Tuesday, July 23, 2013

ดร.พันศักดิ์ "ไฮสปีดเทรน" ไม่ใช่แค่รถไฟแต่คืออนาคต!


ดร.พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาด้านนโยบายของนายกรัฐมนตรี ในฐานะเจ้าของแนวคิดรถไฟความเร็วสูง และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาล เปิดเผยผลการศึกษาและเอกสารสำคัญที่จัดทำขึ้นเพื่ออธิบายให้คนไทยโดยรวมรับรู้ เห็นความสำคัญ และให้การสนับสนุนรัฐบาลการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว ซึ่งเขาเรียกมันว่า It’s not just a train, it’s a future...มันไม่ใช่แค่รถไฟ แต่มันคืออนาคต!


การลงทุนบนพื้นฐานยุทธศาสตร์หลัก 3 ประการนี้ได้แก่ 1.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทาง และขนส่งไปสู่ศูนย์กลางของภูมิภาคทั่วประเทศที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านจากการพัฒนาประตูการค้าหลัก และประตูการค้าชายแดนให้เข้ากับโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง และโครงข่ายเชื่อมต่อภูมิภาค รวมถึงการพัฒนาเส้นทางรถไฟสายใหม่เพื่อเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านใช้เงินลงทุนรวม 1,042,376.74 ล้านบาท หรือ คิดเป็นวงเงินเท่ากับ 52.12%

2.พัฒนา และปรับปรุงระบบขนส่งเพื่อยกระดับความคล่องตัวด้วยการพัฒนาระบบขนส่งในเขตเมือง โดยเฉพาะระบบรางให้ครอบคลุมพื้นที่บริการในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล มูลค่า 593,801.52 ล้านบาท คิดเป็น 29.69% ของวงเงินลงทุนรวม 3.ปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าทางถนนสู่การขนส่งที่มีต้นทุนต่ำกว่า ซึ่งต้องใช้วงเงินลงทุน 354,560.73 ล้านบาท หรือ 17.73% จากการปรับปรุงโครงข่ายทางรถไฟที่มีอยู่ให้เป็นโครงข่ายการขนส่งหลักและเส้นทางอื่นที่เชื่อมโยงกับโครงข่ายหลัก ซึ่งต้องดำเนินการควบคู่ไปกับแผนงานสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งประเทศมูลค่า 9,261.01 ล้านบาทหรือ 0.46% ของเงินลงทุนรวม

ภายใต้สถานการณ์ที่เลวร้ายในเวทีโลก ประเทศไทยควรปรับยุทธศาสตร์เศรษฐกิจจากการเติบโตโดยการพึ่งพาการส่งออกเป็น การเติบโตโดยสมดุลระหว่างการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศกับการส่งออก ฉะนั้น การลงทุนในแนวคิดนี้ จึงเป็นการลงทุนเพื่อสร้างโอกาสใหม่ สร้างรายได้ใหม่ และอนาคตใหม่ที่ดีกว่า

ประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกฯ กล่าวด้วยว่า ลองถามพวกเจ้าสัว นักธุรกิจใหญ่ และแม้แต่ รายเล็กๆในท้องถิ่นดูซิว่า เขาต้องการขยายโอกาสใหม่ทางธุรกิจหรือไม่ ผมไม่คิดว่าจะมีใครปฏิเสธ แม้แต่สื่ออย่างพวกคุณก็คงไม่ปฏิเสธเช่นกันที่สำคัญกว่าก็คือ เมื่อประเทศไทยได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญนี้แล้ว มันสามารถต่อเชื่อมกับเพื่อนบ้าน อย่าง ลาว พม่า เวียดนาม จีน และมาเลเซียซึ่งทุกประเทศล้วนแต่เตรียมการลงทุนโครงข่ายรถไฟความ เร็วสูงมาจ่อปากประตูเข้าประเทศไทยแล้ว

รถไฟขบวนนี้มีขนาดความเร็วราว 200-250 กม.ด้วยราง 1.4 เมตร มันไม่ได้ขนส่งแค่ ผักผลไม้ที่คนไทยบริโภคกันปีละ 330,000 ล้านบาทแต่เสียไประหว่างทาง 40% เท่านั้น หากยังขนส่งสินค้าโอทอป สินค้าของท้องถิ่น รวมถึงสินค้าที่เกิดขึ้นจากโรงงานอุตสาหกรรมรายทางที่รถไฟผ่านไปด้วยและการลงทุน 2 ล้านล้านบาทซึ่งทำเพื่อสร้างโอกาส กับอนาคตให้แก่คนไทยทั้งประเทศนี้ ถ้านำไปเทียบกับการลงทุนในกลุ่ม บมจ.ปตท.แค่ปีเดียว ถือว่า น้อยมาก

