15 ส.ค.56 เวลา 12.00 น. ที่อาคารบี ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) นำโดยนายสุพัฒน์ อาษาศรี เลขาธิการ สนนท. เดินทางมายื่นข้อเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.)ลาออกจากตำแหน่ง และปฏิรูปกระบวนการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยให้เป็นการเลือกตั้งจากประชาชน ระบุว่ารายงานผลการตรวจสอบเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม เสื้อแดงปี 53 นั้น บิดเบือนไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ตลอดจนการให้สัมภาษณ์ในรายการ คม ชัด ลึก ทางช่องเนชั่นทีวี ศ.อมรา พงศาพิชญ์ ประธาน กสม. ก็ไม่สามารถให้ความกระจ่างต่อการสอบถามได้
โดยมีนายขรรค์ชัย คงเสน่ห์ รองเลขาธิการ กสม. เป็นตัวแทนลงมารับหนังสือของ สนนท.
นอกจากการอ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้องแล้ว สนนท. มีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการฉีกรายงานผลสรุปเหตุการณ์การชุมนุม ปี 53 พร้อมแสดงละครล้อเลียน สะท้อนว่า รายงานของ กสม. ฉบับนี้ เป็นการฆ่าผู้ที่เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมให้ตายซ้ำ 2 อีกด้วย รวมทั้งมีการถือป้ายประท้วง เช่น “ตายซ้ำ 2” “คณะกรรมการคุ้มครองอภิสิทธิ์ชนแห่งชาติ” เป็นต้น
แถลงการณ์: กรณีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ออกรายงานผลการตรวจสอบเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช.
ในกรณีที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ออกรายงานดังกล่าวในเชิงนโยบาย ซึ่งรายงานนี้เป็นรายงานที่บิดเบือนไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ตลอดจนการให้สัมภาษณ์ในรายการ คม ชัด ลึก ทางช่องเนชั่นทีวี ศาสตราจารย์อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็ไม่สามารถให้ความกระจ่างต่อการสอบถามได้ซึ่งทั้ง 2 ประการที่เกิดขึ้นทั้งรายงานและการให้สัมภาษณ์พยายามบ่งบอกได้ว่ารัฐสามารถที่จะใช้กำลังทหารและกำลังอาวุธสงครามเข้าทำร้ายและสังหารผู้มาชุมนุมได้
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นองค์กรที่มีบทบาทชัดเจนภายหลังการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 และมีอำนาจมากยิ่งขึ้นภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ถือได้ว่าเป็นอีกองค์กรที่เป็นอุปสรรคและขัดขวางต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งคณะกรรมการก็เป็นบุคคลที่สืบทอดอำนาจเผด็จการจากคณะรัฐประหาร
อุปสรรคต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยเห็นได้จากที่มาของคณะการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมาจากการสรรหาซึ่งไม่สอดคล้องต่อบริบทในสังคมไทยที่เป็นอยู่ในขณะนี้ อีกทั้งคณะกรรมการสรรหาก็ไม่ได้ยึดโยงกับอำนาจประชาชนแต่อย่างใด ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ล้วนย้อนแย้งกับทิศทางที่ประชาชนออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ผ่านมาไม่ได้เป็นที่ยอมรับของประชาชนและการปฏิบัติงานก็มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติหรือที่รู้จักกันในวลีที่ว่า “2 มาตรฐาน” ทำให้ความเป็นอิสระกลับกลายเป็นองค์กรที่เลือกจะอยู่ภายใต้การควบคุมขององค์กรที่มีรากเง้าเก่าแก่ในสังคมไทย
ด้วยพฤติการณ์ของ กสม. สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.) จึงเสนอทางออกแก่ กสม.ดังนี้
1.ให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติลาออกจากตำแหน่ง
2.ให้ปฏิรูปกระบวนการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยให้เป็นการเลือกตั้งจากประชาชน
สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)
15 สิงหาคม 2556
ที่มา :ประชาไท
0 comments:
Post a Comment