Monday, September 2, 2013

สัมภาษณ์พิเศษ : เจริญ ภักดีวาณิช ส.ว.พัทลุง แจงเหตุผลหนุนเลือกตั้งส.ว.

ารพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญเรื่องที่มาส.ว. วาระ 2 ของรัฐสภา หลังถกเดือดในวันแรก

การประชุมวันต่อๆ มา เนื้อหาการอภิปรายเน้นพุ่งเป้าโจมตีข้อเสียของส.ว.เลือกตั้ง 

ส่วนใหญ่อภิปรายแบบลากยาว ชี้แจงซ้ำไปซ้ำมา เน้นใช้วาทะ แอบด่า หรือตั้งใจให้มีการประท้วง

มีไม่มากนักที่ว่ากันด้วยสาระ หลักเกณฑ์ นายเจริญ ภักดีวาณิช ส.ว.พัทลุง เป็นหนึ่งในนั้น 

และมีคำอธิบายถึงความเห็นที่สนับสนุนให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้งยกชุด 


ความแตกต่างของส.ว.เลือกตั้งกับส.ว.แต่งตั้ง

นอกจากรัฐธรรมนูญจะระบุชัดว่าอำนาจเป็นของปวงชนชาวไทย และบุคคลย่อมมีความเสมอภาคกันทางกฎหมายแล้ว เมื่อเชื่อมั่นในประชาชนก็ต้องให้ประชาชนเป็นคนเลือกตั้ง 

แต่ข้อสังเกตขณะนี้เกิดความไม่เสมอภาคในกระบวนการการได้มาของส.ว.เลือกตั้ง และส.ว.สรรหา ตั้งแต่การลงสมัคร จนกระทั่งการคัดเลือก 

ส.ว.เลือกตั้งต้องผ่านการเสียค่าสมัครเหมือนกับส.ว.สรรหา คนละ 5,000 บาท และยังต้องลงพื้นที่ สัมผัสประชาชน มีกติกาควบคุมทั้งใบแดง ใบเหลือง 

แต่ส.ว.สรรหาถูกเลือกจากกรรมการสรรหาแค่ 7 คน คนที่ได้คะแนนคัดเลือก 4 คะแนนก็ยังเป็นได้ ประชาชนไม่ได้รับทราบหลักเกณฑ์การพิจารณา อย่างนี้จะรู้ได้อย่างไรว่า ส.ว.สรรหามาอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม 


แต่ส.ว.สรรหาทำให้เกิดความหลากหลายทางสาขาวิชาชีพ 

ทุกวันนี้ส.ว.เลือกตั้งก็มาจากทั้งอดีตผู้ว่าฯ ครู อาจารย์ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต. นายกเทศมนตรี แพทย์ ฯลฯ ยังไม่หลากหลายมากพอหรือ ยิ่งหากให้มีส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้ง 200 คน เชื่อว่าก็จะยิ่งทำให้ได้ความหลากหลายทางอาชีพสูงขึ้นไปอีก 

เทียบกับส.ว.สรรหา ถามว่าชาวนาได้มาเป็นส.ว.หรือไม่ ตัวแทนชาวมุสลิมที่มีอยู่ในประเทศกว่า 10 ล้านคน เลือกส.ว.สรรหามา 20 คน แต่การคัดเลือกไม่มีใครได้เข้ามาเป็นตัวแทนของกลุ่ม

การตั้งข้อสังเกตว่าหากได้บุคคลที่มีความหลากหลายอาชีพจะได้ใช้ความรู้ความสามารถมากลั่นกรองกฎหมายนั้น กฎหมายที่เข้ามาในรอบ 5 ปีนี้ ถ้าดูในส่วนของผู้เสนอแปรญัตติทั้งส.ว.เลือกตั้งและส.ว.สรรหา ถือว่าใกล้เคียงกัน และการเป็นกรรมาธิการก็ไม่ได้มีข้อจำกัดเรื่องอาชีพ

การศึกษาของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ จาก "สมุดพกส.ว." ผลการตัดสินใจครั้งสุดท้าย หรือการลงมติของส.ว.ที่ได้คะแนนร้อยละ 80-90 ในการผ่านร่างกฎหมาย 10 ฉบับที่ผ่านมานั้น 

มีส.ว.เลือกตั้ง 16 คน ส.ว.สรรหา 7 คน ที่ทำหน้าที่ แสดงว่าอาชีพต่างๆ ไม่ได้มีส่วนในการตัดสินใจออกกฎหมาย ล่าสุด การศึกษาระหว่าง เม.ย.-ส.ค. การผ่านร่างกฎหมาย 5 ฉบับ ก็มีส.ว.เลือกตั้ง ลงมติมากกว่าส.ว.สรรหา 4 ฉบับ ต่อ 1 ฉบับ 

