เมื่อ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผู้บังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ปอท.) ออกตัวแรงกับกรณี “หมิ่นผ่านเน็ต” หากผู้ใดกระทำเจ้าหน้าที่สามารถจับได้ทันที ไม่ต้องมีการฟ้องร้อง พร้อมโทษจำคุก 5 ปี
จุดชนวนถึงการปฏิบัติหน้าที่และนัยของการออกมาประกาศเน้นย้ำถึงการบังคับใช้พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ท่ามกลางกระแสร้อนแรงในการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนที่มีต่อนักการเมืองบนอินเทอร์เน็ต
ออกตัวแรง “หมิ่น - จับ - ขัง 5 ปี”
พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีเเละปรับไม่เกิน 1 เเสนบาท เป็นพ.ร.บ.แรกที่เกี่ยวกับการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ซึ่งประกาศใช้หลังจากการรัฐประหาร 2549 ท่ามกลางเหตุการณ์ทางการเมืองที่โลกอินเทอร์เน็ตเต็มไปด้วยคิดเห็นที่แตกต่าง
แต่เดิมทีพ.ร.บ.ดังกล่าวก็มีการพูดถึงในแง่ของปัญหาจากการบังคับใช้อยู่แล้ว ในฐานะที่เคลื่อนไหวด้านสิทธิของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมาตลอด อาทิตย์ เผยถึงข้อกฎหมายเป็นที่ปัญหาซึ่งมีอยู่มาตราหลักนั่นคือ มาตรา 14 15 และ16
โดยมาตรา 14 นั้นจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับข้อมูลที่เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตแล้วจะผิดกฎหมาย อย่าง ข้อมูลอันเป็นเท็จ หมิ่นประมาท หรือความมั่นคง ทั้งนี้ผู้กระทำผิดจะเป็นลักษณะของผู้ใช้บริการ โดยจะเป็นคดีอาญา เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีแล้วไม่สามารถยอมความได้ มีโทษจำคุกสูงถึง 5 ปี
ขณะที่มาตรา 15 นั้นจะเกี่ยวกับผู้ให้บริการ ตัวอย่างเช่น เว็บข่าวต่างๆ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานโพสต์ความเห็น หากความเห็นเหล่านั้นผิดตามมาตรา 14 ก็จะผิดฐานเหมือนเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด โดยระบุโทษเท่ากันคือจำคุก 5 ปี ขณะที่มาตรา 16 นั้นมีเนื้อหาเกี่ยวกับภาพตัดต่อ แต่เป็นคดีที่ยอมความได้
“เดิมที เจตนาของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์คือการป้องกันความผิดที่จะกระทำผ่านคอมพิวเตอร์ เป็นการออกกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ตัวอย่างเช่น การขโมยรถ รถหายไป เราไม่สามารถใช้รถได้ แต่การขโมยข้อมูลนั้นไม่เหมือนกัน เรายังมีข้อมูลนั้นอยู่ แต่คนขโมยก๊อบปี้ข้อมูลของเราไป ซึ่งถ้าเป็นกฎหมายเดิม ศาลฎีกาตีความออกมาแล้วว่า ไม่ผิด ดังนั้น มันจึงต้องมีการออกกฎหมายมาเพื่อทำอะไรสักอย่างกับกรณีแบบนี้”
ในส่วนของข้อมูลเท็จนั้น มีการออกแบบตามเจตนาเดิมให้ใช้กับกรณีอย่างการปลอมแปลงข้อมูลบัตรเอทีเอ็ม หากมีใครปลอมแปลงบัตรแล้วนำไปกดเงิน ข้อมูลที่เข้าสู่ตู้เอทีเอ็มซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์นั้นถือว่าเป็นเท็จ ดังนั้นจึงผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ทว่าการนำมาใช้ในปัจจุบันนั้นกลับผิดต่อเจตนาเดิมของตัวบทกฏหมาย
เขาเผยถึงหลายกรณีที่มีการให้พ.ร.บ.ดังกล่าวในทางที่ผิด นักต่อสู้ด้านสิทธิผู้ป่วยคนหนึ่งถูกกลุ่มแพทย์ฟ้อง จากที่การทำแคมเปญรณรงค์ว่า ปีหนึ่งมีผู้เสียหายจากความผิดพลาดในการรักษาพยาบาลเท่าไหร่ ซึ่งข้อมูลยังไม่มี แต่การรณรงค์นั้นได้นำตัวเลขจากอเมริกาแล้วเปรียบเทียบว่า หากคุณภาพการรักษาพยาบาลของประเทศไทยเท่ากับอเมริกา ประเทศไทยจะมีผู้เสียหายจากกรณีเหล่านี้เท่าไหร่ ซึ่งกลายเป็นช่องให้กลุ่มแพทย์ให้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ในการฟ้องร้อง
