Saturday, August 10, 2013

ขุนค้อนนัดลงมติงบ 57 วันที่ 14-15 ส.ค.

ขุนค้อนนัดลงมติงบ57 วันที่ 14-15 ส.ค. ด้านกมธ.เสนอทบทวน สสส.-ไทยพีบีเอส เหตุเป็นหน่วยงานใช้เงินนอกระบบ ขัดวินัยการเงินการคลัง

นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ออกจดหมายเรียกประชุมสภาฯ  นัดพิเศษ วันที่ 14 – 15 ส.ค. 2556 เวลา 09.30 น. เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 ในวาระที่ 2 และ 3 หลังจากที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นประธานได้พิจารณาแล้วเสร็จแล้ว

ทั้งนี้ คณะกมธ.วิสามัญฯได้จัดทำรายงานผลการพิจารณาทั้งหมด พร้อมข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณของรัฐบาลในภาพรวมโดยมีทั้งหมด 15 ข้อ ดังนี้

1. การวางแผนใช้จ่ายเงินของแผ่นดิน ควรคำนึงถึงวินัยการเงินการคลังและสถานะทางการเงิน ตลอดจนความสามารถในการบริหารจัดการการเงินการคลังของประเทศเป็นสำคัญ

2. หน่วยงานหลักของประเทศควรมีแนวทางในการกำหนดตัวชี้วัดระดับความสำเร็จในการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐในภาพรวมให้มีความชัดเจน เป็นรูปธรรม โดยมีการประเมินอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อที่ครอบคลุมผลจากการใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตของประเทศพ.ศ. 2555 และร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... ที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการที่เป็นจริง ตลอดจนผลของการปรับโครงสร้างภาษีในแต่ละประเภท

3. การประเมินตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ควรพิจารณาให้ครอบคลุมถึงสัดส่วนรายได้ รายจ่าย และภาระหนี้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ เพื่อให้การประมาณการรายได้และรายจ่ายในภาพรวมของประเทศเป็นไปอย่างถูกต้อง มีความครอบคลุม และเหมาะสม

4. แผนงาน/โครงการ ของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ของภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ในส่วนของรายจ่ายประจำควรแสดงถึงการมีส่วนเพิ่มผลิตภาพหรือประสิทธิภาพของระบบราชการ และในส่วนของรายจ่ายลงทุนควรแสดงถึงผลต่อการกระตุ้นการลงทุนของภาครัฐ ภาคเอกชน และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

5.ควรมีการบูรณาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดให้มีหน่วยงานเจ้าภาพในการดำเนินการจัดทำภาพรวมงบประมาณในขั้นตอนก่อนเสนอคำขอตั้งงบประมาณ

6. การจัดหาวัสดุครุภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของหน่วยงาน ควรคำนึงถึงประโยชน์และความคุ้มค่าในการใช้งาน ในกรณีการเช่าควรนำเงื่อนไขเกี่ยวกับระยะเวลาการเช่า อัตรค่าเช่า การบำรุงรักษา เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน

7. การขอรับการจัดสรรงบลงทุนของหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมทางหลวงชนบท กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน เป็นต้น ต้องคำนึงถึงหลักการกระจายงบประมาณ ไม่ควรกระจุกตัวเฉพาะพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนอย่างทั่วถึง

8.เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการใช้จ่ายงบประมาณ พ.ศ. 2557 ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณและเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่าย ควรเร่งรัดให้หน่วยงานดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามแผนงาน/โครงการของปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ได้ทันที

9. การเช่า – การซื้อรถประจำตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หน่วยงานควรคำนึงถึงความจำเป็น และความประสงค์ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

10. ควรบูรณาการแผนหรือหลักสูตรการฝึกอบรมระหว่างหน่วยงานภายในกระทรวง โดยเฉพาะแผนการอบรมเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กำหนดหลักสูตรที่มีความสอดคล้องและกลุ่มเป้าหมายเดียวกันเพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ และเร่งเสริมสร้างความรู้ เผยแพร่ข้อมูล และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นให้ประชาชนรับทราบในแง่มุมที่หลากหลาย

11.การจัดหลักสูตรการฝึกอบรม สัมมนาในแต่ละจังหวัด หน่วยงานควรประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อบูรณาการการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปอย่างประหยัด และเกิดประโยชน์สูงสุดตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้

12.การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ หน่วยงานควรพิจารณาคัดเลือกประเภทสื่อประชาสัมพันธ์รูปแบบ เนื้อหา และช่วงระยะเวลาในการเผยแพร่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง รวมทั้งคำนึงถึงการเข้าถึงสื่อได้ง่ายของกลุ่มเป้าหมาย โดยการประชาสัมพันธ์ควรกระจายไปในสื่อต่าง ๆ ที่น่าสนใจและทันสมัย  อาทิ การพัฒนาปรับปรุง website ของหน่วยงาน และการสื่อสารทางสังคมออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ

13. หน่วยงานควรมอบหมายและพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้สามารถดำเนินการได้เองแทนการจ้าง ที่ปรึกษา เนื่องจากบุคลากรภายในหน่วยงานจำนวนมากเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ และความเชี่ยวชาญในภารกิจของหน่วยงานมากกว่าที่ปรึกษาที่จ้างมาดำเนินงาน รวมทั้งยังเป็นโอกาสในการพัฒนาและสร้างองค์ความรู้ให้กับบุคลากรของหน่วยงาน

14. การจัดงบประมาณของทุกหน่วยงาน ควรคำนึงถึงยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมของประเทศในอนาคต ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสวัสดิการสังคม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมผู้สูงอายุ และผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพเศรษฐกิจในภูมิภาค

15. ควรมีการทบทวนการจัดตั้งหน่วยงานในลักษณะที่ได้รับการจัดสรรรายได้จากภาษีโดยไม่ผ่านกระบวนการงบประมาณ เพื่อเป็นการรักษาวินัยทางการคลัง ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส ที่ได้รับการจัดสรรรายได้จากภาษีสรรพสามิตโดยตรง ทั้งนี้ ภาครัฐควรกำหนดมาตรการการควบคุมไม่ให้เกิดหน่วยงานในลักษณะดังกล่าว และมีการกำกับ ตรวจสอบการดำเนินงานและการใช้จำยเงินของหน่วยงานลักษณะดังกล่าว ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเจตนารมย์ของกฎหมาย โดยควรมีการจัดทำและวิเคราะห์งบดุล ตลอดจนแผนการใช้จ่ายอย่างชัดเจนในแต่ละรอบปีงบประมาณ

ที่มา: โพสทูเดย์

0 comments:

Post a Comment

 
Copyright © . Yak Ratchaprasong - Posts · Comments
Theme Template by BTDesigner · Powered by Blogger