อาจเป็นเพราะการนำร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย เหมะ ส.ส. พรรคเพื่อไทย และคณะ จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาในวันที่ 7-8 สิงหาคม ทำให้ "ฝ่ายความมั่นคง" พอมีเวลาประเมินสถานการณ์ทางการเมืองก่อนตัดสินใจเสนอให้รัฐบาลนำ "พ.ร.บ.ความมั่นคง" มาใช้ได้หากประเมินว่าการชุมนุมทางการเมืองจากกลุ่มต่างๆ ในวันที่ 4 สิงหาคม อาจเกิดความวุ่นวาย
แต่สำหรับมุมมองของ "ผศ.ดร.ณกมล ปุญชเขตต์ทิกุล" นักยุทธศาสตร์อาเซียนศึกษา มองว่า การชุมนุมของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 4 สิงหาคมนี้ไม่น่าจะรุนแรง โดยดูจากการจัดวางระบบการป้องกันการเตรียมพร้อมของรัฐบาล และฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาล
เริ่มจากการเคลื่อนไหวของ "ภาคประชาชน" หรือ "กลุ่มคนเสื้อแดง" ในนาม "กลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาชน" (กวป.) ที่มาชุมนุมที่หน้ารัฐสภา โดยอ้างว่ามาเพื่อสนับสนุนให้รัฐสภาทำงานได้ และป้องกันไม่ให้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือกลุ่มอื่นๆ ที่คัดค้านการทำงานมาขัดขวาง ซึ่งก่อนหน้านี้ กวป.ได้ปักหลักชุมนุมอยู่ที่บริเวณศาลรัฐธรรมนูญ ถนนแจ้งวัฒนะ
ยังไม่รวมถึงการนัดหารือของ "กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ" (นปช.) จากทั่วประเทศ ในวันที่ 3 สิงหาคม ที่วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง เพื่อประเมินสถานการณ์การเมืองและกำหนดทิศทางการทำกิจกรรมอีกครั้ง
โดย "จตุพร พรหมพันธุ์" แกนนำ นปช. ใช้คำว่า "ในสถานการณ์บ้านเมืองเช่นนี้ เรามีความจำเป็นต้องต่อสู้กันเป็นทีม"
ขณะที่ "ภาครัฐบาล" ก็เตรียมการรับมือกับการชุมนุมของกลุ่มการเมืองต่างๆ ในวันที่ 4 สิงหาคมนี้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะ "กระทรวงมหาดไทย" ระหว่างการประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ที่ผ่านมา "จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ" รมว.มหาดไทย ได้กำชับผู้ว่าราชการจังหวัดให้จับตาดูผู้ชุมนุม พร้อมกับให้รายงานสถานการณ์ในพื้นที่ตลอด
"อย่าทำเป็นธุระไม่ใช่ ไม่ได้ ถ้ารั่วมาทางไหนทางนั้นก็ต้องรับผิดชอบ" คือเสียงที่เล็ดลอดออกมาจากการประชุมในครั้งนั้น
หรือการซักซ้อมกำลังและแผนการรับมือการชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล โดยใช้แก๊สน้ำตาของจริง รวมถึงจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ 4 กองร้อย หรือ 600 นาย ร่วมกับตำรวจรัฐสภาอีก 100 นาย รวมเป็น 700 นาย มาดูแลบริเวณรอบๆ รัฐสภา
การเตรียมพร้อมรับมือของฝ่ายรัฐบาลและผู้สนับสนุนรัฐบาลในครั้งนี้ถือเป็นการ "ทำงานเป็นทีม" ทำงานการเมืองคู่ขนานทั้งในสภาและนอกสภา
