Sunday, September 1, 2013

"เสื้อแดง" เมืองตรัง ฐานที่มั่นของ "ชวน หลีกภัย"


ปรากฏการณ์ความเคลื่อนไหวของ "กลุ่มคนเสื้อแดง" ในพื้นที่ จ.ตรัง ซึ่งเสมือนเมืองหลวงของพรรคประชาธิปัตย์ เริ่มเคลื่อนไหวในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เพียงแต่ในช่วงก่อตัวยังไม่มีรูปแบบที่ชัดเจนเด่นชัด ประกอบกับมีผู้เข้าร่วมจำนวนเพียงเล็กน้อย เนื่องจากช่วงนั้นพรรคประชาธิปัตย์ อยู่ในฐานะผู้นำรัฐบาล

กระทั่งเกิดการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และรัฐบาล "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ตัดสินใจขอคืนพื้นที่บริเวณราชประสงค์ จากกลุ่มผู้ชุมนุมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 "คนเสื้อแดงเมืองตรัง" จึงเคลื่อนไหวถี่ขึ้น และมีจำนวนมากขึ้น

ภาพของ "กลุ่มคนเสื้อแดง" ใน จ.ตรัง เห็นเด่นชัดผิดหูผิดตา หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2554 พรรคเพื่อไทยได้ครองเสียงข้างมากในสภา ถึงแม้ ส.ส.ทั้ง 4 เขต ใน จ.ตรัง จะสอบตก ไม่ประสบความสำเร็จ แถมยังได้คะแนนแค่หยิบมือ รวมทั้งแกนนำบางคนอาจจะไม่ได้ตำแหน่งตอบแทน แต่การผนึกกำลังของคนกลุ่มนี้ยังคงแนบแน่น และเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยมากยิ่งขึ้น เมื่อ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

จากนั้น "กลุ่มคนเสื้อแดงเมืองตรัง" จึงรวบรวมคนจากอำเภอต่างๆ กว่า 200 คน รวมตัวกันทำบุญเลี้ยงพระเนื่องในวันคล้ายวันเกิดอดีตนายกฯ "ทักษิณ ชินวัตร" ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย สาขาตรัง ตั้งอยู่เลขที่ 180/6 ริมถนนตรัง-พัทลุง ในเขตเทศบาลนครตรัง ภายใต้การนำของ "วิราว์ วัฒนกิจ" เลขาธิการสมัชชาประชาธิปไตยภาคใต้

โดยจัดคู่ขนานกับกลุ่มคนเสื้อแดงอีกกว่า 100 คน ซึ่งทำบุญเลี้ยงพระ เนื่องในวันคล้ายวันเกิด "ทักษิณ" ยังอีกจุดหนึ่ง ณ ศูนย์ประสานงานพรรคเพื่อไทย สาขาตรัง ภายในโรงแรมโรสอินน์ เลขที่ 20/116 ถนนท่ากลาง ในเขตเทศบาลนครตรัง ภายใต้การนำของ นายรัตน์ ภู่กลาง" แกนนำ นปช.จังหวัดตรัง

ต่อด้วยการชูป้ายแสดงความยินดีที่ "ยิ่งลักษณ์" ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี หลายจุดในเมืองตรัง โดยเฉพาะที่บริเวณริมถนนพาดรถไฟสายตรัง-สิเกา ซึ่งเป็นเส้นทางสู่ที่ตั้งของศูนย์ประสานงานพรรคเพื่อไทย สาขาตรัง อันเป็นจุดที่มีทั้งผู้คนและรถราผ่านไปผ่านมาจำนวนมาก สร้างความแปลกใจให้แก่ชาวเมืองตรังเป็นอย่างยิ่ง เพราะส่วนใหญ่นิยมพรรคประชาธิปัตย์

นอกจากนี้ พวกเขายังเปิดสถานีวิทยุชุมชน "Rose Radio" หรือ คลื่นกุหลาบแดง คลื่นแห่งประชาธิปไตย เอฟเอ็ม 97.00 เมกะเฮิรตซ์ ภายในศูนย์ประสานงานพรรคเพื่อไทย สาขาตรัง ท่ามกลางการจับตาของหน่วยข่าวความมั่นคง เพราะหวั่นเกรงเรื่องการหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ยุยงปลุกปั่นจนให้เกิดกระแสความแตกแยกในสังคม เนื่องจากช่วงนั้นมีข่าวจับและปิดสถานีวิทยุชุมชนจำนวนมากทั่วประเทศ

"รัตน์" เล่าว่า การเปิดสถานีวิทยุชุมชน "Rose Radio" เพื่อส่งเสริมและให้ความรู้แก่ชุมชนเรื่องของการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ ตลอดทั้งเรื่องเศรษฐกิจชุมชน พร้อมยืนยันว่า สถานีวิทยุชุมชนของพวกเขายึดถือประโยชน์ของชุมชนเป็นหลัก และยินดีที่จะให้หน่วยงานภาครัฐตรวจสอบอย่างเปิดเผย

นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา "กลุ่มคนเสื้อแดง" ใน จ.ตรัง ได้จัดกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการรวมตัวทำบุญเลี้ยงพระ เนื่องในวันคล้ายวันเกิด "ทักษิณ" ทำเป็นประจำในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พร้อมเคลื่อนไหวผ่านป้ายภาพและข้อความ ซึ่งติดตั้งไว้ที่บริเวณริมถนนพาดรถไฟ สายตรัง-สิเกา บริเวณปากทางเข้าศูนย์ประสานงานพรรคเพื่อไทย สาขาตรัง ที่มองเห็นกันคุ้นตาในเวลานี้

