Sunday, July 7, 2013

ปลุกสำนึกต้านโกง กรุยทางปราบคอรัปชั่น


โครงการต่างๆที่เข้าข่ายการทุจริตไหลเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีหลายคดีเกี่ยวกับความอยู่รอดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อีกหลายคดีเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และยังมีคดีทุจริตต่างๆค้างท่อกระบวนการตรวจสอบอยู่

ลูกหม้อ ป.ป.ช.
นายกล้านรงค์ จันทิกที่จะพ้นจากตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.หลังมีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 18 ก.ย.นี้ ให้สัมภาษณ์ ทีมข่าวการเมืองถึงเป้าหมายการปราบปรามการทุจริตของ ป.ป.ช.

โดยเริ่มต้นมองสถานการณ์การเมืองด้วยความห่วงใยอย่างยิ่ง ขอฝากทฤษฎีของเหตุและผล การแก้ปัญหาต้องแก้จากต้นเหตุที่แท้จริง และยอมรับเหตุที่แท้จริงแล้วจึงแก้ปัญหา ที่สำคัญเราต้องร่วมมือกันหาเหตุที่แท้จริงให้ได้ และร่วมมือกันแก้ไขตรงเหตุนั้น

ขณะนี้ต่างฝ่ายต่างอ้างเหตุกันคนละจุด นั่นคืออันตราย เพราะหาจุดร่วมกันไม่ได้ ผมไม่รู้ว่าสาเหตุคืออะไร แต่เมื่ออ้างกันคนละเหตุก็แก้ไขคนละจุด ผมเป็นห่วงในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่อายุ 70 ปี อยู่ต่อไปได้อีกไม่นาน แต่ต้องการให้แผ่นดินนี้อยู่ต่อไปด้วยความสงบแก่ลูกหลาน

นายกล้านรงค์เล่าย้อนไปถึงสมัยเริ่มต้นชีวิตข้าราชการจนถึงระดับซี 11 เป็นเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) คนสุดท้าย สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผ่านร้อน ผ่านหนาว เฉียดตายระหว่างปฏิบัติหน้าที่มาหลายครั้ง

ตอนนี้นับถอยหลังเกษียณจากตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.ก็ไม่ได้รู้สึกใจหาย เพราะผมรักองค์กร ภูมิใจที่เคยเป็นเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.คนแรก อยู่ ป.ป.ช.มาตลอดชีวิต ผูกพันองค์กรนี้ มีความภูมิใจตลอดที่รับราชการสำนักงาน ป.ป.ป.และเป็นเลขาธิการ ป.ป.ช.

แม้ตำแหน่งเลขาธิการ ป.ป.ช.เป็นแค่หัวหน้าส่วนธุรการ เป็นฝ่ายสนับสนุนกรรมการ ป.ป.ช.แต่ที่ผมมีบทบาทเพราะกรรมการ ป.ป.ช.มอบอำนาจให้ไปดำเนินการ คดีแรกที่ผมมีบทบาท คือ คดีเงินกู้ 45 ล้านบาทของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ คดีที่สองเป็นคดีซุกหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทั้งสองคดีเป็นคดีที่หนักมาก

โดยเฉพาะคดี พ.ต.ท.ทักษิณ
  ต้องยอมรับว่ากดดันมาก แต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ เมื่อจบก็คือจบ ยืนยันไม่เคยปักธงว่าช่วยพรรคการเมืองนี้หรือเกลียดพรรคการเมืองนี้ ไม่เคยเอาความรัก ความชอบ ความไม่ชอบมาใช้ ผมทำงานตามหน้าที่ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรก็จบ

หลายคดีของรัฐบาลชุดนี้ที่ไม่ผิด ผมก็บอกว่าไม่ผิด เช่น คดีปล่อยเงินกู้ 30 ล้านบาทของนายกรัฐมนตรี (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) นี่คือความเป็นกลางของผม

แต่ก็ยังถูกมองว่าเป็นขั้วตรงข้าม พ.ต.ท.ทักษิณ
นายกล้านรงค์บอกว่า แล้วทำไมไม่ดูคดีเงินกู้ของ พล.ต.สนั่น ตอนนั้นเป็นคนของพรรคประชาธิปัตย์ ผมถือว่าไม่มีอคติ ไม่มีฝ่าย ไม่มีพวก ผมยืนยันอย่างนี้อย่าไปคิดในทางการเมือง เรื่องกฎหมายเป็นคนละเรื่องกับการเมือง อย่าเอาไปปนกัน

การทำงานของ 9 ป.ป.ช. ไม่มีใครวิ่งเต้นได้ เราไม่เคยมานั่งหารือกันนอกรอบว่าแต่ละเรื่องจะเป็นอย่างไร เรื่องที่จะเข้าประชุมวันนี้ถ้ามาถามผมว่ามติที่ประชุม ป.ป.ช.จะออกมาอย่างไร ผมตอบไม่ได้ เพราะไม่ทราบว่า ป.ป.ช.อีก 8 คนคิดเห็นอย่างไร

