อีกไม่ถึง 60 วัน คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดที่ 60 จะเดินมาถึงครึ่งทางครบรอบ 2 ปี
เป็นครึ่งทางที่ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี ฝ่ามรสุมทางการเมืองมาอย่างโชกโชน ทั้งการเผชิญหน้ากับฝ่ายค้านในสภา การสุมหัวแก้ปัญหาปัจจัยที่เหนือการควบคุมทั้งภัยธรรมชาติ-เศรษฐกิจ รวมถึงการงัดข้อสู้กับทุกขั้วอำนาจภายในพรรคเพื่อไทย
เป็นครึ่งทางที่นายกรัฐมนตรีใช้พละกำลังสับ-เปลี่ยนเก้าอี้ ครม.มาแล้ว 4 หน และกำลังเข้าสู่วาระการทำงานของ "ครม.ปู 5" อย่างเป็นทางการในเวลาอันใกล้
เป็นการจัดทัพครั้งใหม่ที่ "ยิ่งลักษณ์" คาดหวังว่า อีกครึ่งทางหลังจากนี้จะสามารถฝ่ามรสุม ผลักดันภารกิจหลักทั้ง 16 ข้อเร่งด่วน ตามถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีที่ผลงานยังไม่คืบหน้า
ทั้งปมกฎหมายเพื่อสร้างความปรองดองที่ยังค้างรัฐสภา ไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้ไกลกว่าความขัดแย้งภาพเก่า
ทั้งชนวนความขัดแย้งกับปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่แม้จะมีการรุกคืบเจรจากับฝ่ายผู้ก่อการร้าย แต่สุดท้ายผลลัพธ์ในรอบ 4 เดือนที่ผ่านมา ยังเต็มไปด้วยรอยกระสุน เสียงปืน และควันไฟ
2 ภารกิจข้างต้น ถูกอ้างอิงถึงผู้ขับเคลื่อนคนเดียวกัน ภายใต้ชื่อ "ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง" รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง
และที่เป็นปัญหาที่สุดคือ อภิมหานโยบายประชานิยมอย่างโครงการรับจำนำข้าว ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนถึงความมั่นคงของรัฐบาล กระทั่ง "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้มีอำนาจจากดูไบต้องส่งสัญญาณถึงนายกรัฐมนตรีให้รีบแก้ไข
เมื่อเป็นเช่นนี้ รายชื่อ-หน้าตา "ครม.ปู 5" จึงเกิดขึ้นแบบปัจจุบันทันด่วน เพราะ "คำสั่งตรง" ถึงนายกรัฐมนตรีคือ ต้องเฉือนเนื้อร้ายที่บั่นทอนคะแนนนิยมและเสถียรภาพของรัฐบาลโดยเร็ว
ทั้งการดึง "มือทำงาน" ระดับข้าราชการ "รุ่นเก๋า" ในกระทรวงเศรษฐกิจ ทั้งการผลักดันมันสมองเบื้องหลังให้กลับสู่ถนนเบื้องหน้า ที่ต่างก็เป็นคนการเมืองระดับ "หัวกะทิ" จากอดีตสมาชิกบ้านเลขที่ 111
ทั้งหมดเพื่อดันผลลัพธ์การบริหารของรัฐบาลไปสู่ภาพความสำเร็จในอีก 2 ปีหลังจากนี้
โดยโครงการรับจำนำข้าวจะมอบหมายให้ "นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล" รมต.ประจำสำนักนายกฯ คนไว้ใจได้ของ "พ.ต.ท.ทักษิณ" และเป็นมือไม้-แขนขาให้ "ยิ่งลักษณ์" นั่งเก้าอี้กระทรวงพาณิชย์ เพื่อคุมเกมแก้ปัญหาจำนำข้าว
เพราะ "บุญทรง" ถูกตำหนิทั้งในและนอกพรรคเพื่อไทยว่าอ่อนการชี้แจง เช่นเดียวกับ "เผดิมชัย สะสมทรัพย์" รมว.แรงงาน หัวขบวน ส.ส.ภาคกลาง ที่เผชิญปัญหาผลกระทบจากการขึ้นค่าแรง 300 บาท
ทั้ง "บุญทรง-เผดิมชัย" ถูกติติงความนิ่งสงบ เสมือนการลอยแพนายกรัฐมนตรีฉายเดี่ยว
แต่ภารกิจเรื่อง "จำนำข้าว" ถือว่าเร่งด่วนและสุ่มเสี่ยงกว่า ฉะนั้น นอกเหนือจากการปรับทัพ ทีมยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยจึงผุดสารพัดอีเวนต์เข้ามาบริหารจัดการทันที
