Monday, July 29, 2013

"กรมวิชาการเกษตร" ติง "มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค" ให้ข่าวมั่ว "ข้าวถุงปนเปื้อนสาร" ไม่รับผิดชอบ

กรณีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงผลการตรวจสอบพบข้าวสารยี่ห้อโค-โค่ มีสารรมควันข้าวชนิดเมทิลโบรไมด์ ปนเปื้อนสูงถึง 67.4 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เกินมาตรฐานที่สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (โคเด็กซ์) อนุญาตให้ตกค้างได้ 50 มิลลิกรัมต่อข้าว 1 กิโลกรัม (พีพีเอ็ม) ขณะที่ข้าวยี่ห้ออื่นๆ อีก 34 ยี่ห้อ พบการปนเปื้อนสารรมควันแต่ไม่เกินมาตรฐาน จากนั้นได้ตรวจพบว่า มีโบรไมด์ไอออนตกค้างในข้าว โดยระบุว่า สารชนิดดังกล่าวเป็นสารเมทิลโบรไมด์ที่ซึมลึกไปถึงโมเลกุลข้าว ประกอบกับข้อความในเฟซบุ๊กที่มีเนื้อหาคล้ายกันถูกเผยแพร่ออกไปเป็นวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัยของข้าวไทย 

ขณะที่กรมวิชาการเกษตร ซึ่งดูแลรับผิดชอบโดยตรงในเรื่องการนำเข้าสารรมควันข้าว และมีห้องทดสอบสารตกค้างในข้าวที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ยอมรับ ยืนยันถึงความปลอดภัยของสารรมควันข้าว ทั้งเมทิลโบรไมด์และฟอสฟิน

แต่ดูเหมือนว่า ข้อมูลเท็จจริงดังกล่าวจะถูกกลบหมด!!  

"มติชน" ได้สัมภาษณ์นายดำรงค์ จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมาอีกครั้ง เพื่อกู้วิกฤตข้าวถุงที่เกิดขึ้น

- หลังจากเกิดข่าว กรมวิชาการเกษตรทำอะไรบ้าง

เมื่อทราบข่าวก็สั่งการให้เจ้าหน้าที่ออกเก็บตัวอย่างทันที แต่ที่ไม่ออกมาให้ข้อมูลเนื่องจากต้องทำการบ้าน เราต้องเก็บข้อมูลให้ชัดเจน ทดสอบและพิสูจน์จนแน่ใจว่าจะตอบคำถามสังคมได้อย่างไม่มีใครกล้าเถียง

- อะไรคือโบรไมด์ไอออน เป็นสิ่งที่อยู่ในโมเลกุลข้าวใช่หรือไม่


โบรไมด์ไอออน เป็นสารที่มีอยู่ทั่วไปในธรรมชาติ ในน้ำในดิน พืช แร่ ส่วนที่ตรวจพบในข้าวนั้น เกิดจากผลรวมจากสารในธรรมชาติและปฏิกิริยาของเมทิลโบรไมด์ ยืนยันว่าเป็นสารคนละชนิดกับเมทิลโบรไมด์ที่รมข้าว ซึ่งเมื่อวิเคราะห์แล้ว โบรไมด์ไอออนมีพิษน้อยกว่าเมทิลโบรไมด์มาก และไม่อันตรายต่อมนุษย์ สารชนิดนี้ไม่อยู่นิ่งจะเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา


ในน้ำทะเลก็มีโบรไมด์ไอออน 60 มิลลิกรัม (มก.) ต่อลิตร ถ้าสารนี้อันตรายจริงชาวประมงคงเสียชีวิตไปหมดแล้วในเกลือก็มี ในยาสีฟันก็มีพืชผักต่างๆ ก็มีโบรไมด์ไอออน แต่เพื่อความแน่ใจ ผมเลยนำข้อมูลวิจัยมาเทียบให้ดู จากการเก็บตัวอย่างพืชผักที่มีขายอยู่ในตลาดสดพบว่า กะหล่ำปลีมีโบรไมด์ไอออนปนเปื้อน 1.6 มก.ต่อ 1 กิโลกรัม (กก.) ขึ้นฉ่ายปนเปื้อน 5.9 มก.ต่อ 1 กก. ซึ่งมากกว่าที่พบในข้าว

โคเด็กซ์มีเกณฑ์กำหนดว่า ห้ามมีโบรไมด์ไอออนปนเปื้อนในพืชผักต่างๆ เช่นกัน อาทิ ขึ้นฉ่าย 300 มก.ต่อ 1 กก. กะหล่ำปลี 100 มก. ต่อ 1 กก. ซึ่งจะกำหนดค่าไว้สูงกว่าเมทิลโบรไมด์ เพราะโบรไมด์ไอออนตรวจในพืชผักชนิดใดก็เจอ และไม่มีผลต่อมนุษย์ ขณะที่เมทิลโบรไมด์โคเด็กซ์กำหนดปริมาณปนเปื้อนไว้ต่ำ เพราะตรวจอย่างไรก็ไม่เจอ เนื่องจากสารดังกล่าวมีลักษณะเป็นแก๊ส เปิดถุงออกมาเมทิลโบรไมด์ก็ระเหยไปหมดแล้ว

