เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 15 ส.ค. ที่รัฐสภา 10 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นำโดย นายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคภาคใต้ นายชิณวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช รมว.เกษตรและสหกรณ์เงา นายวิทยา แก้วภราดัย ส.ส.นครศรีธรรมราช และนายอาคม เอ่งฉ้วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ร่วมกันแถลงข่าวประกาศจุดยืนของส.ส.กว่า 50 คนในพื้นที่ปลูกยางพารา ว่า จะเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา และจะมารวมตัวกันที่ศาลากลางจังหวัด เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ
นายถาวร กล่าวว่า ที่ผ่านมาส.ส.และกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพาราได้ยื่นหนังสือให้รัฐบาลแก้ปัญหายางพาราตกต่ำ โดยนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ ในสมัยที่เป็นรมช.เกษตรฯ ประกาศว่าจะทำให้ราคายางพาราอยู่ที่ 120 บาทต่อกิโลกรัม แต่วันนี้ราคากลับตกมาเกือบ 1 เท่าตัว คือ อยู่ที่ 71-72 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้เกษตรกรเดือดร้อนเป็นอย่างมาก แต่รัฐบาลยังเพิกเฉย ดังนั้นเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางพารา จะนัดหารือกันเพื่อกำหนดท่าทีในการยกระดับการเรียกร้องที่โรงแรมรอยัล ซิตี้ ในวันที่ 16 ส.ค.นี้ โดยผลสรุปออกมาอย่างไร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมร่วมต่อสู้ โดยทราบมาว่ากลุ่มเกษตรกรจะรวมตัวกันไปที่ศาลกลางจังหวัด เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาในวันที่ 19 ส.ค.นี้
ขณะที่ นายวิทยา กล่าวว่า ที่ผ่านมาพวกตนพยายามต่อสู้ในระบบรัฐสภาด้วยการตั้งกระทู้ถาม เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหา แต่รัฐบาลกลับนิ่งเฉยถือว่าเราแพ้ในสภาแล้ว จึงไม่อาจใช้แนวทางการต่อสู้แบบปกติกับรัฐบาลนี้ได้ ดังนั้ นส.ส.50 กว่าคน ขอประกาศว่าจะไม่อยู่เบื้องหลังการชุมนุม แต่จะเข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มเกษตรกรที่ศาลากลางจังหวัด หากจะเคลื่อนไปที่ทำเนียบรัฐบาลก็จะไปด้วย และหากจะยกระดับเพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับมติของเกษตรกร และพร้อมร่วมขบวน ขอรัฐบาลอย่าใช้กำลังในการสลายการชุมนุม ปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะประเทศนี้ไม่มีนายกฯ เนื่องจากประชาชนรู้สึกว่านายกฯไม่แก้ปัญหา
ด้าน นายอาคม กล่าวว่า ปัญหาราคายางพาราตกต่ำไม่ใช่เป็นปัญหาเฉพาะของภาคใต้ เพราะขณะนี้มีการกระจายปลูกยางพาราไปถึง 60 จังหวัดทั่วประเทศ ประเทศไทยมียางมากแต่ผู้บริหารประเทศกลับไม่มียางอาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางไปทั่วโลก 37 ประเทศ แต่ไม่คุยเรื่องการขายยางพาราให้กับต่างประเทศ จึงอยากเสนอให้รัฐบาลแก้ปัญหา
ดังนี้ 1.คณะกรรมการนโยบายยางแห่งชาติ ควรประกาศว่าจะไม่ขายยางพาราในสต๊อกที่รัฐบาลแทรกแซงรับซื้อมา 2.1 แสนตัน เพื่อส่งสัญญาณในการลดจำนวนยางพาราในตลาดลง เพื่อให้ตลาดเป็นของเกษตรกรไม่ใช่ของประเทศผู้รับซื้อ 2.นำยางพารา 2.1 แสนตัด มาแปรรูป เช่น ผสมกับยางมะตอยมาราดถนน 3.เจรจากับบริษัทร่วมทุนยางที่มีสมาชิกเป็นผู้ผลิตยางพารา 3 ประเทศ ว่าอย่าขายยางพาราตัดราคากัน และต้องขายไม่ต่ำกว่า 120 บาทต่อกิโลกรัม
“รัฐบาลต้องเลิกยางอายอย่าคิดว่าเป็นข้อเสนอของฝ่ายค้านแล้วจะไม่รับไปดำเนินการ เพราะวันนี้เราจนกันหมดทั้งแผ่นดินแล้ว ขณะนี้เรามียางในสต๊อก 8 แสนกว่าตัน หากเก็บไว้นานจะเสื่อมสภาพ ซึ่งเชื่อว่าอีกไม่นานคงเกิดปรากฏการณ์ไฟไห้มโรงเก็บยาง เพื่อทำลายหลักฐานการบริหารที่ล้มเหลว” นายอาคม กล่าว.
ที่มา :เดลินิวส์
0 comments:
Post a Comment