Sunday, September 1, 2013

เปลี่ยน“ตอม่อเกษตร-นวมินทร์” จากทางด่วนเป็นรถไฟฟ้าสีน้ำตาล

- 0 comments

"เสาตอม่อ" ถนนเกษตร-นวมินทร์  ที่เตรียมจะก่อสร้างเป็นโครงการก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 ตอนเหนือช่วง N1 N2 N3 (บางใหญ่-เกษตร-มอเตอร์เวย์) ระยะทาง 42.9 กิโลเมตร  ล่าสุดมีความชัดเจนแล้วว่าจะปรับให้เป็นเส้นทางรถไฟฟ้า "สายสีน้ำตาล" แทน

สาเหตุที่ต้องมีการปรับแผน คือ เรื่องการเวนคืนที่ดินบริเวณแครายที่ต้องใช้งบประมาณสูงถึง 4 หมื่นล้านบาท บวกกับเสียงคัดค้านจากทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จึงสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาถึงความเหมาะสม

จนในที่สุดกระทรวงคมนาคมจึงมีการปรับรูปแบบก่อสร้างจากทางด่วนขั้นที่ 3 เป็นระบบรถไฟฟ้าโมโนเรล สายสีน้ำตาลแทน โดยมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาปรับแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนกรณีที่มีโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าเพิ่มเติม ซึ่งจะมีผลทำให้จำนวนผู้โดยสารของรถไฟฟ้าในแผนแม่บทเดิมเปลี่ยนแปลงไปบ้าง

ล่าสุด นางสาวรัชนี ตรีพิพัฒน์กุล ประธานกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี ระยะทาง 21.6 กม. มูลค่า 45,097 ล้านบาท ซึ่งเป็นแนวรถไฟฟ้าเส้นทางใหม่นอกเหนือจากแผนแม่บท เนื่องจากเส้นทางดังกล่าวยังไม่มีระบบขนส่งมวลชนเข้าไปรองรับการเดินทางของประชาชน

สำหรับแนวเส้นทางช่วงแคราย-ลำสาลี เริ่มต้นจาก แครายวิ่งบนถนนงามวงศ์วาน ข้ามไปถนนเกษตร-นวมินทร์ ไปจนถึงลำสาลี มีทั้งหมด 22 สถานี ลักษณะรถไฟฟ้าเป็นรถไฟฟ้าขนาดเบา หรือโมโนเรล โดยโครงสร้างอยู่บนเกาะกลางถนน ซึ่งจะใช้โครงสร้างตอม่อบนถนนเกษตร-นวมินทร์ ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยรถไฟสายนี้จะเป็นเส้นทางเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่แคราย รถไฟฟ้าสายสีม่วงที่ถนนรัตนาธิเบศร์ รถไฟฟ้าสายสีแดงที่เรือนจำบางเขน และรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

อย่างไรก็ดี รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลถือว่าเป็นตัวชี้วัดการทำงานของ รฟม.ที่เสนอโครงการใหม่ให้คณะกรรมการพิจารณา และเห็นว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์จึงอนุมัติในหลักการ ซึ่งหลังจากนี้จะเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาภายในต้นเดือน ก.ย.นี้ คาดว่าจะออกแบบก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2559 เปิดประกวดราคาในปี 2560 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี กำหนดที่จะเปิดให้บริการเดือน ก.ค.2564

ขณะที่ นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า ตามที่ บอร์ด รฟม. เห็นชอบให้ รฟม.ศึกษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ซึ่งมีแนวเส้นทางส่วนไปทับซ้อนกับแผนที่กระทรวงคมนาคมให้ สนข.ศึกษาโมโนเรล ช่วงจากแยกแครายถึงมีนบุรี ซึ่งจะมาทดแทนโครงการขั้นที่ 3 ของ กทพ. ที่ประชาชนคัดค้านอย่างหนักทำให้ต้องยกเลิกไป ทั้งนี้ รฟม.ได้ศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นมาแล้วเป็นอย่างดี เดินหน้าไปมากแล้ว โดยอยู่ระหว่างขั้นตอนการศึกษาที่จะต้องมีการรับฟังความเห็นของประชาชน รวมถึงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ขณะที่ สนข.ยังไม่มีงบประมาณที่จะใช้ศึกษา เมื่อเป็นเช่นนี้ ทางสนข.จะให้ รฟม.เดินหน้าโครงการนี้ต่อไป โดยสนข.จะเป็นผู้กำกับดูแล

