Monday, August 26, 2013

67 ปี เกมสภา "ประชาธิปัตย์" มรดกการเมืองจาก "ควง" สู่ผู้นำ "อภิสิทธิ์" เชื้อไม่เคยเปลี่ยน

ไม่ใช่ครั้งแรกที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จงใจ "ยื้อ" เวลาการอภิปรายในสภาทุกวาระ โดยงัดตัวอักษรทุกย่อหน้ามาขัดขวางการพิจารณา

และไม่ใช่ครั้งเดียวที่ พรรคสีฟ้า เล่นเกมนอกสภาควบคู่ไปกับเกมในสภา

ปชป.เคยเล่นมาแล้วครบทุกสูตร ทั้งในสภา ริมถนน ตั้งแต่ยุคก่อตั้งเมื่อ 67 ปีก่อน สมัยหัวหน้าพรรคชื่อ "ควง อภัยวงศ์"

ในปี 2490 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ "พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาสวัสดิ์" ส.ส.พระนครศรีอยุธยา ในฐานะหัวหน้าพรรคแนวรัฐธรรมนูญ ได้รับเลือกให้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีแทน "ปรีดี พนมยงค์" ที่ประกาศไม่รับตำแหน่ง แม้จะชนะเลือกตั้งได้เป็น ส.ส.พระนครศรีอยุธยาอีกสมัย

ภาวะเศรษฐกิจไทยช่วงหลังสงครามตกต่ำ เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง กระทั่งรัฐนาวาของ "ปรีดี" เชื่อมต่อถึงยุค "พล.ร.ต.ถวัลย์" ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาให้ดีขึ้นได้

8 เดือนต่อมา หลังที่ "พล.ร.ต.ถวัลย์" นั่งเก้าอี้นายกฯ ปชป.ขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งใหญ่ ใช้เวลาถึง 7 วัน 7 คืน ตั้งแต่วันที่ 19-27 พฤษภาคม 2490 มุ่งทำลายเสถียรภาพของรัฐบาล

ประเด็นหนึ่งที่รัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ถูกโจมตีหนักคือ องค์การสรรพาหาร ที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นเพื่อขายสินค้าอุปโภคแก่ชาวบ้าน ถูกโจมตีว่าเป็นแหล่งทุจริต

นอกจากนี้ยังถูกโจมตีกรณี "กินจอบ กินเสียม" ที่รัฐบาลซื้อมาราคาถูก เพื่อไปแจกจ่ายประชาชน แต่ถูกกล่าวหาว่านำไปขายเอาเงินเข้ากระเป๋าตนเอง

เช่นเดียวกับกรณี "ชื้น โรจนวิภาต" บรรณาธิการหนังสือพิมพ์อิทธิธรรม หนังสือพิมพ์ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล เริ่มต้นโจมตีการดำเนินงานของรัฐบาลต่อกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 แต่รัฐบาลมิอาจจับคนร้ายได้ กลายเป็นปัจจัยแทรกซ้อนนอกสภา ที่ถูกนำมาขยายผลบนเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันนั้น

สุดท้ายเกมในสภาของ ปชป.ไม่อาจเอาชนะเสียงข้างมากฝ่ายรัฐบาล
แต่ผลกระทบจากการอภิปรายครั้งนั้นเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่ทำให้ "พล.ร.ต.ถวัลย์" สิ้นสุดจากการเป็นนายกฯ

ข้อกล่าวหาทุจริตฉ้อฉลของรัฐบาล-สภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองต่อเนื่อง-กรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ขมวดเป็นปมที่รัฐบาลไม่สามารถคลี่คลายได้

เป็นเหตุผลให้คณะรัฐประหาร 2490 นำโดย "พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ" (ยศขณะนั้น) ใช้ข้ออ้างดังกล่าวทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490

44 ปีให้หลังในยุคที่การเมืองมีวรรคทองสำคัญคือ "เสียสัตย์เพื่อชาติ" ดังกึกก้องทั่วกระดานการเมือง เป็นวรรคทองของ "พล.อ.สุจินดา คราประยูร" นายกรัฐมนตรีคนที่ 19 ของไทย

เวลานั้นพรรคการเมืองไทยแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว "พรรคเทพ" เป็นฝ่ายตรงข้ามกับคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์-พรรคพลังธรรม-พรรคความหวังใหม่-พรรคประชากรไทย
อีกขั้วหนึ่งคือ "พรรคมาร" ที่อยู่ฝ่ายเดียวกับทหาร คือพรรคชาติไทย-พรรคกิจสังคม-พรรคสามัคคีธรรม
ก่อนที่ "พล.อ.สุจินดา" จะตระบัดสัตย์คำพูดกลางสภา ขณะเดียวกัน "ชวน หลีกภัย" หัวหน้าพรรคนำมวลชนเรียกร้องรัฐธรรมนูญ หลัง รสช.ยึดอำนาจรัฐบาล "พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ" มา 9 เดือน

มูลเหตุมาจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับ รสช.ที่มีเนื้อหาเอื้อให้สืบถอดอำนาจกันเอง

เนื่องจากมีการระบุให้ประธาน รสช.เป็นผู้แต่งตั้งวุฒิสมาชิกจำนวนไม่เกิน 360 คน และให้อำนาจวุฒิสมาชิกมีอำนาจเท่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ข้าราชการประจำเป็นข้าราชการการเมืองได้ และให้ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบพวงใหญ่ เขตละ 7 คน

เมื่อเป็นเช่นนี้ ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2534 ฝ่าย "พรรคเทพ" ที่หนึ่งในนั้นคือ ปชป. พามวลชนนับแสนเข้าร่วมชุมนุมใหญ่บริเวณท้องสนามหลวง

การชุมนุมดังกล่าวนำมาสู่เหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ" ในอีก 6 เดือนต่อมา และเป็นเชื้อให้มีการปฏิรูปการเมือง จนมีรัฐธรรมนูญ 2540 ในที่สุด...

เมื่อปี 2490 ยุค "ควง อภัยวงศ์" เป็นหัวหน้าพรรค อภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา 7 วัน 7 คืน กลายเป็นปมสู่การยึดอำนาจ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาสวัสดิ์ โดยคณะทหาร
เมื่อปี 2534 การปลุกมวลชนลงท้องถนนร่วมกับ "พรรคเทพ" ในยุค "ชวน หลีกภัย" เป็นหัวหน้าพรรค ต่อยอดให้เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

ต้องจับตาว่าในปี 2556 ยุคที่ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" เป็นหัวหน้าพรรค ที่มีการปลุกมวลชนลงถนนอีกครั้ง คู่ขนานกับข้อกล่าวหาว่าจงใจทำให้เกมในสภาดุเดือดจะนำไปสู่เหตุการณ์อะไรต่อไป

ที่มา :ประชาชาติธุรกิจ

0 comments:

Post a Comment

 
Copyright © . Yak Ratchaprasong - Posts · Comments
Theme Template by BTDesigner · Powered by Blogger