เริ่มตั้งแต่โครงการเสวนาจำนำข้าวสัญจร ที่เตรียมให้ "ทีมพาณิชย์" ลงพื้นที่จัดเวทีระดมความเห็น พร้อมคำอธิบายสารพันปัญหา พร้อมกับการเสริมแรงด้วยอดีตข้าราชการ "รุ่นเก๋า" คนเก่าคนแก่ประจำกระทรวง
อีกทั้งยังแต่งตั้ง "พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง" รองเลขาธิการนายกฯ ขึ้นเป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และข้อมูลปริมาณข้าวคงเหลือขององค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) เพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบสต๊อกข้าวพร้อมกัน 2,506 จุดทั่วประเทศว่าล่องหนไปไหน
รวมถึงแผนจากกรมการข้าว โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องจัดทำคู่มือ "การลดต้นทุนการผลิตข้าว" ลอตแรกจำนวน 20,000 เล่ม แจกชาวนาทั่วประเทศ โดยคาดหวังว่าจะทำให้ชาวนาลดต้นทุนได้ไร่ละ 1,500-3,000 บาทต่อไร่
ล่าสุด สำนักเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ที่มี "ภูมิธรรม เวชยชัย" เลขาธิการพรรคบัญชาการ ได้จัดทำ "สคริปต์" เรื่อง "การรับจำนำข้าว" ให้ ส.ส.-รัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยไปชี้แจงชาวบ้านในพื้นที่
โดยจัดทำเป็นไกด์ไลน์คำถาม-คำตอบ ที่ ส.ส.-รัฐมนตรีทุกคนจะต้องท่องให้ขึ้นใจ และไปอธิบายให้ประชาชน อันมีเนื้อหาระบุ 5 ข้อใหญ่ ดังนี้
1.สาเหตุที่ต้องชี้แจงให้เกษตรกรและประชาชนรับทราบ ในฐานะตัวแทนของพรรค ตัวแทนของประชาชน มีความเป็นห่วงสถานการณ์บ้านเมือง โดยเฉพาะปัญหาความไม่สบายใจและความเดือดร้อนของชาวนา ชาวนาเป็นกลุ่มคนและอาชีพที่น่าเห็นใจที่สุด ทำงานหนักที่สุด และมักถูกเอาเปรียบตลอดเวลา
"เรามักพูดกันอยู่เสมอว่าชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ เราเห็นอกเห็นใจชาวนา แต่พอเราคิดถึงพวกเขา พยายามคิดนโยบายเพื่อช่วยเหลือและแก้ปัญหาให้เขา กำหนดราคาจำนำข้าวเพื่อจะให้ประโยชน์และผลตอบแทนกับเขา ก็มีคนบางส่วนออกมาคัดค้านไม่สนับสนุนนโยบายจำนำข้าว"
2.กรณีที่มีข่าวว่าชาวนาไม่พอใจและจะออกมาประท้วง การรวมตัวของชาวนาและการลุกขึ้นออกมาแสดงความคิดเห็นของชาวนา เป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย "เมื่อเขาทุกข์ยากเดือดร้อน เขาก็อยากออกมาบอกให้สังคมรู้"
เขาก็อยากบอกสังคมว่า "พวกเขาเดือดร้อน" / "เขาสนับสนุนนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาล" / "อยากได้ 15,000 บาท"
เพียงแต่อยากให้การแสดงออกของชาวนาครั้งนี้เป็นการแสดงออกโดยสงบ สันติ หลีกเลี่ยงที่จะสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น อยากให้สังคม...ไม่ว่ารัฐบาล ฝ่ายค้าน คนเมือง หรือสื่อมวลชนต่าง ๆ เข้าใจความเดือดร้อนของพวกเขา
3.ตอกย้ำนโยบายจำนำข้าวคือนโยบายที่ดี และสนับสนุนการตัดสินใจของรัฐบาลครั้งนี้
