Tuesday, August 13, 2013

ยกฟ้อง "จตุพร" 2 สำนวน ไม่ผิดหมิ่น "อภิสิทธิ์-สุเทพ"

ยกฟ้อง จตุพร 2 สำนวน ไม่ผิดหมิ่น อภิสิทธิ์-สุเทพ พาคนต่างด้าวแฝงชุมนุมนปช.ก่อความวุ่นวาย ศาลชี้ติชมโดยสุจริต ยังไม่มีเจตนาให้ร้าย ขณะที่ เจ้าตัวยิ้มออก

13 ส.ค.56 เมื่อเวลา 09.30 น. ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ อ.404/2552 ที่ นายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และอดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ ฟ้องนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และอดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นจำเลยในคดีหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328,332 กรณีเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2552 จำเลยได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย โดยนำภาพโจทก์ขณะเข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งได้นั่งเก้าอี้เสมอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งการกระทำของจำเลยมีเจตนาหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ว่า ไม่ถวายความเคารพต่อองค์พระมหากษัตริย์ในขณะเข้าเฝ้าฯที่ประชาชนพึงปฏิบัติ และทำตัวตีเสมอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งอดีตที่ผ่านมาไม่เคย ปรากฏว่า มีนายกรัฐมนตรีคนใดเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยนั่งเก้าอี้ลักษณะเช่นเดียวกับโจทก์

โดยศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2555 เห็นว่า จำเลยรู้อยู่แล้วว่าสำนักพระราชวังเป็นผู้ดูแลระเบียบพิธีการเข้าเฝ้าฯแต่กลับแถลงข่าวต่อสาธารณะชนทันทีจึงเป็นการวิพากษ์วิจารณ์เกินกว่าฐานะนักการเมืองที่มีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลหรือเป็นเพียงการตักเตือนโจทก์ตามที่จำเลยต่อสู้ ประกอบกับโจทก์และจำเลย มีเหตุขัดแย้ง ถึงขั้นฟ้องคดีอาญาหลายคดี ส่อให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนามุ่งกล่าวหาโจทก์จึงไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตาม มาตรา 328 ให้จำคุก 6 เดือน และปรับ 50,000 บาท แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยรับโทษจำคุกมาก่อนจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และให้จำเลยลงโฆษณาคำพิพากษาย่อในหนังสือพิมพ์ รายวัน 2 ฉบับ เป็นเวลา 7 วันติดต่อกัน ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์ต่อสู้ คดีว่า ไม่ได้กระทำผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ศาลอุทธรณ์ ประชุมตรวจสำนวนแล้วเห็นว่า เมื่อปรากฏภาพโจทก์นั่งเก้าอี้ถวายงาน จำเลยได้กล่าวถึงโจทก์ว่าไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีคนใดนั่งเก้าอี้ถวายงานลักษณะเช่นเดียวกับโจทก์ ซึ่งแม้ว่าจำเลยจะกล่าวถึงโจทก์ด้วยความรู้สึกนึกคิดของตนเอง แต่เป็นไปได้ว่าผู้ที่ได้รับฟังจะไม่ได้คล้อยตามความรู้สึกนึกคิดของจำเลยทั้งหมด ขณะที่ทางนำสืบจำเลยเบิกความยอมรับว่า ไม่เคยได้เข้าเฝ้าฯ ถวายงานลักษณะเช่นเดียวกับโจทก์ แม้ว่าจำเลยจะเป็น สส. แต่เมื่อไม่เคยเข้าเฝ้าฯ ลักษณะดังกล่าวจึงเชื่อว่าจำเลยไม่ทราบขั้นตอนการเข้าเฝ้าฯ ดังกล่าว และแม้ว่าโจทกับจำเลยจะมีเหตุขัดแย้งในทางคดีมาก่อนก็ยังไม่มีเหตุขนาดที่จะฟังว่า มีเจตนาให้ร้ายโจทก์ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

ขณะเดียวกัน ที่ห้องพิจารณา 904 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เวลา 10.30 น. ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ อ.855/2553 ที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ สส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายจตุพร ในความผิดฐาน หมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 กรณีเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2552 เวลา 14.00 และ 22.00 น.จำเลยแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า โจทก์เตรียมดำเนินการใส่ร้ายป้ายสีคนเสื้อแดง โดยให้คนต่างด้าว 5,000 คน แฝงตัวชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง ไปทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ บริเวณ ถนนราชดำเนิน

คดีนี้ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลย เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2554 เนื่องจากเห็นว่า ทางนำสืบ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผบก.น.1 ซึ่งรับผิดชอบดูแลความเรียบร้อยควบคุมการชุมนุม ก็ได้เบิกความว่า ทางการข่าวทราบว่ามีบุคคลต่างด้าวมาร่วมชุมนุมคนเสื้อแดง ซึ่งได้พยายามควบคุม ขณะที่ทางการสืบสวนสอบสวนพบว่า เหตุการณ์การชุมนุมบางครั้งสามารถถูกสร้างสถานการณ์ได้ทุกฝ่าย การแถลงข่าวของจำเลยจึงเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ ถึงการทำหน้าที่ของโจทก์ที่ติดตามดูแลความเรียบร้อยการชุมนุม ซึ่งเป็นการแสดงความคิดเห็นเพื่อความชอบธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 ที่ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ต่อมาโจทก์ ยื่นอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ ประชุมตรวจสำนวนแล้ว เห็นว่า ขณะนั้นนายสุเทพ โจทก์ ได้แถลงข่าวระบุได้รับรายงานจากสำนักข่าวกรองว่า จะมีคนต่างด้าว เข้ามาชุมนุมร่วมกับม็อบ นปช. ซึ่งต่อมาจำเลยก็ได้แถลงข่าวตอบโต้ว่า ฝ่ายรัฐบาลจะเกณฑ์คนต่างด้าวมาชุมนุมก่อความวุ่นวายและทำลายพระบรมฉายาลักษณ์เพื่อใส่ร้ายคนเสื้อแดง ประกอบกับ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผบก.น.1 พยานในฐานะผู้เจรจาต่อรองกับแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง เบิกความว่า ทางการข่าวมีรายงานว่า กลุ่มต่างด้าวได้มาร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งการสร้างสถานการณ์ดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้จากทั้งสองฝ่าย ซึ่งภายหลังมีการจับกุมคนต่างด้าว 2-3 คน ช่วงที่มีการชุมนุม เมื่อขณะนั้นโจทก์ เป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงดูแลความเรียบร้อยในการชุมนุม จำเลยจึงได้แสดงความคิดเห็นแถลงข่าวตามความจริงที่ตนรับทราบมา ซึ่งได้วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบการทำหน้าที่ของโจทก์ จึงเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริต ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยพิพากษายืน

ภายหลังการอ่านคำพิพากษา นายจตุพร กล่าวสั้น ๆ ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มว่า คดีที่เกิดขึ้นทั้งหมดไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นประเด็นที่เกิดจากการต่อสู้ที่ผ่านมา ขณะที่ ตนต้องขอขอบคุณศาลที่พิพากษาทั้ง 2 คดี หลังจากนี้ก็จะแก้ต่างต่อสู้คดีที่ยังเหลืออยู่

ที่มา :คมชัดลึก

0 comments:

Post a Comment

 
Copyright © . Yak Ratchaprasong - Posts · Comments
Theme Template by BTDesigner · Powered by Blogger