Monday, August 26, 2013

"การเมือง" ไร้กติกา นำพาสู่ "อนาธิปไตย" ระวัง "กาลียุค"

มติชนวิเคราะห์
รัฐสภาสมัยประชุมที่กำลังเปิดทำการอยู่ในขณะนี้ ปรากฏความเคลื่อนไหวที่น่าบันทึกไว้หลายประการ

หนึ่ง เป็นการเปิดประชุมรัฐสภาที่พรรคประชาธิปัตย์ "อุ่นเครื่อง" มวลชนนอกสภามาแต่เนิ่นๆ

หนึ่ง คือ การชักนำมวลชนให้ไปส่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่รัฐสภา เพื่อเข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับที่นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และคณะเป็นผู้เสนอ

หนึ่ง คือ เกมการเมืองในสภาระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 ที่การอภิปรายในวาระ 2 กลายเป็นการอภิปรายในวาระ 1 และทำให้เวลาการอภิปรายยาวนาน

อีกหนึ่ง คือ เกมการเมืองในรัฐสภา ระหว่างการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราที่เกี่ยวข้องกับ "ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา" นั้นยืดเยื้อและรุนแรง

รุนแรงถึงขนาดที่หนังสือพิมพ์หลายฉบับใช้ถ้อยคำที่รุนแรง เช่น "อัปยศ" หรือ "ถ่อย"

เป็นความรุนแรงถึงขนาดสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อย่างนายอลงกรณ์ พลบุตร จากพรรคประชาธิปัตย์ถึงกับหลุดถ้อยคำ "สื่อมวลชนคงพาดหัวข่าวหน้าหนึ่งในวันพรุ่งนี้ด้วยคำว่า "สภาอัปยศ" สำหรับผมคิดว่าเป็นวันที่น่าเศร้าที่สุดวันหนึ่งในประวัติศาสตร์รัฐสภาไทย"

เป็นความรุนแรงที่ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาถึงกับบ่นว่า "โคตรเบื่อ"

หรือแม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ยังเอ่ยปากเตือนว่าอย่าขัดแย้งกัน

ความเคลื่อนไหวของสมาชิกรัฐสภาที่ผ่านมา ทำให้หลายฝ่ายเกิดข้อห่วงใย เพราะรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เป็นสถานที่รองรับความคิดเห็นและข้อเห็นต่างในระบอบประชาธิปไตย

รัฐสภาจึงมีกฎกติกาให้มีผู้พูดและผู้ฟัง มีผู้จัดคิวการพูดคือ ประธานการประชุม แต่ทั้งนี้ประธานที่ประชุมต้องปฏิบัติตามข้อบังคับและข้อตกลง

ข้อบังคับก็มาจากสมาชิกแห่งรัฐสภา

ข้อตกลงก็มาจากคณะกรรมการประสานงาน เรียกว่า วิป มีทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา

แต่เหตุการณ์ที่ปรากฏในการประชุมตลอดสัปดาห์คือ มีแต่คนต้องการพูด ไม่ต้องการฟัง มีแต่คนอยากได้ ไม่มีคนอยากให้ มีแต่คนทำถูก ไม่มีใครยอมรับผิด มีการใช้วาจา-กิริยาและความรุนแรงกันในรัฐสภา

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้น ในขณะที่ นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความถึง นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษา พรรคประชาธิปัตย์ โดยเห็นว่า "ป่วนสภา ป่วนถนน และป่วนอื่นๆ น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างสถานการณ์ อนาธิปไตย anarchy อันจะนำไปสู่การรัฐประหารยึดอำนาจ"

นายชาญวิทย์ย้อนประวัติศาสตร์การเมืองที่เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2490 และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2549 พร้อมแสดงความเป็นห่วงว่า "กาลียุค จะบังเกิดในสยามประเทศไทย"

ตอนหนึ่งนายชาญวิทย์โพสต์ว่า "เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี พ.ศ.2489 กว่าครึ่งศตวรรษมาแล้ว ในขณะที่สังคมไทยกำลังค้นหาให้ได้มาซึ่งระบอบ "ประชาธิปไตย" ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งในตอนนั้นดำรงตำแหน่ง นรม. ได้กล่าวปิดประชุมสภาเมื่อ 7 พฤษภาคม ด้วยคำเตือนเรื่อง "ประชาธิปไตย" กับ "อนาธิปไตย" ดังนี้

"ระบอบประชาธิปไตยนั้น เราหมายถึงประชาธิปไตย อันมีระเบียบตามกฎหมายและศีลธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ใช่ประชาธิปไตยอันไม่มีระเบียบ หรือประชาธิปไตยที่ไร้ศีลธรรม เช่น การใช้สิทธิเสรีภาพอันมีแต่จะให้เกิดความปั่นป่วน ความไม่สงบเรียบร้อย ความเสื่อมศีลธรรม ระบอบชนิดนี้เรียกว่าอนาธิปไตย หาใช่ประชาธิปไตยไม่ ขอให้ระวัง อย่าปนประชาธิปไตยกับอนาธิปไตย"

