Wednesday, April 9, 2014

ลำดับเหตุการณ์บันทึกเลือด 10 เมษา 53 - 4 ปีที่ไม่มีวันลืมศพเกลื่อนราชดำเนิน

4 ปีก่อนหน้านี้ ประเทศไทยกลายเป็นพื้นที่มิคสัญญี กรุงเทพฯ กลายเป็นพื้นที่สังหารหมู่ครั้งใหญ่ เมื่อรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ตัดสินใจให้กองกำลังของรัฐใช้อาวุธจริง ในปฏิบัติการม็อบเสื้อแดง หรือนปช.

สมรภูมิแรกที่เกิดเหตุคือถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553

เหตุการณ์ในคืนวันนั้น มีประชาชนและทหารเสียชีวิตรวมกันถึง 27 ราย บาดเจ็บราว 1,700 คน

จากวันนั้นก็เกิดเหตุ "ฆ่าหมู่" หรือ "ล้อมฆ่า" ประชาชน และม็อบตายเป็นใบไม้ร่วง โดยฆ่าต่อเนื่องถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ซึ่งเป็นวันที่แกนนำเสื้อเแดงประกาศสลายการชุมนุม

ร่วม 100  ศพ และบาดเจ็บหลายพันคนคือตัวเลขความสูญเสีย ที่รัฐบาลและศอฉ.ภายใต้การนำของรัฐบาลพลเรือนของนายอภิสิทธิ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ ฝากเป็นแผลทางประวัติศาสตร์

เป็นความสูญเสียมากกว่าการชุมนุมในอดีตที่ผ่านมาทุกครั้ง

เป็นความสูญเสียมากกว่าฝีมือของรัฐบาลเผด็จการทหารเสียอีก
ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่
นับ จากวันที่ 13 มีนาคม 2553 วันแรกที่ม็อบเสื้อแดงปักหลักตั้งเวทีที่สะพานผ่านฟ้าฯ ถ.ราชดำเนิน ก่อนขยายไปยังเวทีใหญ่สี่แยกราชประสงค์

บรรดาแกนนำสลับกันขึ้นทั้ง 2 เวทีเพื่อเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ ยุบสภา โดยกล่าวหาว่ามีที่มาไม่เหมาะสม เป็นรัฐบาลที่ตั้งในค่ายทหาร ใช้หลากหลายวิธีทำให้พรรคการเมืองต้องร่วมสนับสนุนให้พรรคประชาธิปัตย์ได้ เป็นรัฐบาล ทั้งที่การเลือกตั้งพ่ายแพ้พรรคพลังประชาชน (ในขณะนั้น-ก่อนเปลี่ยนเป็นพรรคเพื่อไทย)

ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ สั่งตั้งศอฉ.ขึ้นมาเพื่อจัดการม็อบโดยเฉพาะ มี นายสุเทพ เป็นผู้อำนวยการ

ช่วงเวลาเกือบ 1 เดือนทั้ง 2 ฝ่ายแทบไม่ได้ปะทะกันรุนแรง นอกจากยื้อกันไปมาเท่านั้น

กระทั่ง วันที่ 8 เมษายน 2553 นายสุเทพ มีคำสั่งให้สถานีดาวเทียมไทยคมระงับการแพร่ภาพของสถานีโทรทัศน์พีเพิ่ล ทีวี หรือพีทีวี ซึ่งเป็นสถานีของคนเสื้อแดง ถ่ายทอดสดการชุมนุม พร้อมส่งทหารเข้าไปควบคุม

ทำให้วันที่ 9 เมษายน ม็อบเดินทางไปยังสถานีไทยคม ที่อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี เพื่อให้เปิดสัญญาณถ่ายทอดอีกครั้ง

กระทั่งปะทะกับทหารแต่ไม่มีความสูญเสียเกิดขึ้น

แต่ จากจุดนี้เองทำให้นายอภิสิทธิ์ แสดงความไม่พอใจว่าม็อบท้าทายกฎหมาย และวันที่ 10 เมษายน คำสั่งสลายม็อบราชดำเนิน ที่ออกมาในวลีเท่ๆ ว่า ′ขอคืนพื้นที่′ ก็ออกมาจากศอฉ.

