Tuesday, November 26, 2013

เสียงสะท้อนจากสื่อนอก...เมื่อม็อบยึดกรุงเทพฯ

 

การนำประชาชนบุกยึดสถานที่ราชการต่างๆในกรุงเทพฯของม็อบต้านรัฐบาล อยู่ในความสนใจของสื่อทั่วโลกอย่างใกล้ชิด โดยสื่อส่วนใหญ่มองว่าเหตุการณ์ที่กำลังยกระดับขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจนำไปสู่ความรุนแรงนองเลือด ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

 
 
หลังจากเมืองไทยปลอดจากการประท้วงใหญ่ๆมานานถึง 3 ปี กรุงเทพฯก็ได้กลายเป็นอัมพาตจากการบุกยึดของมวลมหาประชาชนอีกครั้ง และครั้งนี้นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีผู้สั่งการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตไปนับร้อยคน 
 
 
แน่นอนว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ตลอดระยะเวลา 2 วันที่ผ่านมา นับตั้งแต่คืนวันอาทิตย์ มาจนถึงตลอดวันจันทร์ ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนทั่วโลก โดยสำนักข่าวใหญ่ๆอย่างซีเอ็นเอ็น บีบีซี และอัลจาซีรา ต่างส่งผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การประท้วงอย่างใกล้ชิด ขณะที่สำนักข่าวอื่นๆ ก็อัพเดทสถานการณ์ในกรุงเทพฯกันแทบจะตลอดเวลาเช่นเดียวกัน ในฐานะที่นี่คือการประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นในยุคของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
 
 
สิ่งหนึ่งที่สื่อต่างประเทศรายงานหลากหลายกันไป ก็คือจุดประสงค์ของผู้ชุมนุมประท้วงครั้งนี้ ส่วนใหญ่สื่อต่างชาติจะใช้คำง่ายๆว่าการประท้วงเป็นไปเพื่อโค่นล้มรัฐบาล ขณะที่มีเพียงไม่กี่สำนักเท่านั้น ที่เจาะลึกเข้าใจสถานการณ์และข้อเรียกร้องของผู้ประท้วง โดยเลือกรายงานว่าสิ่งที่ผู้ชุมนุมต้องการ คือข้อเสนอที่มีความเป็นนามธรรมสูงและไม่ชัดเจนในแง่ของการปฏิบัติ นั่นก็คือ "โค่นล้มระบอบทักษิณ" รวมถึงข้อเสนอสุดโต่งอย่างการให้ตระกูลชินวัตรออกนอกประเทศไทย
 
 
นอกจากนี้ สื่อส่วนใหญ่ยังยอมรับว่าการยกระดับการประท้วงอาจนำไปสู่ความรุนแรง เนื่องจากแม้ว่านายสุเทพ แกนนำการประท้วง จะลั่นวาจาไว้ว่าจะไม่ใช้ความรุนแรง ทำเพียงการเป่านกหวีดและมอบดอกไม้ให้ข้าราชการ เชิญชวนให้ร่วมหยุดงานต้านระบอบทักษิณ แต่ตลอดวันจันทร์ที่ผ่านมา การบุกยึดกระทรวงการคลังและกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงบุกรุกสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ก็เป็นสัญญาณของความรุนแรงอย่างไม่สามารถปฏิเสธได้
 
 
ที่สำคัญ การที่ผู้ชุมนุมฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลเองก็รวมตัวกันอยู่ที่อีกฟากหนึ่งของเมือง ทำให้สถานการณ์สุ่มเสี่ยงอย่างมากต่อการนำม็อบออกมาปะทะม็อบ ซึ่งอาจนำไปสู่การนองเลือด อันเป็นเงื่อนไขของการรัฐประหาร โดยเฉพาะเมื่อมีผู้ชุมนุมจำนวนมากตะโกนขับไล่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พร้อมทั้งเชื้อเชิญให้ทหารเข้ามาแทรกแซงสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา
 
 
นอกจากนี้ อีกมิติหนึ่งที่สื่อต่างประเทศให้ความสนใจ ก็คือเรื่องของเศรษฐกิจ Wall Street Journal ของสหรัฐฯมองว่าการชะงักงันของระบบราชการและความวุ่นวายในกรุงเทพฯ จะอยู่ภายใต้การจับตามองของนักลงทุนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากในขณะนี้ หุ้นไทยตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 ขณะที่เงินบาทก็อ่อนค่าลงมากที่สุดในรอบ 2 เดือน ส่วนอัตราการเติบโตของจีดีพีไตรมาสที่ผ่านมาก็เติบโตน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ 
 
 
โดยสิ่งที่นักลงทุนสนใจมากที่สุดตอนนี้ก็คือท่าทีของรัฐบาล ว่าจะจัดการกับกลุ่มผู้ประท้วงอย่างไร ในช่วงเวลาที่นักวิเคราะห์จากทั่วโลกมองตรงกันว่าทางเลือกของรัฐบาลไทยนั้นจำกัดอย่างยิ่ง
ที่มา :VOICEtv
26 พฤศจิกายน 2556 เวลา 06:29 น.

0 comments:

Post a Comment

 
Copyright © . Yak Ratchaprasong - Posts · Comments
Theme Template by BTDesigner · Powered by Blogger