Monday, July 29, 2013

"ประชาธิปัตย์"ต้องมองไกล ไม่ใช่คอยส้มหล่น ...อลงกรณ์ พลบุตร

โดย...ธนพล บางยี่ขัน  คมชัดลึก

หลายคนที่ติดตามสถานการณ์การเมืองช่วงนี้คงอดสงสัยไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับศิษย์ก้นกุฏิประชาธิปัตย์อย่าง “อลงกรณ์ พลบุตร” รองหัวหน้าพรรคดูแลรับผิดชอบภาคกลาง ซึ่งระยะหลังการออกมาขยับตัวแต่ละครั้งดูจะหลุดกรอบ แหกธรรมเนียมปฏิบัติของพรรคเก่าแก่ จนสร้างแรงกระเพื่อมสั่นสะเทือนไปทั้งพรรค

ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องการออกมาเป็นตัวตั้งตัวตีเรียกร้องให้เกิดการยกเครื่องประชาธิปัตย์ เพื่อหนีจากวงจรความพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้ง ซึ่งยังตีโจทย์ไม่แตกมาถึง 21 ปี และล่าสุดกับการแหกกรอบพรรคออกมาเตรียมเสนอแนวคิดเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่สุดท้ายต้องยอมจำนนกับมติพรรค ม้วนเสื่อเก็บร่างกฎหมายนิรโทษกรรม

“อลงกรณ์” ในวันนี้ซึ่งสวมเสื้อประชาธิปัตย์ลุยถนนการเมืองมา 22 ปี และมีแผนในใจแล้วว่าอีกกี่ปีจะเกษียณอายุตัวเอง เปิดใจถึงภารกิจ “ปฏิรูปพรรค” ที่ตั้งใจว่าจะต้องทำให้ประชาธิปัตย์กลับมาเป็นทางเลือกให้ประชาชนก่อนวางมือทางการเมืองให้ได้ แม้รู้ทั้งรู้ว่าเป็นเส้นทางที่เต็มไปด้วยความยากลำบากและไม่เป็นผลดีต่อตัวเอง

“ความจริงผมอยู่เฉยๆ ก็ได้ ทำงานอย่างที่เป็นอยู่ เป็นรองหัวหน้าพรรคภาคกลาง เป็นปาร์ตี้ลิสต์ลำดับสูง รอการเปลี่ยนแปลงกลับมาเป็นรัฐบาล ก็มีตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี อยู่แบบขอนลอยน้ำ หรือแม้จะเป็นฝ่ายค้านอีก 10-20 ปีก็ยังเป็น สส.อีกต่อไป แต่ผมเห็นว่าวันเวลามีค่าสำหรับประเทศและสำหรับคนที่รักประชาธิปัตย์ เราอาจจะเสี่ยงตัวเองในการนำเสนอความแตกต่าง แต่ถ้าเราไม่เสนอใครจะเสนอ

...แต่พรรคให้ผมมามากกว่าที่ผมให้พรรค สิ่งที่ผมจะทำให้ช่วงท้ายของชีวิตทางการเมืองของผมคือการปฏิรูปพรรค สร้างการเปลี่ยนแปลงให้ประชาธิปัตย์กลับมายิ่งใหญ่เป็นหลักของบ้านเมือง เป็นพรรคจรรโลงระบอบประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง”

อลงกรณ์ ชี้แจงว่า แนวคิดปฏิรูปพรรคเกิดขึ้นทุกครั้งหลังการเลือกตั้ง และเหมือนไฟไหม้ฟาง ไม่มีอะไรเกิดขึ้น โดยช่วงปีกว่าที่ผ่านมาพรรคได้พูดเรื่องนี้หลายครั้ง มีการประชุมเป็นการเฉพาะที่ จ.พิษณุโลก มีการจ้างมืออาชีพทำการวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อน จะต้องปฏิรูปอะไรบ้าง หลังจากนั้นเราก็ปฏิรูปไปบ้าง แต่ไม่เพียงพอ จนได้ข้อสรุปว่าต้องปฏิรูปใหญ่ แบบองค์รวมที่ทุกฝ่ายเห็นด้วยและทุกคนต้องช่วยกันผลักดันปฏิรูป 3 ด้าน โครงสร้าง การบริหารจัดการ วัฒนธรรมองค์กรและบุคลากร

อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนขณะนี้คือ การนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาเพื่อหาข้อสรุปร่วมกับข้อเสนอจากสมาชิกคนอื่นๆ และคาดว่าอีกประมาณไม่เกิน 2 สัปดาห์ น่าจะได้ข้อยุติ หากยังไม่สมบูรณ์ก็ปรับปรุงให้เป็นไปตามกรอบแนวทางที่วางไว้ หากสมบูรณ์ก็เสนอเข้าที่ประชุมตามลำดับ คือนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคและที่ประชุม สส.พรรค

โจทย์สำคัญคือ ทำอย่างไรถึงจะกลับมาเอาชนะการเลือกตั้ง ซึ่งตลอด 21 ปีที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จ เราจะอยู่แบบเดิมๆ ต่อไปไม่ได้ เพราะจะทำให้ประเทศเสียโอกาส ระบอบประชาธิปไตยจำเป็นต้องรักษาระบบถ่วงดุล ตรวจสอบ เพื่อไม่ให้เสียงข้างมากใช้อำนาจเกินขอบเขต หรือใช้อำนาจอย่างฉ้อฉล แต่ถ้าหากเราไม่เข้มแข็งเพียงพอ ระบบเช็กแอนด์บาลานซ์ ซึ่งเป็นหลักการสำคัญที่สุดก็จะเสียดุล หมายถึงการเสียประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

“ผมมีแนวคิดข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปพรรค ซึ่งความจริงก็ช้าไปด้วยซ้ำ เราปล่อยเวลาผ่านมา 21 ปี เราก็อยู่กันอย่างนี้ คิดกันเองแก้กันเอง พยายามแล้วพยายามอีกก็ยังไม่สำเร็จ จนบางครั้งเราก็ออกนอกแนวที่เราเคยเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา บางครั้งเราก็ต้องยอมด้วยสถานการณ์บ้านเมืองที่บังคับไม่สามารถให้เรายืนอยู่บนหลักการที่เราเชื่อมั่นได้ 100%

...บทเรียนหลังสุดที่เกิดขึ้นในปี 2551 ที่ส่งผลให้เราได้เป็นรัฐบาล ผมถือว่าเป็นการจ่ายราคาแพงมากในเวลาต่อมา ไม่ว่าเราจะถูกกล่าวหาว่าอิงแอบเผด็จการ หรือปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต ในยามที่เราเป็นรัฐบาล สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการสั่นคลอนเกียรติภูมิของพรรค ในขณะที่ผมเป็นรองหัวหน้าพรรค ผมต้องทำอะไรบางอย่าง เพราะมันเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบที่เราจะต้องต่อสู้และฟื้นฟูพรรค และต้องเสนอแนวทางฟื้นฟูพรรค ซึ่งผมได้เสนอแนวทางปฏิรูปพรรค ซึ่งแตกต่างจากวิถีทางเดิมๆ แต่ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงเราจะกลับมาเข้มแข็งได้อย่างไร สิ่งที่หัวหน้าพรรคในอดีตเคยพูดไว้ว่าเราเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา เราต้องดำเนินวิถีทางดังกล่าวอย่างเคร่งครัด”

อลงกรณ์ อธิบายว่า สิ่งที่จำเป็นต้องปรับปรุงในพรรคคือการปฏิรูปวัฒนธรรมสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีวัฒนธรรมเดิมฝังรากลึกเอาไว้ ทำให้พฤติกรรมของคนในองค์กรเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แม้จะมีความหลากหลายแตกต่าง แต่ไม่ง่ายต่อการพลิกตัว มีแต่แนวทางปฏิรูปเท่านั้นที่จะทำให้เกิดการยกเครื่องทั้งวิธีคิดวิธีทำงาน รวมถึงบริหารจัดการ และโครงสร้างต่างๆ