ต้องเข้าใจและเห็นใจชาวนา ขณะเดียวกันก็เข้าใจและรับรู้ถึงความยุ่งยากของรัฐบาล/รัฐบาลเริ่มต้นนโยบายจำนำข้าว 15,000 ด้วยความประสงค์ที่อยากสนับสนุนช่วยเหลือชาวนา/หลัก พื้นฐานของการคิดนโยบายจำนำข้าวจึงไม่ควรเริ่มต้นคิดจากเรื่อง "กำไร-ขาดทุน" แต่เป็นเรื่อง "การสนับสนุนของรัฐเพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้ชาวนา"
รัฐบาลตัดสินใจจำนำข้าว 15,000 บาท ก็เพื่อเพิ่มศักยภาพของชาวนาให้มีเงินจับจ่ายใช้สอย แก้ปัญหาชีวิตของพวกเขาให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น/มีตัวเลขทางเศรษฐกิจชัดเจนว่า "นโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย" ชาวนาได้ประโยชน์ สามารถลดหนี้สินของครอบครัว/มีเงินจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น/กระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีขึ้น/มีเงินออมมากขึ้น
ตลอดทั้งชีวิตของชาวนาเริ่มจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นบ้าง "แล้วทำไมฝ่ายค้าน หรือคนบางส่วนจึงแสดงท่าทีคัดค้านมาโดยตลอด"
"ท่านนายกฯยิ่งลักษณ์" ประกาศชัดเจนว่า เหตุผลการที่รัฐบาลผลักดันนโยบายจำนำข้าว เพราะเจตนาที่จะทำให้ข้าวมีราคาที่เป็นธรรม แก้ไขปัญหาให้ชาวนาซึ่งเป็นผู้ที่มีรายได้น้อย ทำให้มีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่ง ๆ ขึ้น การที่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณก็เพื่อให้ความช่วยเหลือและดูแลชาวนา "เป็นเงินสนับสนุนเพื่อชีวิตของเกษตรกรและการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่เพื่อสร้างกำไร-ขาดทุน เหมือนการลงทุนทางเศรษฐกิจทั่วไป"
ด้านการใช้จ่ายเงินเพื่อเยียวยาความขาดแคลนของชีวิตชาวนา ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญของคนส่วนใหญ่ที่เดือดร้อนของประเทศ และการใช้จ่ายเงินของชาวนาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจอีก 5-6 รอบ ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศดีขึ้น GDP สูงขึ้นอีกหลายเปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม "ท่านนายกฯยิ่งลักษณ์" ประกาศชัดเจนว่า รัฐบาลยังยืนยันที่จะสร้างความสมดุลในหลาย ๆ มิติ
มิติที่ 1 ชาวนาต้องขายข้าวได้ในราคาที่เป็นธรรม คือ ต้องขายข้าวได้ไม่ขาดทุน เมื่อคำนวณจากราคาต้นทุน
มิติที่ 2 รักษาความสมดุลของต้นทุนการผลิตข้าวกับราคาข้าว "ข้าวใดราคาสูง ต้นทุนสูง ราคาขายต้องสูงตามคุณภาพข้าวที่ได้ด้วย"
มิติที่ 3 การปรับเพิ่ม ลดราคาจำนำข้าว คำนึงถึงผลกระทบจากราคาผลิตผลในตลาดโลก + ภาวะค่าเงินบาท และปริมาณข้าวที่ผลิตขึ้นได้ในตลาด
มิติที่ 4 คำนึงถึงความสมดุลระหว่างค่าใช้จ่ายที่รัฐช่วยเหลือเกษตรกรกับวินัยการเงินการคลัง เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศไม่มีผลกระทบในระยะยาว และเติบโตอย่างยั่งยืน
และที่สำคัญ "ท่านนายกฯยืนยันที่จะปรับปรุงขั้นตอนและกระบวนการจำนำข้าวให้เกิดความโปร่งใสในทุกขั้นตอน และยืนยันว่าที่ผ่านมาเงินทุกบาทโอนถึงมือชาวนาอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้"
