Saturday, August 10, 2013

เอกซเรย์กมธ.แปรญัตติ "นิรโทษ" แพ้ไม่ได้

สำรวจรายชื่อคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน จำนวน 35 คน ที่ปรากฏออกมาเป็นรายบุคคล สรุปภาพโดยรวมได้ว่า เป็นปฏิบัติการตอกย้ำ "ยุทธศาสตร์" ของรัฐบาลอย่างชัดเจน...เป็นยุทธศาสตร์ที่ว่า

"เรื่องการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นเรื่องของรัฐสภา รัฐบาลไม่เกี่ยว" เป็นไปตามคำยืนยันที่มีเสมอมาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนักการเมืองฟากฝั่งรัฐบาล

 เริ่มตั้งแต่การเสนอร่าง พ.ร.บ.นี้ต่อสภา ก็ไม่ได้โฉ่งฉ่าง เสนอเข้ามาในนาม "คณะรัฐมนตรี" หากแต่ดำเนินไปภายใต้ลีลาซิกแซก ใช้ช่องทางเสนอโดย ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย จำนวน 40 คน นำโดยนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ

มาถึงขั้นการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการ คณะรัฐมนตรีก็เลือกที่จะไม่เสนอ "รัฐมนตรี" เข้ามาเป็นคณะกรรมาธิการ ทั้งๆ ที่มีรัฐมนตรีอย่างน้อย 2 คนที่น่าจะเข้ามาเป็นกรรมาธิการด้วยเพราะมีความเชี่ยวชาญทางกฎหมายและกลเกมในระดับกรรมาธิการอย่าง "พงศ์เทพ เทพกาญจนา" รองนายกฯ และ "วราเทพ รัตนากร" รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ที่ตอนนี้ได้รับมอบหมายให้เดินสายเชิญฝ่ายต่างๆ เข้าร่วมวงพูดคุยเพื่อไปสู่การปฏิรูปประเทศตามแนวคิดนายกฯ ยิ่งลักษณ์ โดยก่อนหน้านี้ทั้งสองคนนี้ก็จะได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องที่เกี่ยวกับการสร้างความปรองดองมาโดยตลอด

ยุทธศาสตร์กันเอารัฐบาลออกห่าง ไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการร่าง พ.ร.บ.นี้ ถือเป็นการสร้างเกราะกำบังกายขึ้นในตัว ในกรณีเกิดความผิดพลาดขึ้นมา รัฐบาลยังสามารถตีกรรเชียง โชว์ภาพว่ามุ่งไปในเรื่องความปรองดอง นั่นก็คือ การตั้งเวทีให้ทุกฝ่ายมาพูดคุยกัน

 สำหรับกรรมาธิการจำนวน 3 ที่นั่งตามโควตาของคณะรัฐมนตรี รัฐบาลกลับเสนอบุคคลที่อยู่นอกวงโคจร ครม. เข้ามาเป็นตัวแทนร่วมแปรญัตติ ได้แก่ นายนิพนธ์ ฮะกีมี รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ อธิบดีกรมบังคับคดี และ "บิ๊กบัง" พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจจากรัฐบาล "ทักษิณ ชินวัตร" เมื่อ 19 กันยายน 2549

สำหรับ 2 คนแรกชัดเจนว่า รัฐบาลส่งเข้ามาเพื่อเป็นมือไม้เพราะต้องอาศัยความเป็นผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย หากแต่สำหรับ "บิ๊กบัง" แล้ว ย่อมมองเป็นอื่นไปเสียมิได้ นอกจากเป้าหมายที่แฝงฝังในฐานะต้นตำรับ "กฎหมายปรองดอง" ซึ่งก็จะทำให้ "บิ๊กบัง" เป็นตัวช่วยสร้างภาพ "ความปรองดองแห่งชาติ"

เพราะก่อนหน้านี้สภาผู้แทนราษฎร ที่มีพรรคเพื่อไทยยึดครองเสียงข้างมาก เคยเสนอให้ "หัวหน้าคณะรัฐประหาร" ผู้นี้รับบท "ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ" บทบาทครั้งนั้น บิ๊กบังได้เชิญหน่วยงานต่างๆ มาให้ความเห็น ตามด้วยการขอแรงจากสถาบันพระปกเกล้าให้ไปศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก่อนจะเกิดปัญหาขัดแย้งกับทั้งสถาบันพระปกเกล้าและกรรมาธิการในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ นั่นจึงกลายเป็นความขัดแย้งยกแรกของกระบวนการสร้างความปรองดองของรัฐบาล ที่อีกฝ่ายหนึ่งมองว่าเป็นความพยายามอันจะนำไปสู่การออกกฎหมายนิรโทษกรรม