ประเด็นเรื่องการตอบโต้รายวัน อลงกรณ์ เห็นว่า หากเป็นรูปแบบการทำงานการเมืองเมื่อ 20 ปีก่อนอาจจะประสบความสำเร็จ เพราะประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารไม่มาก ส่วนใหญ่ฟัง สส.พูดจาปราศรัย แต่ทุกวันนี้มีสื่อมวลชน มีอินเทอร์เน็ต สิ่งที่เราพูดคิดดำเนินการในอดีตอาจไม่มีประสิทธิภาพอย่างทุกวันนี้ เราก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานในเชิงคุณภาพมากขึ้น และเปิดพรรคกว้างมากขึ้น สร้างแนวร่วมมากขึ้น ลดการตอบโต้รายวันลง วันนี้สังคมต้องการคุณภาพของความเห็นมากกว่าการตอบโต้ไปมา เพราะประชาชนมีข้อมูลเปรียบเทียบในการใช้ดุลยพินิจมากกว่า

ประชาธิปัตย์ต้องทำงานที่เป็นรูปธรรมให้เห็นเป็นตัวอย่างมากขึ้น เช่น วันนี้รัฐบาลมีปัญหาจำนำข้าว คำถามคือหากประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลจะทำอย่างไร ใช้นโยบายประกันเพียงอย่างเดียวเหมือนเดิม หรือจะพัฒนานโยบายดังกล่าวให้เป็นทางเลือกที่ดีกว่า เราก็ยังตอบไม่ได้ ผ่านมาสองปีของรัฐบาลชุดนี้ไม่รู้ว่าวันใดวันหนึ่งจะมีการยุบสภา เพราะการบริหารจัดการยังไม่มีการปรับปรุงองค์กรให้สนับสนุนงานดังกล่าวได้

ทั้งนี้ สิ่งที่จะเห็นหลังจากการปฏิรูป คือ การพิจารณาจุดยืน และแนวทางของพรรค จะมีความรอบคอบ มีการรับฟังความเห็นจากหลายฝ่ายมากขึ้น การบริหารจัดการแบบใหม่เปิดกว้าง มีข้อมูลครบถ้วน มีระบบการสนับสนุน การตัดสินใจ ซึ่งในปัจจุบันยังเป็นแค่ตัวบุคคล คณะบุคคล ที่ยังขาดความรอบด้าน กระบวนการดำเนินการทางการเมือง เมื่อมีระบบสนับสนุนเชิงข้อมูลและการวิจัยจะทำให้การกำหนดท่าทีและการกำหนดนโยบายในการขับเคลื่อนทางการเมือง ไปจนถึงการกำหนดนโยบายสำคัญของประเทศมีความเป็นระบบมากขึ้น มีประสิทธิภาพในเชิงการเป็นนโยบายที่จะพัฒนาประเทศที่ดีขึ้น โดยหัวใจความสำเร็จจะอยู่ที่หัวหน้าพรรค ที่จะเป็นผู้นำทางการเปลี่ยนแปลง ผู้นำการปฏิรูป นำพรรคไปสู่ยุคใหม่

ส่วนเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนในพรรคที่ห่วงว่าการปฏิรูปครั้งนี้อาจทำให้ประชาธิปัตย์ต้องเสียจุดยืนไปเดินตามคู่แข่ง เสนอนโยบายประชานิยมเพื่อหวังชนะเลือกตั้งนั้น ถือเป็นความคิดที่ตรงกันข้ามกับข้อเท็จจริง เพราะการปฏิรูปพรรคจะทำให้พรรคสร้างนโยบายบนความยั่งยืนเพื่อแข่งขันกับนโยบายประชานิยมแบบสุดกู่ของพรรคเพื่อไทย โดยจะจัดตั้ง "สำนักวิจัยพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์"ซึ่งพรรคไม่มีในปัจจุบัน

“ผมคิดว่าเราต้องมองไกลใจกว้างต่อการเปลี่ยนแปลง อย่ากลัวการเปลี่ยนแปลง อย่ามองแค่รั้วบ้านตัวเอง ต้องมองไปถึงการปฏิรูปประเทศว่าในระบบสองพรรค สองขั้วการเมืองใหญ่ ไม่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็เป็นรัฐบาลที่จะต้องบริหารประเทศ ดังนั้น การปฏิรูปประชาธิปัตย์จะนำไปสู่การกลับมาชนะใจประชาชนอีกครั้งด้วยคุณภาพของนโยบายที่ดี การบริหารจัดการที่ดี