"แนวเส้นทางของ สนข.ที่เคยศึกษาไว้จะสิ้นสุดที่มีนบุรี แต่ รฟม.ศึกษาไปที่แยกลำสาลี ซึ่งไม่เป็นปัญหา เพราะที่แยกลำสาลีมีแนวโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่มีปลายทางอยู่ที่มีนบุรี ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนเดินทางเชื่อมต่อกันได้"

ว่ากันว่าเบื้องต้นประเมินว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลเมื่อเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย จะมีผู้มาใช้บริการ 2.4 แสนเที่ยวต่อวัน หากเก็บในอัตราปกติ จะมีผู้ใช้ประมาณ 2.07 แสนเที่ยวต่อวันซึ่ง รฟม.ยังมีแนวคิดที่จะศึกษาโครงการรถไฟฟ้าสายใหม่เพิ่มเติมอีก เพื่อแก้ปัญหาการจราจรบริเวณสำโรงด้วย

ที่มา : Sanook money
[Continue reading...]

"เสื้อแดง" เมืองตรัง ฐานที่มั่นของ "ชวน หลีกภัย"

- 0 comments

ปรากฏการณ์ความเคลื่อนไหวของ "กลุ่มคนเสื้อแดง" ในพื้นที่ จ.ตรัง ซึ่งเสมือนเมืองหลวงของพรรคประชาธิปัตย์ เริ่มเคลื่อนไหวในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เพียงแต่ในช่วงก่อตัวยังไม่มีรูปแบบที่ชัดเจนเด่นชัด ประกอบกับมีผู้เข้าร่วมจำนวนเพียงเล็กน้อย เนื่องจากช่วงนั้นพรรคประชาธิปัตย์ อยู่ในฐานะผู้นำรัฐบาล

กระทั่งเกิดการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และรัฐบาล "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ตัดสินใจขอคืนพื้นที่บริเวณราชประสงค์ จากกลุ่มผู้ชุมนุมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 "คนเสื้อแดงเมืองตรัง" จึงเคลื่อนไหวถี่ขึ้น และมีจำนวนมากขึ้น

ภาพของ "กลุ่มคนเสื้อแดง" ใน จ.ตรัง เห็นเด่นชัดผิดหูผิดตา หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2554 พรรคเพื่อไทยได้ครองเสียงข้างมากในสภา ถึงแม้ ส.ส.ทั้ง 4 เขต ใน จ.ตรัง จะสอบตก ไม่ประสบความสำเร็จ แถมยังได้คะแนนแค่หยิบมือ รวมทั้งแกนนำบางคนอาจจะไม่ได้ตำแหน่งตอบแทน แต่การผนึกกำลังของคนกลุ่มนี้ยังคงแนบแน่น และเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยมากยิ่งขึ้น เมื่อ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

จากนั้น "กลุ่มคนเสื้อแดงเมืองตรัง" จึงรวบรวมคนจากอำเภอต่างๆ กว่า 200 คน รวมตัวกันทำบุญเลี้ยงพระเนื่องในวันคล้ายวันเกิดอดีตนายกฯ "ทักษิณ ชินวัตร" ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย สาขาตรัง ตั้งอยู่เลขที่ 180/6 ริมถนนตรัง-พัทลุง ในเขตเทศบาลนครตรัง ภายใต้การนำของ "วิราว์ วัฒนกิจ" เลขาธิการสมัชชาประชาธิปไตยภาคใต้

