เรียกว่าเป็นบุคคลที่โด่งดังที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทยที่รับรองว่า ไม่มีใครไม่รู้จักเขา " พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร " อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 23 ของประเทศไทย ต้องบอกว่า พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร ถือเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญของการขับเคลื่อนทางการเมืองของประเทศไทย ณ ปัจจุบัน วันนี้กระปุกดอทคอมจึงขอประมวลประวัติของ พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร มาฝากกัน
ประวัติครอบครัวของ พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร
ทักษิณ ชินวัตร หรือ พันตำรวจโท ด็อกเตอร์ ทักษิณ ชินวัตร มีชื่อจีนว่า ชิวต๋าซิน เกิดเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 เป็นชาวอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันอายุ 60 ปี เป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 10 คน สมรสกับคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ในปี พ.ศ.2523 มีบุตร 3 คน คือ 1. พานทองแท้ ชินวัตร (โอ๊ค) 2. พินทองทา ชินวัตร (เอม) และ 3. แพรทองธาร ชินวัตร (อุ๊งอิ๊ง) ก่อนจะจดทะเบียนหย่ากับคุณหญิงพจมาน เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ.2551 ที่ฮ่องกง หลังจากอยู่ด้วยกันมานานกว่า 32 ปี พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร มีฉายาที่สื่อมวลชนเรียกว่า "แม้ว" โดยเป็นชื่อที่เพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 10 ตั้งให้
ประวัติการศึกษาของ พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร
พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร จบการศึกษาจากโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ และเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาที่โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 10 (ตท.10) ในปี พ.ศ. 2512 และโรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 26 ในปี พ.ศ. 2516 โดย พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร สอบได้เป็นที่ 1 ของรุ่น
จากนั้น พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร ได้รับทุน ก.พ. ได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ในสาขากระบวนการยุติธรรม (Criminal Justice) ที่มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเคนทักกี (Eastern Kentucky University) ก่อนที่ พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร จะสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2518 และได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกในสาขาเดียวกันที่มหาวิทยาลัยแซมฮิวสตันสเตต (Sam Houston State University) จนจบการศึกษาในปี พ.ศ. 2521
ประวัติการทำงานของ พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร ก่อนเข้าสู่การเมือง
หลังจบการศึกษาปริญญาเอก พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร ได้เริ่มทำงานเป็นหัวหน้าแผนก 6 กองวิจัยและวางแผน กองบัญชาการตำรวจนครบาล จากนั้นดำรงตำแหน่งเป็น รองผู้อำนวยการศูนย์ประมวลข่าวสาร กองบัญชาการตำรวจนครบาล และเป็นอาจารย์ประจำโรงเรียนนายร้อยตำรวจ
ต่อมาในปี พ.ศ. 2523 พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร ได้ทำธุรกิจควบคู่ไปกับงานตำรวจ ทั้งค้าขายผ้าไหม กิจการโรงภาพยนตร์ โดย พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร เคยเป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น ไทรโศก รักครั้งแรก โนรี ฯลฯ แต่ไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ ก่อนจะหันมาจับธุรกิจคอนโดมิเนียม แต่ก็เป็นหนี้สินกว่า 50 ล้านบาท จากนั้น พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร ก็ได้ลาออกจากราชการตำรวจ และแต่งงานกับคุณหญิงพจมาน
จากนั้นในปี พ.ศ. 2526 พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร ได้ก่อตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด ไอซีเอสไอ ก่อนจะเปลี่ยนชื่อมาเป็นบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ จำกัด ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจให้เช่าคอมพิวเตอร์แก่สำนักงานต่าง ๆ และได้ขยายกิจการไปสู่การให้บริหารวิทยุติดตามตัว โทรศัพท์เคลื่อนที่ ดาวเทียม และโทรคมนาคม จนสามารถชำระหนี้ได้ และประสบผลสำเร็จทางธุรกิจ
ประวัติทางการเมืองของ พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร
พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร ได้ลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการ และประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในปี พ.ศ.2537 โดยได้โอนหุ้นให้คุณหญิงพจมาน นายพานทองแท้ นางสาวพินทองทา นางสาวแพรทองธาร รวมทั้งคนรับใช้ และคนสนิทถือแทน จนเปิดประเด็นคดีซุกหุ้นตามมา
พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร เข้าสู่สนามการเมืองได้ไม่นาน ก็ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในปี พ.ศ.2538 สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย ก่อนที่ในปีต่อมาจะได้รับตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังธรรม ต่อจาก พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และได้เป็นรองนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา และเป็นรองนายกรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ
จากนั้นในปี พ.ศ. 2541 พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร ก็ได้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย และดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค และในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2544 พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร ก็นำพรรคไทยรักไทยกวาดที่นั่ง ส.ส.ทั่วประเทศ จนขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในที่สุด ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2544
ในขณะที่ พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงแรก ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิดว่า บัญชีทรัพย์สินที่แจ้งเป็นเท็จ และส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ก่อนจะมีมติพิพากษา 8 ต่อ 7 ให้ยกคำร้องดังกล่าว
ในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยแรก พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร มีผลงานเด่นหลายเรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลักษณะประชานิยม เช่น การพักชำระหนี้เกษตรกร, โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค , โครงการบ้านเอื้ออาทร ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีนโยบายปราบปรามผู้ค้ายาเสพติดอย่างเด็ดขาด จนกลายเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์กรณีฆ่าตัดตอนตามมา จนต่อมาก็มีข้อครหาว่า พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร ได้ใช้อำนาจสนับสนุน หรือเอื้อประโยชน์ให้เครือญาติ กลุ่มชินคอร์ป บริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) เป็นต้น
พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบวาระ 4 ปี และในการเลือกตั้งปี พ.ศ.2548 พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร ก็สามารถนำพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายกว่า 19 ล้านเสียง มี ส.ส.ถึง 376 ที่นั่ง จนกลายเป็นรัฐบาลชุดแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่มาจากพรรคการเมืองเดียว โดยสมัยที่ 2 นี้ พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร ได้สานต่อโครงการต่าง ๆ ทั้ง โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์, กองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ รวมทั้งพยายามดำเนินนโยบายหวยบนดิน เพราะต้องการปราบปรามเจ้ามือหวยใต้ดิน และยังคงดำเนินนโยบายปราบปรามผู้ค้ายาเสพติดอย่างต่อเนื่อง
ในระหว่างที่ พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีทั้งได้รับเสียงชื่นชมและเสียงโจมตีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน แทรกแซงสื่อ รวมทั้งหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จนเกิดม็อบเสื้อเหลืองออกมาขับไล่ ปราศรัยโจมตี ก่อนที่ พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร จะลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อเกิดรัฐประหารขึ้นในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ซึ่งทำให้ พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร ต้องลี้ภัยในต่างแดนโ ดยมีคดีความและข้อกล่าวหาติดตัวไปหลายคดี ก่อนจะลาออกจากหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และในคดียุบพรรคไทยรักไทย พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร ถูกพิพากษาตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี ร่วมกับสมาชิกพรรคไทยรักไทย รวม 111 คน
พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร ได้ใช้ชีวิตในประเทศอังกฤษ และได้ซื้อกิจการสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตี้ โดยถือหุ้น 75 เปอร์เซ็นต์ และใช้ชื่อภาษาอังกฤษ เพื่อให้แฟนบอลเรียกว่า แฟรงค์ ชินาตา ก่อนที่ พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร จะขายสโมสรให้กับ Abu Dhabi United Group ในราคา 141 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากมีข้อกำหนดว่า ผู้จะเป็นประธานสโมสรในพรีเมียร์ลีก ต้องเป็นผู้ที่ไม่ถูกตัดสินว่ากระทำความผิด
อย่างไรก็ตาม แม้ พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร จะลี้ภัยในต่างแดน แต่ก็ยังมีความวุ่นวายจากกลุ่มผู้สนับสนุนและกลุ่มต่อต้านอยู่เป็นระยะ ๆ ขณะที่คดีความข้อกล่าวหาต่าง ๆ ของ พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร ก็ถูกขุดคุ้ยขึ้นมาจากหลาย ๆ ฝ่าย แต่ระหว่างนั้น พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร ก็ได้โฟนอินเข้ามาเป็นระยะ ๆ ก่อนที่ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2551 พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร จะได้เดินทางกลับมาประเทศไทยเป็นครั้งแรก เพื่อฟังคำพิพากษาคดีทุจริตที่ดินรัชดา ก่อนจะเดินทางไปประเทศจีน เพื่อชมพิธีเปิดโอลิมปิกเกมส์ และไม่ได้เดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทยอีก จนศาลได้อ่านคำพิพากษาคดีทุจริตที่ดินรัชดา ให้ตัดสินจำคุกเป็นเวลา 2 ปี และออกหมายจับในความผิดฐานประพฤติมิชอบในการซื้อขายที่ดินย่านรัชดาภิเษกมูลค่า 772 ล้านบาท นอกจากนี้ พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร ยังถูกอายัดทรัพย์ในประเทศไทยประมาณ 76,000 ล้านบาท รวมทั้งถูกรัฐบาลสหราชอาณาจักร อายัดทรัพย์ฐานฟอกเงินอีกกว่า 140,000 ล้านบาท
