Friday, June 28, 2013

บอกว่า"ไม่ได้ขัดขวาง" แต่ไม่ต้องการให้เดินหน้า ?

พลันที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาการใช้เงินกู้เพื่อบริหารจัดการน้ำวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ก็ส่อว่าจะหยุดชะงัก “ทีมข่าวการเมืองเดลินิวส์” ได้สัมภาษณ์ ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนในฐานะผู้ร้องกรณีดังกล่าวถึงผลที่ปรากฏออกมา

ผลการพิจารณาของศาลปกครองออกมาเป็นที่พอใจหรือไม่

ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ปฏิบัติให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 57 วรรค 2 และมาตรา 67 วรรค 2 นั่นคือต้องไปเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน โดยเฉพาะเอาแผนบริหารจัดการน้ำของคณะกรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ไปรับฟังความเห็นของประชาชน ส่วนมาตรา 67 วรรค 2 โครงการทั้ง 9 หรือ 10 โมดูล ก็ต้องเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนแสดงความคิดเห็นด้วย รวมทั้งต้องไปศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพและให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้ความเห็นประกอบด้วย ถ้าดำเนินการครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว ค่อยมาออกแบบวางแผนและลงนามในสัญญากันต่อไป ซึ่งคำพิพากษาค่อนข้างจะครบ
ถ้วนเป็นที่พอใจตามที่สมาคมและชาวบ้านได้ยื่นคำร้อง เพราะท้ายคำร้องเราขอให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะมาตรา 57, 58, 67, 85 และ 87 ส่วนใหญ่ศาลก็มีคำวินิจฉัยออกมาในทิศทางที่เราได้ฟ้องร้อง กรณีนี้ไม่ถือเป็นชัยชนะอะไรการที่ผมมาดำเนินการเป็นความต้องการและเจตจำนงของภาคประชาชนที่อยากจะมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการโครงการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะว่าเงินจำนวนมากหลายแสนล้าน หากรัฐบาลดำเนินการไปแล้วก่อให้เกิดความผิดพลาดล้มเหลวขึ้นมา ประชาชนกว่า 65 ล้านคน ก็ต้องร่วมกันรับผิดชอบ ดังนั้นทางที่ดีที่สุดรัฐบาลต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น เรียกว่ารับประโยชน์หรือรับโทษร่วมกันเพื่อให้เกิดความละเอียดรอบคอบในการดำเนินการต่อไปเพราะที่ผ่านมามีเพียงคณะกรรมการชุดต่าง ๆ เท่านั้นที่พูดจาปรึกษาหารือกันเองในการทำแผน ทำทีโออาร์ รวมทั้งการประมูลโครงการให้กลุ่มบริษัททั้ง 4 กลุ่ม เข้ามาดำเนินการ

ผมยืนยันมาตั้งแต่ต้นว่าไม่ได้ขัดขวางการดำเนินการในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลเพียงแต่ว่ารัฐบาลต้องเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ผมเป็นนักกฎหมาย การใช้กฎหมายเป็นที่ตั้งก็เป็นแนวทางหนึ่งให้รัฐบาลอย่าเพิกเฉยต่อระเบียบข้อปฏิบัติต่าง ๆ ที่ต้องดำเนินการ อยากให้รัฐบาลยึดถือเจตนารมณ์ของกฎหมายโดยเฉพาะกฎหมายรัฐธรรมนูญและต้องยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง โครงการของรัฐบาลอาจจะมีอีกเยอะแยะมากมาย แต่ว่าถ้ารัฐบาลยึดถือเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง โครงการที่ทำให้เกิดความขัดแย้งเช่นนี้ก็อาจจะลดลงน้อยมาก

