Sunday, September 8, 2013

วิกฤตฝ่ายค้าน ส่งเสริมรัฐบาล รายงานพิเศษ นสพ.ข่าวสด


ม็อบยางพาราที่ปักหลักชุมนุมยืดเยื้อมานานกว่า 2 สัปดาห์ ทางภาคใต้

ตลอดระยะเวลาฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลพยายามขยายให้เป็นปัญหาการเมืองระดับประเทศ แต่ก็ไม่เป็นผล

ส่วนหนึ่งนั้นเป็นเพราะรัฐบาลตั้งหลักและวางเกมรับมือมาอย่างรอบคอบรัดกุม

เนื่องจากรู้ดีว่า"ม็อบยาง"ครั้งนี้ไม่ธรรมดา

เกี่ยวข้องกับแผน"เป่านกหวีด"ระดมพลโค่นรัฐบาลของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน

ตามที่ประชาธิปัตย์ประกาศว่านอกจากการเมืองในระบบรัฐสภา ยังยึดมั่นการเมืองระบบข้างถนนควบคู่กันไปด้วย

รับช่วงงานของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่เพิ่งประกาศอำลาวงการไป

เมื่อมีนักการเมืองเข้ามาผสมโรงม็อบชาวสวนยาง ซึ่งแน่นอนว่าส่วนหนึ่งได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาราคายางตกต่ำจริง

การปลดชนวนปัญหาจึงจำเป็นต้องใช้ยุทธวิธีแยกปลาออกจากน้ำ

เบื้องต้นรัฐบาลส่งตัวแทนซึ่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ลงไปพบปะพูดคุยกับแกนนำผู้ชุมนุม ต่อรองเรื่องราคาจนผู้ชุมนุมบางส่วนพอใจ

ส่วนที่ไม่พอใจก็ยังคงปักหลักชุมนุมปิดถนนและทางรถไฟพื้นที่ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ต่อไป
ขณะที่กระทรวงเกษตรฯ และคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ หรือกนย. เร่งออกมาตรการช่วยเหลือชาวสวนยางที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างแท้จริง

เป็นมติออกมาว่ารัฐบาลจะช่วยเหลือปัจจัยการผลิตไร่ละ 1,260 บาท พร้อมขยายพื้นที่ช่วยเหลือจากเดิมแค่ 10 ไร่ เป็น 25 ไร่

โดยจ่ายทันทีเป็นเงินสดเป็นเวลา 7 เดือนจนถึงมีนาคม 2557

ทำให้ม็อบชาวสวนยางที่ดาวกระจายในหลายจังหวัด เริ่มอ่อนและสลายตัวไปในที่สุด หลายพื้นที่บรรยากาศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

ถึงจะมีเหตุการณ์ปะทุรุนแรงที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อค่ำวันที่ 5 ก.ย. ซึ่งทำให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บหลายนาย บางนายสาหัสถึงขั้นกะโหลกร้าว

เพราะมีการปาระเบิดปิงปอง เข้าบุกยึดรถน้ำมัน เผารถสื่อมวลชน

แต่ยิ่งรุนแรงเท่าไหร่ก็ยิ่งฉายชัดถึงเจตนาของผู้ชุมนุมและผู้ที่อยู่เบื้องหลังว่า

ไม่ต้องการให้สถานการณ์ของม็อบหยุดอยู่แค่ปัญหาราคายาง

การชุมนุมม็อบสวนยางไม่ว่าในพื้นที่ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ที่มีการปิดถนน-ทางรถไฟนาน 2 สัปดาห์

หรือความรุนแรงในพื้นที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในขณะผู้ชุมนุมพยายามบุกเข้าปิดถนนเพชรเกษม จนเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่

กลายเป็นกระแสลบตีกลับไปยังฝ่ายผู้ชุมนุม

ทั้งยังกระทบลุกลามไปถึงฝ่ายการเมืองเจ้าซึ่งของพื้นที่ ที่คอยให้การสนับสนุนการชุมนุม หวังอาศัยใช้

เป็นเครื่องมือกดดันรัฐบาลนอกสภา

ตามที่เคยประกาศบนเวทีปราศรัย

แต่เมื่อการชุมนุมของม็อบมีท่าทีว่าจะยื้อต่อไปอีกไม่ไหว

เนื่องจากแกนนำไม่มีศักยภาพ บางคนมีประวัติเบื้องหลังกระดำกระด่าง อีกทั้งไม่ใช่คนในพื้นที่

ประกอบกับชาวสวนยางทางภาคอื่น ๆ เหนือ กลาง ตะวันออก ตะวันตกยอมรับได้กับมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล

ไม่ออกมาชุมนุมร่วมกับชาวสวนยางภาคใต้

ทำให้การชุมนุมใหญ่ดาวกระจายวันที่ 3 ก.ย. ที่หวังยกระดับเป็นการ"ปิดประเทศ" กดดันให้รัฐบาลต้องเป็นฝ่ายยอมทำตามข้อเรียกร้อง

