Tuesday, July 30, 2013

ครบ 2 ปี กับคดี "แมวเก้าชีวิต พจมาน-บรรณพจน์ เลี่ยงภาษีโอนหุ้น "ชินคอร์ป" 738 ล้าน ว่าเป็นการกระทำความผิดที่ร้ายแรง

คดีอันโด่งดังนี้ ต้องย้อนกลับไป เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2554  ที่ห้องพิจารณา 704 ศาลอาญารัชดา เมื่อศาลได้ออกนั่งบัลลังก์ อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ อ.1149/2550 ซึ่งนับเป็นคดีประวัติศาสตร์อีกคดีของไทย เนื่องจากผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหา เคยมีฐานะเป็นถึง อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี  ซึ่งคดีดังกล่าว อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ อดีตประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ชินคอร์ป พี่บุญธรรม คุณหญิงพจมาน ชินวัตร (นามสกุลในขณะนั้น) อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี, คุณหญิงพจมาน ชินวัตร และนางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐาน ร่วมกันจงใจหลีกเลี่ยงการชำระภาษีอากรหุ้น บริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด จำนวน 546 ล้านบาท จากหุ้นจำนวน 4.5 ล้านหุ้น ซึ่งมีหุ้นมูลค่า 738 ล้านบาท

ซึ่งผลก็อย่างที่สาธารณชนทราบกันแล้ว ศาลอุทธรณ์ตัดสิน อ่านคำพิพากษา แก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์​ ในฐานะจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (2) ให้จำคุกเป็นเวลา 2 ปี โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี แต่เพื่อให้จำเลยที่ 1 หลาบจำ จึงเห็นควรให้ลงโทษปรับด้วย โดยปรับเป็นเงิน 1 แสนบาท ส่วน คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร (อดีตนามสกุลชินวัตร) ในฐานะจำเลยที่ 2 และนางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน ในฐานะจำเลยที่ 3 ศาลพิพากษาให้ยกฟ้อง

โดยคดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุก จำเลยที่ 1-2 ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (1) (2) และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 และ 91 คนละ 3 ปี และให้จำคุกจำเลยที่ 3 เป็นเวลา 2 ปี
แต่ใครจะทราบหรือไม่ว่า กว่าที่กลุ่มคนที่ตกเป็นผู้ต้องหา (โดยเฉพาะคุณหญิงพจมาน) กว่าจะหลุดจากโซ่ตรวน ดังกล่าวได้ ต้องใจหายใจคว่ำ ชนิดหายใจไม่ทั่วท้อง มาอย่างไรบ้าง เราลองมาย้อนดูพฤติการณ์แห่งคดีของจำเลยในคดีนี้กัน เรื่อง มีอยู่ว่า เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2540 คุณหญิงพจมาน ได้โอนหุ้นบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ฯ ที่ น.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี คนรับใช้ตระกูลชินวัตร ถือแทนคุณหญิงพจมาน ให้นายบรรณพจน์ จำนวน 4.5 ล้านหุ้น โดยทำทีว่า นายบรรณพจน์ซื้อหุ้นดังกล่าว จาก น.ส.ดวงตา ในราคาหุ้นละ 164 บาท มูลค่า 738 ล้านบาท และแสร้งว่า เป็นการซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งไม่ต้องเสียภาษี เพียงเสียค่าธรรมเนียมแก่นายหน้า (โบรกเกอร์) เท่านั้น

โดยคุณหญิงพจมาน เป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวไปเป็นเงินแค่ 7.38 ล้านบาท (ซึ่งหากนายบรรณพจน์ยอมเสียภาษีจากการได้รับหุ้นดังกล่าว จะต้องเสียเป็นจำนวนถึง 273 ล้านบาท) เมื่อมีการตรวจสอบพบว่า การซื้อขายหุ้นดังกล่าว ไม่ได้เกิดขึ้นจริง เพราะผู้ที่จ่ายเงินค่าหุ้น แทนที่จะเป็นนายบรรณพจน์ กลับเป็นคุณหญิงพจมาน ที่ทำทีสั่งจ่ายเช็คกว่า 700 ล้าน ให้ น.ส.ดวงตา แต่สุดท้าย ก็โอนเงินดังกล่าวกลับมาเข้าบัญชีตัวเอง (คุณหญิงพจมาน) ตามเดิม