“ตัวแทนสหภาพแรงงานก็มีกรณีที่ถูกบริษัทแห่งหนึ่งฟ้องด้วยมาตรา 14 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แม้ว่าบริษัทจะมีการเจรจายอมความแล้ว แต่ตามพ.ร.บ.มันเป็นคดีอาญาเลยไม่สามารถยอมความได้”
เมื่อเทียบกับกฎหมายหมิ่นประมาททั่วไป หมิ่นผ่านสื่อจะเห็นว่ามีโทษไม่เกิน 2 ปี ยอมความได้ด้วย ทำให้เห็นว่าไม่ยุติธรรม
“จนถึงตอนนี้ มันก็ผ่านมา 6 ปีแล้วนับจากที่เริ่มใช้กฎหมายนี้ ทางสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ที่เป็นคนออกแบบกฎหมายนี้ก็เห็นว่า มันถูกนำไปใช้ผิดเจตนา ตอนนี้ก็มีการดำเนินการยกร่าง ทำประชาพิจารณ์สำรวจความคิดเห็นประชาชนกันเพื่อแก้ไขกฎหมายนี้”
บอกได้ว่า หลายภาคส่วนเริ่มมีนโยบายที่เห็นว่า กฎหมายดังกล่าวนั้นมีปัญหา และก่อให้เกิดความอยุติธรรมขึ้น
แม้แต่ภาครัฐเองก็ยังขานรับ เขาจึงเห็นว่า หากเป็นภาครัฐเหมือนกันก็ควรจะคุยกันบ้างว่านโยบายควรดำเนินไปในทางใดกับกฎหมายที่ปัญหาอยู่นี้
ส่วนของการแก้กฎหมายนั้น เขาเห็นว่า โลกอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันที่ขยายตัวไป ทำให้ข้อมูลหลายอย่างเดินทางเร็วขึ้น ผู้อ่านก็สามารถแสดงความคิดเห็นได้มากขึ้น การออกฎหมายจึงควรคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ด้วย
“พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับที่ใช้อยู่มันคำนึงถึงเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างเดียว แต่ไม่ได้คำนึงถึงพฤติกรรมของผู้คน การแสดงออกของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย ในต่างประเทศอย่างอังกฤษมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้สื่อสามารถทำให้คนไม่พอใจได้ หากเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อสาธารณะต้องมาก่อน
“กับสังคมไทยมันมีความคาดหวังมากขึ้น เราเรียกร้องกันว่า นักการเมืองต้องไม่คอร์รัปชัน กระบวนการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นศาล หรือนักการเมือง มันต้องโปร่งใส แต่มันจะโปร่งใสได้ไงละ เมื่อประชาชนจะลุกขึ้นมาตรวจสอบ แล้วก็ฟ้องกันหมด มันไปกันไม่ได้ไง ผมคิดว่ากฎหมายมันต้องเอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงไปของสังคมตรงนี้ด้วย”
การตัดต่อ - ล้อเลียน - วิพากษ์วิจารณ์กับบุคคลสาธารณะ และยิ่งกับคนทำงานเพื่อสาธารณะประโยชน์อย่างนักการเมือง การตรวจสอบถือเป็นความดีงามหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย หากทว่ามาถึงตอนนี้ดูเหมือนนับวันความดีงามที่เป็นเสมือนแสงไฟอันริบหรี่กำลังจะถูกดับลงทุกที มีเพียงประชาชนเท่านั้นที่จะลุกขึ้นปกป้องสิ่งที่ทุกคนควรได้รับ
ที่มา ASTV ผุ้จัดการ LIVE
Home » วิพากษ์ » วิพากษ์ วิจารณ์ ล้อเลียน ด่าทอ เหมาะสม หรือ ล้ำเส้น
Monday, July 1, 2013
วิพากษ์ วิจารณ์ ล้อเลียน ด่าทอ เหมาะสม หรือ ล้ำเส้น
Stay Tuned with our News Letter
Don't miss out on the latest
news, sign up for our Newsletter.
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
0 comments:
Post a Comment