โดยจัดคู่ขนานกับกลุ่มคนเสื้อแดงอีกกว่า 100 คน ซึ่งทำบุญเลี้ยงพระ เนื่องในวันคล้ายวันเกิด "ทักษิณ" ยังอีกจุดหนึ่ง ณ ศูนย์ประสานงานพรรคเพื่อไทย สาขาตรัง ภายในโรงแรมโรสอินน์ เลขที่ 20/116 ถนนท่ากลาง ในเขตเทศบาลนครตรัง ภายใต้การนำของ นายรัตน์ ภู่กลาง" แกนนำ นปช.จังหวัดตรัง

ต่อด้วยการชูป้ายแสดงความยินดีที่ "ยิ่งลักษณ์" ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี หลายจุดในเมืองตรัง โดยเฉพาะที่บริเวณริมถนนพาดรถไฟสายตรัง-สิเกา ซึ่งเป็นเส้นทางสู่ที่ตั้งของศูนย์ประสานงานพรรคเพื่อไทย สาขาตรัง อันเป็นจุดที่มีทั้งผู้คนและรถราผ่านไปผ่านมาจำนวนมาก สร้างความแปลกใจให้แก่ชาวเมืองตรังเป็นอย่างยิ่ง เพราะส่วนใหญ่นิยมพรรคประชาธิปัตย์

นอกจากนี้ พวกเขายังเปิดสถานีวิทยุชุมชน "Rose Radio" หรือ คลื่นกุหลาบแดง คลื่นแห่งประชาธิปไตย เอฟเอ็ม 97.00 เมกะเฮิรตซ์ ภายในศูนย์ประสานงานพรรคเพื่อไทย สาขาตรัง ท่ามกลางการจับตาของหน่วยข่าวความมั่นคง เพราะหวั่นเกรงเรื่องการหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ยุยงปลุกปั่นจนให้เกิดกระแสความแตกแยกในสังคม เนื่องจากช่วงนั้นมีข่าวจับและปิดสถานีวิทยุชุมชนจำนวนมากทั่วประเทศ

"รัตน์" เล่าว่า การเปิดสถานีวิทยุชุมชน "Rose Radio" เพื่อส่งเสริมและให้ความรู้แก่ชุมชนเรื่องของการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ ตลอดทั้งเรื่องเศรษฐกิจชุมชน พร้อมยืนยันว่า สถานีวิทยุชุมชนของพวกเขายึดถือประโยชน์ของชุมชนเป็นหลัก และยินดีที่จะให้หน่วยงานภาครัฐตรวจสอบอย่างเปิดเผย

นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา "กลุ่มคนเสื้อแดง" ใน จ.ตรัง ได้จัดกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการรวมตัวทำบุญเลี้ยงพระ เนื่องในวันคล้ายวันเกิด "ทักษิณ" ทำเป็นประจำในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พร้อมเคลื่อนไหวผ่านป้ายภาพและข้อความ ซึ่งติดตั้งไว้ที่บริเวณริมถนนพาดรถไฟ สายตรัง-สิเกา บริเวณปากทางเข้าศูนย์ประสานงานพรรคเพื่อไทย สาขาตรัง ที่มองเห็นกันคุ้นตาในเวลานี้

ขณะเดียวกัน แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงจากส่วนกลาง ได้แก่ นพ.ประสงค์ บูรณ์พงศ์ ที่ปรึกษาสมาพันธ์หมู่บ้านเสื้อแดงเพื่อประชาธิปไตย ร.ต.ต.กมลศิลป์ สิงหะสุริยะ ประธานสมาพันธ์หมู่บ้านเสื้อแดงเพื่อประชาธิปไตย รวมทั้ง อรรถพล ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา, สุริยา ชินพันธุ์ และ อรรถชัย อนันตเมฆ ยังเดินทางมารวมตัวกันที่ "ร้านตะวันงาม" ซึ่งเป็นร้านอาหารพื้นบ้าน ตั้งอยู่ที่หมู่ 9 ต.นาท่ามใต้ อ.เมือง จ.ตรัง พร้อมเปิดเวทีสัมมนาในหัวข้อ "ประชาธิปไตย เสริมอาชีพ สร้างรายได้ ประชาชน หมู่บ้านเสื้อแดง 80 ปี ล่องใต้ สร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน" รวมทั้งจัดกิจกรรมการวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน และเปิดตัวโครงการจัดตั้งสหกรณ์ประชาธิปไตยกินได้แล้ว ยังมีการขึ้นป้าย "หมู่บ้านเสื้อแดง" ขึ้นอย่างเป็นทางการเป็นแห่งแรกของ จ.ตรัง โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนกว่า 200 คน

