะดีกว่าไปเสียงบประมาณเชิญบุคคลทั้งสองมา เพราะเชื่อว่าบุคคลทั้งสองมีจุดยืนเหมือนเดิม คงพูดเหมือนเดิม ไม่พูดจากลับกลอกเหมือนกับรัฐบาลนี้ ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์บอกชัดแล้วว่า พร้อมร่วมพูดคุยกับรัฐบาล แต่รัฐบาลต้องแสดงความจริงใจด้วยการยับยั้งการพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เสียก่อน จากนั้นนำมาหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน ซึ่งจะเป็นความปรองดองที่แท้จริง
ส่วนที่ นายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมเวทีปฏิรูปประเทศไทย และวิจารณ์พรรคประชาธิปัตย์ชอบสร้างเงื่อนไขนั้น นายองอาจ กล่าวว่า เป็นเรื่องส่วนตัวของนายพิชัย ในการเข้าร่วมเวทีดังกล่าว ขอยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นฝ่ายสร้างเงื่อนไขใด ๆ แต่รัฐบาลต่างหากที่สร้างเงื่อนไข มีพฤติกรรมอำพราง หมกเม็ดดันกฎหมายนิรโทษกรรม ส่วนการที่นายพิชัยออกมาพูดเช่นนี้ไม่ได้เป็นการดิสเครดิตพรรคประชิปัตย์ ถือเป็นเรื่องธรรมดาที่อาจมีความเห็นที่แตกต่างกัน มั่นใจว่านายพิชัยยังเป็นเลือดแท้ของพรรคเหมือนกับสมาชิกพรรคทุกคนที่อาจมีความเห็นต่างกันได้ จึงไม่จำเป็นต้องทำความเข้าใจอะไรกัน เพราะสิ่งที่นายพิชัยดำเนินการไม่ได้นำสู่ความไม่เข้าใจ แต่พรรคยืนยันที่จะคัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม อย่างแน่นอน
เมื่อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. เสนอให้รัฐบาลเดินหน้าร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม จนจบกระบวนการ นายองอาจ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์เห็นด้วยว่าทุกอย่างต้องเดินตามกระบวนการจึงได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมาธิการฯด้วย และไม่กลัวว่ารัฐบาลจะใช้เกมรวบรวมหลายฝ่ายเพื่อบีบพรรคประชาธิปัตย์ให้ไม่มีทางเดินหน้าคัดค้านการนิรโทษกรรม โดยขอยืนยันว่าพรรคจะคัดค้านบนพื้นฐานความจริง ความถูกต้อง ซึ่งอาจไม่ถูกใจใคร แต่ความถูกต้องจะต้องดำรงอยู่ โดยเชื่อว่าที่สุดแล้วคนส่วนมากจะเห็นในสิ่งเหล่านี้ได้.

ที่มา: เดลินิวส์
[Continue reading...]

สภาปฏิรูปการเมือง แก้ปัญหาได้จริงหรือ ? ถ้าประชาธิปัตย์ ไม่เล่นด้วย

- 0 comments
ขอบอกก่อนว่า โดยส่วนตัวสนับสนุน การปรองดอง เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์

สภาปฏิรูปการเมือง ก็เพื่อให้ทุกฝ่ายมาคุยกันและหาทางออกให้กับบ้านเมือง

แต่การกระทำใด ๆ ต้องร่วมพร้อมใจกันทั้งสองฝ่าย จึงจะนำสู่ความสำเร็จ

ด้วยสถานะการณ์ในปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าขั้วของความขัดแย้ง คือ ประชาธิปัตย์ (รวมถึง เสื้อเหลืองอำมาตย์) และเพื่อไทย (นายกทักษิณ คนเสื้อแดง)

ขณะที่มีการเรียกร้องให้มีการพูดคุยกัน พรรคประชาธิปัตย์ ก็ประกาศตนอย่างชัดเจน ทั้งคำพูดและการกระทำ

ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ ตลอดระยะเวลา 2 วันของการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษ ฉบับวรชัยเหมะ สส.พรรคประชาธิปัตย์ มีท่าที เป็นปฏิปักษ์ กับฝ่าย พรรคเพื่อไทย อย่างชัดเจน ด้วยการตะโกนใส่ในลักษณะมีอารมณ์โกรธและไม่พอใจ แบบไม่เผาผีกันทีเดียว

ทางฟากฝั่งพรรคเพื่อไทยไม่มีปัญหาอยู่แล้วในการที่จะพูดคุย ไม่เช่นนั้น ท่านนายกคงไม่หยิบประเด็นนี้มาเสนอต่อสังคมแน่นอน

จะแก้ปัญหานี้ ต้องถาม พรรคประชาธิปัตย์ ว่าเอาด้วยหรือไม่ แต่การที่เข้ามาร่วม แล้วมีข้อเสนอให้อีกข้าง ถอยแบบสุดซอยก็ไม่เหมาะนัก

การอยู่ร่วมกัน ต้องหาจุดร่วม ที่ ได้กันทั้ง 2 ฝ่าย

ต่อให้มีใครจากต่างประเทศ เช่น นายโทนี แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร นายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ เจ้าของรางวัลโนเบล  สาขาสันติภาพ ตอบรับว่าจะมาร่วมวงสนทนาด้วยก็ไม่เป็นผล

ถ้าประชาธิปัตย์ไม่เอาด้วย

ยังยืนกระต่ายขาเดียวเช่นนี้

คนที่บอกว่า ให้หันหน้ามาพูดจากัน ต้อง"บอกพรรคประชาธิปัตย์" ก่อน

เขาทำตัวเป็นผู้ยิ่งใหญ่ "คับบ้านคับเมือง" ใครไม่เห็นด้วยกับพรรคนี้ ผิดหมด เลวไปเสียหมด

ประชาธิปัตย์ไม่เอาด้วยพรรคเดียวทุกอย่างก็จบ

15 ล้านเสียงที่เลือกพรรคเพื่อไทยเข้ามาก็ไร้ความหมาย
[Continue reading...]
 
Copyright © . Yak Ratchaprasong - Posts · Comments
Theme Template by BTDesigner · Powered by Blogger