Friday, July 26, 2013

อดีตรองปธ.ศาลฎีกา"ชี้ผู้พิพากษาไม่เข้าใจประชาธิปไตยคืออะไร"

(ภาพประกอบข่าว)

สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย จัดเสวนาวิชาการ "หลักนิติรัฐ นิติธรรม กับการวางรากฐานประชาธิปไตย" โดยมีผู้ที่เข้า
ร่วมการเสวนาประกอบด้วย นายสถิตย์ ไพเราะ อดีตรองประธานศาลฎีกา นายนันทวัฒน์ บรมานันท์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายฐิตินันท์ พงษสุทธิรักษ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีนายจตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ เข้าร่วมฟังด้วย

นายสถิตย์ กล่าวว่า ปัญหาของประเทศไทยคือ ไม่เข้าใจว่าประชาธิปไตยคืออะไร ซึ่งจะทำให้ประชาธิปไตยของประเทศไทยค่อนข้างไปยาก แต่ไม่ต้องวิตก เพราะหนทางประชาธิปไตยไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่โรยด้วยเลือดและน้ำตา โดยสังเกตได้จากประเทศอื่นๆที่กว่าจะได้ประชาธิปไตยมาก็มีคนเสียชีวิตมากมาย ซึ่งถ้าเทียบตัวเลขการเสียชีวิตในประเทศไทยยังน้อยกว่าประเทศอื่นๆ แต่ไม่ได้เรียกร้องให้ไปเสียชีวิตเพื่อแลกประชาธิปไตย อย่างไรก็ตามอีกปัญหาก็คือปัจจุบันผู้พิพากษาไม่รู้ว่าประชาธิปไตยคืออะไร จึงไม่มีประสิทธิภาพในการรับหน้าที่ที่สอดรับกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เพราะฉะนั้นการวินิจฉัยก็ไม่รู้ว่าคุณธรรมคืออะไร

"ท้ายสุดคนที่พูดก็พูดกันไป แต่สุุดท้ายอยู่ที่ประชาชน เพราะไม่มีใครขัดขวางประชาชนได้ ทุกอย่างต้องอยู่ที่ประชาชน ถ้าประชาชนต้องการประชาธิปไตยเด็ดขาดยังไงก็ได้เป็น ทั้งนี้ทุกวันนี้มีความหวังคือคนเสื้อแดงที่เป็นกำแพงผนังเหล็กให้ประชาธิปไตย ส่วนเรื่องปรองดอง ผมมองว่าไม่มีวันปรองดองได้ อย่างพรรคการเมืองอเมริกาก็ไม่ได้ปรองดองกัน แค่เขายอมรับกติกากัน" นายสถิตย์ กล่าว

ด้านนายนันทวัฒน์ กล่าวว่า นิติรัฐ นิติธรรม ในบ้านเราดูเป็นนามประธรรม โดยคำว่านิติรัฐ ในอดีตใช้ในวงวิชาการเท่านั้น ไม่ได้ใช้ในวงการเมืองเหมือนทุกวันนี้ แต่หลังปี 2549 เห็นว่าไม่มีความยุติธรรมจึงหยิบยกมาพูดกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีคำว่า 2 มาตราฐาน ทั้งนี้นิติรัฐ คือ รัฐที่มีกฎหมายปกครอง โดยกฎหมายของไทยให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจได้เป็นอย่างมาก โดยไม่มีหน่วยงานตรวจสอบ จนภายหลังได้มีศาลปกครองขึ้นมา อย่างไรก็ตามการอยู่ใต้นิติรัฐในประเทศไทยบางช่วงยังมีปัญหา ทั้งนี้นิติรัฐ และนิติธรรม ภาพรวมมีหลักที่เหมือนกัน แต่ต่างกันบางเรื่อง

"การยุุบพรรคการเมือง ที่คนผิดคนเดียวแล้วยุบทั้งพรรค ไม่น่าใช้หลักนิติรัฐ ทั้งนี้รัฐธรรมนููญปี 2550 ทำให้ประเทศไทยห่างไกลความเป็นนิติรัฐ" นายนันทวัฒน์ กล่าว

ขณะที่นายฐิตินันท์ กล่าวว่า เรื่องประชาธิปไตยเป็นเรื่องข้างนอกแล้วมาข้างใน คือนอกระบบและเข้ามาในระบบ ซึ่งต้องใช้เวลาถึงจะเข้ากับคนไทยได้ โดยประชาธิปไตยของประเทศไทยกำลังเกิด เพราะถ้าบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยทุกอย่างจะสงบ จะไม่วุ่นวายเหมือนปัจจุบัน ซึ่งในยุคปัจจุบันยิ่งจัดการยิ่งยุ่งยาก อย่างไรก็ตามประชาธิปไตยไม่มีสูตรตายตัวที่ต้องเหมือนประเทศต่างๆ ทั้งนี้ในประเทศไทยกฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ ถึงอย่างไรก็ตามในวันที่สภาเปิดจะเห็นความตึงเครียดมากขึ้น และถ้ามีเรื่องนิรโทษกรรมออกมาจริง จะมีคนออกมาค้าน ซึ่งในด้านนิติบัญญัติรัฐบาลต้องสู้ ตนยังเชื่อว่าต้องหาทางเดินหน้าให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ทั้งนี้ปัจจัยเสี่ยงที่น่ากลัวที่สุดของประเทศไทยคือฝ่ายค้านไม่มีวันชนะเลือกตั้ง ตนมองว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ต้องลาออก ต้องล้างไพ่

"ต้องหาทางออกที่อยู่ในกรอบ ประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่มีปัญหาเรื่องประชาธิปไตย ซึ่งจากการมีปัญหาการแบ่งแยกในประเทศแต่ก็ยังทำให้เศรษฐกิจด้านหน้าไปได้ ทั้งนี้ผมมองว่าคณะกรรมาธิการในสภาไม่มีน้ำยา เรียกใครไปก็ไม่มีใครไป ซึ่งนิติบัญญัติบ้านเราก็ห่วย แต่คนเลือกมาผมก็โอเค ท้ายสุดถ้าร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ออกจากการเมืองจะเป็นสัญญาณที่ดี เพราะจะปล่อยให้คนเหล่านี้เป็นรัฐมนตรีได้อย่างไร" รศ.ดร.ฐิตินันท์ กล่าว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ


0 comments:

Post a Comment

 
Copyright © . Yak Ratchaprasong - Posts · Comments
Theme Template by BTDesigner · Powered by Blogger