นพ.ประสงค์ ประเมินว่า เนื่องจาก "คนตรัง" และ "ชวน หลีกภัย" ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ที่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จึงอยากให้การเปิด "หมู่บ้านเสื้อแดง" ในครั้งนี้ เป็นเสมือนกับการส่งเสริมประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น แม้ว่าจะได้รับการต่อต้านจากคนในพื้นที่ก็ตาม แต่พวกเราก็ไม่กลัว เพราะไม่ได้ทำอะไรที่ผิดกฎหมายบ้านเมือง

"พวกเราทำถูกต้องตามกฎหมายรัฐธรรมนูญทุกประการ ประกอบกับการเปิดหมู่บ้านเสื้อแดง ก็เป็นการเมืองภาคประชาชน ที่สนับสนุนการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย และไม่สนับสนุนการเมืองที่เผด็จการ เชื่อว่าคนตรังคงจะไม่เผาและถอดทำลายป้าย หรือหากมีเหตุการณ์เช่นนี้จริง กลุ่มคนเสื้อแดงก็ไม่ได้กังวล และพร้อมที่จะติดตั้งป้ายขึ้นมาใหม่" นพ.ประสงค์ยืนยัน

หัวเรือใหญ่กลุ่มคนเสื้อแดงเมืองตรัง ย้ำว่า ทุกอย่างก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะการขึ้นป้าย หรือการแสดงความเคลื่อนไหวในโอกาสต่างๆ ของกลุ่มคนเสื้อแดง อาจจะดูขัดหูขัดหาสำหรับคนที่ศรัทธาพรรคประชาธิปัตย์ แต่กลับไม่เคยมีเหตุรุนแรงจนนำไปสู่การเผชิญหน้าของทั้งสองฝ่าย ถือเป็นจุดดีของชาวตรังยุคใหม่ ที่เปิดใจกว้างรับฟังความคิดเห็นของอีกฝ่าย แม้จะเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ ที่มีกำลังไม่มากไม่มายก็ตาม

โดยเฉพาะแกนนำหลักอย่าง "รัตน์" ถือเป็นผู้ที่คร่ำหวอดทั้งภาคการเมือง และภาคธุรกิจ ในระดับหนึ่ง เคยเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง (ส.อบจ.ตรัง) 1 สมัย พร้อมทั้งทำธุรกิจต่างๆ อีกมากมาย ทั้งอสังหาริมทรัพย์ สวนปาล์มน้ำมัน หรือล่าสุด คือ โรงแรม พร้อมกับได้ดึง "สมาน ลิประพันธ์" หรือ "บังหมาน" อดีต ส.อบจ. เขตกันตัง และรองประธานคณะกรรมการมุสลิมประจำจังหวัดตรัง มาร่วมช่วยงานด้วย

ฉะนั้น เกมความเคลื่อนไหวของ "กลุ่มคนเสื้อแดง" ใน จ.ตรัง จึงเป็นไปอย่างมีแบบแผนเชิงรุก ในจังหวะที่ต้องรุก และเงียบเฉยในจังหวะที่ต้องรับ ภายใต้การสนับสนุนจากกลุ่มสมาชิก ส่วนใหญ่จะเป็นนักธุรกิจในตัวเมือง ผนึกกำลังกับเอ็นจีโอบางกลุ่ม แต่พวกเขาฝันไกลถึงการเบียดแทรกเจ้าของพื้นที่ในศึกชิงเก้าอี้ ส.ส. จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ครอบครองมายาวนาน

ก้าวย่างของ "กลุ่มคนเสื้อแดงเมืองตรัง" จะสำเร็จตามเป้าหรือไม่ หรือผุดขึ้นเป็นเพียงสีสันทางการเมือง คำถามเหล่านี้ยังเป็นมหากาพย์ที่ต้องตามต่ออีกหลายภาค
.................