โดย ช่วงสายวันที่ 10 เมษายน แกนนำเสื้อแดงทราบการข่าวว่ารัฐบาลสั่งสลายม็อบที่ราชดำเนิน จึงระดมม็อบที่ราชประสงค์เดินทางไปสมทบเพื่อช่วยเหลือกรณีที่เกิดเหตุรุนแรง ขึ้น

แกนนำรวมตัวกันที่พระบรมรูปทรงม้า ก่อนเคลื่อนไปยังหน้ากองทัพภาคที่ 1 หลังพบว่ามีหน่วยกำลังเตรียมพร้อมอยู่ภายใน และคาดว่าเป็นทีมสลายม็อบ

13.00 น. เกิดเผชิญหน้ากันครั้งแรกเมื่อม็อบพร้อมรถบรรทุกไปปิดด้านหน้ากองทัพภาคที่ 1 ป้องกันทหารเคลื่อนกำลังออกมา

แม้จะสามารถสกัดกั้นไว้ได้ แต่เป็นเวลาสั้นๆ เท่านั้น
ทหารเคลื่อนพลล้อมกรอบ
ราว ครึ่งชั่วโมงต่อมาทหาร 3 หน่วยปฏิบัติการล้อมกรอบผู้ชุมนุม เริ่มจากทหารในกองทัพภาคที่ 1 เคลื่อนกำลังออกมาทางถ.ศรีอยุธยา ซึ่งจุดนี้มีม็อบอยู่ราว 500 คน

แก๊สน้ำตา กระสุนยาง และน้ำ ระดมฉีดเข้าใส่ ขณะที่ทหารตั้งแต่ผลักดันม็อบจนถอยร่น จนทหารเข้ายึดพื้นที่บริเวณพระบรมรูปทรงม้าได้สำเร็จ จากนั้นก็ผลักดันผู้ชุมนุมออกไปอีก

ขณะเดียวกันมีกำลังทหารจาก ถ.พิษณุโลก และแยกวังแดง เดินหน้าบีบผู้ชุมนุมที่กระจัดกระจายอยู่ให้มารวมกันที่เวทีสะพานผ่านฟ้าฯ และแยกคอกวัว โดยรอบๆ ทั้งถนนดินสอ และถนนตะนาว มีทหารเข้ายึดครองได้หมด

ตามแผนคือให้ผู้ชุมนุมมารวมที่สะพานผ่านฟ้าฯ ก่อนผลักดันให้ออกไปทางถนนหลานหลวง โดยมีเฮลิคอปเตอร์บินโปรยแก๊สน้ำตาสลายผู้ชุมนุม

ทหาร และผู้ชุมนุมปะทะกันเป็นระยะๆ จนถึงตอนเย็น เจ้าหน้าที่เริ่มใช้อาวุธจริงยิงขู่ขึ้นฟ้า จนเมื่อการปะทะหนักหน่วงขึ้นบวกกับม็อบจากราชประสงค์เดินทางมาสมทบ

แสง แดดเริ่มน้อยลงเรื่อยๆ อากาศขมุกขมัวลง ทั้งนักวิชาการหรือผู้เกี่ยวข้องออกมาเตือนรัฐบาลผ่านทางสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ให้ยุติการสลายม็อบไว้ก่อน เนื่องจากบรรยากาศเริ่มมืดลงเรื่อยๆ การสลายม็อบในเวลานี้ สุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียหรือมี ′มือที่ 3′ เข้ามาร่วมสร้างสถานการณ์

ทางออกดีที่สุดคือถอยกลับที่ตั้งรอรุ่งเช้าค่อยตัดสินใจอีกครั้ง

แต่ศอฉ.โฆษกออกแถลงการณ์ยืนยันว่า ต้องเดินหน้าลุยปราบต่อไปไม่ว่าจะดึกดื่นแค่ไหนก็ตาม!!!