- เกณฑ์ความปลอดภัยของโบรไมด์ไอออนในข้าวอยู่ที่เท่าใด

โคเด็กซ์กำหนดว่า ปริมาณสูงสุดที่สามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัยใน 1 วัน คือ 1 มิลลิกรัม (มก.) ต่อน้ำหนักตัวผู้บริโภค 1 กิโลกรัม (กก.) สารนี้จะถูกขับออกจากร่างกายประมาณครึ่งหนึ่งภายใน 14 วัน

"ยกตัวอย่างง่ายๆ ผมน้ำหนัก 90 กิโลกรัม สามารถรับโบรไมด์ไอออนได้ 90 มิลลิกรัมต่อวัน แต่ผมต้องกินข้าวสารถึง 90 กิโลกรัมต่อวัน ในความเป็นจริงไม่มีใครทำได้ เพราะถ้ากินขนาดนั้นคงท้องแตกตายก่อน แต่เพื่อความมั่นใจของผู้บริโภค ผมขอยืนยันด้วยตำแหน่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตรอีกครั้งว่า หากมนุษย์ทานข้าวที่มีโบรไมด์ไอออนจะไม่เสียชีวิตแน่นอน" 

- หลังเป็นข่าว กรมไปสุ่มตรวจข้าวยี่ห้อใดบ้าง ผลเป็นอย่างไร


ผมให้เจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างข้าวทุกยี่ห้อที่เป็นข่าวในคืนเดียวกับที่เว็บออนไลน์เสนอข่าวพบสารในข้าว เก็บทั้งข้าวยี่ห้อที่พบสารรมควันข้าวไม่มาก และข้าวยี่ห้อที่มีสารตกค้างเกินมาตรฐาน นำมาตรวจทั้งเมทิลโบรไมด์ โบรไมด์ไอออน แถมด้วยการตรวจสารพิษอีก 99 ชนิด ผลที่ออกมาคือ ไม่มียี่ห้อใดพบสารเมทิลโบรไมด์ แต่ทุกยี่ห้อพบโบรไมด์ไอออน 

สิ่งที่ต้องการให้สังคมทราบมากที่สุดคือ เจ้าหน้าที่ไปเก็บตัวอย่างข้าวที่มีข่าวว่า พบสารเมทิลโบรไมด์เกินมาตรฐานของโคเด็กซ์ แต่ผลการทดสอบของกรม กลับไม่พบเมทิลโบรไมด์แม้แต่ตัวอย่างเดียว พบแต่โบรไมด์ไอออน 77.24 มก.ต่อข้าวสาร 1 กก. และเมื่อนำมาซาวน้ำ 2 ครั้ง จากนั้นนำไปหุงเป็นปกติ แล้วเอามาตรวจอีกครั้ง พบว่าข้าวยี่ห้อดังกล่าวมีโบรไมด์ไอออนอยู่ 5.1 มก.ต่อ 1 กก. ถ้าคิดว่าซาวมากครั้งไป ผมก็ทดลองซาวน้ำเพียง 1 ครั้งพบสารโบรไมด์ไอออน 4.4 มก.ต่อ 1 กก. เท่านั้น ซึ่งกินอย่างไร ก็ไม่เกินมาตรฐานต่อวัน สำหรับข้าวยี่ห้ออื่นที่เป็นข่าวนั้น ก็ไม่พบเมทิลโบรไมด์หรือ โบรไมด์ไอออนที่เป็นอันตรายเลย

"ผมขอไม่พูดว่า ยี่ห้อใดบ้างที่นำมาพิสูจน์ เพราะเดี๋ยวคนจะเข้าใจผิดว่ากรมมีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้ประกอบการ แต่ที่ต้องออกมาพูด เพราะจะขอแก้ต่างให้เกษตรกรไทย ให้ชาวนา"

- นอกจากตรวจสอบจากข้าวแต่ละยี่ห้อ กรมมีการตรวจสอบด้วยการรมควันข้าวในปริมาณสูงสุดด้วย 

เพราะอยากรู้ว่าถ้ารมควันข้าวด้วยสารเมทิลโบรไมด์ในอัตราสูงที่สุดที่ 80 กรัมต่อข้าวสาร 1 ลูกบาศก์เมตร หรือสามเท่าจากปกติที่โรงรมทั่วไปจะใช้เพียง 32 กรัม ต่อข้าวสาร 1 ลูกบาศก์เมตร (ข้าวสารปริมาตร 1.5 ลูกบาศก์เมตร หนักประมาณ 1 ตัน) ระยะเวลาในการรม 24 ชั่วโมง โดยไม่ปล่อยให้สารระเหย รมเสร็จก็นำไปบรรจุถุงทันที จากปกติที่โรงรมทั่วไปต้องรอให้สารระเหย 1 สัปดาห์จึงนำไปบรรจุถุง