ที่มา : คนเสื้อแดง ในฐานที่มั่นของ ชวน หลีกภัย : เมธี เมือง คมชัดลึก

[Continue reading...]

การเมือง กันยา – ตุลา ร้อนแรงจริงหรือ ?

- 0 comments

การเมือง เดือนกันยายน โดยสุชาติ ศรีสุวรรณ มติชน

มีการประเมินกันว่า ในช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคมนี้ ประเทศชาติจะวุ่นวาย เพราะการเมืองจะเล่นกันรุนแรงถึงขั้นแตกหัก

บางคนคิดจากคำทำนายทายทักของหมอดู เป็นเรื่องของโหราศาสตร์การอ่านดวงเมือง การอ่านดวงดาว

บางคนประเมินจากประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่มักจะเข้าสู่ความยุ่งยากในช่วงเดือนกันยาฯ-ตุลาฯ หลายเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นในช่วงเดือนนี้

บางคนประเมินจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่เกมต่างๆ เริ่มเขม็งเกรียว เข้าถึงจุดแตกหักมากขึ้น

ไม่ว่าจะประเมินด้วยมิติไหน ล้วนแล้วออกมาในทางที่เห็นว่าการเมืองจะวุ่นวาย รุนแรงทั้งนั้น

ถ้าลงไปในรายละเอียดในส่วนของสถานการณ์ปัจจุบันก็คือ เมื่อทำงานมาได้ระยะหนึ่ง ตามประสาของฝ่ายรัฐบาลที่จะต้องมีช่องโหว่ จุดอ่อน ความผิดพลาดให้ฝ่ายค้านและฝ่ายต่อต้านหยิบขึ้นมาโจมตี ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องเตรียมทำคือ สร้างความพร้อมในการเลือกตั้งครั้งใหม่

หมายถึงการสร้างกลไกทางการเมืองให้สนับสนุน สร้างผลงานให้ประทับใจประชาชน

สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำในขณะนี้คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันกลับไปสมัครรับเลือกตั้งใหม่ได้เมื่อหมดวาระ ซึ่งฝ่ายค้านมองว่าเป็นเกมของรัฐบาลที่จะทำหาการสนับสนุนจากฐานเสียงของวุฒิสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง

และล้มเลิกสมาชิกวุฒิสมาชิกที่มาจากการสรรหาเสีย เพื่อตัดกำลังของฝ่ายต่อต้าน

เป็นการสร้างฐานสนับสนุนในรัฐสภา

ขณะเดียวกันรัฐบาลก็เดินหน้าเต็มที่ในการที่จะผลักดันโครงการเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เพื่อสร้างผลงานให้ประชาชนได้เห็น เป็นการสร้างความเจริญกับหัวเมืองต่างจังหวัดชนิดม้วนเดียวเห็นผลในพริบตา

จึงมองกันว่า หากฝ่ายค้านปล่อยให้รัฐบาลบรรลุในเรื่องราวเหล่านี้ ความเสียเปรียบจะเกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งหน้า จำเป็นต้องหาทางสกัดให้อยู่

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อฝ่ายค้านเห็นว่ารัฐบาลเล่มเกมรุกเพื่อเตรียมตัวเลือกตั้ง

ฝ่ายค้านจำเป็นต้องรุกตอบ โดยเฉพาะการรักษาฐานเสียงเดิมของตัวเองไว้

จึงไม่เพียงต่อต้านอย่างเต็มที่ไม่ให้รัฐบาลสร้างผลงานขึ้นมาง่ายๆเท่านั้น แต่ยังจะสร้างผลงานของตัวเองให้ฐานเสียงได้เห็นว่าพยายามต่อสู้ให้เต็มที่