ข้อมูลปัจจุบันนี้เป็นตัวชี้อีกส่วนหนึ่งว่าความหลากหลายของอาชีพมีผลต่อการพิจารณากฎหมายน้อยมาก ขณะที่ส.ว.เลือกตั้ง เป็นตัวแทนประชาชนทั่วประเทศที่มาตัดสินใจว่ากฎหมายฉบับต่างๆ ควรจะผ่านหรือไม่ผ่าน 

จะอธิบายอย่างไรว่า มีส.ว.เลือกตั้งอย่างเดียว ดีกว่ามี ส.ว. 2 ระบบ

1.ได้คืนอำนาจให้ประชาชน 2.ส.ว.สรรหาที่มาจากกระบวนการสรรหาโดยคน 7 คน ยังสร้างความเคลือบแคลงใจ และมีโอกาสเกิดความไม่ยุติธรรมสูง เนื่องจากคนมีสิทธิ์เลือกตั้ง 40 ล้านคน เลือกส.ว. ย่อมมีวิจารณญาณมากกว่า 7 คน 

แม้ท่านเหล่านี้เป็นผู้ใหญ่ของบ้านเมืองมาช่วยคัดเลือก แต่อย่าลืมว่าคณะกรรมการบางคนมาจากคณะปฏิวัติเมื่อปี 2549 และท่านต่างมีภาระหน้าที่ของตัวเอง ไม่ค่อยมีเวลามาศึกษาคุณสมบัติของส.ว.แต่ละคน ได้แต่อ่านจากเอกสารข้อมูล 

บางคนก็บอกว่าเป็นเพื่อนกัน ฝากฝังกันได้บ้าง ซึ่งไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่าแต่ผลการสรรหาปี 2551 ที่ผ่านมาผู้สมัครเดิมมี 73 คน ได้กลับเข้ามาใหม่ 34 คน บางคนที่กลับเข้ามาไม่เคยมีผลงานในการแปรญัตติ กลั่นกรองกฎหมาย 

หากเราต้องการจะเป็นประเทศประชาธิปไตย การถ่ายโอนอำนาจให้เป็นการเลือกตั้งของประชาชนทั้งประเทศจึงชอบธรรมกว่า

ส.ว.เลือกตั้งอาจผูกโยงกับการเมืองในพื้นที่ จนถูกครอบงำ แทรกแซงได้

ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ข้อกล่าวหาว่าส.ว.เลือกตั้งเป็นสภาทาส ถูกครอบงำหรือไม่เป็นกลางนั้นไม่มีเลย ผมลงเลือกตั้งในภาคใต้ จ.พัทลุง ก็ไม่ได้ใช้ฐานเสียงพรรคประชาธิปัตย์ 

เท่าที่คุยกับส.ว.เลือกตั้งก็พบว่าเกือบทุกคนไม่ได้อาศัยฐานเสียงของพรรคการเมือง การพูดถึงเรื่องนี้เป็นการใช้ฐานคิดกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต แต่ตอนนี้มันไม่มีแล้ว ผมมั่นใจว่าประชาชนรู้จักเลือก การเมืองทุกวันนี้มีการถ่ายทอดสดทั้งวิทยุและโทรทัศน์ ผู้สมัครก็มีสื่อประชาสัมพันธ์ 

และยิ่งส.ว.มีอำนาจในการแต่งตั้ง ถอดถอน ก็ยิ่งจำเป็นที่ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้ง มีจุดยึดโยงกับประชาชน 

และเป็นไปไม่ได้ที่องค์กรอิสระจะถูกแทรกแซง เช่น ศาลรัฐธรรมนูญที่มีองค์คณะ 9 คน ตามมาตรา 206 กระบวนการสรรหาก็ยังจะเหมือนเดิม ผู้พิพากษาศาลฎีกาเลือกมา 3 คน ตุลาการศาลปกครองเลือกมา 2 คน เท่ากับว่ามี 5 คนแล้วที่ส.ว.ไม่มีส่วนพิจารณา 

ส่วนอีก 4 คน เป็นการสรรหามาแล้ว ให้วุฒิสภาแสดงความเห็นชอบเท่านั้น หากไม่เห็นชอบก็ให้ส่งกลับ แต่หากกรรมการสรรหายืนยันตามเดิมก็แต่งตั้งได้เลย วุฒิสภาเป็นเหมือนตรายางเท่านั้น ไม่มีอำนาจไปกำหนดใครได้ 

