มวลภาพ อยู่ด้านล่าง
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าว "ข่าวสด" รายงานความคืบหน้าล่าสุด โดยนายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ขณะนี้สภาพของอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด เหมือนกับทะเลโคลนทั้งหาด หลายฝ่ายช่วยกันเก็บกวาดทำความสะอาดเต็มที่ ทั้งการสูบ การดูด และซับน้ำมันออก ทั้งจากน้ำทะเล ชายหาด พื้นทรายและก้อนหิน ออกมาให้เร็วที่สุด
โดยพื้นทรายที่บริเวณอ่าวพร้าวเป็นทรายแน่น ถูกน้ำมันเคลือบลงในพื้นทรายประมาณ 1 ซม. แต่หากมีคลื่นซัดน้ำทะเลที่ยังปนเปื้อนน้ำมันเข้ามา โอกาสที่ทรายจะถูกปนเปื้อนเพิ่มขึ้นก็มีอีก ดังนั้น ที่ต้องทำคือจัดการกับน้ำมันในน้ำให้หมดก่อน จึงค่อยจัดการกับทราย และก้อนหินที่เปื้อนคราบน้ำมัน โดยนายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รมว.ทส. กำชับให้เร่งจัดการขจัดคราบน้ำมันภายใน 15 วัน
ส่วนการเรียกร้องค่าเสียหายนั้น เบื้องต้นกรมเจ้าท่าจะเป็นเจ้าภาพฟ้องร้อง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะไปสำรวจความเสียหาย รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เช่น ค่ารถ ค่าน้ำมัน ค่าอาหาร เบี้ยเลี้ยง ส่วนภาคเอกชน และชาวบ้านที่ได้รับความเสียหายก็ต้องรวบรวมข้อมูลให้กรมเจ้าท่า เพื่อดำเนินการฟ้องร้องต่อไป"นายวิเชียร กล่าว
อธิบดีคพ. กล่าวอีกว่า น้ำมันดิบก็เหมือนน้ำมันทั่วไป ซึ่งมีสารอินทรีย์ระเหยง่าย เช่น ไฮโดรคาร์บอน ที่เป็นสารก่อมะเร็ง เราจึงเป็นห่วงสุขภาพของเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปฟื้นฟูอ่าวพร้าว ซึ่งขณะนี้มีกลิ่นเหม็นมาก โดยพรุ่งนี้ (31 ก.ค.) คพ.จะนำเครื่องมือตรวจสอบว่าเกินมาตรฐานหรือไม่ และสามารถปฏิบัติงานได้กี่ชั่วโมงจึงจะไม่กระทบต่อสุขภาพ และเจ้าหน้าที่ต้องไม่สัมผัสกับน้ำมันโดยตรง นอกจากนี้ คพ.ได้ให้คำแนะนำทางวิชาการเกี่ยวกับน้ำมันที่สูบขึ้นมา ว่าต้องกำจัดอย่างไรจึงจะถูกวิธี และไม่ให้ไปปนเปื้อนกับสิ่งแวดล้อมอย่างอื่นด้วย
สธ.เฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพ แนะเลี่ยงสัมผัส
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า กรณีปัญหาการรั่วไหลของน้ำมันดิบลงในทะเล จ.ระยอง กระทรวงสาธารณสุขได้เฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นตามมาโดยเฉพาะผลกระทบทางสุขภาพประชาชนจากการสูดกลิ่นหรือสัมผัสกับสารโดยตรงรวมทั้งเฝ้าระวังการปนเปื้อนในอาหาร โดยเฉพาะอาหารทะเลในบริเวณนั้นๆ
จากการวิเคราะห์ข้อมูลรายงานหลังเกิดเหตุน้ำมันดิบรั่วไหลในทะเลของประเทศต่างๆ ที่ผ่านมา มีการตรวจพบสารพาห์( Polyacyclic aromatic hydrocarbon: PAH ) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ปนเปื้อนในอาหารทะเลสูงกว่าค่าพื้นฐานที่เคยตรวจพบ แสดงถึงการปนเปื้อนเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร และยังตรวจพบโลหะหนัก เช่น สังกะสี แมงกานีส สารหนู ตกค้างในตะกอน สัตว์ทะเล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้บริโภคได้ ดังนั้น หากเก็บกู้ได้เร็วและดำเนินการถูกวิธีก็จะลดผลกระทบดังกล่าวได้