สำหรับการตัดสินใจของรัฐบาลครั้งนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐาน ข้อจำกัด และความยุ่งยากที่ทุกฝ่ายกำลังเผชิญอยู่กับเงื่อนไขและสภาพแวดล้อมที่มีผลกระทบมา สถานการณ์วันนี้จึงอยากให้ทุกฝ่ายใช้สติ ใช้เหตุผล หันหน้ามาเข้าหารือกัน ร่วมกันคิด ร่วมกันหาทางออก ว่าทุกคนมีความปรารถนาดี ประเทศจะมีทางออกที่สมเหตุสมผลที่ทุกฝ่ายยอมรับและสบายใจ
4.ความคิดเห็นต่อท่าทีของฝ่ายค้าน-ท่าทีผู้นำฝ่ายค้าน
ต้องร้องขอเรื่องอยากเห็นการทำงานของฝ่ายค้าน ตั้งอยู่บนเหตุผล และการร่วมกันทำงานกับรัฐบาลเพื่อผลประโยชน์โดยรวมของชาวนาและคนยากคนจน มิใช่เหตุผลทางการเมืองแต่เพียงอย่างเดียว
"ขอให้คิดว่าปัจจุบันฝ่ายค้านก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้น จากการค้านนโยบายจำนำข้าวอย่างหัวชนฝา ปัจจุบันก็ได้ยินและได้เห็นท่าทีของผู้นำฝ่ายค้านที่เห็นด้วยกับรัฐบาลว่า นโยบายจำนำข้าวควรจะยืนที่ 15,000 บาท เพื่อให้ชาวนาได้ประโยชน์"
5.ข้อเสนอสนับสนุนรัฐบาลให้เดินหน้าโครงการจำนำข้าวต่อไป ในฐานะตัวแทนของพี่น้องชาวนาและประชาชน ขอเสนอให้รัฐบาลพิจารณาและดำเนินการให้เกิดประสิทธิภาพและความชัดเจนมากขึ้นในเรื่องเหล่านี้
ปรับปรุงกระบวนการขายข้าวและระบายข้าวให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ให้ประชาชนทุกฝ่ายได้รับรู้และสบายใจ ปรับปรุงกระบวนการจัดระบบ และดูแลงบประมาณที่นำมาใช้ให้เกิดการหมุนเวียนที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ปรับปรุงกระบวนการในการควบคุม และดูแลการจำนำข้าวให้ผลประโยชน์ตกแก่ชาวนาอย่างเต็มที่
ดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องทุจริตอย่างเต็มที่หากตรวจพบ และสุดท้าย สนับสนุนนโยบายท่านนายกฯยิ่งลักษณ์ ที่จะมีการปฏิรูปภาคการเกษตร/ปรับสมดุลเรื่องเกษตรโซนนิ่งที่ได้มีการริเริ่มแล้ว ที่มีการสำรวจว่าพื้นที่ไหนเหมาะกับการเพาะปลูกอะไร เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกร และสนับสนุนให้เกษตรกรมีชีวิตที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ทันทีที่ ส.ส.พลิกคู่มือดังกล่าวเปิดอ่าน บางคนขำ บางคนวิจารณ์ เพราะเนื้อหาในคู่มือไม่สามารถนำไปพูดคุยกับชาวบ้านได้ เพราะ "วิชาการเกินไป"
ส.ส.ในพรรคหลายคนระบุตรงกันว่า ถ้าไปอธิบายให้ชาวบ้านฟังตามเอกสาร ชาวบ้านไม่เข้าใจแน่นอน
แม้สารพัดอีเวนต์จะถูกเข็นออกมา แต่เมื่อโครงการรับจำนำข้าวยังมีสถานะจุดตาย-จุดสลบของพรรคเพื่อไทย ที่ต้องสลัดบ่วงสารพัดปัญหาให้หลุด
แต่การปรับ ครม.เปลี่ยนคนรับผิดชอบ จาก "บุญทรง" มาเป็น "นิวัฒน์ธำรง" จะทำให้รัฐนาวาพรรคเพื่อไทยรอดพ้นปัญหา ขจัดเสียงครหาต่าง ๆ และเรียกคืนความเชื่อมั่นกลับมาได้หรือไม่...
ต้องจับตา
Home » บ้านเลขที่ 111 » "ยิ่งลักษณ์" จัดทัพสู้ศึก 2 ปี ตัดเนื้อร้าย - ขนอีเวนต์แก้ข่าว จุดพลุจ็อบแรกสมานแผล "จำนำข้าว"
Sunday, June 30, 2013
"ยิ่งลักษณ์" จัดทัพสู้ศึก 2 ปี ตัดเนื้อร้าย - ขนอีเวนต์แก้ข่าว จุดพลุจ็อบแรกสมานแผล "จำนำข้าว"
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
0 comments:
Post a Comment