จากนี้สิ่งที่รัฐต้องดำเนินการต่อคืออะไร

ไม่ได้ถือว่ารัฐต้องไปเริ่มต้นใหม่ บริษัททั้ง 4 บริษัท ที่ยื่นซองเสนอราคาประมูลมาแล้วก็ยังคงได้รับสิทธิอยู่ในเรื่องของการดำเนินการ เพียงแต่ว่าก่อนที่รัฐจะเซ็นสัญญากับเอกชนต้องไปดำเนินการให้ครบถ้วนตามคำพิพากษาของศาลปกครองเสียก่อน คือดำเนินการตามมาตรา 57 วรรค 2 และ มาตรา 67 วรรค 2  คาดว่ารัฐต้องใช้ระยะเวลาในการปฏิบัติตามคำสั่งศาลอย่างน้อยที่สุดก็ 1 ปี ช้าที่สุดก็ประมาณ 2 ปี ซึ่งโครงการดังกล่าวที่มีระยะเวลาตามแผนการดำเนินการ 5 ปีนั้นนับแต่วันเริ่มเซ็นสัญญา ถ้ายังไม่เซ็นสัญญาก็ยังเริ่มนับไม่ได้ เข้าใจว่ารัฐบาลจะยังไม่มีการเซ็นสัญญา หลังมีคำพิพากษาในวันนี้ คิดว่ารัฐบาลจะต้องรับคำพิพากษานำไปปฏิบัติแต่ทั้งนี้ทั้งนั้นรัฐบาลก็มีสิทธิที่จะอุทธรณ์เรื่องนี้ภายใน 30 วัน ซึ่งหากรัฐบาลยื่นอุทธรณ์เข้ามาและเดินหน้าที่จะลงนามในสัญญาต่อไป ทางภาคประชาชนก็ต้องร้องต่อศาลเพื่อขอให้คุ้มครองชั่วคราว เพื่อไม่ให้รัฐบาลหรือคณะกรรมการนโยบายและการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กบอ.) ไปลงนามในสัญญาซึ่งอาจจะนำความเสียหายในการใช้งบประมาณต่อไป

การเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากภาคประชาชนจะทราบความต้องการที่จะแท้จริงของประชาชนหรือไม่ เพราะอาจจะมีการจัดตั้งมวล ชนขึ้นมาหนุนโครงการของรัฐบาล

ในคำพิพากษาชัดเจนว่าแต่ละพื้นที่ต้องมีการเปิดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึง ขบวนการจัดตั้งก็แน่นอนว่าต้องมี แต่ผมคิดว่าประชาชนส่วนใหญ่ที่เขาได้รับผลกระทบหรืออาจได้รับผลกระทบก็มีสิทธิที่จะมาแสดงความคิดเห็น โดยหลักแล้วเชื่อมั่นว่าภาคประชาชนจะออกมาปกป้องสิทธิของตัวเองแน่นอน แต่หากประชาชนจะยอมถูกล็อบบี้จากภาครัฐเราก็ไม่มีสิทธิก้าวล่วง แต่ก็จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความรู้ประชาชนต่อไป อย่างไรก็ตาม คิดว่าโครงการต่าง ๆ ไม่สามารถจะทำได้ทุกพื้นที่ เพราะทำไปแล้วก็ไม่เกิดประโยชน์กับรัฐบาล วันนี้รัฐบาลต้องกลับไปคิดใหม่และไปเอามาตรา 57 วรรค 2 และมาตรา 67 วรรค 2 มานั่งดูรายละเอียดว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร เพราะศาลเขียนไว้ชัดเจนว่าต้องมีการรับฟังความเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน ที่จะมีการมาลงนามในสัญญาทั้ง 9 หรือ 10 โมดูล รวมทั้งนำแผนการบริหารจัดการน้ำของ กยน. ไปเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศด้วย เป็นแนวคำพิพากษาชัดเจน รวมทั้งการนำมาตรา 67 วรรค 2 ในเรื่องการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของทั้ง 9-10 โมดูล มาปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพราะชัดเจนว่าเป็นโครงการรุนแรงที่กระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศ และกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนทั้งสิ้น ซึ่งเรื่องที่เราต้องจับตามากที่สุด คือ การสร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำ และการทำ ฟลัดเวย์ เพราะการสร้างเขื่อนก็รู้กันอยู่แล้วว่าชาวบ้านในภาคเหนือไม่ยอมอยู่แล้ว ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาสำคัญ ส่วนเรื่องฟลัดเวย์ก็เป็นประเด็นเรื่องการเวนคืนที่ดินของชาวบ้านตั้งแต่ จ.นครสวรรค์ จนถึงอ่าวไทย 300 กิโลเมตร ซึ่งกระทบกับคนจำนวนมาก น่าจะมีความขัดแย้งตามมาอีกมาก นอกจากนั้นก็มีเรื่องบริษัทเค วอร์เตอร์ ในเรื่องความโปร่งใสในการทำงานและสถานภาพทางการเงิน ที่เราตรวจสอบอยู่ ซึ่งได้ทำเรื่องไปยังนายกรัฐมนตรีและ กบอ. แล้ว ถ้ารัฐบาลไม่ตรวจสอบหรือดำเนินการใด ๆ ก็จะนำไปฟ้องร้องดำเนินคดีต่อไป

ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามหลีกเลี่ยงการนำโครงการบริหารจัดการน้ำเข้าสู่ขั้นตอนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

เจตนารมณ์ของรัฐบาลและ กบอ. คือพยายามหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามแนวทางที่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด แต่เมื่อคำพิพากษาชัดเจนขนาดนี้แล้ว รัฐบาลก็ไม่มีทางใช้เทคนิคทางกฎหมายมาหลีกเลี่ยงการดำเนินการ ถ้าจะให้เร็วที่สุดก็คือรัฐบาลอย่าอุทธรณ์ และนำแนวทางคำพิพากษาของศาลปกครองในวันนี้ไปปฏิบัติโดยเร็ว ซึ่งระยะเวลาอาจจะร่นเข้ามาเร็วมากขึ้น ถ้ามัวมาทะเลาะหรืออุทธรณ์หรือเถียงกับสมาคมอย่างนี้ก็ไม่เกิดประโยชน์

สมาคมจะมีแนวทางเคลื่อนไหวจับตาการทำงานของรัฐบาลต่อจากนี้อย่างไร

ในวันที่ 28 มิ.ย. สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนจะเดินทางไปยื่นคำร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยนำคำพิพากษาในวันนี้ไปยื่นให้ ป.ป.ช. ดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 295 ในเรื่องที่ต้องสอบสวน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เนื่องจากละเลยและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยชัดแจ้งกรณีไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญก็เท่ากับละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในกรณีที่ไม่เปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อน ซึ่งต้องมีการลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐในเรื่องเหล่านี้ด้วย เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างในการดำเนินโครงการอื่น ๆ ของรัฐต่อไป ต้องสั่งสอนให้เป็นบทเรียน กรณีนี้น่าจะเป็นบรรทัดฐานของรัฐหากจะดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดไม่ว่าจะเป็นกรณีเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ในอนาคตอันใกล้นี้ ก็จะต้องนำบรรทัดฐานของคดีนี้ไปดำเนินการ มิฉะนั้นก็จะนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีกับภาคประชาชนต่อไป ซึ่งไม่เป็นผลดีกับการบริหารราชการแผ่นดิน ในส่วนของนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กบอ. ก็ไม่ควรมารับหน้าที่นี้แล้ว เพราะคำพิพากษาชัดเจนว่าละเลยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย การที่เป็นถึงฝ่ายบริหาร ผู้มีอำนาจทางปกครอง มากระทำผิดกฎหมายเอง ความชอบธรรมของนายปลอดประสพก็ไม่มีเช่นกันในการที่จะมานั่งในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งเพื่อบริหารจัดการน้ำที่ใช้งบประมาณมหาศาล

คำพิพากษาของศาลมีผลต่อการกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท เพื่อมาดำเนินโครงการอย่างไร

เรื่องการกู้เงินก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะกู้หรือไม่ คำพิพากษาไม่ได้ก้าวล่วงไปถึงเรื่องการกู้เงิน เพราะว่ากู้เงินมาแล้วไม่สามารถนำไปใช้อะไรได้ นำมากองไว้เฉย ๆ มันอาจจะมีดอกมีผลออกมาหรือเปล่า ซึ่งทางฝ่ายค้านนำไปหยิบยกใช้ในรัฐสภาในเรื่องของการตรวจสอบ อย่างไรก็ตามรัฐบาลก็รู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถใช้ได้แล้วจะกู้มาทำไม จริง ๆ รัฐบาลก็มีสิทธิจะไปเสนอ พ.ร.บ.กู้เงินแทน โดยไม่จำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.กู้เงิน ก็ได้อยู่แล้ว ใช้วิธีการทางงบประมาณปกติก็ทำได้ เพราะมีเสียงส่วนใหญ่ในสภาอยู่แล้วเพียงแค่ตัดคำว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนทิ้งไปก็จบ ส่วนที่กู้มาแล้วหมื่นกว่าล้านก็ให้ผ่านไป.

ที่มา เดลินิวส์

0 comments:

Post a Comment

 
Copyright © . Yak Ratchaprasong - Posts · Comments
Theme Template by BTDesigner · Powered by Blogger