"ผศ.ดร.ณกมล" เสนอมุมมองต่อสถานการณ์การเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นในครั้งนี้ว่า การเผชิญหน้าในครั้งนี้ถือว่ารัฐบาลเตรียมความพร้อมรับมือค่อนข้างดี เป็นระบบดูจากการบริหารจัดการของมวลชนคนเสื้อแดงนับจากปี 2549 ถึงปัจจุบัน กว่า 8 ปี มีการบริหารจัดการเป็นระบบมีคนรับผิดชอบชัดเจน
"คนเสื้อแดงมีคนรับผิดชอบชัดเจน การเชื่อมโยง การจัดตั้ง หรือการเรียกรวมพล ทำเป็นระบบ มีเงินหมุนเวียนเพียงพอ เมื่อเทียบกับ ม็อบต่อต้านรัฐบาล เช่น หน้ากากขาว การบริหารจัดการไม่รู้ว่าใครเป็นแกนนำ การชุมนุมโดยไม่รู้ว่าใครนำ เกิดยาก เพราะเมื่อเกิดปัญหา จะหาคนมารับผิดชอบไม่ได้ การชุมนุมในเชิงสัญลักษณ์ทำได้ แต่การชุมนุมระยะยาวทำยาก เพราะไม่มีทุนที่ชัดเจน ทำให้การชุมนุมไม่มีพลัง"
"นักยุทธศาสตร์อาเซียนศึกษา" ท่านนี้ ยังเชื่ออีกว่า การชุมนุมทางการเมืองในครั้งนี้จะไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรงเหมือนในอดีต โดยมองว่าสังคมไทยในปัจจุบันกังวล และสนใจเฉพาะเรื่องปัญหาปากท้องของตัวเองมากกว่าปัญหาสังคม และที่ไม่ไปร่วมชุมนุม เพราะอยากให้ปัญหาที่เกิดขึ้นจบโดยเร็ว ซึ่งคนประเภทนี้ในสังคมมีอยู่ถึง 60% กลุ่มคนที่รักฝังใจแค้นฝังหุ่นมีอยู่ 15% ส่วนอีก 25% ไม่เชื่อฝ่ายไหนเป็นตัวของตัวเอง จึงถือว่าสัดส่วน 60% ที่อยากให้การเมืองแบบไทยจบโดยเร็วมีจำนวนที่มาก
การที่ "ผศ.ดร.ณกมล" มองว่า การชุมนุมครั้งนี้ไม่รุนแรง เพราะภาคประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาลครั้งนี้อ่อนล้า บางกลุ่มถอนตัวทำให้การชุมนุมไม่มีพลัง ประกอบกับกระแสสังคมต้องการทำมาหากินเรื่องปากท้องมากกว่า แม้แต่ภาคธุรกิจเองก็ไม่อยากให้เกิดปัญหาการเมืองมาซ้ำเติมเศรษฐกิจที่เริ่มจะถดถอย จึงไม่มีใครกล้าออกตัวมาสนับสนุนกลุ่มต่อต้านรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม "นักยุทธศาสตร์อาเซียนศึกษา" ยอมรับว่า การบริหารงานของรัฐบาลมีปัญหาหลายจุด แต่การโจมตีจากหลายฝ่ายไม่มีพลังมากพอ เช่น กรณีโครงการรับจำนำข้าว การนำเสนอของฝ่ายค้านที่สื่อสารต่อประชาชนทำได้ไม่ดีพอ ไม่มีความเฉียบคม ขณะที่รัฐบาลมีการบล็อกข้อมูลไว้หมด ทั้งส่วนราชการหรือส่วนการเมืองห้ามแตกแถว ใครแตกแถวจะมีบทลงโทษทางการเมือง หรือทำดีจะมีรางวัลมอบให้ ขณะที่สังคมก็ยังมองว่าปัญหาคอร์รัปชั่นที่รัฐบาลถูกโจมตีก็ยังเห็นไม่ชัดเจน ฝ่ายที่ทำหน้าที่ตรวจสอบก็ถูกตรวจสอบกลับ
สถานการณ์การเมืองไทยในขณะนี้ "ผศ.ดร.ณกมล" ให้บทสรุปว่า สังคมไทยเข้าสู่โหมดคลื่นต่ำ ต้องการความสงบ ภาพการชุมนุมในอดีตยังหลอนจนกลัวจะกระทบต่อค่าครองชีพ ทำให้การมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนทางสังคมน้อยลง พลังคนต่อต้านรัฐบาลจึงลดลง คิดว่าคนไทยในปัจจุบัน เหมือนกับสุภาษิตที่ว่า "ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา" บ้านเมืองต้องพินาศจึงค่อยมาช่วยกันกอบกู้
..................
(หมายเหตุ : สังคมไทย'ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา' : ขยายปมร้อน โดยสมถวิล เทพสวัสดิ์) ข่าวสด
0 comments:
Post a Comment