นพ.ประดิษฐกล่าวต่อไปว่า ในระยะเร่งด่วนนี้ กระทรวงสาธารณสุขสั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ร่วมประเมินผลกระทบและวางแผนการดำเนินงานในการเฝ้าระวังสุขภาพประชาชนในพื้นที่ทั้งระยะเร่งด่วนและในระยะยาวในระยะเร่งด่วนนี้ได้จัดจุดตั้งรับที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพสต.)เกาะเสม็ด ในเบื้องต้นได้รับรายงานมีผู้ป่วยเป็นชาวบ้านอ่าวพร้าวมารับบริการ 4 ราย มีอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะ
ทั้งนี้ หากประเมินแล้วพบมีผลกระทบวงกว้าง อาจพิจารณาจัดเป็นหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการประชาชนให้ทั่วถึง และสั่งการให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์จังหวัดชลบุรี เฝ้าระวังการปนเปื้อนอาหารทะเล เช่น ปลา ปู หอย โดยเก็บตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการเพื่อดูการปนเปื้อนสารโลหะหนัก เช่น สารหนู ตะกั่ว รวมทั้งตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำทะเลอย่างต่อเนื่อง
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ และมีโอกาสสัมผัสกับสารปนเปื้อน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มเจ้าหน้าที่ผู้กู้ภัย กู้สถานการณ์ ที่อาจสัมผัสกับสารปนเปื้อนโดยตรงทั้งทางการหายใจและทางผิวหนัง
2.กลุ่มประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่เกิดการปนเปื้อน และ 3.กลุ่มประชาชนผู้บริโภคทั่วไป จะมีความเสี่ยงในเรื่องของการบริโภคอาหารปนเปื้อน จึงขอแนะนำให้ผู้ทำหน้าที่กู้ภัย ควรป้องกันตนเอง สวมอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล ได้แก่ หน้ากากอนามัยป้องกันการสูดกลิ่นเข้าสู่ระบบหายใจ สวมชุดป้องกันที่เหมาะสม เพื่อลดการรับสัมผัสกับสารเคมี ในกลุ่มผู้ที่อาศัยในบริเวณที่เกิดการปนเปื้อน ขอให้หลีกเลี่ยงเข้าไปในบริเวณที่ปนเปื้อน หากมีคราบเปื้อนที่ผิวหนัง ควรล้างทำความสะอาด รวมถึงให้ดูแลสัตว์เลี้ยงไม่ให้เข้าใกล้บริเวณที่ปนเปื้อนน้ำมันด้วย
นพ.พรเทพศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับกลุ่มประชาชนที่ต้องระมัดระวังเป็นกรณีพิเศษ มี 4 กลุ่มได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคหอบหืด โรคหัวใจ และโรคความดันโลหิตสูง เนื่องจากจะได้รับผลกระทบได้ง่ายและเร็วกว่ากลุ่มอื่น ขอให้หลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณชายหาดที่มีคราบน้ำมัน ควรอยู่ห่างประมาณ 500 เมตร และอยู่เหนือลม ในเบื้องต้นนี้กรมควบคุมโรคจัดส่งหน้ากากอนามัยจำนวน 20,000 ชิ้น แจกประชาชนในพื้นที่ เช่น ที่เกาะเสม็ด เป็นต้น
นพ.พรเทพ กล่าวต่อว่า ผลกระทบของน้ำมันดิบที่รั่วไหลจะมีผลทั้งต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาท ระบบผิวหนัง หากประชาชนมีอาการผิดปกติ ได้แก่ หายใจขัด แน่นหน้าอก หายใจหอบ วิงเวียนศีรษะ ระคายเคืองตา แสบตา คลื่นไส้อาเจียน ขอให้รีบพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านตได้ลอด 24 ชั่วโมง สำหรับการเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพครั้งนี้ จะสำรวจสุขภาพประชาชนในพื้นที่ เช่นที่เกาะเสม็ด เพื่อติดตามผลอย่างต่อเนื่อง
ที่มา :ข่าวสด
0 comments:
Post a Comment