...เราต้องคิดเก่งทำเก่งกว่าพรรคเพื่อไทย ประชาธิปัตย์จึงจะชนะการเลือกตั้ง อย่าไปคิดส้มหล่น อย่าไปคิดหวังอำนาจอย่างอื่น ไม่เช่นนั้นถึงแม้เราจะชนะได้เป็นรัฐบาลประเทศก็ไม่มีสันติสุข ในมุมกลับกัน เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทย ก็จะต้องไม่ใช้อำนาจในการบริหารอย่างฉ้อฉล เพราะในที่สุดประชาชนก็จะไม่ให้การสนับสนุน ควรใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ส่วนรวมและมาแข่งขันเชิงคุณภาพ ประเทศนี้ก็จะเกิดคุณภาพ ก็จะกลับมาสู่ความสามารถในการแข่งขันอีกครั้ง”

ผมเป็นอิสระ ตามอุดมการณ์พรรค

การออกมาปลุกกระแส “ปฏิรูป” ของอลงกรณ์เที่ยวนี้ดูจะสร้างแรงเสียดทานให้กับตัวเขาอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะจากคนในพรรค จนหลายคนวิตกว่าจะนำไปสู่ความแตกแยก แต่เจ้าตัวยืนยันว่าไม่มีความแตกแยกในความแตกต่าง ตัวเขาต่อสู้เคียงคู่กับพรรคไม่ว่ายามรุ่งเรืองหรือตกต่ำ ไม่ว่ายามเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล

“ผมเป็นคนของพรรค ไม่ใช่คนของใคร ไม่ใช่เด็กของใคร ผมมีความเป็นอิสระ ตามอุดมการณ์ของพรรค ในการเสนอความแตกต่างทางความคิด ผมเคารพมติพรรค รักษาวินัยพรรคมาโดยตลอด”

...ผมเป็นคนที่จงรักภักดีต่อพรรค เป็นคนที่ยึดมั่นกับพรรคมาโดยตลอดไม่เปลี่ยนแปลง ตั้งแต่เริ่มชีวิตการเมืองผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก แม้จะมีแรงเสียดทานการตำหนิติเตียน ความไม่เห็นด้วย หรืออะไรก็ตาม ผมก็เข้าใจได้ในวิถีชีวิตทางการเมือง แต่เชื่อโดยเจตนาดี และความภักดีที่มีต่อพรรคมายาวนานก็จะเป็นเกราะคุ้มกัน ผมอยู่กับพรรคนี้มาตั้งแต่เกิด ไม่คิดจะไปไหน และจะอยู่ต่อไปจนกว่าเขาจะไล่”

อลงกรณ์ เปรียบเทียบว่า สิ่งที่เขาพยายามผลักดันให้เกิดการปฏิรูปนั้น บางทีมันก็เหมือนกับ “ยาขม” แต่ก็เป็นยาที่มีประโยชน์ อาจมีคนที่ไม่ชอบบ้าง ก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่วันหนึ่งข้างหน้าก็จะเห็นผล อย่างพรรคเลเบอร์ของอังกฤษสมัยก่อนที่พ่ายแพ้พรรคอนุรักษ์นิยมมาอย่างยาวนาน ก็มีคนอย่างโทนี แบลร์ และคนอื่นๆ ที่คิดนอกกรอบและเปลี่ยนวิถีทางด้วยการปฏิรูปพรรค ซึ่งประสบความยากลำบากในช่วงต้นๆ แต่ท้ายที่สุด คนในพรรคเลเบอร์ก็ให้การยอมรับและทำให้พรรคกลับมาสู่ชัยชนะ

"นิรโทษกรรม"ฉบับสร้างศรัทธา

ชัดเจนแล้วว่า “ประชาธิปัตย์” ยังคงยืนยันในจุดยืนเดิม คือ เรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หรือปรองดอง ทั้ง 6 ฉบับออกจากการพิจารณาของสภา เพื่อเปิดโต๊ะแลกเปลี่ยนความเห็นให้ตกผลึกร่วมกันก่อนก่อนเสนอกฎหมาย รวมทั้งจะไม่เสนอร่างกฎหมายประกบในการพิจารณาวันที่ 7 ส.ค.นี้