ขณะเดียวกัน แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงจากส่วนกลาง ได้แก่ นพ.ประสงค์ บูรณ์พงศ์ ที่ปรึกษาสมาพันธ์หมู่บ้านเสื้อแดงเพื่อประชาธิปไตย ร.ต.ต.กมลศิลป์ สิงหะสุริยะ ประธานสมาพันธ์หมู่บ้านเสื้อแดงเพื่อประชาธิปไตย รวมทั้ง อรรถพล ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา, สุริยา ชินพันธุ์ และ อรรถชัย อนันตเมฆ ยังเดินทางมารวมตัวกันที่ "ร้านตะวันงาม" ซึ่งเป็นร้านอาหารพื้นบ้าน ตั้งอยู่ที่หมู่ 9 ต.นาท่ามใต้ อ.เมือง จ.ตรัง พร้อมเปิดเวทีสัมมนาในหัวข้อ "ประชาธิปไตย เสริมอาชีพ สร้างรายได้ ประชาชน หมู่บ้านเสื้อแดง 80 ปี ล่องใต้ สร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน" รวมทั้งจัดกิจกรรมการวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน และเปิดตัวโครงการจัดตั้งสหกรณ์ประชาธิปไตยกินได้แล้ว ยังมีการขึ้นป้าย "หมู่บ้านเสื้อแดง" ขึ้นอย่างเป็นทางการเป็นแห่งแรกของ จ.ตรัง โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนกว่า 200 คน

นพ.ประสงค์ ประเมินว่า เนื่องจาก "คนตรัง" และ "ชวน หลีกภัย" ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ที่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จึงอยากให้การเปิด "หมู่บ้านเสื้อแดง" ในครั้งนี้ เป็นเสมือนกับการส่งเสริมประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น แม้ว่าจะได้รับการต่อต้านจากคนในพื้นที่ก็ตาม แต่พวกเราก็ไม่กลัว เพราะไม่ได้ทำอะไรที่ผิดกฎหมายบ้านเมือง

"พวกเราทำถูกต้องตามกฎหมายรัฐธรรมนูญทุกประการ ประกอบกับการเปิดหมู่บ้านเสื้อแดง ก็เป็นการเมืองภาคประชาชน ที่สนับสนุนการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย และไม่สนับสนุนการเมืองที่เผด็จการ เชื่อว่าคนตรังคงจะไม่เผาและถอดทำลายป้าย หรือหากมีเหตุการณ์เช่นนี้จริง กลุ่มคนเสื้อแดงก็ไม่ได้กังวล และพร้อมที่จะติดตั้งป้ายขึ้นมาใหม่" นพ.ประสงค์ยืนยัน

หัวเรือใหญ่กลุ่มคนเสื้อแดงเมืองตรัง ย้ำว่า ทุกอย่างก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะการขึ้นป้าย หรือการแสดงความเคลื่อนไหวในโอกาสต่างๆ ของกลุ่มคนเสื้อแดง อาจจะดูขัดหูขัดหาสำหรับคนที่ศรัทธาพรรคประชาธิปัตย์ แต่กลับไม่เคยมีเหตุรุนแรงจนนำไปสู่การเผชิญหน้าของทั้งสองฝ่าย ถือเป็นจุดดีของชาวตรังยุคใหม่ ที่เปิดใจกว้างรับฟังความคิดเห็นของอีกฝ่าย แม้จะเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ ที่มีกำลังไม่มากไม่มายก็ตาม

โดยเฉพาะแกนนำหลักอย่าง "รัตน์" ถือเป็นผู้ที่คร่ำหวอดทั้งภาคการเมือง และภาคธุรกิจ ในระดับหนึ่ง เคยเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง (ส.อบจ.ตรัง) 1 สมัย พร้อมทั้งทำธุรกิจต่างๆ อีกมากมาย ทั้งอสังหาริมทรัพย์ สวนปาล์มน้ำมัน หรือล่าสุด คือ โรงแรม พร้อมกับได้ดึง "สมาน ลิประพันธ์" หรือ "บังหมาน" อดีต ส.อบจ. เขตกันตัง และรองประธานคณะกรรมการมุสลิมประจำจังหวัดตรัง มาร่วมช่วยงานด้วย

ฉะนั้น เกมความเคลื่อนไหวของ "กลุ่มคนเสื้อแดง" ใน จ.ตรัง จึงเป็นไปอย่างมีแบบแผนเชิงรุก ในจังหวะที่ต้องรุก และเงียบเฉยในจังหวะที่ต้องรับ ภายใต้การสนับสนุนจากกลุ่มสมาชิก ส่วนใหญ่จะเป็นนักธุรกิจในตัวเมือง ผนึกกำลังกับเอ็นจีโอบางกลุ่ม แต่พวกเขาฝันไกลถึงการเบียดแทรกเจ้าของพื้นที่ในศึกชิงเก้าอี้ ส.ส. จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ครอบครองมายาวนาน

ก้าวย่างของ "กลุ่มคนเสื้อแดงเมืองตรัง" จะสำเร็จตามเป้าหรือไม่ หรือผุดขึ้นเป็นเพียงสีสันทางการเมือง คำถามเหล่านี้ยังเป็นมหากาพย์ที่ต้องตามต่ออีกหลายภาค
.................

ที่มา : คนเสื้อแดง ในฐานที่มั่นของ ชวน หลีกภัย : เมธี เมือง คมชัดลึก

0 comments:

Post a Comment

 
Copyright © . Yak Ratchaprasong - Posts · Comments
Theme Template by BTDesigner · Powered by Blogger