Monday, August 12, 2013

ใครจะตก...รถไฟ แห่งความปรองดอง

ไม่ว่าการเปิดเวที "สภาปฏิรูปการเมือง" ไม่ว่าการเปิดเวที "ผนึกกำลังสู่อนาคต:เรียนรู้จากประสบการณ์ของกันและกัน"

ดำเนินไปในลักษณะเป็น "แพคเกจ"

สภาปฏิรูปการเมืองอาจมี นายบรรหาร ศิลปอาชา อาจมี นายพิชัย รัตตกุล อาจมี นายกระมล ทองธรรมชาติ อาจมี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อาจมี นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ และอาจมี นายอุกฤษ มงคลนาวิน

เป็นตัว "ชูโรง"

ขณะที่เวที "ผนึกกำลังสู่อนาคต" ปรากฏนาม นายโคฟี อันนัน ปรากฏนาม นายโทนี แบลร์ รวมถึง นายมาร์ติ อาห์ติชาร์

มาเป็นจุด "เรียกแขก"

ทั้งหมดอาจมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นผู้นำเสนอ เปิดประเด็น และส่วน 1 มี นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ขับเคลื่อนประสานกับ นายวราเทพ รัตนากร ส่วน 1 มี นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เป็นผู้ขับเคลื่อน

แต่เป้าหมายเดียวกัน คือปรองดอง

ข่าวเกี่ยวกับ "สภาปฏิรูปการเมือง" ปรากฏขึ้นในห้วงที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินทางเยือนหลายประเทศในแอฟริกา

คล้ายกับดำเนินไปในลักษณะ "วาบความคิด"

กระนั้น หากพิจารณาประสานกับโครงการ "ผนึกกำลังสู่อนาคต:เรียนรู้จากประสบการณ์ของกันและกัน" สะท้อนให้เห็นอย่างเด่นชัด

เด่นชัดว่ามิได้เป็นเรื่อง "บังเอิญ"

ตรงกันข้าม นี่ย่อมเป็นการต่อยอดมาจากผลงานการวิจัยของสถาบันพระปกเกล้า ผนวกเข้ากับการจัดเวทีเสวนาซึ่งสำนักนายกรัฐมนตรีทำร่วมกับกระทรวงมหาดไทยในขอบเขตทั่วประเทศตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา

จึงตกผลึกออกมาเป็น 2 โครงการใหญ่

โครงการ 1 เป็นเรื่องของการเรียนรู้ประสบการณ์และความจัดเจนจากต่างประเทศ โครงการ 1 เป็นเรื่องของการเรียนรู้ประสบการณ์ของภายในประเทศ

โคฟี อันนัน ย่อมมีประสบการณ์ในฐานะเลขาธิการสหประชาชาติ

โทนี แบลร์ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เป็นหัวหน้าพรรคแรงงาน ย่อมซึมซับกรณีการสร้างสันติสุขไม่ว่ากับไออาร์เอ ไม่ว่ากับสกอตแลนด์ ไม่ว่ากับเวลส์ ยิ่ง มาร์ติ อาห์ติชาร์ ประธานาธิบดีฟินแลนด์ ยิ่งอุดมสมบูรณ์

เหมาะสมยิ่งที่จะล้างหู น้อมรับฟัง

หากมองผ่านวาทกรรมของ นายพิชัย รัตตกุล หากมองผ่านวาทกรรมของ บรรหาร ศิลปอาชา ก็ย่อมเกิดความเข้าใจ

ท่านเหล่านี้เห็นด้วยกับ "สภาปฏิรูปการเมือง" จากฐานคิดใด

"ท่าทีของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ผมไม่ถือสา ไม่โกรธอะไร" เป็นความเห็นจาก นายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

"เมื่อเขามีอายุมากขึ้นจะรู้ว่าในฐานะคนไทยคนหนึ่งควรทำอะไร"

เป็นการคิดบนพื้นฐานของคนไทยคนหนึ่ง เป็นการคิดบนพื้นฐานของคนที่เคยเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง เคยเป็นรองนายกรัฐมนตรี เคยเป็นนายกรัฐมนตรี

เพราะคิดอย่างนี้แหละ นายบรรหาร ศิลปอาชา จึงเข้าร่วม

เพราะคิดอย่างนี้แหละ นายกระมล ทองธรรมชาติ จึงเข้าร่วม

เช่นเดียวกับความรู้สึกของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่ยอมรับว่า "ฝันที่จะให้เกิดความปรองดองมานานแล้ว"

หรือที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยืนยัน แม้ได้เพียง 1% ก็พอใจ

สะท้อนให้เห็นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มิได้ตั้งเป้าถึงระดับ 100% อาจเพราะประเมินว่าเพียงเริ่มต้นคิด เริ่มต้นลงมือกระทำ ก็น่าจะเป็นเรื่องดี

ดีกับประเทศ ดีกับบ้านเมือง

จากนี้จึงเห็นเด่นชัดมากยิ่งขึ้นว่า อะไรคือความต้องการร่วมในลักษณะแห่ง "สมารมณ์" ทางแนวคิด

1 คือการคิดให้พ้นจากประโยชน์ส่วนตน 1 คือการคิดให้พ้นจากประโยชน์ของกลุ่มของพรรค ของฝ่าย 1 คือการละวางหัวโขนอันเป็นอัตตาฝังแน่น

เพียง "วางดาบ" ก็ถึง "ฟากฝั่ง"

0 comments:

Post a Comment

 
Copyright © . Yak Ratchaprasong - Posts · Comments
Theme Template by BTDesigner · Powered by Blogger