การมี  "ม็อบสวนยาง" แน่นอนเริ่มจากราคายางที่ตกต่ำ และเกษตรกรไม่พอใจ

สำหรับสวนยาง  ซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ที่ภาคใต้

พรรคประชาธิปัตย์จึงยืนอยู่ข้างม็อบเต็มที่ เพื่อให้เกิดความรู้สึกว่าดูแลความเดือดร้อนของฐานเสียงตัวเอง

การที่ม็อบประกาศปิดประเทศวันที่ 3 กันยายน จึงเกิดขึ้น

นี่คือสถานการณ์ที่นำสู่ความรุนแรง

สอดคล้องกับคำทำนายของโหราจารย์ และประวัติศาสตร์ความรุนแรงในประเทศ

มีหลายคนเชื่ออย่างนั้น และพยายามทำให้ความเชื่อนั้นเป็นจริง

ซึ่งในที่สุดแล้วน่าเสียดายตรงที่ คนเหล่านั้นทั้งที่เป็นนักการเมือง ต้องรับผิดชอบต่อความสงบสุขของประชาชน ความรุ่งเรืองของประเทศ กลับกลายเป็นผู้ที่เห็นแก่โอกาส เห็นแก่ประโยชน์ที่ตัวเองจะสูญเสีย หรือได้รับ มากกว่าที่จะคำนึงถึงชะตากรรมของประเทศชาติ ความเดือดร้อนของประชาชน อันเกิดจากความคิดคับแคบแค่อยากจะช่วงชิงอำนาจทางการเมืองเท่านั้น

ประเทศที่มีแต่นักการเมืองไร้จิตสำนึกเพื่อส่วนรวมแบบนี้ ประชาชนจะมีแต่ความเดือดร้อน
[Continue reading...]

ศึกทวงคืนเก้าอี้ นายก อบจ.สุราษฏร์ธานี

- 0 comments
การเลือกตั้งนายก อบจ.สุราษฏร์ธานี จะมีในวันที่ 15 กันยายนที่จะถึงนี้ โดยมีผู้สมัคร 4 รายด้วยกัน

แต่ตัวเต็งน่าจะเป็น นายมนตรี เพชรขุ้ม อดีตนายก อบจ.ฯ หมายเลข 2 

กับนายทนงศักดิ์ ทวีทอง อดีตนายกเทศมนตรี เมืองท่าข้าม อ.พุนพิน จ.สุราษฏร์ธานี หมายเลข 3 โดยใส่เสื้อพรรคประชาธิปัตย์

คราวนี้ประชาธิปัตย์จัดหนัก "สุเทพ เทือกสุบรรณ" กระโดดลงมาเล่นเอง ทำนอง "แพ้ไม่ได้" เพราะคราวก่อนเคยพ่ายแพ้ในบ้านให้ "มนตรี เพชรขุ้ม" เสียหน้ามาแล้ว 

หลังจาก "ดำรงค์ เทือกสุบรรณ" และ "ธานี เทือกสุบรรณ" ส.ส.สุราษฎร์ธานีทั้งสองคน ที่มีข่าวว่าจะลาออกมาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายก อบจ.สุราษฎร์ธานี แต่ก็ถอนตัวทั้งสองคน เนื่องจากเกรงข้อครหา "ลาออกจาก ส.ส.ไปเล่นการเมืองท้องถิ่น" ที่สำคัญทั้งสองเป็น ส.ส.เขต ถ้าลาออกมาลงสมัครนายก อบจ.ก็ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ ต้องสูญเสียงบประมาณอีก 

ครั้งนี้ ถือว่าทั้ง 2 ฝ่ายแพ้ไม่ได้

นายมนตรี เพชรขุ้ม อาศัยผลงานที่ผ่านมาเพื่อให้ประชาชนพิจารณา

ขณะที่ นายทนงศักดิ์ ทวีทอง อาศัยดีกรีของพรรคประชาธิปัตย์

ก็อยู่ที่ว่าประชาชนจะเลือกใคร 

จะให้ประชาธิปัตย์กินรวบทั้งจังหวัด คือทั้งการเมืองระดับชาติ และระดับท้องถิ่น

หรือจะเลือกคนเก่าเข้ามา

ก็อยู่ที่ ประชาชนเมืองคนดีจะตัดสินใจ


[Continue reading...]