ที่บางคนพูดว่า "ไม่ใช่แค่ไว้ใจประชาชน แต่ต้องเรียนรู้จากประวัติศาสตร์" ผมอยากบอกว่าประวัติศาสตร์มี 2 ช่วงให้เรียนรู้ คือช่วงก่อนปี 2549 และช่วงเหตุการณ์ความขัดแย้ง 

ต้องไม่เรียนรู้แค่ช่วงเดียว เพราะช่วงก่อนปี 2549 ส.ว.หรือรุ่นผมก็มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 200 คน และ เป็นส.ว.ที่มีศักยภาพด้วย ไม่ใช่ส.ว. สภาทาส

ข้ออ้างว่าอังกฤษยังมีสภาขุนนาง 

สภาขุนนางมาจากการแต่งตั้ง แต่อำนาจการตรวจสอบไม่ได้มีมาก ขณะที่วุฒิสภาไทยให้อำนาจทั้งคุณและโทษในการแต่งตั้ง ถอดถอนบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งทาง การเมือง 

ยิ่งมีอำนาจมากๆ ก็ควรมอบอำนาจให้ประชาชน และยิ่งต้อง ให้มีการเลือกตั้ง เพื่อหาตัวแทนประชาชน ฉะนั้นอย่าเพิ่งไปห่วงว่าประชาชนจะแยกเลือก ส.ส. ส.ว.ไม่ออก ใครคิดว่าประชาชนโง่แสดงว่าไม่เชื่อประชาชน 

ที่ผมเป็นห่วงคือเรื่อง วาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี จะนานเกินไป ผมเสนอแปรญัตติ มาตรา 117 เรื่องวาระของส.ว. มีวาระ 4-5 ปี ในอดีต ก็มีวาระแค่ 5 ปี ในอังกฤษที่จะมีการปฏิรูปสภาขุนนางให้เลือกตั้ง 450 คน มีวาระได้แค่ 5 ปี 

และการดำรงตำแหน่งไม่ควรเกิน 2 วาระ เพื่อสอดรับกับอธิการบดีมหาวิทยาลัยต่างๆ องค์กรอิสระ ที่มีมาตรฐานเดียวกัน

ข้อกังวลต่อร่างแก้ไขที่มาส.ว.

การให้บุคคลที่พ้นจากส.ส.หรือสมาชิกพรรคการเมืองแล้วมาลงสมัครส.ว.ได้ทันที รวมถึงให้คู่สมรสและบุตรลงสมัครได้ด้วย พูดถึงสิทธิ์ก็ย่อมทำได้ แต่ข้อกังวลของฝ่ายค้านก็น่ารับฟังอยู่ 

เพราะประเด็นนี้จะมีผลได้เสียต่อสองสภาเอง ถ้าเป็นส.ส.โหวตไม่ไว้วางใจรัฐบาล เป็นเครือญาติกันก็ปลดไม่ได้อยู่แล้ว พอมาเป็นส.ว.ก็ย่อมมีส่วนยึดโยงกับการเมือง โดยเฉพาะการตรวจสอบเรื่องทุจริตของรัฐบาล 

ขณะเดียวกัน ถ้าสามีเป็นส.ส. ภรรยามาลงส.ว.การตรวจสอบก็จะอ่อนแอด้วย 

สิ่งนี้จึงน่ากังวลเพราะยากที่จะไม่ผูกพันกับการเมือง แม้แต่บางตระกูลที่ลงส.ส. มานาน มีฐานเสียงอยู่อยากให้ลูกเล่นการเมืองโดยให้มาลงส.ว. ก็เท่ากับยึดโยงการเมืองอีก 

ถ้ามีจำนวนบุคคลแบบนี้เข้ามามากๆ การเลือกที่จะตรวจสอบแค่บางเรื่อง หรือตรวจสอบไม่จริง ไม่ส่งเรื่องต่อคณะกรรมการป.ป.ช. สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ย่อมเกิดขึ้น

เชื่อว่าคงมีผู้อภิปรายจุดนี้แน่ เหตุผลของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับประเด็นนี้ก็ค่อนข้างมีมากและมีน้ำหนัก หากผ่านไปได้โดยความเชื่อใจประชาชนก็ไม่ใช่ว่าไม่มีโอกาส เสี่ยง 

หลังจากนั้นเชื่อว่าระบบการเลือกและตรวจสอบจากภาคประชาชนคงต้องเข้มข้นขึ้นแน่นอน

ที่มา : ข่าวสด

0 comments:

Post a Comment

 
Copyright © . Yak Ratchaprasong - Posts · Comments
Theme Template by BTDesigner · Powered by Blogger