จากนั้น พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร ก็ได้ใช้ชีวิตในต่างแดนมาโดยตลอด พร้อม ๆ กับการโฟนอิน วีดีโอลิงก์ มาให้กำลังใจ ปลุกระดมผู้สนับสนุน และกล่าวโจมตีรัฐบาล รวมทั้งกระบวนการยุติธรรมเป็นระยะ ๆ นอกจากนี้ยังมีข้อกล่าวหาว่า พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร หมิ่นพระบรมราชานุภาพ ด้วยการให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศออกมาด้วยอีกหลายครั้ง
และล่าสุดในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดอ่านคำพิพากษาคดียึดทรัพย์ 76,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นคดีใหญ่และเป็นที่จับตามองอย่างมากทั้งในและต่างประเทศ เพราะหลายฝ่ายมองว่า นี่อาจเป็นชนวนที่จะทำให้ความสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศ ยังคงดำเนินต่อไปโดยยังหาบทสรุปไม่ได้
ทักษิณ ชินวัตร
พ.ศ. 2548 - 2549 - ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2
พ.ศ. 2544- 2548 - ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก
พ.ศ. 2541 - 2543 - ก่อตั้งพรรคไทยรักไทยและดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคไทยรักไทย
พ.ศ. 2539 - 2540 - ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในสมัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ
พ.ศ. 2538 - 2539 - ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบงานด้านจราจร ในสมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา
- เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังธรรม
พ.ศ. 2537-2538 - ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในสมัยนายชวน หลีกภัย
พ.ศ. 2530-2537 - ลาออกจากราชการเพื่อประกอบธุรกิจส่วนตัว
- ประธานกรรมการ บริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ จำกัด
พ.ศ. 2516-2530 - รองผู้กำกับการนโยบายและแผนงาน/กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล
บทบาททางสังคม
- รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภามหาวิทยาลัย 6 แห่ง
- เป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิไทยคม และเป็นผู้ริเริ่มแนวความคิดที่จะนำดาวเทียมสื่อสาร "ไทยคม" มาใช้ประโยชน์ทางด้านการศึกษา
- ผ่านดาวเทียมเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กชนบท ผู้ยากไร้ที่ไม่สามารถเรียนต่อได้มีโอกาสเรียนต่อในท้องถิ่นของตนเอง ทั้งนี้โดยได้รับความร่วมมือจากกรมการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการเป็นกรรมการอำนวยการ สถาบันเอเชียการศึกษา ปี 2538
- เป็นกรรมการที่ปรึกษา BANGKOK CLUB
- เป็นกรรมการอำนวยการ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รางวัลเกียรติคุณ
ปี พ.ศ. 2539
- ได้รับรางวัล "Outstanding Criminal Justice Alumnus Awards จาก Criminal Justice Center,Sam Houston State University และได้รับรางวัล "Distinguished Alumni Award จากมหาวิทยาลัยเดียวกัน เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2539
ปี พ.ศ. 2538
- ได้รับคัดเลือกไปเป็น 1 ใน 3 คนไทยดีเด่นซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทย และฟิลิปปินส์ เข้ารับรางวัลจากสถานทูตฟิลิปปินส์ 2537
ปี พ.ศ. 2537
- ได้รับรางวัล "บุคคลดีเด่นผู้พัฒนาโทรคมนาคมเพื่อ สังคมของประเทศไทย ประจำปี 2536" จากสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย
- ได้รับยกย่องจากหนังสือพิมพ์ Singapore Business Times ให้ เป็น 1 ใน 12 นักธุรกิจผู้นำของเอเชีย
- ได้รับคัดเลือกจากนิตยสาร Financial World ที่มีชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกาให้เป็นหนึ่งใน Asian CEO of the Year
- ได้รับพระราชทานปริญญาวารสารศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ได้รับคัดเลือกให้เป็นคนไทยคนแรกและเป็นบุคคลที่ 3 ที่ได้รับทุน " Lee Kuan Yew Exchange Fellowship" จากประเทศสิงคโปร์
ปี พ.ศ. 2535
- ได้รับรางวัล "1992 Asean Business Man of the Year"จาก Asean Institute ประเทศอินโดนีเซีย
- ได้รับรางวัล "เกียรติยศจักรดาว" ด้านพัฒนาเศรษฐกิจจากคณะกรรมการมูลนิธิโรงเรียนเตรียมทหาร
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
- พ.ศ.2517 เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย (บ.ม.)
- พ.ศ.2519 จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย (จ.ม.)
- พ.ศ.2523 จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก (จ.ช.)
- พ.ศ.2528 ตริตาภรณ์มงกุฎไทย (ต.ม.)
- พ.ศ.2537 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)
- พ.ศ.2538 มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
- พ.ศ.2539 มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
- พ.ศ.2544 ปฐมดิเรกคุณาภรณ์ (ป.ภ.)
- พ.ศ.2545 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.)
ที่มา กระปุกดอทคอม
0 comments:
Post a Comment