ส.ส.ปชป. มั่นใจ "รัฐ" สร้างสถานการณ์ยิงการ์ดม็อบยาง

- 0 comments
ส.ส.ปชป. คาดสร้างสถานการณ์ยิงการ์ดม็อบยางใต้ เตือนรัฐส่งสัญญาณผิด จะยิ่งทวีความรุนแรง

วันที่ 1 ก.ย. 56 นายอภิชาต การิกาญจน์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวกรณีมีคนร้ายลอบยิงการ์ดของผู้ชุมนุมชาวสวนยาง ที่จ. นครศรีธรรมราช เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาว่า คาดว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ โดยชาวบ้านแจ้งว่าคนร้ายยิง 4 นัดเข้าเป้าทุกนัด คือการเล็งที่ศรีษะ ลำคอและหน้าอก น่าจะเป็นการใช้ปืนติดลำกล้องลอบยิงจากระยะไกลเพราะด้านข้างเป็นป่าละเมาะมืด คนลงมือต้องคอยจังหวะ เบื้องต้นสันนิษฐานไว้ 2 ประเด็นคือ ความขัดแย้งส่วนตัว และการสวมรอยสร้างสถานการณ์โดยเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เรื่องส่วนตัวตัดทิ้งไปได้เพราะคนในพื้นที่เวลานี้สามัคคีร่วมใจกันเรียกร้องขอให้รัฐบาลแก้ไขราคายางตกต่ำ ไม่มีเรื่องทะเลาะกันแน่นอน  เหตุการณ์นี้จะยิ่งทำให้ชาวบ้านแรงขึ้นทั้งคนในพื้นที่และแนวร่วมชาวสวนยางภาคใต้

นายอภิชาต กล่าวต่อว่า  ตนกำลังประสานกับส.ส.นครศรีธรรมราชในการให้ความช่วยเหลือจัดงานศพ และเรื่องคดีความ เพราะเห็นชัดแล้วว่าชาวบ้านถูกกระทำ และยังมีการสร้างข่าวว่า ชาวบ้านทะเลาะขัดแย้งและยิงกันเอง ซึ่งไม่เป็นข้อเท็จจริง ทั้งที่ก่อนหน้านี้คนในรัฐบาลสร้างข่าวว่าเป็นม็อบจากคนนอกพื้นที่ แต่ข้อเท็จจริงการ์ดที่ถูกยิงเป็นคนในพื้นที่ทั้งสิ้น จึงขอให้ยุติการสร้างข่าวเท็จ ข่าวลวงและหยุดการใช้วิธีการข่มขู่ ประทุษร้ายต่อชีวิตชาวบ้านเช่นนี้ ถือเป็นการส่งสัญญาณที่ผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐ

วันนี้ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นคนของรัฐที่ทำเพราะมีการสลายการชุมนุม ใช้เครื่องช็อตไฟฟ้าช็อตชาวบ้านคนบาดเจ็บสาหัสไปแล้วไม่มีสื่อเสนอข่าว วันนี้มีการยิงชาวบ้านอีก ตำรวจเองก็ไม่กล้าเข้ามาพิสูจน์หลักฐานในพื้นที่ ขอให้เข้าใจว่าโดยพื้นที่อ.ชะอวดเดิม 40 ปีก่อนเคยมีการต่อสู้กับอำนาจรัฐมาก่อนเมื่อชาวบ้านถูกข่มเหงรังแก วันนี้ยังใช้วิธีการเช่นนี้จะยิ่งสร้างปัญหาให้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น  ซึ่งตนกำลังประสานขอให้ตำรวจเข้าไปพิสูจน์หลักฐานในที่เกิดเหตุ.

ที่มา ; เดลินิวส์
[Continue reading...]
 
Copyright © . Yak Ratchaprasong - Posts · Comments
Theme Template by BTDesigner · Powered by Blogger