อลงกรณ์ ในฐานะผู้ที่ออกมาประกาศตัวเตรียมเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จากฝั่งประชาธิปัตย์ จึงมีอันต้องม้วนเสื่อเก็บแผนนี้ไปโดยปริยาย ด้วยเหตุผลว่านั่นเป็นกติกาเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของพรรค ที่ใช้เสียงข้างมากในการตัดสิน

อย่างไรก็ตาม จุดยืนประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลเสนอร่างกฎหมายที่ไม่มีความชัดเจน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งและวิกฤตการณ์ทางการเมืองครั้งใหม่ แต่เมื่อสถานการณ์การเมืองเปลี่ยน เมื่อญาติวีรชน พฤษภา 53 เสนอร่างนิรโทษกรรมฉบับประชาชน ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าร่างของ สส.ซีกฟากรัฐบาลไม่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาประชาชน

“ผมพิจารณาเห็นว่า สภาไม่มีร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่ชัดเจนในตัวบทกฎหมาย เพียงพอสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้เกิดขึ้น และทำให้การช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายตั้งแต่เกิดการเผชิญหน้าตั้งแต่ 2548 จึงเห็นว่าประชาธิปัตย์ในฐานะพรรคการเมืองหลัก ควรจะเข้ามาแก้ไขปัญหาของประเทศ ก่อนที่จะเกิดวิกฤตการณ์ของประเทศครั้งใหม่ด้วยการเสนอร่างกฎหมายที่เขียนชัดเจน

...มุ่งนิรโทษกรรมประชาชนทุกกลุ่มโดยไม่เลือกปฏิบัติ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งและกฎหมาย โดยไม่กระทำการเกินกว่าเหตุ ทั้งนี้การนิรโทษกรรมจะต้องไม่เกี่ยวข้องไปถึงคดีทุจริต หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือผู้สั่งการหรือแกนนำ ซึ่งหากเราสามารถมีร่างกฎหมายมีความชัดเจนในตัวบทเช่นนี้ จะขจัดปมขัดแย้งความไม่ไว้วางใจจะช่วยถอดชนวนวิกฤตการณ์ที่จะเกิดขึ้น”


อลงกรณ์ อธิบายว่า ความตั้งใจของการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพราะเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา ประชาธิปัตย์จะต้องต่อสู้ในระบบรัฐสภา และเสนอทางออกทางเลือกที่ดีกว่า การมีร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่เห็นเป็นรูปธรรมและจับต้องได้ ทำให้ สส.และสาธารณชนได้เห็นเป็นข้อเปรียบเทียบ ว่านี่คือร่างกฎหมายที่จะช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริง

ส่วนประเด็นที่สังคมเป็นห่วงว่ากฎหมายเชิญแขกนี้จะนำไปสู่ความขัดแย้งนี้ อลงกรณ์ กล่าวว่า ในร่างที่เขาจะเสนอนั้น ได้สกัดปมขัดแย้งออกไป สอดคล้องกับแนวความคิดและข้อเสนอของหัวหน้าพรรค โดยมุ่งนิรโทษกรรมเฉพาะกลุ่มผู้ชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง และให้ครอบคลุมไปถึงทุกกลุ่ม

ที่สำคัญ คือ กำหนดกลุ่มที่จะไม่ได้รับการนิรโทษกรรรมซึ่งต้องมีความชัดเจน คือ ทั้งผู้สั่งการ แกนนำ หรือผู้ที่กระทำการเป็นภยันตรายต่อชีวิตหรือทรัพย์สินของเอกชนหรือทางราชการ และไม่นิรโทษกรรมในคดีเกี่ยวข้องกับคดีทุจริตหรือหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งประเด็นเหล่านี้คือปมของความขัดแย้ง ดังนั้นเมื่อเขียนบทบัญญัติให้ชัดเจนสกัดปมขัดแย้งต่างๆ ก็จะเป็นต้นแบบที่ดี