 หลังภารกิจ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ที่จบลงแบบไม่สวยนัก "บิ๊กบัง" ได้สร้างเซอร์ไพรส์อีกครั้งด้วยการเสนอร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ เข้าสู่สภา โดยมีเนื้อหาสำคัญเพื่อนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ต้องคดีทั้งหมดที่เกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง และบรรดาคดีที่นักการเมืองโดนกล่าวหาหลังการปฏิวัติ ซึ่งแน่นอนว่า ในเข่งที่เหมารวมกันมานี้ย่อมจะมีคนชื่อ "ทักษิณ ชินวัตร" รวมอยู่ด้วย

กระนั้นก็ตาม แม้โดยพลันทันทีที่ชื่อ "พล.อ.สนธิ" ถูกขานเป็นหนึ่งใน 35 อรหันต์แปรญัตติ สปอตไลท์ทุกดวงจับจ้องไปที่เขาในฐานะ "ประธาน" คณะกรรมาธิการฯ แต่เมื่อตรวจสอบ "สเปก" กันอย่างละเอียดพบว่า พล.อ.สนธิ "ไม่คล่อง" และ "ไม่เขี้ยว" มากพอ ที่จะรับมือและคุมเกมในห้องประชุมเอาไว้ได้ หนำซ้ำยังไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอีกต่างหาก จึงเชื่อกันว่าตำแหน่งประธาน ไม่น่าจะผิดไปจาก "สามารถ แก้วมีชัย" ส.ส.พรรคเพื่อไทย มือกฎหมาย และอดีตรองประธานสภาผู้แทนฯ

สำหรับรายชื่อกรรมาธิการในสัดส่วนพรรคเพื่อไทยทั้งหมด 17 คนนั้น เป็นที่น่าสังเกตว่ามีเพียงคนเดียวที่ไม่ได้เป็นคนของพรรคเพื่อไทย คือ "พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์" ซึ่งปัจจุบันมีตำแหน่งเป็น "อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ" เป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงยุติธรรม

พลิกดูประวัติ "ณรัชต์" พบว่าเขาเป็นอดีตรองอธิบดีดีเอสไอ ที่เคยรับผิดชอบคดีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองช่วงเมษายน-พฤษภาคม 2553 ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ไปเป็น "ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม" แล้วก้าวขึ้นเป็น "อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ"  เป็นหนึ่งในข้าราชการที่ถูกมองว่าได้รับการ "ปูนบำเหน็จ" จากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ภารกิจสำคัญอย่างหนึ่งของ "ณรัชต์" ในตอนนี้คือดูแลเรื่องการจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง

สำรวจฟากฝั่งของฝ่ายค้าน เกมชิงไหวชิงพริบระดับนี้ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" หัวหน้าพรรคย่อมต้องนำทัพ เข้าไปสัประยุทธ์ในคณะกรรมาธิการด้วยตนเอง นั่นย่อมเป็นเครื่องยืนยันเป็นอย่างดีว่าเกมในสภาเที่ยวนี้ พรรคประชาธิปัตย์ "เอาจริง" ดังที่ได้วางเดิมพันเอาไว้ก่อนหน้า

นอกจากอภิสิทธิ์ แล้ว พรรคประชาธิปัตย์ ยังหนีบเอาศัตรูหมายเลข 1 ของระบอบทักษิณอย่าง "แก้วสรร อติโพธิ" อดีตกรรมการในคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) นักกฎหมายที่ใกล้ชิดกับพรรคประชาธิปัตย์มาร่วมเดินหมากในคณะกรรมาธิการด้วย

ประชุมนัดแรก วันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคมนี้ จะต่อสู้กันดุเดือดเลือดพล่านขนาดไหน อย่ากะพริบตา !!!
.........................
 ที่มา: สำนักข่าวเนชั่น โดยสมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์

0 comments:

Post a Comment

 
Copyright © . Yak Ratchaprasong - Posts · Comments
Theme Template by BTDesigner · Powered by Blogger