ท่านปรีดีกล่าวต่อว่า "ข้าพเจ้าไม่พึงประสงค์ที่จะให้มีระบอบเผด็จการในประเทศไทย ในการนี้ก็จำเป็นต้องป้องกันหรือขัดขวางมิให้มีอนาธิปไตย อันเป็นทางที่ระบอบเผด็จการจะอ้างได้ ข้าพเจ้าเชื่อว่าถ้าเราช่วยกันประคองใช้ให้ระบอบประชาธิปไตยนี้ได้เป็นไปตามระเบียบเรียบร้อย ... ระบอบเผด็จการย่อมมีขึ้นไม่ได้"

ท่านปรีดีกล่าวอย่างน่าสนใจอีกว่า "การใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตย ต้องทำโดยความบริสุทธิ์ใจ มุ่งหวังผลส่วนรวมจริงๆ ไม่ใช่มุ่งหวังส่วนตัว หรือมีความอิจฉาริษยากันเป็นมูลฐาน เนื่องมาจากความเห็นแก่ตัว (เอ็กโกอีสม์)"

อีกตอนหนึ่ง...

"ข้าพเจ้าขอฝากความคิดไว้ต่อท่านผู้แทนราษฎรทั้งหลาย โดยเป็นห่วงถึงอนาคตของชาติ ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะได้เห็นประเทศชาติปลอดจากระบอบเผด็จการ และปลอดจากระบอบอนาธิปไตย คงมีแต่ระบอบประชาธิปไตยอันพรั่งพร้อมไปด้วยสามัคคีธรรม

ท่านปรีดีและคำเตือนว่าด้วย "อนาธิปไตย" กับ "ประชาธิปไตย" ทำให้เราต้องคิดใคร่ครวญหนักต่อสถานการณ์ปัจจุบัน นับตั้งแต่ "ระบอบพันธมิตร" กับการ "ล้มรัฐบาลสมัคร/สมชาย" ตลอดจน "โค่นระบอบทักษิณ" รวมทั้งสภาพการ "ป่วน" ทั้้งหลาย ทั้งปวง เราจะแก้วิกฤตครั้งนี้ได้อย่างไร เราจะทำอย่างไรที่จะไม่ให้เกิด "อนาธิปไตย" อันนำมาสู่ "รัฐประหารโดยนายทหาร/นายศาล" หรือบานปลายไปจนเป็น "สงครามกลางเมือง" กลายเป็น "กาลียุค"

หากเราตระหนักในคำเตือนล่วงหน้าก่อนกาล ของท่านปรีดี ที่ท่านให้เรายึดมั่นใน "ประชาธิปไตย" ไม่นำไป "สับสน" หรือ "ปนเปื้อน" กับ "อนาธิปไตย/ป่วน" อันจะนำเราไปสู่ "ระบอบเผด็จการ" เมื่อนั้นแหละ ที่บ้านเมืองของเราจะพอมีอนาคตกันบ้าง..."

สรุปความคิดที่นายชาญวิทย์นำเสนอ คือ ให้ระวังการเปิดความปั่นป่วน คือ อนาธิปไตย แล้วนำไปสู่การยึดอำนาจ แล้วที่สุดบ้านเมืองจะเกิด "กาลียุค"

จดหมายของนายชาญวิทย์ จึงเป็น "คำเตือน" ที่ตอกย้ำแนวทางที่จะนำไปสู่ความวุ่นวาย

แนวทางที่เริ่มต้นจากการเมืองที่ไม่ยอมรักษากติกา นำไปสู่ความวุ่นวาย และต้องแสวงหาอำนาจอื่นเข้ามาแทรกแซง เพื่อช่วงชิงอำนาจจากรัฐบาล

หากแต่บังเอิญว่า รัฐบาลปัจจุบันเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ดังนั้น หากการณ์เป็นไปดังที่นายชาญวิทย์ระบุ ก็เท่ากับการยึดอำนาจไปจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

นำพาประเทศจากระบอบประชาธิปไตยไปสู่เผด็จการ ซึ่งหวั่นเกรงต่อไปว่า หากทุกอย่างดำเนินไปถึงขั้นนั้น ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ "กาลียุค" หรือไม่

ดังนั้น หากจะยังคงรักษาประชาธิปไตย การเมืองจึงต้องรักษากติกา

กติกาตามระบอบประชาธิปไตย

ที่มา: มติชน

0 comments:

Post a Comment

 
Copyright © . Yak Ratchaprasong - Posts · Comments
Theme Template by BTDesigner · Powered by Blogger