ส่วนประเด็นความกังวลที่บอกว่า หากประชาธิปัตย์เสนอร่างจะเป็นข้ออ้างให้รัฐบาลเร่งเดินหน้านั้น อลงกรณ์ อธิบายว่า ขณะนี้ก็ชัดเจนแล้วว่า ถึงไม่มีร่างของพรรคหรือของฉบับประชาชน ก็มีความพยายามเดินหน้าพิจารณา แต่สิ่งที่หายไปคือการไม่มีร่างต้นแบบที่ดีให้สภาและสาธารณชนได้พิจารณา

“ผมคิดว่าเราควรนำทางให้บ้านเมือง แทนที่คิดว่าจะไปตามทาง ประชาชนจะได้มีหลักยึด สภาจะได้มีหลักยึด ไม่งั้นการฟังความเห็นแบบวันต่อวัน สัปดาห์ต่อสัปดาห์ โดยไม่มีรูปธรรมจับต้องได้ เห็นเป็นตัวร่างที่เป็นกิจจะลักษณะ ก็ไม่ก่อให้เกิดองค์ความรู้ในหมู่ประชาชน”

อลงกรณ์ ระบุว่า นี่จะเป็นการสร้างศรัทธาความเชื่อมั่นอีกทางหนึ่ง แม้จะเป็นธรรมดาของเสียงข้างน้อย ที่คงไม่ได้เป็นร่างหลักในการพิจารณากฎหมาย แต่นั่นคือวิถีทางในระบบรัฐสภาที่จะทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ ต่อสู้ในเวทีของรัฐสภาให้ดีที่สุด ทั้งที่รู้ว่าสู้ไม่ได้ก็ต้องสู้ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมต้องปฏิรูปพรรค เพื่อเปลี่ยนแปลงวิธีคิด วิธีทำงาน ในการสร้างศรัทธา และนำไปสู่ชัยชนะในการเลือกตั้ง ครั้งหน้าให้เราเป็นเสียงข้างมาก

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อธิบายการเสนอกฎหมายย่อมสร้างศรัทธามากกว่าค้านอย่างเดียว การเสนอทางเลือกแบบนี้ ประชาชนจับต้องได้และจะได้เปรียบเทียบ ประชาชนส่วนใหญ่จะได้เห็นว่าประชาธิปัตย์มีความบริสุทธิ์ใจจริงในการทำหน้าที่ถูกต้อง ความศรัทธาก็จะหันมาประชาธิปัตย์

“ไม่ใช่รัฐบาลดำเนินการแล้วจะเกิดวิกฤต แน่นอนความนิยมรัฐบาลอาจจะลดลง แต่ถามว่าเราจะเป็นทางเลือกให้เขาหรือเปล่า เพราะเราไม่มีทางเลือกให้เขาเลย นอกจากแนวทางการคัดคาน”

ส่วนมติของพรรคที่เรียกร้องให้แต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องถอนกฎหมายออกจากสภานั้น ถือเป็นการถอดชนวนความขัดแย้งอันอาจจะเกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลเดินหน้าพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งยังมีปมความขัดแย้งฝังอยู่ในร่างดังกล่าว เหมือนระเบิดเวลาที่ซุกไว้ เพราะฉะนั้นการที่เสนอให้ถอดร่างมาตั้งโต๊ะเจรจาจึงเป็นข้อเสนอที่เป็นการเสนอทางออกที่รัฐบาลควรรับฟัง

ทั้งนี้ ถ้ารัฐบาลตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของทางฝ่ายค้านในการถอนร่าง ก็จะเป็นการเริ่มต้นที่ดี ให้กลับมาเกิดการพูดคุย แต่ถ้ารัฐบาลไม่ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของฝ่ายค้าน การที่เรามีร่างทางเลือกให้ประชาชนได้เห็น ก็ดีกว่าไม่ใช่ไม่มีเลย

“ผมคิดว่ารัฐบาลเขาไม่ตอบสนอง อย่างไรก็คงต้องมีการพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร ส่วนจะคัดค้านอย่างเดียว ซึ่งเราต้องทำอยู่แล้ว และสู้ไม่ได้ หรือจะมีการเสนอร่างเข้าไป ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าลงมติก็แพ้อยู่แล้ว แต่นี่คือความแตกต่าง”อลงกรณ์ กล่าวทิ้งท้าย

0 comments:

Post a Comment

 
Copyright © . Yak Ratchaprasong - Posts · Comments
Theme Template by BTDesigner · Powered by Blogger