พอเรื่องปรากฏเป็นข่าวขึ้นมา นายบรรณพจน์ก็อ้างว่า การโอนหุ้นนั้น เป็นการให้ในลักษณะอุปการะ ให้โดยเสน่หาตามขนบธรรมเนียมประเพณี ในโอกาสที่นายบรรณพจน์แต่งงาน และมีบุตร แต่ก็มีข้อสงสัยคำอ้างนั้น เพราะช่วงเวลา ที่ไม่สอดคล้องกับคำอ้าง คือ นายบรรณพจน์แต่งงานเมื่อวันที่ 12 ม.ค.2539 และมีบุตรเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2539 แต่คุณหญิงพจมานโอนหุ้นให้นายบรรณพจน์ เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2540 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากนายบรรณพจน์แต่งงานแล้วเกือบ 2 ปี และหลังจากนายบรรณพจน์มีบุตรแล้วประมาณ 1 ปี
ต่อมานายบรรณพจน์และคุณหญิงพจมานก็อ้างอีกว่า การโอนหุ้นดังกล่าว มีขึ้นในโอกาสที่นายบรรณพจน์มีบุตรอายุครบ 1 ปี โดย นายบรรณพจน์ กล่าวว่า ตนเป็นพี่ชายบุญธรรมของคุณหญิงพจมาน และช่วยเหลือกิจการของคุณหญิงพจมาน จนมีความเจริญก้าวหน้า กระทั่งปี 2538 คุณหญิงพจมาน สนับสนุนให้ตนมีครอบครัว และบอกว่า จะมอบของขวัญให้แก่บุตรของตน ซึ่งมีอายุครบ 1 ปี ในปลายปี 2540 ด้วยการมอบหุ้นให้ 4.5 ล้านหุ้น

ตนจึงเข้าใจโดยสุจริตว่า เป็นการให้โดยเสน่หาตามธรรมเนียมประเพณี และธรรมจรรยาของสังคมไทย ขณะที่ คุณหญิงพจมาน ก็บอกว่า นายบรรณพจน์ เป็นบุตรบุญธรรมของบิดาตน ได้เข้ามาช่วยบริหารจัดการธุรกิจของครอบครัวตน จนมีความมั่นคงและมีทรัพย์สินจำนวนมาก เมื่อตนเห็นว่า นายบรรณพจน์ ควรมีครอบครัว จึงสนับสนุนให้แต่งงานกับ น.ส.บุษบา วันสุนิล เมื่อต้นปี 2539 และให้ปลูกสร้างเรือนหอในที่ดินของครอบครัวตน (ดามาพงศ์)

นอกจากนี้ ยังตั้งใจจะมอบหุ้นให้ในวันแต่งงาน เพื่อให้พี่น้องมีฐานะทัดเทียมกัน อย่างไรก็ตาม คุณหญิงพจมาน อ้างว่า ตอนนั้นให้หุ้นไม่ทัน เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เตรียมเข้าทำงานการเมือง จึงต้องจัดการเรื่องบริหารงานให้เสร็จก่อน กระทั่งบุตรชายนายบรรณพจน์ ซึ่งเกิดวันที่ 4 ธ.ค.2539 จะมีอายุครบ 1 ปี และการจัดการด้านบริหารงานของตนเสร็จสิ้นพอดี จึงยกหุ้นให้นายบรรณพจน์ 4.5 ล้านหุ้นในวันที่ 7 พ.ย.2540 เพื่อเป็นของขวัญ

