สรุปร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาส.ว. ที่ผ่านวาระ 3 และรอทูลเกล้าฯ มีรายละเอียดแต่ละมาตราดังนี้
มาตรา 1 รัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พุทธศักราช..."
มาตรา 2 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ยกเลิกความในมาตรา 111 และมาตรา 112 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
มาตรา 111 วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งจำนวน 200 คน ในกรณีที่ตำแหน่งว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ และยังมิได้มีการเลือกตั้งขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภาเท่าที่มีอยู่
กรณีที่มีเหตุการณ์ใดๆ ทำให้ส.ว.ไม่ครบจำนวนตามวรรคหนึ่ง แต่มีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของจำนวน ส.ว.ทั้งหมด ให้ถือว่าวุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวนดังกล่าว แต่ต้องมีการเลือกตั้งให้ได้ ส.ว.ครบจำนวนตามวรรคหนึ่งภายใน 180 วัน นับแต่วันที่มีเหตุการณ์ดังกล่าว และให้ ส.ว.ที่เข้ามาอยู่ในตำแหน่งเพียงเท่าวาระของวุฒิสภาที่เหลืออยู่
มาตรา 112 การเลือกตั้งส.ว. ให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกผู้สมัครในเขตนั้นได้ 1 คน และให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ การคำนวณเกณฑ์จำนวน ส.ว.ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี ให้คำนวณตามวิธีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 94 โดยอนุโลม
ในกรณีที่จังหวัดใดมี ส.ว.ได้มากกว่าหนึ่งคน ให้ผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุดเรียงตามลำดับจนครบจำนวน ส.ว.ที่จะพึงมีได้ในจังหวัดนั้น เป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ว.
เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครสามารถหาเสียงเลือกตั้งได้ก็แต่เฉพาะที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ของวุฒิสภา
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเลือกตั้งและการหาเสียงเลือกตั้งของ ส.ว.ให้เป็นไปตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว.
การแก้ไขมาตรานี้ ทำให้ ส.ว.ชุดใหม่ประกอบไปด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งล้วนๆ จำนวน 200 คน โดยใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง โดยส.ว. 1 คน ต่อประชาชนประมาณ 325,000 คน
ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ว.มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นได้ 1 คน กรณีที่จังหวัดมี ส.ว.ได้มากกว่า 1 คน ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้คะแนนสูงสุดเรียงตามลำดับจนครบจำนวน ส.ว.ที่จะพึงมีได้ในจังหวัดนั้น
จากเดิม ส.ว.มีที่มาจากส.ว.เลือกตั้ง 76 คน จาก 76 จังหวัด และ ส.ว.สรรหา 74 คน รวมเป็น 150 คน
มาตรา 4 ยกเลิกมาตรา 113 และ 114 ว่าด้วยการคัดสรร ส.ว.สรรหา โดยคณะกรรมการสรรหา 7 คน ประกอบด้วย ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประธานคณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้พิพากษาศาลฎีกา และตุลาการศาลปกครองสูงสุด ให้เป็นอันสิ้นสุด
มาตรา 5 ยกเลิกมาตรา 115 ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามที่ไม่สามารถลงสมัคร ส.ว.ได้ เช่น ผู้สมัครต้องไม่เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของ ส.ส. หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ตามร่างนี้ ลูก เมีย พ่อ แม่ และเครือญาติผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ว.ได้
มาตรา 6 ยกเลิกความในวรรคสอง ของมาตรา 116 ที่ว่าด้วยการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของ ส.ว. หลังพ้นสมาชิกภาพแล้ว และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
บุคคลผู้เคยดำรงตำแหน่งส.ว.และสมาชิกภาพสิ้นสุดลงมาแล้วยังไม่เกินสองปี จะเป็นรัฐมนตรีหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งมิใช่ส.ว.มิได้
ส่งผลให้สมาชิกวุฒิสภาสามารถลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ว. ต่อเนื่องได้ทันทีเมื่อหมดวาระ โดยไม่ต้องเว้นวรรค
และส.ว.เลือกตั้งชุดปัจจุบันที่จะหมดวาระลงในวันที่ 2 มี.ค. 2557 สามารถลงสมัครได้อีกสมัยในทันที
มาตรา 7 ยกเลิกมาตรา 117 และ 118 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