ถึงเวลาที่จะต้องทำอะไรเพื่อตัวเราเองบ้าง และนี่คือสิ่งที่รัฐบาลจะทำให้แก่ประเทศ และคนไทย...ผมไม่อาจตอบคำถามพวกคุณเรื่องการทุจริตคอรัปชันที่มีผู้หยิบยกมาเป็นข้ออ้างไม่ยอมให้สร้างโครงการนี้ได้ และผมไม่รู้หรอกว่า เราจะบริหารศรัทธาของกลุ่มอำนาจในประเทศนี้ให้เขาพอใจได้อย่างไร แต่สามารถตอบได้ว่า รัฐบาลจะสามารถประสานประโยชน์ และจัดสรรความสุขให้แก่คนไทยลงตัวได้อย่างไร

ภายใต้โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 2 ล้านล้านบาท รถไฟความเร็วสูง หรือ ไฮสปีดเทรน” 4 สายทาง ซึ่งถือเป็นโครงการหลักของแผนกลยุทธ์ของรัฐบาลในการสร้างความเจริญสู่ชนบทและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจ ในวงเงิน 783,229 ล้านบาท

ประกอบด้วย 1.เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ 679 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 387,821 ล้านบาท โดยเริ่มทำในระยะแรก ช่วง กรุงเทพฯ-พิษณุโลก 2.เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย 615 กม. ลงทุน 170,450 ล้านบาท เริ่มระยะแรกจากกรุงเทพฯถึงช่วงชุมทางบ้านภาชี-นครราชสีมา ระยะทาง 256 กม.

3.สายกรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์ 982 กม. วงเงิน 124,327 ล้านบาท เริ่มระยะแรกช่วงกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 225 กม. และ 4. สายตะวันออก ส่วนต่อขยายจากแอร์พอร์ตลิงก์ ไปชลบุรี-พัทยา-ระยอง ระยะทาง 221 กม. วงเงิน 100,631 ล้านบาท โดยทั้งโครงการจะเสร็จสิ้นภายในปี 2565 หรือ 9 ปีข้างหน้า

การลงทุนเพื่อสร้างอนาคต

ทั้งนี้ ภายใต้แนวคิด ไม่ใช่เป็นเพียงรถไฟ แต่คือ โครงกระดูกหลักในการขนส่งสินค้าในภูมิภาค และการสร้างอนาคตในประเทศเราจะได้อะไรบ้างจากโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง? หลักๆตามแนวคิดของนายพันศักดิ์ตามมุมมองข้างต้น ประกอบด้วย

1.การสร้างสมดุลในการขยายตัวของประเทศ ระหว่างรายได้จากการส่งออกและรายได้จากในประเทศ (Balance Growth with Export & Domestic Growth) โดยมีไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาค 2.การลดต้นทุนการขนส่งสินค้า และเพิ่มความเร็วในการคมนาคมและขนส่ง 3.การกระจายความเจริญสู่ชนบท และการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ เมื่อสร้างเสร็จทั้งโครงการสถานีรถไฟความเร็วสูงของไทย และเชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงกับประเทศลาว และจีน ดังนั้น ด้วยสถานีรถไฟหลายร้อยแห่งจากไทยที่จะผ่านลาว จีน และต่อเนื่องไปจนถึงยุโรป จะสร้างเศรษฐกิจภาคพื้นดิน เพิ่มปริมาณการขนส่ง สร้างการค้าตรงระหว่างธุรกิจต่อธุรกิจ และลดปัญหาพ่อค้าคนกลาง

ที่สำคัญ ตำแหน่งที่ตั้งของไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะทำให้เรากลายเป็น ศูนย์กลางด้านการขนส่งและสินค้าเกษตรทั้งในแง่ของผู้ผลิต และผู้ให้บริการด้านการขนส่ง

ต่อเนื่องถึงการสร้างระบบการค้าออนไลน์ของสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอทอป) และธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ขณะเดียวกัน การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงจะช่วยสร้างงาน สร้างธุรกิจ และกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่องไปพร้อมๆกันด้วย

ลดต้นทุนโลจิสติกส์ธุรกิจ

สำหรับประโยชน์ในการลดต้นทุนทางการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ การขนส่งสินค้าด้วยรถไฟฟ้าความเร็วสูง 1 ขบวน จะขนส่งสินค้าได้ 100 ตัน เท่ากับการขนส่งด้วยเครื่องบินโบอิ้ง 747 จำนวน 1 ลำ หรือเครื่องบินแอร์บัส 310 จำนวน 3 ลำ และเทียบได้กับการขนส่งด้วยรถบรรทุก 200 คันทีเดียว

นอกจากนั้น ระบบรถไฟความเร็วสูงจะช่วยเพิ่มการขนส่งสินค้าผ่านทางรถไฟเพิ่มขึ้น จาก 2.29% ในขณะนี้ เป็น 80% ของการขนส่งรวมในระยะต่อไป ซึ่งจะช่วยประหยัดการบริโภคน้ำมันได้ 35% ของปริมาณการบริโภคน้ำมันทั้งหมดต่อปี ซึ่งจะสามารถประหยัดเม็ดเงินในการนำเข้าน้ำมันได้ถึง 400,000 ล้านบาทต่อปี

สำหรับการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ซึ่งประกอบด้วยต้นทุนด้านการเก็บรักษาสินค้าคงคลัง ต้นทุนด้านการขนส่ง และต้นทุนด้านบริหารจัดการนั้น การใช้ระบบรถไฟความเร็วสูงจะช่วยรักษาเวลาในการขนส่งให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้การบริหารจัดการทำได้ดีขึ้น เวลาในการขนส่งลดลง และต้นทุนในการจัดเก็บรักษาสินค้าคงคลังของไทยจะเหลือ 0% ในภาคอุตสาหกรรม

ทั้งหมดนี้จะช่วยลดต้นทุนของระบบโลจิสติกส์ไทยในอนาคตได้ถึง 720,000 ล้านบาทต่อปี

นอกจากนั้น ในระดับประชาชน รถไฟความเร็วสูงจะเป็นทางเลือกใน การเดินทางในประเทศ ที่มีความสะดวกสบายมากขึ้น ใช้เวลารวดเร็วมากขึ้น ซึ่งสามารถเทียบเคียงการเดินทางได้ในระดับเดียวกับการโดยสารเครื่องบิน

เพิ่มรายได้สร้างธุรกิจเสริมท่องเที่ยว

นอกเหนือจากการลดต้นทุนแล้ว ประโยชน์ที่มากกว่าคือ การเพิ่มรายได้ ส่งเสริมการท่องเที่ยวตามรายทาง และกระจายความเจริญสู่ชนบท ทั้งนี้ ด้วยศักยภาพของรถไฟความเร็วสูงของไทยจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการผลิต การส่งออก และการท่องเที่ยวในภูมิภาค
โดยรถไฟความเร็วสูงจะทำให้ เมืองทางผ่านกลายเป็นเมืองท่องเที่ยว ตามเส้นทางรถไฟความเร็วสูง และยังจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับ หรือค้าง 1-2 คืนเพิ่มขึ้น เนื่องจากเราสามารถใช้เวลาที่เร็วขึ้นมาในการเดินทางท่องเที่ยว

ควบคู่กับนักท่องเที่ยว ยอดการค้าขาย และการบริการ รวมทั้งย่านธุรกิจ จะขยายตัวเพิ่มขึ้นในเมืองรายทางตามเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ขณะที่การขนส่งสินค้าที่ใช้เวลาที่รวดเร็วยังช่วยลดความเสียหายของสินค้าเกษตร ซึ่งจะเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรไทยเพิ่มมากขึ้น เพราะที่ผ่านมานั้น อัตราการเน่าเสียของผัก-ผลไม้ที่ขนส่งด้วยรถบรรทุกมีอัตราการเน่าเสีย 17-35% ขณะเดียวกัน ความสะดวกในการเดินทางจะช่วยสร้างเขตอุตสาหกรรมใหม่ๆในชนบทให้เกิดขึ้นได้ตามแนวเส้นทาง

นอกจากนั้น ความรวดเร็วในการขนส่งสินค้าด้วยรถไฟความเร็วสูงจะช่วยให้ธุรกิจเอสเอ็มอี และผู้ผลิตสินค้าโอทอปของไทย สร้างธุรกิจของตัวเองด้วยการ ขายตรงระหว่างธุรกิจต่อธุรกิจได้ ด้วยระบบการขนส่งสินค้าจำนวนมากๆที่ทำได้เองโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ผ่านระบบไปรษณีย์ หรือบริการรถไฟความเร็วสูงที่สามารถกำหนดเวลาการขนส่งได้ตรงเวลา ต่อเนื่องไปจนถึงการซื้อขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ กับธุรกิจในต่างประเทศ

ทั้งนี้ ในแนวคิดการตกแต่งภายในรถไฟความเร็วสูงในทุกขบวนของไทย จะตกแต่งบุเบาะรถไฟ ใช้ม่านไม้ไผ่ ใช้วัสดุในการปูพื้นและตกแต่งรถไฟทั้งหมดด้วยสินค้าที่ผลิตในประเทศ สินค้าโอทอป และใช้ช่างฝีมือท้องถิ่นของไทยทั้งหมดด้วย รวมทั้งเปิดให้มีการประมูลนำสินค้าชั้นนำของประเทศมาขายในรถไฟด้วย

การลงทุนรถไฟความเร็วสูงจะช่วยเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ส่งผลให้รายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้น ขยายฐานภาษีและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพื่ออนาคตของประเทศไทยที่ดีขึ้น”.


ทีมเศรษฐกิจ นสพ.ไทยรัฐ

0 comments:

Post a Comment

 
Copyright © . Yak Ratchaprasong - Posts · Comments
Theme Template by BTDesigner · Powered by Blogger