Friday, July 26, 2013

วันหนึ่ง "ข้าว" อาจจะหายไปจากรายชื่อสินค้าออกสำคัญของไทยเช่นเดียวกับไม้สัก และดีบุก

คิดเรื่องข้าว :กับประภัสสร เสวิกุล  คมชัดลึก

             วันก่อนนึกถึงตำราเรียนสมัยก่อน จำได้ว่าสินค้าออกลำดับต้นๆ ของประเทศไทยเมื่อประมาณ 50-60 ปีที่แล้ว ได้แก่ ข้าว ไม้สัก ดีบุก ยางพารา ฯลฯ แต่ปัจจุบันนี้ ไม้สักก็ถูกตัดจนหมดป่า และดีบุกก็ถูกขุดกันจนหมดภาคใต้ เหลือแต่ยางพาราที่ลุ่มๆ ดอนๆ และข้าวซึ่งก็ถูกประเทศเพื่อนบ้านแย่งตลาดไปเรื่อยๆ หนำซ้ำยังมีปัญหาเรื่องความมั่นใจในความปลอดภัยจากการบริโภคข้าวไทยในโครงการจำนำข้าวเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลว่า ข้าวไทยอาจจะมีปริมาณการส่งออกที่ลดลง จนสูญเสียทั้งตำแหน่งผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก และสินค้าออกลำดับต้นๆ ของประเทศ เช่นเดียวกับไม้สัก และดีบุก ก็เป็นได้

             หากมองดูตลาดข้าวในต่างประเทศเวลานี้ ก็จะเห็นได้ชัดว่าข้าวเวียดนาม รวมทั้งข้าวกัมพูชานั้น สามารถครองตลาดผู้บริโภคในระดับล่าง ด้วยสนนราคาที่ถูกกว่า แต่ก็มีปริมาณการขายที่มากตามไปด้วย ส่วนข้าวไทยนั้น เรามักจะบอกว่า เราเป็นข้าวที่มีคุณภาพดีกว่า มีราคาสูงกว่า จึงมุ่งไปที่ผู้ซื้อที่มีกำลังด้านการเงินมากกว่า แต่นี่คงไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องหรอกครับ หรือถึงจะถูกในวันนี้แต่ก็อาจผิดในวันพรุ่งนี้ได้ เพราะประเทศผู้ผลิตข้าวทุกประเทศต่างก็แข่งขันกันพัฒนาพันธุ์ข้าวของตนให้ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีประเทศไหนจะก้มหน้าก้มตาผลิตข้าวราคาถูกไปตลอดกาลหรอกครับ เพราะการผลิตข้าวที่ใช้แรงงานจำนวนมาก ใช้พื้นที่เพาะปลูกจำนวนมาก ใช้ปุ๋ยจำนวนมาก แต่ได้ผลผลิตราคาต่ำนั้น สู้เปลี่ยนไปผลิตข้าวคุณภาพสูงที่ราคาดีกว่าไม่ดีหรือ? และผู้บริโภคในตลาดใหญ่อย่างจีน ยิ่งวันก็ยิ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น และมีกำลังจะซื้อหาของดีๆ ไปรับประทาน ซึ่งเมื่อวันนั้นมาถึง ประเทศไทยก็จะสูญเสียตลาดข้าวที่มีคุณภาพดี ไปอีกตลาดหนึ่งอย่างค่อนข้างจะแน่นอน

             ถ้าเราเข้าใจสถานการณ์ที่เป็นจริง และลองคิดในมุมกลับว่า สมมุติเรานำที่นาทั้งประเทศมาปลูกข้าวที่มีคุณภาพ โดยปรับปรุงพันธุ์ให้เหมาะกับแต่ละพื้นที่ รวมทั้งปรับลดพื้นที่ให้เหมาะสม ประเทศไทยก็จะเป็นแหล่งผลิตข้าวที่มีคุณภาพ เช่นข้าวหอมมะลิ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และสามารถที่จะเป็นเจ้าตลาดข้าวประเภทนี้ได้เต็มที่ ในเวลาเดียวกันนั้น เราก็เปิดประตูกว้างๆ รับข้าวราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้าน มาบริโภคภายในประเทศ ก็จะมีแต่ได้กับได้ทั้งสองฝ่าย และไม่ต้องไปแข่งขันหรือตัดราคากันเองในตลาดโลกด้วย

             เมื่อย้อนกลับไปมองตำราเรียนเก่าๆ ก็จะเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จำนวนประชากรไทยที่เคยท่องจำว่า 14 ล้านคน ในตอนนั้น ก็กลายเป็น 64 ล้านคนในตอนนี้ สภาพ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ก็กลายเป็น “ในนามีโรงงาน ในแม่น้ำลำธารมีขยะ” และวิถีชีวิตของคนไทยในวันนี้ก็ไม่มีทางที่จะเหมือนกับรุ่นปู่ย่าได้หรอกครับ

             ดังนั้น ถ้าเรายังเอาแต่ท่องจำ หรือเชื่อว่าข้าวคือสินค้าออกสำคัญของไทย โดยไม่ปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิต การขาย หรือการแข่งขัน ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ วันหนึ่งข้าวก็อาจจะหายไปจากรายชื่อสินค้าออกสำคัญของไทยเช่นเดียวกับไม้สัก และดีบุก นั่นแหละครับ

0 comments:

Post a Comment

 
Copyright © . Yak Ratchaprasong - Posts · Comments
Theme Template by BTDesigner · Powered by Blogger