ผมแยกตัวอย่างเป็น 8 กรณีศึกษา (รายละเอียดตามตาราง) ทั้งรม 1 ชั่วโมง รม 24 ชั่วโมง รมเสร็จแล้วทดสอบทันที หรือรมเสร็จแล้วเอาไปซาวน้ำก่อน และเพื่อความแน่ใจ เรายังนำข้าวไปหุงแล้วเอามาทดสอบ มีบางตัวอย่างตรวจพบสารทั้งสองชนิด เราจึงทดสอบว่าถ้าเก็บข้าวไว้ 3 วัน สารต่างๆจะหมดไปหรือไม่

ซึ่งบางตัวอย่างก็พบสารเมทิลโบรไมด์ บางตัวอย่างแม้ทิ้งไว้ 3 วันก็ยังมีโบรไมด์ไอออน แต่ต้องไม่ลืมว่าตัวอย่างเหล่านี้ กรมใช้สารรมข้าวมากกว่าโรงรมถึง 3 เท่าตัว เมื่อเทียบสูตรปริมาณที่บริโภคแล้วปลอดภัย ข้าวเหล่านี้ก็ยังทานได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคเอง ก่อนหุงข้าวขอให้ซาวน้ำก่อนทุกครั้ง

- ทำไมผลการตรวจสอบของกรมวิชาการเกษตร กับหน่วยงานอิสระถึงออกมาต่างกัน 

ได้ร่วมพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องพร้อมทั้งวิเคราะห์ข้อมูลการเปรียบเทียบคาดว่า ผู้แถลงข่าวน่าจะมีเจตนาที่ดี แต่อาจอ่านข้อมูลชื่อสารผิด จากโบรไมด์ไอออน เป็นสารรมข้าวเมทิลโบรไมด์ที่มีผลต่อสุขภาพมนุษย์ ซึ่งกราฟที่ใช้ในการแถลงข่าวที่กำกับอยู่ด้านล่างก็เขียนชัดว่าเป็นโบรไมด์ไอออน

อย่างไรก็ตาม กรมทราบแล้วว่า บริษัท เอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้วิเคราะห์สารตกค้างให้กับผู้ให้ข่าว ซึ่งถ้านำผลวิจัยของกรมไปเทียบเคียงกับผลวิจัยของผู้ให้ข่าวจะพบว่า ตัวเลขโบรไมด์ไอออนที่ผู้ให้ข่าวนำเสนอว่าเป็นเมทิลโบรไมด์นั้น ยังต่ำกว่าสารโบรไมด์ไอออนที่กรมวิชาการเกษตรตรวจพบ
"ทั้งสองฝ่ายทราบแล้วว่าให้ข้อมูลผิด สิ่งที่อยากจะเรียกร้องต่อจากนี้คือ พวกคุณมีสิทธิให้ข้อมูล แต่เมื่อรู้ว่าให้ข้อมูลผิดพลาดก็ต้องออกมายอมรับผิด ความรับผิดชอบต่อสังคมต้องมี ถ้าใครให้ข้อมูลผิดก็ต้องออกมารับผิดชอบ"
- ที่ผ่านมามีการเปรียบเทียบมาตรฐานสารตกค้างในข้าวของประเทศจีนกับมาตรฐานของโคเด็กซ์ว่าแตกต่างกันมาก
รู้ไหมว่ามาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่การกำหนดกำแพงภาษี แต่ทำด้วยการกำหนดมาตรฐานสินค้าก็เป็นอีกทางหนึ่งที่ประเทศคู่ค้าสามารถทำได้ ซึ่งมาตรฐานของโคเด็กซ์เป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้การยอมรับ เป็นองค์กรกลางที่รับรองจากองค์การการค้าโลก มีผู้แทนจากทุกประเทศที่เป็นนักวิทยาศาสตร์เฉพาะสารพิษตกค้าง 

เวลากำหนดมาตรฐานอาหารสิ่งปนเปื้อนในอาหารแต่ละชนิด จะมีผู้แทนจากทั่วโลกร่วมให้มติว่า เกณฑ์ที่โคเด็กซ์ประกาศใช้นั้นปลอดภัยหรือไม่ ถ้าไม่ปลอดภัย นักวิชาการที่เตรียมข้อมูลไปร่วมประชุมก็คงต้องค้านแล้ว
ที่มา :ประชาชาติธุรกิจ

0 comments:

Post a Comment

 
Copyright © . Yak Ratchaprasong - Posts · Comments
Theme Template by BTDesigner · Powered by Blogger