แล้วสถานการณ์ก็เป็นดังที่ทุกฝ่ายเตือน ในช่วงค่ำเกิดความอลหม่าน เสียงปืนระเบิดดังระงม

ศพแรกๆ ที่เกิดความสูญเสียคือ นายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพรอยเตอร์ ชาวญี่ปุ่น ถูกยิงตายบริเวณจุดปะทะถนนดินสอ

จาก พยานหลักฐานต่างๆ เชื่อว่าตายโดนเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากช่วงเกิดเหตุนายมูราโมโตะ ที่ตอนแรกอยู่ในแนวทหาร ถือกล้องเดินข้ามฝั่งมาถ่ายภาพบริเวณม็อบ จนเมื่อหันกล้องกลับไปแนวเจ้าหน้าที่ก็ถูกกระสุนความเร็วสูงยิงเจาะเข้าร่าง

ผู้ชุมนุมช่วยกันอุ้มนายมูราโมโตะ ออกจากจุดปะทะส่งโรงพยาบาล แต่ก็ช่วยชีวิตไว้ไม่ได้

การ ปะทะระหว่างทหารกับม็อบมีผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่ง และบาดเจ็บหลักร้อยคน โดยทหารไม่สามารถผลักดันม็อบออกจากพื้นที่ตามที่ตั้งเป้าเอาไว้
ทั้งทหาร-ม็อบสังเวย
หลังศอฉ.มีคำสั่งให้ทหารเดินหน้าลุยปราบม็อบโดยไม่สนใจคำเตือน สถานการณ์ยิ่งรุนแรงมากขึ้นและชุลมุนขึ้นเพราะไม่รู้ว่าใครเป็นใคร

ตัวเลขความสูญเสียมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ม็อบก็เสริมกำลังเข้ามาเรื่อยๆ เช่นกัน

มีรายงานว่าในศอฉ.เองก็เคร่งเครียด เพราะตัวเลขที่ได้รับรายงานมีประชาชนเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

แกนนำม็อบประกาศไล่ผู้นำมือเปื้อนเลือดออกนอกประเทศ

การ ปะทะเกิดขึ้นหลายจุดทั้งแยกคอกวัว ถนนดินสอ แยกจปร. จนราว 2 ทุ่ม นายอภิสิทธิ์มีคำสั่งให้ถอนกำลัง หลังควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ เพราะยิ่งฆ่า ม็อบก็ยิ่งเข้ามาเสริมเยอะขึ้นเรื่อยๆ

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกฯ ได้รับคำสั่งไปประสานกับแกนนำม็อบขอหย่าศึกครั้งนี้

มี รายงานว่าถึงตอนนี้ในศอฉ.เต็มไปด้วยความตึงเครียด เพราะประชาชนสูญเสียมากเกินไป และในอดีตที่ผ่านมาไม่เคยมีรัฐบาลไหนสามารถอยู่ได้หากมือเปื้อนเลือดประชาชน

แต่ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ทหารก็สูญเสียด้วย

จากกรณีเกิดเหตุปะทะกันที่หน้าโรงเรียนสตรีวิทย์ และมีเอ็ม 79 ยิงถล่มเข้าไปภายในโรงเรียน ตกใส่เต็นท์บัญชาการของทหาร

พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม รองเสธ.พล.ร.2 รอ. แม่ทัพใหญ่ในปฏิบัติการนี้เสียชีวิต และมีทหารบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง!!!

