Thursday, July 11, 2013

ประเพณี 126 ปี กลาโหม 6 ขั้นตอนที่ "ยิ่งลักษณ์" ต้องปฏิบัติ

 

ไม่เพียงแค่ 49 วัน ที่ทำให้ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำสตรีคนแรกของประเทศไทยเท่านั้น เพราะคล้อยหลังจากนั้นประมาณ 700 วัน "ยิ่งลักษณ์" ก็สถาปนาตนเองขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

เป็น รมว.กลาโหม "หญิง" คนแรกในประวัติศาสตร์ 126 ปี กองทัพไทย และเป็นสาย "พลเรือน" คนที่ 5 ต่อจาก ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช-ชวน หลีกภัย-สมัคร สุนทรเวช-สมชาย วงศ์สวัสดิ์

จากนี้ไป "ยิ่งลักษณ์" มิเพียงต้องนั่งบัญชาการบนตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังต้องแบ่งเวลางานไปที่ศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม สานสัมพันธ์กองทัพทั้ง 3 เหล่าเพิ่มขึ้น

และเมื่อ "ยิ่งลักษณ์" เป็นผู้หญิงคนแรกที่เข้ามานั่ง รมว.กลาโหม พันธะ-หน้าที่อันดับแรกตามธรรมเนียม ประเพณีดังเช่นเสนาบดีคนก่อนหน้าเคยทำ "ยิ่งลักษณ์" ก็ต้องปฏิบัติเช่นกัน

วันที่เข้าปฏิบัติหน้าที่วันแรกในกระทรวงกลาโหม "ยิ่งลักษณ์" จะต้องสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์โดยรอบ และภายในกระทรวงกลาโหมตามประเพณีปฏิบัติ รวมแล้ว 6 ขั้นตอน

1.สักการะพระแก้วมรกต พระสยามเทวาธิราช ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

2.สักการะศาลหลักเมือง ซึ่งตั้งอยู่ด้านข้างศาลาว่าการ อันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่กรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ 1

3.สักการะเจ้าพ่อหอกลอง หรือ "เจ้าพระยาสุรศักดิ์" ในรัชกาลที่ 1 เดิมเป็นทหารเอกในพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นพลรบฝ่ายซ้าย ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นพลรบฝ่ายขวา แทนเจ้าพระยาพิชัยดาบหัก (ถึงแก่กรรม) ได้นำทหารออกรบกับพม่าเองทุกครั้ง เชี่ยวชาญในการใช้หอกและชอบให้ทหารตีกลองศึกในเวลาออกรบ ทหารในสังกัดจึงตั้งชื่อว่า "เจ้าพ่อหอกลอง" เป็นกำลังในการกอบกู้เอกราช

4.สักการะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

5.สักการะพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของคนในกองทัพ หากย้อนกลับไปในอดีต พระองค์โปรดการทหารอย่างมาก และมักจะฉลองพระองค์ด้วยเครื่องแบบทหาร มีบทบาทสำคัญในการพัฒนากองทัพบก และกองทัพเรือให้ทันสมัย

6.สักการะเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ซึ่งเป็นจอมทัพคนสำคัญในรัชกาลที่ 5 เพราะหลังจากมีการปฏิรูปการปกครอง โดยยกเลิกหัวเมืองเอก โท ตรี จัตวา และยกเลิกหัวเมืองประเทศราช ทำให้เกิดกบฏขึ้นมากมาย เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีจึงได้รับมอบหมายให้นำกองทัพออกไปปราบ เช่น ปราบกบฏเงี้ยว ปราบกบฏฮ่อ ที่หัวเมืองลาว กระทั่งครองยศจอมพลในรัชกาลที่ 6

จากนั้น "ยิ่งลักษณ์" จะขึ้นแท่นรับแถวทหารกองเกียรติยศ 3 เหล่าทัพ เหล่าทัพละ 1 กองร้อย และรับฟังบรรยายสรุป พร้อมให้นโยบายกำลังพล ซึ่งในวันดังกล่าว "ยิ่งลักษณ์" จะถือฤกษ์ปฏิบัติตามประเพณี 6 ขั้นตอน ในเวลา 08.29 น.

ไม่เพียงแค่นั้น "ยิ่งลักษณ์" จะต้องเดินสายไปพบผู้บัญชาการทั้ง 3 เหล่า บก-เรือ-อากาศ รวมถึงกองบัญชาการกองทัพไทย เพื่อรับทราบบทบาทภารกิจหน้าที่ของแต่ละเหล่าทัพ

แบ่งออกเป็น 2 วัน วันแรกจะเดินทางไปที่กองบัญชาการกองทัพไทย และทหารอากาศ วันที่สองจะเดินทางไปกองทัพบก และกองทัพเรือ

และมีข่าวว่า ในยุคที่ "ยิ่งลักษณ์" เป็น รมว.กลาโหม และมี "พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา" เป็น รมช.กลาโหม ในช่วงครึ่งเทอมหลัง จะให้ความสำคัญกับกองทัพเพิ่มขึ้นมากกว่าครึ่งเทอมแรก

อาจนัดกินข้าวกับ ผบ. 3 เหล่าทัพบ่อยครั้งขึ้น มากกว่าแต่ก่อนที่นัดกันทุก ๆ 2 เดือน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และกระชับอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารกับกองทัพให้แนบแน่นมากขึ้น

เพราะหวังให้กองทัพช่วยค้ำบัลลังก์รัฐบาล ในภาวะที่รัฐนาวาของ "ยิ่งลักษณ์" เผชิญมรสุมทั้งเศรษฐกิจ-การเมือง

อีก 1 งานใหญ่ที่ "ยิ่งลักษณ์" จะต้องตัดสินใจหลังรับหน้าที่ควบ รมว.กลาโหม คือการจัดทำโผแต่งตั้ง-โยกย้ายนายทหาร โดย 2 ตำแหน่งใหญ่ที่ต้องจับตาคือ เก้าอี้ปลัดกระทรวงกลาโหม ที่ "พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน" และเก้าอี้ผู้บัญชาการทหารเรือ "พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์"จะเกษียณอายุราชการนั้น "ยิ่งลักษณ์" จะเลือกใครมานั่งเก้าอี้

แม้ "ยิ่งลักษณ์" จะยืนยันว่าไม่แทรกแซงกองทัพ แต่เก้าอี้ที่จะว่างลง มีคนของฝ่ายการเมือง และคนในสายผู้ครองเก้าอี้เดิมจ่อคิวด้วยกันทั้งคู่ จึงเป็นสิ่งที่นายกฯและ รมว.กลาโหม คนที่ 61 ต้องตัดสินใจ

อย่างไรก็ตาม ในทำเนียบ รมว.กลาโหม บันทึกไว้ว่า รมว.กลาโหมสายพลเรือนทั้ง 5 คน คือ ม.ร.ว.เสนีย์อยูตำแหน่ง่ได้เพียง 24 วัน นายสมัครอยู่ได้ราว 6 เดือนเศษ  นายสมชายอยู่ได้ราว 90 วัน ขณะที่นายชวนอยู่ประมาณ 3 ปีเศษ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2540-ต้นกุมภาพันธ์ 2544

ต้องจับตาดูว่า "ยิ่งลักษณ์" จะเป็นนายกฯควบ รมว.กลาโหม ได้ครบเทอมที่เหลืออยู่ 2 ปีหรือไม่...
 
ที่มา :ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

0 comments:

Post a Comment

 
Copyright © . Yak Ratchaprasong - Posts · Comments
Theme Template by BTDesigner · Powered by Blogger