ผิดแผน พลาดเป้า

ขณะเดียวกันเริ่มมีเสียงโวยวายจากภาคนักธุรกิจและผู้ประกอบอาชีพอื่นในภาคใต้

รวมถึงประชาชนคนทั่วไปที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาขึ้น-ลงของราคายาง แต่ต้องมามีส่วนได้รับความเดือดร้อนไปด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้บรรดานักการเมืองภาคใต้ ที่เคยเดินเข้าไปเยี่ยมเยียนให้กำลังใจผู้ชุมนุมเพื่อหวังยืมมือเขย่ารัฐบาล

แต่พอผู้ชุมนุมตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำก็รีบ "ชิ่งหนี"ทันที

ข้อที่น่าสังเกตคือเมื่อม็อบยางถูกกระแสโจมตีหนักๆ เข้า

ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เปิดแถลงข่าวปฏิเสธทันทีว่า ไม่ได้เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหว

ทั้งยังยื่นกระทู้ ยื่นญัตติด่วนเข้าสภา

แต่ก็ถูกมองเป็นแค่เกมเพื่อเบี่ยงกระแส กลบเกลื่อนความเพลี่ยงพล้ำที่ได้ถลำไปกับม็อบยางในตอนแรก

จนเปลืองเนื้อเปลืองตัว หวังได้กำไร กลับต้องขาดทุนป่นปี้

กับอีกอย่างคือต้องการโชว์ให้เห็นว่า ถึงประกาศจะลงไปเล่นการเมืองบนท้องถนน
แต่ก็ยังไม่ทิ้งการเมืองในระบบรัฐสภา

มีการประเมินกันว่าจากปัญหาม็อบยางพารา

ได้สร้างความเสียหายให้กับพรรคประชาธิปัตย์ไม่น้อยในแง่คะแนนเสียงในพื้นที่

ภาพข่าวหลายสำนักเป็นหลักฐานโจ่งแจ้งว่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์หลายคนเดินทางไปพบปะและขึ้นเวทีปราศรัยสนับสนุนการเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุม

ขณะเดียวกันหากหันมาดูเกมการเมืองในระบบรัฐสภา

ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังเป็นฝ่ายเสียหายด้านภาพลักษณ์ชนิดกู่ไม่กลับอีกเช่นกัน

ไม่ต้องย้อนไปถึงขนาดการปาแฟ้ม ลากเก้าอี้ กระชากแขนประธานสภา ซึ่งเป็นเรื่องในสมัยประชุมรัฐสภาครั้งก่อน

เอาแค่เปิดประชุมรัฐสภาสมัยล่าสุดตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.เป็นต้นมา ไม่ว่าประชุมสภาผู้แทนฯ พิจารณาผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมใน วาระแรก

หรือประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของส.ว. ในวาระ 2

การประชุมทุกนัดเต็มไปด้วยความปั่นป่วนวุ่นวาย ตั้งแต่การส่งเสียงโห่ฮา กรีดร้องโหยหวน โยนเอกสาร ประท้วงด่าทอด้วยคำหยาบคาย

แล้วก็เป็นช็อตไม่ค่อยได้เห็นบ่อยนัก ที่"ผู้นำฝ่ายค้าน"นำส.ส.ลูกทีมลุกเดินไปเกาะขอบประท้วงประธานในที่ประชุมถึงหน้าบัลลังก์

ถัดมาวันเดียวยังเป็นคิวนายเชน เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี ออกแอ๊กชั่น"ทุ่มเก้าอี้" เพราะโมโหส.ส.

ซีกรัฐบาลชิงเสนอปิดอภิปรายญัตติยางพารา

แค่ไม่กี่นาทีภาพ ของ "เชนเก้าอี้บิน" ก็ถูกนำไปกระจายผ่านโซเชี่ยลเน็ตเวิร์กออกสู่สายตาชาวโลก

เป็นการตอกย้ำถึงความตกต่ำถึงขีดสุดในรอบ 65 ปี  และความจำเป็นที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องวางมือจากเ
รื่องอื่นๆ แล้วหันมา"ปฏิรูปพรรค"ตนเองโดยด่วน

ไม่เช่นนั้นต่อให้ม็อบยางจุดติด เศรษฐกิจกลับทรุดต่ำ ค่าไฟฟ้าขึ้นราคา สินค้าแพงกระทบปากท้องชาวบ้านหนักหนาสาหัสขนาดไหน

หากพรรคฝ่ายค้านยังตกอยู่ในสภาพแบบนี้

สำหรับรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" อย่าว่าแต่จะอยู่ครบเทอม 4 ปี กลับมาเป็นรัฐบาลเบิ้ล 2 สมัย 8 ปี

ก็ยังเป็นเรื่องชิลชิล

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์

0 comments:

Post a Comment

 
Copyright © . Yak Ratchaprasong - Posts · Comments
Theme Template by BTDesigner · Powered by Blogger