บทบรรณาธิการ นสพ.ข่าวสด
แม้จะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นห่างไกลถึงในประเทศอียิปต์ แต่การรัฐประหารครั้งล่าสุดในประเทศดังกล่าวได้รับความสนใจจากสังคมไทยมากกว่าครั้งใดๆ
ประการหนึ่ง เป็นอิทธิพลของ "โลกาภิวัตน์" และเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารสมัยใหม่ ที่ให้โลกซึ่งกว้างดูเหมือนแคบลงเรื่อยๆ ให้โลกที่ดูห่างไกลกลับเข้าใกล้มาหากันมากขึ้นเรื่อยๆ
ประการหนึ่ง มีผู้นำเหตุการณ์ดังกล่าวมาเทียบเคียงกับการเมืองในประเทศไทย โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการใช้อำนาจของรัฐบาลที่จะต้องไม่เกินขอบเขต
ซึ่งด้านหนึ่งก็เป็นประเด็นที่น่ารับฟัง หากมีการเติมข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นให้ครบถ้วน
เพราะหลังจากการลุกฮือขึ้นของประชาชนอียิปต์จำนวนเรือนล้าน สิ่งที่ตามมาก็คือการใช้กำลังเข้ารัฐประหารและถอดถอนรัฐบาลจากการเลือกตั้งของกองทัพอียิปต์
ซึ่งทำให้เกิดปฏิกิริยาจากนานาชาติ ตั้งแต่ระดับขั้นต้นคือแสดงความเป็นกังวล ไปจนกระทั่งถึงระดับสูงสุดคือไม่เห็นด้วยและคัดค้านการล้มล้างรัฐบาลด้วยอำนาจปืน
ฉะนั้น ผู้ที่หยิบยกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอียิปต์มาเทียบกับสถานการณ์การเมืองไทย จะต้องไม่เลือกหยิบมาเฉพาะส่วนที่ต้องการจะใช้ประโยชน์ หรือเพื่อโจมตีผู้อื่นกลุ่มอื่นเท่านั้น
แต่จะต้องพูดถึงเหตุการณ์โดยรวมทั้งหมดอย่างครบถ้วนและตรงไป ตรงมา
และที่สำคัญก็คือเหตุการณ์ที่แสดงออกถึงการใช้อำนาจเกินขอบเขตของรัฐบาลอย่างชัดเจนที่สุด ก็คือการสั่งปราบปรามประชาชนในการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 ด้วยอาวุธจริงและกระสุนจริง
อันส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตร่วมร้อยคน และบาดเจ็บอีกกว่า 2,000 ราย อันยังคงเป็นบาดแผลที่ไม่สามารถลบเลือนได้ของสังคมไทยปัจจุบัน
การตักเตือน การให้สติผู้อื่นเพื่อให้ปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องย่อมเป็นสิ่งที่ดีที่ควร แต่ขณะเดียวกันหากต้องการให้คำเตือนเช่นนี้เกิดผลในทางปฏิบัติจริง ก็จะต้องใช้หลักการเดียวกันนี้กับทุกคนทุกฝ่ายอย่างเคร่งครัด
โดยเฉพาะกับตนเอง
ผู้อื่นกลุ่มอื่นจึงจะเชื่อถือและทำตาม
Home » อียิปต์ » จากอียิปต์ถึงไทย
Tuesday, July 9, 2013
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
0 comments:
Post a Comment