แต่ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) และอัยการ กลับเห็นว่า การกระทำของคุณหญิงพจมานและนายบรรณพจน์ ที่ให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จดังกล่าว เป็นเพียง “ข้ออ้าง” เพื่อให้เจ้าหน้าที่สรรพากรเชื่อว่า การโอนหุ้นดังกล่าวเป็นการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา หรือ การให้โดยเสน่หา เนื่องในโอกาสตามขนบธรรมเนียมประเพณี เพื่อจะได้รับการยกเว้นภาษี การกระทำของนายบรรณพจน์และคุณหญิงพจมาน จึงเป็นการกระทำเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีโดยแจ้งข้อความเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จหรือตอบคำถามด้วยข้อความอันเป็นเท็จ และมีลักษณะใช้อุบายหรือฉ้อโกง ถือว่า เข้าข่ายความผิดตามประมวลรัษฎากรมาตรา 37(1) และ (2) ประกอบมาตรา 83 และ 91 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เป็นเหตุให้รัฐเสียหายต้องขาดรายได้เงินภาษีอากร และเบี้ยปรับกว่า 546 ล้านบาท (2 เท่าของยอดเงินที่ต้องเสียภาษี คือ 273 ล้าน)

อย่างไรก็ตาม แม้ศาลอาญา จะไม่ได้พิพากษาลงโทษคุณหญิงพจมานและนายบรรณพจน์แบบเต็มอัตรา โดยพิพากษาจำคุกคนละ 3 ปี แต่ต้องถือว่า เป็นโทษที่หนัก เพราะไม่รอลงอาญา เนื่องจากเห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสาม (คุณหญิงพจมาน-นายบรรณพจน์-นางกาญจนาภา) เป็นการกระทำผิดที่ร้ายแรง


“จำเลยทั้งสามเป็นผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะกระทำผิดฐานให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีอากร จำเลยที่ 2 (คุณหญิงพจมาน) เป็นภริยาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับผู้บริหารประเทศ จำเลยทั้งสามจึงนอกจากมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตนเยี่ยงพลเมืองดีทั่วๆ ไปแล้ว ยังควรดำรงตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีสมฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมด้วยแต่จำเลยทั้งสามกลับร่วมกันกระทำการหลีกเลี่ยงภาษีอากร อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ไม่เป็นธรรมต่อสังคมและระบบภาษี ทั้งๆ ที่จำนวนภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 (บรรณพจน์) จะต้องชำระตามกฎหมาย และจำเลยที่ 2 จะเป็นผู้ชำระแทนในที่สุดนั้น เทียบไม่ได้กับจำนวนทรัพย์สินที่จำเลยที่ 2 และครอบครัวมีอยู่ในขณะนั้น การที่จำเลยที่ 1 จะชำระภาษีอากรไปตามกฎหมาย เช่น พลเมืองดีทุกคน จึงมิได้มีผลกระทบต่อฐานะของจำเลยที่ 2 แต่อย่างใด การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสามจึงร้ายแรง”



จากวันนั้นจนมาถึงวันนี้  โดยเฉพาะวันที่ศาลอาญาพิพากษาให้ยกฟ้องคุณหญิงพจมาน และกาญจนาภา เลขานุการส่วนตัว (24 ส.ค. 2554) และสั่งลงโทษ นายบรรณพจน์ จำคุกเป็นเวลา 2 ปี โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี และปรับเป็นเงิน 1 แสนบาท ขณะที่กาลเวลา ล่วงเลยมาจนถึงวันนี้ ก็ครบรอบ 2 ปีเต็มแล้ว

"หากมีโอกาสได้กลับไปถาม บุคคลทั้ง 3 เชื่อว่า ทั้งหมดคงจะให้สัมภาษณ์ ไปในทิศทางเดียวกันว่า จะไม่มีวันลืมเลือน ความรู้สึกในจิตใจในขณะนั้น ภายหลังทราบคำพิพากษาว่า ศาลตัดสินยกฟ้อง หรือ รอลงอาญา เป็นแน่ว่า รู้สึกมีความสุขกาย สุขใจ มากเพียงใด ความรู้สึกคงช่างแตกต่าง จากคำตัดสินก่อนหน้า ที่ศาลเห็นว่า ทั้งหมดมีความผิดจริง และให้จำคุกจำเลย เป็นเวลาคนละ 3 ปี และ 2 ปี แบบไม่รอลงอาญาในตอนแรกแน่ ชนิดแบบที่ชาวบ้านทั่วไปชอบพูดกันว่า "ต่างกันราวฟ้ากับเหว" เลยทีเดียว"

ที่มา: ไทยรัฐ

0 comments:

Post a Comment

 
Copyright © . Yak Ratchaprasong - Posts · Comments
Theme Template by BTDesigner · Powered by Blogger