พอเข้าที่ประชุมแต่ละคนจะมีคำถามที่ซักถามจากที่ได้ไปอ่านสำนวนมา ใครไม่เข้าใจจุดใดจะซักถามเจ้าหน้าที่และคณะอนุกรรมการ ซักจนเข้าใจสมบูรณ์ดีแล้ว ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงถามว่าใครเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับคณะอนุกรรมการให้ยกมือ ถ้าใครไม่เห็นด้วยก็ทำความเห็นแย้งไว้ ยืนยันได้ว่าไม่มีทางที่ ป.ป.ช.คนหนึ่งเห็นด้วยแล้ว ป.ป.ช.อีก 8 คนจะเห็นตาม

ในทางการเมือง ป.ป.ช.ถูกมองว่าตุลาการภิวัฒน์เป็นหน่วยงานหนึ่งที่จะล้มรัฐบาล
นายกล้านรงค์ออกตัวว่า ป.ป.ช.ไม่ใช่ตุลาการภิวัฒน์ แต่เป็นกระบวนการตรวจสอบเหมือนพนักงานสอบสวน ถ้ามีมูลความผิด จะส่งให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ฟ้อง หรือถ้าอัยการไม่เห็นด้วยและตกลงกับ ป.ป.ช.ไม่ได้ ป.ป.ช.จะเป็นฝ่ายฟ้องเอง และศาลจะมีคำวินิจฉัยลงโทษหรือยกฟ้อง

ลองถามย้ำอีกครั้งว่า ป.ป.ช.ถูกมองว่าเป็น หน่วยที่จะล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์
นายกล้านรงค์ยืนยันว่าไม่มี ป.ป.ช.ไม่ใช่หน่วยล้มรัฐบาลแต่ตรวจสอบทุกฝ่าย ใครผิดว่าไปตามผิด ทำงานตามหน้าที่ ถ้ารัฐบาลชุดเก่าทำผิดก็ต้องดำเนินคดี

มีหลายคดี ที่จะกระทบต่อเสถียรภาพ ของรัฐบาล เช่น โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท โครงการรับจำนำข้าว
นาย กล้านรงค์บอก ว่า ขณะนี้ ป.ป.ช.ระดมทำงานเต็ม ที่ ประชุมกันทุกสัปดาห์ โดยคณะอนุกรรมการตรวจ สอบคดีรับจำนำข้าวตรวจสอบมีความคืบหน้าไปมาก ขณะเดียวกัน ป.ป.ช.ตรวจสอบโครงการประกันราคาข้าวสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ควบคู่ไปด้ว

ตอนนี้มีข้อมูลไหลเข้ามามาก บางอันมีเช็คเป็นร้อยฉบับ สอบปากคำพยานบุคคลสำคัญๆไปหลายปาก แต่ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดเกรงจะเกิดความไม่เป็นธรรม


คดีรับจำนำข้าวมีข้อมูลโยงไปถึงนายกรัฐมนตรีอย่างไรบ้าง
  “นายกล้านรงค์ออกตัวว่า หลักของ ป.ป.ช.ต้องสอบเอกสาร พยานบุคคลที่จะไล่ลงและไล่ขึ้น ยังตอบไม่ได้จะไล่ไปถึงใครบ้าง ขณะนี้เราตั้งข้อกล่าวหา รมว.พาณิชย์เพียงคนเดียว

มี 2 คดีใหญ่ๆ ท่านระบุว่าจะเสร็จก่อนถึงวันที่พ้นจากตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.
นายกล้านรงค์บอกว่าขณะนี้ตอบไม่ได้ เพราะไม่ทราบว่ากรรมการ ป.ป.ช.อีก 8 คนตรวจสอบคดีต่างๆไปถึงไหนแล้ว จะรู้ได้ต่อเมื่อมีการจัดเป็นวาระการประชุม รวมถึงคดีทุจริตโครงการฝายแม้วที่ผมรับผิดชอบ สอบปากคำไป 600-700 ปาก จะเสร็จทันก่อนเกษียณหรือไม่ ยังบอกไม่ได้ว่าจะเสร็จเมื่อไหร่

ขณะนี้ ป.ป.ช.มีงานเยอะมาก วันแรกที่ผมเข้ามาเป็นกรรมการ ป.ป.ช.มีคดีทับถมกันมารวมกว่า 29
,000 เรื่อง ทำเสร็จไปแล้วเหลือคดีอยู่ประมาณ 9,000 เรื่อง และยังต้องตั้ง ป.ป.ช.จังหวัด 76 จังหวัด ยกเว้น กทม. โดยส่งเจ้าหน้าที่ระดับ 9 ที่เป็น ผอ.ไปประจำเป็น ผอ. ป.ป.ช.จังหวัด ล้วนเป็นมือทำงานที่เป็นเจ้าของสำนวนคดีทุกคน