ขณะเดียวกันสื่อทีวีเริ่มแพร่ภาพคนสวมชุดดำ ใส่หมวกไอ้โม่งถือปืนอยู่ในม็อบและอยู่ในเหตุการณ์ปะทะ

แม้ การตายของนายทหารระดับสูง นับเป็นความสูญเสียของกองทัพและประเทศชาติอย่างน่าเสียดาย แต่สำหรับบางคนแล้ว ในสถานการณ์ที่กำลังจนแต้ม กลับสามารถใช้การตายครั้งนี้พลิกสถานการณ์จากที่เป็นรอง ขึ้นมาหาความชอบธรรมได้ทันที

มันสมองระดับสามารถประดิษฐ์คำพูดชวนฟัง ทำให้หยิบการตายของพ.อ.ร่มเกล้า และภาพชายชุดดำขึ้นมาใช้ได้ทันทีทันใด

ม็อบก่อการร้ายมีอาวุธสงคราม และชายชุดดำ เป็นข้ออ้างเอาตัวรอดได้อย่างฉิวเฉียด
คนชุดดำ-ไร้ตัวตน
การ เสียชีวิตของ พ.อ.ร่มเกล้า และภาพคนชุดดำ กลายเป็นข้อตอบโต้ของรัฐบาลและศอฉ. ในทำนองว่าม็อบมีอาวุธร้ายแรง และคนชุดดำคือฆาตกรที่ฆ่าประชาชน!!!

รัฐบาลใช้กรณีนี้สร้างความชอบธรรมอยู่ในอำนาจต่อไป

ขณะที่ปั่นกระแสเรื่องม็อบมีอาวุธร้ายแรง เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการตายของม็อบทีละศพ สองศพ หรือมากกว่านั้น

จาก วันที่ 10 เมษายน จนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม คนเริ่มตายมากขึ้นเรื่อยๆ โดยฝีมือของสไนเปอร์ แต่รัฐบาลและศอฉ.อ้างว่าเป็นฝีมือของชายชุดดำเช่นเดิม

ก่อนที่รัฐบาลจะส่งทหารเข้าปิดล้อมและสลายม็อบราชประสงค์ พร้อมคำพูดใหม่อีกว่า ′กระชับพื้นที่′

ทำให้แกนนำตัดสินใจยุติการชุมนุม และเดินทางเข้ามอบตัว ก่อนเกิดเหตุเผาสถานที่ต่างๆในกรุงเทพฯ

รัฐบาล และนักการเมืองผู้เชี่ยวชาญการ ′พูด′ นำเหตุการณ์เผามาเหมารวมว่ารัฐบาลต้องปราบปรามอย่างรุนแรง เพื่อหยุดยั้งการเผาบ้านเผาเมือง

ทั้งๆ ที่การเผาเกิดขึ้นในวันสุดท้ายของการชุมนุม และเกิดขึ้นในตอนเย็นหลังจากม็อบสลายไปหมดแล้ว

รัฐบาลระบุว่าทหารได้รับคำสั่งให้ยิงระดับต่ำกว่าหัวเข่า และไม่ให้ฆ่าประชาชนที่ไม่มีอาวุธ

เกือบ 100 ศพ และบาดเจ็บอีกหลายพัน ถูกโยนว่าเป็นฝีมือของคนชุดดำทั้งสิ้น

ขณะที่คนตายถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย

คน ชุดดำที่เป็นฆาตกรตามที่รัฐบาลกล่าวหา แต่หลังเหตุการณ์สงบลงและรัฐบาลประชาธิปัตย์ครองอำนาจอีกนานนับปี ไม่มีคนชุดดำสักรายที่ถูกจับกุม หรือหาที่มาที่ไปไม่ได้

มีเพียงภาพถ่าย หรือภาพเคลื่อนไหวคนชุดดำถือปืน และยิงไปในจุดต่างๆ แต่ไม่มีหลักฐานใดๆ ระบุว่าเกือบ 100 ศพเป็นฝีมือชายชุดดำ

ใน ทางกลับกัน มีภาพและพยานหลักฐานมากมายยืนยันชัดเจนว่าผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ตายโดยฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลและศอฉ.

ตอนนี้คดีส่วนหนึ่งส่งขึ้นสู่การพิจารณาชั้นศาล เพื่อทวงความยุติธรรมให้กับผู้เสียชีวิตทุกราย
 
       
ที่มา นสพ.ข่าวสด วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2555        

0 comments:

Post a Comment

 
Copyright © . Yak Ratchaprasong - Posts · Comments
Theme Template by BTDesigner · Powered by Blogger