มาตรา 117 สมาชิกภาพของ ส.ว.เริ่มตั้งแต่วันเลือกตั้งส.ว. ให้วาระของวุฒิสภามีกำหนดคราวละ 6 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง
มาตรา 118 เมื่อวาระของวุฒิสภาสิ้นสุดลง พระมหากษัตริย์จะได้ทรงตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งภายใน 45 วันนับแต่วันที่วาระของวุฒิสภาสิ้นสุดลง และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร
เท่ากับกำหนดให้ ส.ว.มีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี และไม่จำกัดวาระว่าจะเป็นได้กี่สมัย รวมถึงกำหนดวันเลือกตั้งเมื่อวาระส.ว.สิ้นสุดลงภายใน 45 วัน
มาตรา 8 ให้ยกเลิกมาตรา 120 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
มาตรา 120 เมื่อตำแหน่ง ส.ว.ว่างลงเพราะเหตุอื่นใดนอกจากถึงคราวออกตามวาระของวุฒิสภา ให้มีการเลือกตั้ง ส.ว.ขึ้นแทนภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่างลง เว้นแต่วาระของวุฒิสภาจะเหลือไม่ถึง 180 วัน จะไม่ดำเนินการเลือกตั้งก็ได้ ส.ว.ผู้เข้ามาแทนที่ให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าอายุของวุฒิสภาที่เหลืออยู่"
หมายถึงการเลือกตั้ง ส.ว.ที่ว่างลงด้วยเหตุอื่นที่ไม่ใช่การครบวาระ ภายใน 45 วัน ยกเว้นวาระการดำรงตำแหน่งจะเหลือไม่ถึง 180 วัน จะไม่จัดให้เลือกก็ได้ ส่วนผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งแทนให้ครบวาระเท่า อายุส.ว.ที่เหลืออยู่
มาตรา 9 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 241 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
มาตรา 241 ในระหว่างที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งส.ส.หรือ ส.ว. หรือประกาศให้มีการออกเสียงประชามติมีผลใช้บังคับ ห้ามมิให้จับ คุมขัง หรือหมายเรียกตัวกรรมการการเลือกตั้ง ไปทำการสอบสวน เว้นแต่ในกรณีที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือในกรณีที่จับในขณะกระทำความผิด
มาตรา 10 ให้ ส.ว.ที่มีสมาชิกภาพอยู่ในวันที่ร่างแก้ไขฉบับนี้ใช้บังคับยังคงสมาชิกภาพ และทำหน้าที่ ต่อไป
ในกรณีที่การดำรงตำแหน่งของ ส.ว. ว่างลงก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้ ไม่ต้องดำเนินการเลือกตั้งหรือสรรหาขึ้นใหม่แทนตำแหน่งที่ว่าง
มาตรา 11 ให้ กกต.ดำเนินการเสนอร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และ ส.ว. ต่อรัฐสภาภายใน 30 วัน นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ
ภายใน 120 วันนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้รัฐสภาดำเนินการพิจารณาและให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และส.ว. ที่ กกต.เสนอตามวรรคหนึ่งให้แล้วเสร็จ
เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามวรรคสอง หรือมีเหตุอื่นใด ทำให้รัฐสภาไม่สามารถพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญตามวรรคหนึ่งให้แล้วเสร็จ ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรนำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบเสนอต่อนายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ และให้นำความในมาตรา 150 และมาตรา 150 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 11/1 เมื่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และส.ว.ตามมาตรา 11 มีผลใช้บังคับ ให้บรรดาบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ระเบียบ ประกาศ หรือข้อบังคับใด ที่อ้างถึงพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. ให้หมายถึง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และส.ว.
มาตรา 12 เมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีการเลือกตั้ง ส.ว.ครั้งแรกซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั่วไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และส.ว. ตามมาตรา 11 ให้ ส.ว.ตามมาตรา 10 สิ้นสุดสมาชิกภาพในวันที่สมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับเลือกตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่
Home » ร่างแก้ไข » รายละเอียด ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาส.ว. ที่กำลังรอทูลเกล้าฯ
Monday, September 30, 2013
รายละเอียด ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาส.ว. ที่กำลังรอทูลเกล้าฯ
Related Posts
Stay Tuned with our News Letter
Don't miss out on the latest
news, sign up for our Newsletter.
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
0 comments:
Post a Comment