ไม่นับรวมจะส่งเจ้าหน้าที่อัตรากำลังจังหวัดละ 15 คน รวม 1
,140 คน แต่ ป.ป.ช.มีอัตรากำลังแค่ 1,069 คน จึงต้องขออัตรากำลังเพิ่มจากรัฐบาล กรรมการ ป.ป.ช.ทั้ง 9 คนกำลังแก้ปัญหานี้กันอย่างหนัก ต้องคัดสรรคณะกรรมการ ป.ป.ช.จังหวัดด้วย โดยมีงานป้องกัน งานปราบปราม การตรวจสอบทรัพย์สิน และสำนวนคดีต่างๆอีกมากมาย ภารกิจของ ป.ป.ช.ถือว่าหนักจริงๆ กรรมการ ป.ป.ช.บางคนต้องโดดลงไปตรวจสำนวนด้วยตัวเองทั้งหมด

อะไรคืออุปสรรคของ ป.ป.ช.
นายกล้านรงค์บอกว่า การแก้ปัญหาคอรัปชันต้องใช้หลัก 3 ป.คือ 1.ปลุกและปลูกจิตสำนึกให้รังเกียจการคอรัปชัน 2. การป้องกัน 3. การปราบปราม

อุปสรรคใหญ่ของเราคืองานป้องกันการทุจริต เพราะประชาชนมีค่านิยมยอมรับได้ถ้ารัฐบาลทุจริตแล้วประเทศได้ประโยชน์ สะท้อนจากผลสำรวจโพลล์ที่ไปถามนักศึกษาแบบคำถามปลายปิด เป็นการถามจากตรรกะที่ผิด โดยใช้คำว่าถ้ารัฐบาลทุจริตแล้ว ประเทศได้ประโยชน์ ประชาชนยอมรับได้หรือไม่

ขณะที่โพลของ ป.ป.ช.ที่ไปสอบถามประชาชนในระหว่างวันที่ 27-12 มี.ค. 56 กลับมีผลไปคนละอย่าง อาทิ กลุ่มตัวอย่าง 81.7% เห็นด้วยอย่างยิ่งถึงการคอรัปชันโกงกินเงินแผ่นดินเป็นเรื่องไม่ดี ทำให้ประเทศชาติเสียหาย พอถามว่าคนคอรัปชันโกงเงินแผ่นดินเป็นคนไร้ศีลธรรม กลุ่มตัวอย่าง 92.5% เห็นด้วย เมื่อถามว่าคนคอรัปชันเงินแผ่นดินเป็นคนเลว น่ารังเกียจ คบไม่ได้ กลุ่มตัวอย่าง 87.2% เห็นด้วย

ป.ป.ช.ยังทำโพลแบบคำถามปลายเปิดให้คนตอบเขียนคำตอบเอาเอง โดยไปถามนักศึกษาว่าวิธีกำจัดการคอรัปชันให้หมดจากแผ่นดินไทยควรทำอย่างไร ปรากฏว่าคำตอบที่ผู้ตอบมากที่สุดคือ ประหารชีวิต ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ 7 ชั่วโคตร ซึ่งเป็นสิ่งที่นักศึกษาเขียนเองจากจิตสำนึก

ผมอยากให้เอาแบบสอบถามอันนี้ไปให้ข้าราชการทุกกระทรวงตอบ มั่นใจว่าจะผลออกมา 100% ว่ารังเกียจการคอรัปชัน ถือเป็นสัญญาประชาคม ต่อไปกระทรวงใดมีการคอรัปชันเกิดขึ้น เจ้ากระทรวงจะต้องรับผิดชอบ เพราะจะถูกแรงกดดันจากสังคม ถูก
โซเชียล แซงชั่นมันจะเกิดความละอาย

การปราบปรามอย่างไรการคอรัปชันก็ไม่หมดไป หากไม่แก้โดยปลุกจิตสำนึกของคน ผมทุ่มเททั้งชีวิตในเรื่องนี้ เพื่อสร้างแรงกดดันให้เกิดขึ้นในสังคม ใช้
โซเชียล แซงชั่นบุคคลที่คอรัปชันเป็นช่องทางเดียวที่จะแก้ไขการคอรัปชันให้หมดไป

ที่มา:ทีมข่าวการเมืองไทยรัฐ

 

1 comments:

  1. สังคมโลกกำลังเผชิญภัยคุกคามหลายอย่าง คอร์รัปชันเป็นภัยคุกคามตั้งแต่ระดับปัจเจกบุคคล จนถึงประเทศ ประชาคมโลก ประวัติศาสตร์หรือข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ชี้ชัดให้เห็นถึงโทษ ภัยคุกคามนี้ที่บิดเบือนการปกครองให้ประโยชน์ตกแก่ผู้มีอำนาจเพียงไม่กี่กลุ่ม ไม่กี่คน ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นผู้แบกรับภาระเพื่อประโยชน์ของคนส่วนน้อย
    http://www.positive4thailand.com/2013/07/international-community-130721.html

    ReplyDelete

 
Copyright © . Yak Ratchaprasong - Posts · Comments
Theme Template by BTDesigner · Powered by Blogger