Thursday, July 18, 2013

ส.ข้าวถุงจี้"สารี" เปิดชื่อแล็บ


สำหรับสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย ได้ประชุมด่วนร่วมกับสมาชิก เพื่อหาแนวทางเร่งด่วนสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค และสร้างภาพลักษณ์อุตสาหกรรมข้าวไทยให้กลับคืนมา นายสมเกียรติ มรรคยาธร นายกสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย กล่าวว่า สมาคมมีมติเตรียมจัดโครงการตรวจสอบข้าวบรรจุถุงเดือนละ 1 ครั้ง โดยเชิญมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคมาร่วมโครงการด้วย เพื่อตรวจสอบสารรมควันเมทิลโบรไมด์ ผ่านสถาบันนานาชาติอย่างเอสจีเอส โอมิกซ์ ซึ่งคาดว่าจะร่วมแถลงข่าวอีกครั้งวันที่ 24 ก.ค. และเริ่มดำเนินการเดือนส.ค.

"สมาคมต้องการให้มูลนิธิผู้บริโภคเปิดเผยห้องแล็บที่นำข้าวบรรจุถุงไปตรวจสอบ เพราะเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือของมูลนิธิเอง ซึ่งควรชี้แจงและเปิดเผยทั้งห้องแล็บที่ตรวจสอบและวิธีการตรวจสอบต่างๆ ด้วย หากมูลนิธิสามารถเปิดเผยข้อมูลได้จะเป็นเรื่องที่ดี แต่หากไม่สามารถเปิดเผยได้ สมาคมก็ไม่ได้ซีเรียสอะไร เพราะกำลังมีโครงการร่วมกับมูลนิธิอยู่แล้ว?นายสมเกียรติกล่าว

ก.เกษตรฯก็มึนตรวจแล็บไหน

นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีห้องปฏิบัติการสำหรับตรวจสอบสารตกค้างที่ได้มาตรฐานแค่ 2 แห่ง ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯ จึงประสานไปยังอย. เพื่อตรวจสอบสารตกค้างในข้าวทุกชนิดอีกครั้ง เพื่อเป็นการรีเช็กว่า ข้าวไทยมีสารพิษตงค้างหรือไม่ เป็นจริงอย่างที่มูลนิธิเพื่อการบริโภคตรวจสอบมาอย่างไร เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันสั่งให้เก็บตัวอย่างข้าว เพื่อตรวจสอบสารตกค้างแล้ว คาดว่าอีกไม่เกิน 3 วันน่าจะรู้ผล

"ผลการวิเคราะห์ตัวอย่างข้าวของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ไม่รู้จะเชื่อได้มากน้อยแค่ไหน เพราะห้องแล็บมาตรฐานในประเทศไทยมีน้อยมาก เมื่อถามไปว่าตรวจสอบที่แล็บไหนก็ไม่บอก ไม่รู้จะเชื่อถือได้มากแค่ไหน การตรวจสอบอาจทำกันหลังบ้านก็ได้ ใครจะไปรู้"นายนิวัติกล่าว

นายดำรงค์ จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า จากกรณีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีการเก็บ
รวบรวมตัวอย่างข้าวถุงที่จัดจำหน่ายภายในประเทศแล้วพบข้าวถุงตราโค-โค่ ข้าวขาวพิมพา มีสารเมทิลโบรไมด์ตกค้างอยู่ที่ 67.4 พีพีเอ็ม เกินมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างข้าวถุงทั้งหมดภายในประเทศ รวมถึงข้าวถุงตราโค-โค่ เพื่อตรวจวิเคราะห์สารเมทิลโบรไมด์ที่ตกค้างเพื่อยืนยันผลตรวจของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่ามีความถูกต้องหรือไม่ และได้ร่วมกับองค์การอาหารและยา นำเจ้าหน้าที่ตรวจสอบโรงผลิต แต่ยืนยันว่าสารเมทิลโบรไมด์ ที่นำมาใช้ในการอบข้าวนั้น เป็นสารที่ระเหยได้รวดเร็ว และเมื่อนำไปล้างน้ำ สารดังกล่าวจะมีปริมาณลดลง ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค และมองว่าการดำเนินการของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นการดำเนินการที่ดี ที่ตรวจสอบข้าวภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ข้าวภายในประเทศได้ 

"สารี"อ้ำอึ้ง-ปัดบอก

ส่วนน.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงกระบวนการเก็บตัวอย่างข้าวมาตรวจสอบว่า การเก็บตัวอย่างข้าวเพื่อนำมาตรวจในครั้งนี้ ไม่อยากให้มองเป็นเรื่องการเมือง แต่เป็นเพราะมีประชาชนร้องเรียนและสอบถามจำนวนมาก และในขณะนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่แถลงผลการตรวจหรือชี้แจง ซึ่งตามปกติมูลนิธิมีความเชื่อมั่นในอย.อยู่แล้ว ทั้งนี้ กระบวนการเก็บตัวอย่างตรวจสอบของมูลนิธิ มีนักวิชาการและตรวจสอบในห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

"ผลการตรวจเป็นการทำงานบนหลักวิชาการ แต่ที่ไม่สามารถเปิดเผยห้องปฏิบัติการได้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อห้องปฏิบัติการ แต่ยืนยันว่าการทำงานเป็นไปตามหลักการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และถ้าจะนำตัวอย่างของมูลนิธิไปตรวจซ้ำก็ยินดี"น.ส.สารีกล่าว

ที่มา: ข่าวสด

0 comments:

Post a Comment

 
Copyright © . Yak Ratchaprasong - Posts · Comments
Theme Template by BTDesigner · Powered by Blogger